อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่มักลักขโมย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ด้วยความที่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับบิ๊กข้าราชการบ้านเราไปขโมยภาพวาดจากโรงแรมในญี่ปุ่นและโดนจับได้ จนเป็นที่อับอายขายขี้หน้ากันไปทั้งประเทศ

ไหนๆ ก็ไหนๆ ในตอนนี้เราเลยจะขอพูดถึงเรื่องการลักขโมยในวงการศิลปะมันเสียเลยเพื่อเป็นการแก้เซ็ง

Good Artists Copy, Great Artists Steal (ศิลปินที่ดีมักก๊อบปี้ ส่วนศิลปินที่ยิ่งใหญ่มักขโมย)

คำกล่าวนี้เชื่อว่าเป็นของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปนอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ่

ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตัวเขาเองก็ขโมย (หรือเรียกอย่างสุภาพว่า “หยิบฉวย”) เอารูปแบบของงานศิลปะแอฟริกันพื้นเมืองมาเป็นของตนได้อย่างแนบเนียน

แถมเขาก็เคยถูกรวบตัวไปนอนซังเตด้วยข้อหาผู้ต้องสงสัยในการขโมยภาพวาดชื่อดังอย่าง โมนาลิซ่า จากพิพิธภัณฑ์ ดังที่เราเคยเล่าให้ฟังไปในหลายตอนที่แล้วนั่นแหละ

แต่ในคราวนี้เราไม่ได้จะกล่าวถึงปิกัสโซ่แต่อย่างใด หากแต่จะกล่าวถึงการขโมยของศิลปินอีกคน ซึ่งศิลปินผู้นั้นก็บังเอิญเป็นศิลปินคนแรกที่เรากล่าวถึงในคอลัมน์นี้ คนที่เรายกให้เป็น “พ่อทุกสถาบัน” นั่นแหละ

ใช่แล้ว ศิลปินผู้นั้นคือ ป๊ะป๋า มาร์แซล ดูชองป์ ของพวกเรานั่นเอง

อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า มาร์แซล ดูชองป์ เป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่ง

เขาได้ชื่อว่าเป็นบิดาของศิลปะแนวคอนเซ็ปช่วล สิ่งที่ดูชองป์เฝ้าเสาะหาตลอดมาคือหนทางในการนำพาศิลปะออกจากกรอบคิดเดิมๆ และขนบอันคร่ำครึของวงการศิลปะ

เขาเลิกวาดภาพบนผืนผ้าตั้งแต่ปี 1912 และหันมาวาดภาพบนแผ่นกระจกขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาถึง 10 ปีจึงแล้วเสร็จ

ในช่วงปี 1915 เขาคิดค้นศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า readymades ซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุและข้าวของธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นศิลปะ

ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่ท้าทายสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความที่มันแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ศิลปินเห็นว่ามันมีคุณค่าพอที่จะเป็นศิลปะ สิ่งนั้นก็สามารถเป็นศิลปะได้ ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่าแค่ไหนก็ตาม

ซึ่งนั่นหมายความว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นศิลปะไม่ใช่ตัวศิลปะวัตถุ หากแต่เป็นความคิดของศิลปินมากกว่า

 

ดังที่เคยกล่าวไปว่า ผลงาน readymades ที่โด่งดังที่สุดของดูชองป์ก็คือ Fountain,1917 โถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวหน้าตาธรรมด๊าธรรมดาวางนอนหงายเค้เก้อยู่บนแท่นโชว์ ซึ่งเป็นผลงานที่ดูชองป์ส่งเข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) โดยใช้นามแฝง และเซ็นชื่อบนโถฉี่ใบดังกล่าวว่า R. Mutt (ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครในการ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์อเมริกันที่โด่งดังในยุคนั้นอย่าง Mutt and Jeff)

การที่ดูชองป์ส่งเจ้าโถฉี่ใบนี้ไปแสดงในนิทรรศการดังกล่าวซึ่งประกาศว่า “รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด” นั้นเป็นการยั่วล้อและท้าทายกรรมการของสมาคม (ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น) ว่า ที่พวกเขาบอกว่า “แบบไหนก็ได้” นั่นก็แปลว่าเจ้าโถฉี่ใบนี้ก็สามารถเข้าแสดงในนิทรรศการนี้ในฐานะงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้ด้วยเหมือนกัน

น่าเสียดายว่ากรรมการคนอื่นไม่อินไปด้วย พวกเขาเลยปฏิเสธที่จะแสดงงานชิ้นนี้อย่างไร้เยื่อใย

เป็นเหตุให้ดูชองป์ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการเพื่อแสดงการประท้วง

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผลงานศิลปะโถฉี่ที่ถูกคัดทิ้งชิ้นนี้ ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากกว่าตัวนิทรรศการเสียอีก และค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียงอย่างช้าๆ

จนในปี 2004 ดูชองป์ก็จำลองผลงานชิ้นโด่งดังชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่อีก 14 ชิ้น Fountain ก็กลายเป็นผลงานโด่งดังและเป็นที่หมายปองของนักสะสม หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก

Fountain ถูกโหวตให้เป็นงานศิลปะสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางศิลปะที่ถูกจดจำมากที่สุดในโลก

FOUNTAIN

แต่ผลงานชิ้นนี้เป็นของดูชองป์จริงๆ ล่ะหรือ?

ทำไมเราถึงถามแบบนี้? เหตุเพราะ ย้อนกลับไปในวันที่ 11 เมษายน 1917 มาร์แซล ดูชองป์ เขียนจดหมายถึงซูซาน น้องสาวของเขา โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

“เพื่อนหญิงของฉันคนหนึ่ง ได้ใช้นามแฝงว่า Richard Mutt ส่งโถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวในฐานะงานประติมากรรมมาให้ฉัน ซึ่งฉันเห็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่เหมาะสม ก็เลยไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธมัน” และในเวลาต่อมาก็กลับกลายเป็นว่าดูชองป์เป็นผู้ส่งงานชิ้นนี้ไปแทนซะงั้น!

ร่ำลือกันว่า มีศิลปินคนหนึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นเจ้าของผลงานโถฉี่ศิลปะ ตัวจริงเสียงจริง แถมศิลปินผู้นั้นก็เป็นศิลปินหญิงเสียด้วย เธอผู้นั้นมีชื่อว่า

บารอนเนส เอลซ่า ฟอน ฟรายแท็ก-ลอริงโฮเวน (Baroness Elsa von Freytag-Loringhoven)

ศิลปินหญิงที่เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะอาว็อง-การ์ด (Avant-garde ศิลปินหัวก้าวหน้าที่ทำงานศิลปะแนวทดลองที่ล้ำยุคสมัย) เธอเป็นศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ จิตรกร ประติมากร กวี ผู้มาพร้อมกับงานศิลปะแปลกประหลาดกับบุคลิกและการแต่งกายพิลึกพิลั่นหลุดโลกเป็นอย่างมาก

บารอนเนส เอลซ่า หรือในชื่อเดิมว่า เอลเซ่ ฮิลเดการ์ด พล็อตซ์ (Else Hildegard Pl?tz) เกิดในปี 1874 ที่เมืองสไวน์มึนด์ ราชอาณาจักรปรัสเซีย (ในปัจจุบันคือเมืองสไวนูจซี โปแลนด์)

เธอระเห็จออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 19 เดินทางไปเบอร์ลิน ทำงานเป็นนางแบบและนักแสดงละครเร่

จากนั้นเธอเดินทางไปทั่วยุโรป มีสัมพันธ์สวาทกับศิลปินมากหน้าหลายตา ผ่านการแต่งงานมาสองครั้ง ก่อนที่จะย้ายไปอยู่อเมริกากับสามีคนที่สอง และร้างลากัน ในปี 1913

เธอเดินทางไปนิวยอร์กและแต่งงานกับสามีคนที่สามชาวเยอรมันชื่อ บารอน ลีโอโพลด์ ฟอน ฟรายแท็ก-ลอริงโฮเวน (Baron Leopold von Freytag-Loringhoven)

และนั่นเองเป็นที่มาของนามสกุลยาวเหยียดและบรรดาศักดิ์ “บารอนเนส” นำหน้าชื่อของเธอ หลังจากแยกทางกับสามีคนที่สาม เธอเริ่มตีสนิทกับศิลปินหัวก้าวหน้าในนิวยอร์ก

และเริ่มเข้าสู่วงโคจรของศิลปะอาว็อง-การ์ด ที่นั่นในที่สุด