ลึกแต่ไม่ลับ : “อยากให้ คสช. อยู่นานๆ ไม่รับร่างดีกว่า”

จรัญ พงษ์จีน

การออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยปัจจัย “บวก” หลากหลาย ทำให้เชื่อได้ว่า “เสียงข้างมาก” ซึ่งหารครึ่งจาก “ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก” ไม่ได้ใช้เกณฑ์เฉลี่ยจากจำนวนประชากร ของ “ผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติ”

นำยอดตัวเลขกลมๆ ของกระทรวงมหาดไทย ที่ขึ้นทะเบียนราษฎรไว้ ว่าบุคคลที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ เกิดไม่เกินวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2541 มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงได้ ยอดตัวเลขทั้งหมด ทะลุที่ 50.5 ล้านคน

หากวัดจากพื้นฐานเต็มของ “ผู้มีสิทธิ” เสียงข้างมาก เท่ากับ 26 ล้านคน แต่เมื่อใช้มาตรวัดจาก “ผู้มาใช้สิทธิ” ตั้งสมมติฐานว่าคนไทยตื่นตัวกันขนาดหนักออกมาลงประชามติ 75 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณการ 35 ล้านคน “เสียงข้างมาก” เมื่อดีดลูกคิดแล้ว ราว 18 ล้านเสียง

และหรือ ด้วยเงื่อนไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ที่มีความแปลกใหม่ และมีสภาพสลับซับซ้อน เข้าใจยาก ผนวกกับกลไกแห่งมาตรา 61 ของ “พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ” ที่กดทับเชิง “ห้ามเห็นต่าง” เป็นตัวแปรให้เกิดโรคเบื่อๆ อยากๆ ออกมาลงคะแนนกันแบบ “หะหร็อมหะแหร็ม” ไม่ถึงร้อยละ 50

ทำให้ฐานของ “ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก” ลดสัดส่วนลง ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ของยอด “รับร่าง” น้อยลงเป็นเงาตามด้วย โอกาสก็เอื้อประโยชน์ให้ฝั่ง “เห็นชอบ” ได้เปรียบมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

กระนั่นก็แล้ว แม้การลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม แนวโน้มจะ “ผ่าน” มากกว่า “ไม่ผ่าน” เพราะ “ตัวช่วย” ผสมปนเปกันหลายทิศทาง แต่ใช่ว่าจะกินขนมเชื่อได้ล่วงหน้า ว่าจะผ่านฉลุยล้านเปอร์เซ็นต์ โอกาสถูกคว่ำกระดานก็มีช่องทางอยู่มากเหมือนกัน

“เจ้าภาพ” ตระเตรียมแผนสำรอง สูตรหนึ่ง สูตรสอง ไว้รับมือกันบ้างแล้วเช่นเดียวกัน

ขนาด “กูรู” ระดับ “วิษณุ เครืองาม” มือกฎหมายของรัฐบาล ขว้างก้อนหินถามทางเชิงบอกกล่าวเล่าสืบมาตลอดว่า “กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ ก็ต้องคุยกันเพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ต้องทำหลังการลงประชามติ รู้ผลประชามติปุ๊บทำปั๊บเลย”

อย่าว่าแต่ “วิษณุ เครืองาม” เลย ขนาด “คสช.” ก็หวั่นใจอยู่เหมือนกัน จึงส่งโทรโข่ง “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” มาแถลงไขคล้ายจะ “ออกตัว” ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ปรารภสู่กันฟังกลางวง ครม. ว่า ได้ยินมาจากหลายที่ พูดถึงประเด็นรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

หนึ่งในเหตุผลคือ “อยากให้ คสช. อยู่นานๆ ไม่รับร่างดีกว่า”

 

นําขั้นตอนการออกเสียงประชามติ มาเป็นตัวตั้ง หาก “เสียงข้างมาก” จากผู้ใช้สิทธิลงประชามติ โหวต ในวันที่ 7 สิงหาคม ไม่ว่าจะลักษณะถล่มทลายหรือเฉือนหวิว ทุกประการต้องดำเนินการตามโรดแม็ปที่ “คสช.” ได้ประกาศให้สัญญาไว้ต่อสาธารณะ นั่นก็คือ ในลำดับถัดไป พ.ศ.2560 ต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหญ่

แม้จะมีเงื่อนไข “ส.ว.ลากตั้ง” 250 คน มาถ่วงดุลมิให้นักเลือกตั้งจาก 2 พรรคใหญ่ ทั้ง “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” หยิบชิ้นได้ง่ายๆ

โอกาสพรรคใหญ่สุด คือ “250 ส.ว.” ซึ่งจะแปรสภาพมีพลังไฮเพาเวอร์มากที่สุด และแน่นอนว่า ส่งเทียบเชิญให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นเชนคัมแบ๊ก กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยสูงยิ่ง แต่ถือว่า “สุ่มเสี่ยง” เข้าทำนอง “อยู่กลางทะเลใหญ่ อย่าไว้ใจทะเลสงบ”

เพราะมีอ็อปชั่นให้เลือก และที่เซฟตี้กว่า

กลับกลายเป็นว่า กรณีของการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม “ไม่ผ่าน” จะด้วยเหตุผลกลใด เพราะไม่ปลื้มในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” หรือเพื่อเปิดปฏิบัติการสั่งสอน “คสช.”

หรือลงเอยตาม “ข้อมูลใหม่” ที่ “เสธ.ไก่อู” นำมาเล่าสู่กันฟังว่า “อยากให้ คสช. อยู่นานๆ ไม่รับร่างดีกว่า”

เอาเป็นว่า ประชามติ “ไม่ผ่าน” จะลงเอยด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะหัวหน้า คสช. สามารถงัดไม้ตายมาขับเคลื่อนต่อไปได้ ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 39/1 ที่ระบุว่า

“ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือ นับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 คน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง”

ภาพรวมโดยสรุป หากการออกเสียงทำประชามติ ไม่ผ่านด้วยเสียงข้างมากในวันที่ 7 สิงหาคม ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2559 “บิ๊กตู่” ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ใช้เวลาในการยกร่าง 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งกรรมการยกร่างอาจจะหยิบฉบับหนึ่งฉบับใดขึ้นมาปัดฝุ่น หรือลูกผสมจากฉบับ พ.ศ.2540-2550 บวกด้วยฉบับเรือแป๊ะของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ผสมกับ “ร่างปู่มีชัย”

ไปแล้วเสร็จเอาราวเดือนเมษายน พ.ศ.2560 กรณี “เขาอยากอยู่ยาว” หรือ “อยากให้ คสช. อยู่ไปนานๆ ไม่รับร่างดีกว่า” ก็แก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ทำประชามติอีกรอบ

“คสช.” ของ “บิ๊กตู่” ก็อยู่ในศูนย์อำนาจแบบ “รากงอก” ไปอีกนานแสนนาน

“คนการเมือง-นักเลือกตั้งอาชีพ” ถูกล้างป่าช้า “สูญพันธุ์” ราพณาสูร