คำ ผกา : เสรีภาพ ศาสนา

คำ ผกา

“พุทธที่ไม่แท้ พุทธที่บิดเบือนคำสอนและหลักการของพระพุทธศาสนา”

เราได้ยินประโยคเช่นนี้บ่อยมากขึ้นในช่วงที่ “ธรรมกาย” เป็นประเด็นในสังคม

ฉันอยากเริ่มต้นอย่างนี้ ว่า ฉันไม่มีความรู้เรื่องศาสนาใดๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้ เป็นคนไทยที่มีชีวิตอยู่ในพิธีกรรมแบบพุทธ ผี พราหมณ์ ทำบุญบ้างตามเพื่อน ตามญาติมิตร หรือร่วมทำบุญกับใครๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์

และฉันไม่เห็นว่ามันจะเป็นเรื่องเสียหายตรงไหน ใส่ซองทอดกฐินกับญาติมิตร

เชื่อไม่เชื่อเรื่องบุญเป็นอีกเรื่อง แต่ได้รักษาน้ำจิตน้ำใจของคนที่เรารู้จัก

มากไปกว่านั้น ฉันไม่เคยสนใจธรรมกาย ไม่เคยอยากนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัด ไม่ว่าจะวัดป่าหรือไม่ป่า

ไม่เคยเห็นว่าวัดป่าดีกว่าวัดบ้านๆ

ไม่เห็นว่าพุทธ หรือพระสายไหนจะดีกว่าใคร

สำหรับฉัน ศาสนาก็คือศาสนา ความเชื่อก็คือความเชื่อ ความศรัทธาก็คือความศรัทธา

ทั้งหมดดำรงอยู่ใน Free Market of Belief หรือตลาดเสรีแห่งความเชื่อและความศรัทธา

และที่สุดของตลาดเสรีแห่งความเชื่อคือ เราควรแยกศาสนาออกจากรัฐ และการเมือง

และนั่นคือประเด็นที่เราพูดกันเรื่องรัฐโลกวิสัยมาโดยตลอด

 

ศาสนาควรเป็นเรื่องของเอกชน และปัจเจกบุคคล

เมื่อแยกศาสนาออกจากรัฐ – ย่อมไม่มีการ policing ศาสนา ว่าศาสนานั้นดีไม่ดี แท้ไม่แท้ รัฐไม่ต้องมายุ่มย่ามอะไรกับศาสนาเลย ต่างฝ่ายต่างดำรงกิจการของกัน บนฐานของกฎหมายบ้านเมืองตามปกติ

เช่น ตราบเท่าที่ไม่มีกระบวนการหลอกลวง ต้มตุ๋น ข่มขู่ให้เชื่อให้ทำบุญ หรือไม่ไปปล่อยก๊าซฆ่าคนที่สถานีรถไฟ – ใครใคร่อยากนับถืออะไร จะสร้างจานบิน สร้างสถูป เจดีย์ สร้างรูปปั้นอะไรก็สร้างเถอะ ตราบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมายอาคารและสิ่งปลูกสร้าง

และเอาเข้าจริงๆ ฉันคิดว่าการสร้างรูปปั้นสารพัดเจ้าพ่อเจ้าแม่รวมถึงพระองค์มหึมาในพื้นสาธารณะ น่าจะต้องมีกฎหมายมาดูเรื่องความงาม ความเหมาะสม ภูมิทัศน์ ก่อนอนุญาตให้สร้าง ไม่ใช่ใครอยากสร้างอะไรก็สร้าง

แต่เรื่องโอละพ่อ ของสังคมไทยคือ ฝ่ายศาสนาพุทธเองนั่นแหละที่ไม่ยอมที่ให้แยกรัฐออกจากศาสนา

พูดเรื่องนี้ทีไรก็เป็นเรื่องเป็นราวทุกทีว่า รัฐจะไม่คุ้มครองดูแล รัฐไม่สนับสนุนศาสนา รัฐจะปล่อยให้ประเทศชาติเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไร้ที่ยึดเหนี่ยว ฯลฯ

เมื่อศาสนาพุทธไม่ยอมที่จะแยกออกจากรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ฝ่ายรัฐมีอำนาจในการ policing หรือสำรวจตรวจตรา วัดความจริงไม่จริง แท้ไม่แท้ของศาสนา และทำให้ประชาชนในรัฐนั้นๆ มองว่าศาสนาเป็นเรื่อง “ส่วนรวม” ทุกคนอยากเข้ามา “จัดการ” “ดูแล” หรือแม้กระทั่งคิดว่าตัวเองมีหน้าที่คัดกรองมลทินออกไปจากศาสนา

มีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ของศาสนา

เที่ยวไปชี้นิ้วว่า พุทธแบบนั้นดี แบบนี้ชั่ว

ศาสนาของไทยจึงไม่สามารถเป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคลได้

แต่เป็นเรื่องของคนในชาติทั้งชาติ เป็นมรดกร่วมของคนในชาติ

 

ปัญหาของการมองศาสนาในหลายๆ สังคม เป็นเรื่องของการมองศาสนาในอุดมคติ แทนที่จะมองศาสนาตามความเป็นจริง

พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นอีกก็คือ เราทุกคนพากัน take it for granted หรือเชื่อไปโดยปริยาย

เชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม

เชื่อโดยคิดว่านี่คือสัจธรรมของโลกและจักรวาล

นั่นคือเชื่อศาสนาคือความดี และความสูงส่ง

เชื่อว่าศาสนาทำให้คนเป็นดี โลกมีความรักและสันติสุข

โดยที่เราเองลืมไปว่า ศาสนาก็เหมือนกลุ่มทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่มีปฏิบัติการอย่างหนึ่งในการก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นองค์กร มีหน่วยงาน มีสัญลักษณ์ มีพิธีกรรม มีเป้าหมาย มีอุดมการณ์

ดังนั้น โดยธรรมชาติของการเป็นหน่วยงาน เป็นองค์กร ศาสนาก็ย่อมมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน มีทั้งข้อดี ข้อเสีย มีทั้งความถูกต้องและความผิดพลาด

เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้

 

ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีสงครามอันเนื่องมาจากศาสนาและความเชื่อไม่รู้กี่ครั้ง และตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็จารึกสารพัดมลทินของนักบวชไว้ไม่รู้จะกี่พันกี่หมื่นกี่แสนเรื่อง

แต่ด้วย “อคติ” บังตาบังใจนี่เอง มนุษย์จึงพยายามอย่างสม่ำเสมอที่จะอธิบายตัวเองฟังว่า “อ๋อ ที่มันมีมลทิน มีปัญหา มีสงคราม ก็เพราะศาสนาถูกบิดเบือน เพราะมีคนเอาศาสนาไปรับใช้การเมือง เพราะมีนักบวชทุศีล โอ๊ยยย ศาสนาด้วยตัวของมันเองดี แต่คนน่ะชั่ว เพราะฉะนั้น หากเราปฏิรูปศาสนา หรือ sanitize-ชำระล้างความชั่วร้าย สกปรกออกจากศาสนาได้หมด โลกก็จะงดงาม สุขสงบ เต็มไปด้วยสันติภาพ”

สุดท้ายมนุษย์เราอธิบายว่า ปัญหาของศาสนาเกิดจากมีคนชั่วในศาสนานั้น เช่น มีมุสลิมที่เลว มีมุสลิมที่ดี มีพุทธที่ดี มีพุทธที่เลว มีคริสเตียนที่ดี มีคริสเตียนที่เลว

ภารกิจของเราคือ กำจัดคนเลวๆ ออก เหลือแต่คนดีๆ ที่ไม่บิดเบือนคำสอน

สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สงครามช่วงชิง “ความแท้” ของคนในศาสนาต่างๆ

แล้วสงครามศาสนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายหรือต่างศาสนาต่างนิกาย ก็เกิดขึ้นบนการช่วงชิง “ความแท้” ของศาสนา เมื่อต่างฝ่ายต่างเคลมว่า “เฮ้ยยยของชั้นนี่แหละแท้ ของเธอน่ะมันปลอม”

จนมีคำศัพท์ว่า The Tyranny of Authenticity หรือทรราชความแท้ – คือกระบวนการที่ใครสักคนหนึ่งลุกขึ้นมาชี้นิ้วว่าคนอื่นน่ะเป็น “ของปลอม” ส่วนของตนเองนั้น จริงแท้เป็นหนึ่งเดียว ถูกต้องที่สุดอยู่คนเดียว คนอื่นผิดหมด

ดังนั้น สิ่งแรกที่โลกียชนอย่างเราควรทำเพื่อจะมีความทุกข์ใจเกี่ยวกับศาสนาให้น้อยลงคือเลิก idealized ศาสนา

เลิกคิดว่าศาสนาจะต้องบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ปลอดมลทิน ปราศจากซึ่งรัก โลภ โกรธ หลง นักบวชต้องเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ไม่ผิด ไม่บาป เหนือมนุษย์มนา

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรา idealized ศาสนาแบบนี้ เราจะวุ่นวาย ทุกข์ทนกับการที่ศาสนาไม่เป็นอย่างที่เราคิด

ทำไมพระร่ำรวย ทำไมพระชอบสร้างสิ่งปลูกสร้าง ทำไมพระไม่สำรวม ทำไมพระฉันอาหารหรู

จากนั้นก็นั่งฝันว่า พระทุกรูปผุดผ่องดั่งเทวดาอวตารมาเกิด พูดเพราะ สำรวม ไม่จับเงิน เมตตา บำเพ็ญตบะ วิปัสสนา – โอ้ เมื่อไหร่วันนั้นจะมาถึง

ซึ่งฉันบอกได้เลยว่า ไม่มีวันมาถึง

และไม่ใช่ความผิดของนักบวชและศาสนาด้วย เพราะทั้งศาสนาและนักบวชคือไม่ได้โดดเดี่ยวตัวเองอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับใคร จึงรักษาความผุดผ่องเอาไว้ได้

แต่ทั้งศาสนาและนักบวชเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับคนกับสังคม หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ดังนั้น ศาสนาและนักบวชก็เหมือนกลุ่มทางสังคมทุกกลุ่มในโลกนี้ที่ต้องมีการบริหาร จัดการ มีกลุ่ม มีพวก มีผลประโยชน์ มีความขัดแย้ง มีความไม่ลงรอย มีเรื่องเงินทองบัญชี มีคนในสังกัดต้องดูแล

และเมื่อไหร่ก็ตามที่มี “กิจกรรม” เหล่านี้เกิดขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเรื่องแบบ “โลกย์ๆ” ให้ต้องจัดการ

และเอาเข้าจริงๆ ในกิจกรรมเหล่านี้ ต้องการความรู้แบบโลกย์ๆ นี่แหละไปจัดการ เช่น หลักการ HR หรือการจัดการบัญชีต่างๆ

ดังนั้น การจะไปฝันให้นักบวชท่านอยู่พ้นจากโลก ผุดผ่อง จึงเป็นความไร้เดียงสาของเหล่าฆราวาสกันเอง

แค่การดูแลวัดหนึ่งวัด ตั้งแต่การดูแลสิ่งปลูกสร้าง อาคารสถานที่ ต้องบริหารคน ต้องบริหารเวลา บริหารความสุขสงบในวัด ดูแลญาติโยม หมา แมว สัตว์ต่างๆ ที่มีคนเอามาปล่อยในวัด

แค่นี้ก็เป็น “เรื่อง” อันยุ่งยากเหนื่อยจิตไม่แพ้ชีวิตฆราวาส

ดังนั้น เราจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปวาดหวังว่า โอ พื้นที่ของวัด ศาสนา ต้องร่มเย็น พระไม่จับเงิน ไม่นู่น ไม่นี่

ยอมรับเสียเถอะ ว่ามันเป็นไปไม่ได้

เคยได้ยินเรื่องคนทำสวนผักออร์แกนิกไหม?

เขาบอกว่า สวนผักออร์แกนิกแท้ ที่ไม่มีอะไรปลอมปนเลย ต้องไปหาที่ในหุบเขาที่ไกลๆ แล้วรอบๆ หุบเขานั้นต้องไม่มีคน ไม่มีการเกษตรใดๆ ในรัศมีกี่เมตรๆ เพื่อป้องกันการถูก contaminate หรือปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอม

เช่นกัน ถ้าเราหวังจะเห็นศาสนาผุดผ่องเป็นยองใยปราศจากซึ่งความรัก โลภ โกรธ หลง ไปตามที่เราวาดอุดมคติเอาไว้ มีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำได้คือ ยกเอานักบวชและศาสนาทุกศาสนาออกไปจากมนุษย์และสังคม

อาจต้องแยกไปอยู่ดาวอีกดวงหนึ่งไปเลย

แล้วนักบวชแต่ละคนก็ต้องอยู่คนเดียวด้วยเพราะถ้าอยู่สองคนขึ้นไปนี่แปลว่า “สังคม” ได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญหารัก โลภ โกรธ หลง มาแน่ๆ

ดังนั้น จะเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะแยกศาสนาออกจากโลกและสังคม

ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ เลิกเชื่อว่าศาสนาเท่ากับความดีอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อยกเว้น

ย้ำ ควรเห็นศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะที่เป็น “กลุ่มประชาสังคม” กลุ่มหนึ่งนั่นเอง

อ่านถึงตรงนี้หลายคนจะเถียงว่า – อ้าว เป็นพระ เป็นนักบวชที่ดีไม่ได้ ก็ไม่ต้องบวชให้ศาสนาแปดเปื้อน

คำตอบคือ การบวช การไปฝึกฝนตามหลักศาสนาต่างๆ มันคือ “กระบวนการ” ไม่ใช่ทุกคนโกนหัวปุ๊บ ห่มจีวรปั๊บแล้วจะกลายเป็นคนดีทันทีทันใด

การเข้าสู่ชีวิตนักบวชมันก็คือการขัดเกลา ฝึกฝนไปเรื่อยๆ อาจมีทั้งสำเร็จ ล้มเหลว ก็เหมือนเราฝึกเทนนิส ไม่ใช่คนฝึกเทนนิสทุกคนจะกลายเป็น แชมป์โลกทุกคน

นักบวชก็เช่นกัน ท่านก็คงมีหลายเลเวลของท่าน แตกต่างหลากหลายกันไป ดีมาก ดีน้อย ไม่ดีเลย ดีเกินไป ดีจนถือดี – ก็มีสารพัด

การที่เราเชื่อปักจิตปักใจว่า ศาสนาคือพื้นที่ที่ปราศจากความแปดเปื้อน ปลอมปน จึงเป็นความคิดความเชื่อที่พิกลพิการ ผิดธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น

ดังนั้น เลิก idealized ศาสนา (เขียนประโยคนี้รอบที่สิบ) เลิกฝากชีวิต ฝากความหวังไว้กับศาสนา – เพราะนั่นย่อมเป็นภาระแก่ศาสนามากเกินไป ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคำสอนว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

แล้วควรมองศาสนาอย่างไร?

มองศาสนาเป็นองค์กรหนึ่งของสังคมที่มีปรัชญา มีประวัติศาสตร์ มีภูมิปัญญา มีวิธีวิทยา มีปราชญ์ มีวีรบุรุษ วีรสตรี มีบุคคลต้นแบบ มีบุคลากร มีงบประมาณ มีโครงสร้างการบริหาร มีลำดับการบังคับบัญชา มีสาขา มีเป้าหมาย ฯลฯ ส่วนเราจะสมาทานศาสนาไหน สำนักไหน หรือจะไม่สมาทานใดๆ เลยก็เป็นเรื่องส่วนตัวของใครก็ของใคร

ศาสนาเก่าๆ ในโลกนี้มีอายุมาตั้งหลายพันปี เพราะฉะนั้น ในการเดินทางหลายพันปีนี้ แต่ละศาสนาย่อมถูกตีความไปต่างๆ นานา จนแยกออกมาหลายสำนักหลายนิกาย ไม่นับว่าศาสนาในแต่ละดินแดน แต่ละท้องถิ่นก็ย่อมถูกตีความให้ต่างไปอีก

ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งที่เรียก “แท้” หรือ “บริสุทธิ์” และไม่แปลว่าการไม่แท้หรือไม่ pure เป็นเรื่องแย่ – ไม่ใช่ – แต่เป็นเรื่องธรรมดาและถูกต้องด้วย ส่วนคนที่เคลมว่าตนเองแท้ต่างหากเล่าที่น่าสงสัยว่า ช่างกล้ามาเคลมความแท้ ได้รับใบรับประกันของแท้นี้มาจากไหนกัน?

ถ้าเราไม่ชอบศาสนาหนึ่ง ความเชื่อหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่ามันทำให้คนงมงาย สิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่เอาปืนไปจี้หัวเขาให้เลิกงมงาย แต่ต้องหาสาเหตุว่ามีอะไรผลักดันให้เขาต้องงมงาย ต้องขูดต้นไม้ขอหวย แล้วพยายามลดเงื่อนไขนั้นลงในสังคม

เช่น ฉันเชื่อว่า ถ้าประเทศไทยเศรษฐกิจดี รัฐบาลบริหารประเทศบรรลุผล คนไทยได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 1,000 บาท มีสวัสดิการการศึกษา รักษาพยาบาล เข้าถึงความรู้ ความบันเทิงที่กว้างขวาง หลากหลาย ถึงวันนั้นจำนวนคนขูดต้นไม้หาหวยจะน้อยลงจนเกือบไม่มี (อาจจะเหลือคนที่ใจรักจริงๆ อยู่บ้าง)

การรับมือกับความสุดโต่งของศาสนา ความเชื่อต่างๆ ไม่อาจรับมือด้วยการ “ปราบปราม” กวาดล้าง เคลียร์ออก กำราบ – นั่นเป็นความฝันของพวกอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเผด็จการความดีความจริง

แต่ยิ่งต้องเพิ่มเสรีภาพให้กับประชาชนมากขึ้น และยิ่งต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมองศาสนาและความเชื่อเป็นรสนิยมส่วนบุคคล ไม่ใช่ collective duty ของพลเมืองในรัฐที่ต้องมี ต้องเชื่อ ต้องศรัทธาในศาสนา

เลิกหมกมุ่นว่าศาสนาที่ดีต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละศาสนาและนิกายเขาบริหารจัดการ “สาวก” ของเขาเอง

หน้าที่ของรัฐมีแค่ดูแลพลเมืองทุกคนอย่างเสมอหน้ากันโดยไม่ต้องเอาปัจจัยเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้อง

พลเมืองทุกคนพึงรู้ว่าในรัฐสมัยใหม่ สิ่งที่มีผลต่อชีวิตของเราอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างจริงจังเหนือสิ่งอื่นใดคือ รัฐธรรมนูญ และหลักประกันสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนศาสนา ความเชื่อ ลัทธิ (ที่จะมี มีแบบไหน อย่างไร ไปจนถึงไม่มี) นั้นเป็นสิทธิ เสรีภาพ เป็นทางเลือก เป็นความเชื่อของปัจเจกบุคคลที่ไม่พึงถูกกีดกันในทุกเงื่อนไข