ภายหลัง คำสั่งคุกจ่าประสิทธิ์ คดีครอบครองเสื้อเกราะ ย้อนคดีเลือด 99 ศพปี “53 ผ่านมา 10 ปี-ยังไม่ส่งฟ้อง

เป็นอีก 1 คดีของคนเสื้อแดงที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล และมีผลออกมาเป็นที่เรียบร้อย

โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกจ่าประสิทธิ์ หรือ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ แกนนำ นปช. อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เป็นเวลา 2 ปี

ในความผิดฐานครอบครองเสื้อเกราะและหมวกปราบจลาจล จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553

เพราะถือว่าเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์ที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง รวมทั้งมีความผิดในข้อหารับของโจร

ขณะที่จ่าประสิทธิ์พยายามให้การว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็น เพียงแค่ช่วยประกาศตามหาเจ้าของที่ทำเสื้อเกราะและหมวกตกไว้ ในการขอคืนพื้นที่เมื่อค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งในคืนดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

และไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีใครนำเสื้อเกราะและหมวกไปเก็บไว้ท้ายรถ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่มาพบ และแจ้งความดำเนินคดี

ถือเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันในชั้นศาลฎีกาต่อไป

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเวลาของการชุมนุมผ่านไปแล้วเกือบ 10 ปี

คดีความต่างๆ ล้วนเดินหน้า

แต่สังหารประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ ซึ่งผ่านมาแล้ว 10 ปีเช่นกัน

ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่ขึ้นสู่กระบวนการศาลยุติธรรม

ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปทวงถามเอาจากใคร

อุทธรณ์คุก 2 ปีจ่าประสิทธิ์

สําหรับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1937/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ประสิทธ์ ไชยศรีษะ อายุ 53 ปี อดีต ส.ส.สุรินทร์ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ในความผิด พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 15, 42 และรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 เนื่องจากครอบครองเสื้อเกราะกันกระสุน และหมวกนิรภัยปราบจลาจล

โดยอัยการยื่นฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 20.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารพร้อมชุดเคลื่อนที่เร็วของกองทัพภาคที่ 1 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะประมาณ 50 คัน ลาดตระเวนบริเวณสะพานข้ามแยกตลาดปีนัง คลองเตย ถนนพระราม 3 พบรถยนต์ต้องสงสัยจึงเรียกตรวจแล้วพบเสื้อเกราะกันกระสุนและหมวกนิรภัยปราบจลาจลอยู่ในที่เก็บของและกระโปรงหลัง

ซึ่งยุทธภัณฑ์ดังกล่าวสูญหายไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ขณะที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน และพบว่า ส.อ.ชนะยุทธ คมสาคร สังกัดกองทัพภาคที่ 1 ถูกคนร้ายไม่ต่ำกว่า 3 คน ใช้คันธงประทุษร้ายแย่งชิงหมวกปราบจลาจลไป ซึ่งมีความผิดเข้าลักษณะการปล้นทรัพย์

ขณะที่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้มีเจตนาครอบครอง โดยระบุว่า เมื่อค่ำวันที่ 22 เมษายน 2553 ขึ้นเวทีปราศรัยที่เวทีศาลาแดง สีลม มีผู้ติดต่อว่ามีคนทำเสื้อเกราะและหมวกนิรภัยดังกล่าวหล่นไว้ จึงประกาศบนรถปราศรัย เมื่อลงจากเวที มีคนมาบอกว่าพบกำลังทหารเคลื่อนเข้ามาที่แยกราชประสงค์ จึงขึ้นรถขับไปตรวจสอบ โดยไม่ทราบว่ามีเสื้อกันกระสุนและหมวกดังกล่าวอยู่ท้ายรถ

เมื่อถูกเรียกตรวจแล้วเจ้าหน้าที่พบยุทธภัณฑ์ดังกล่าวก็ยึดเอาไป โดยตนให้การว่าไม่ทราบว่ามาอยู่ได้อย่างไร จนกระทั่งพบกับการ์ดเสื้อแดง 2 คนที่เป็นผู้ให้แจ้งข่าวบนเวที ก็ยอมรับว่าเป็นคนนำมาเก็บไว้เอง

ตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมให้มีเสื้อเกราะกันกระสุนหรือป้องกันสะเก็ดระเบิดไว้ในครอบครอง อีกทั้งหมวกนิรภัยดังกล่าวเป็นของกองทัพภาคที่ 1 ที่สูญหายไป ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี ในความผิดครอบครองยุทธภัณฑ์ 1 ปี และรับของโจร 1 ปี

ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า คำให้การของจำเลยที่เพิ่มขึ้นมาไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งพยานที่ระบุว่านำยุทธภัณฑ์ใส่ท้ายรถโดยที่เจ้าของไม่ทราบ เพราะกระโปรงหลังแง้มอยู่ ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากผิดวิสัยที่คนทั่วไปย่อมปิดล็อกฝากระโปรงรถไว้เสมอ โดยเฉพาะในสถานการณ์ชุมนุมที่ฝ่ายตรงข้ามอาจนำสิ่งอันตรายหรือผิดกฎหมายมาใส่ไว้เพื่อใส่ร้ายให้ได้รับความเดือดร้อน

ส่วนที่อุทธรณ์ให้รอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้มูลเหตุการกระทำผิดเกิดจากการชุมนุมทางการเมือง แต่พฤติการณ์ที่ปิดล้อมกองทัพภาคที่ 1 เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีพนักงานเจ้าหน้าที่ทหารถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเดียว

จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบสันติ และไม่ถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษแก่จำเลย พิพากษายืน

คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ข้องใจคดีเลือดปี “53 ไม่คืบ

อย่างไรก็ตาม แม้คดีในส่วนอื่นๆ จะคืบหน้าไปตามลำดับ แต่คดีหลักของเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 นั่นก็คือการเสียชีวิตของประชาชน 99 ศพกลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ยิ่งไปกว่านั้น คดีที่ศาลไต่สวนการตายอย่างน้อย 17 คดี ที่ระบุว่าเกิดจากกระสุนเจ้าหน้าที่ ก็ยังไปไม่ถึงมืออัยการ

หนำซ้ำสำนวนไต่สวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ประมาณ 20 กว่าราย กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ มีความเห็นว่าไม่สามารถระบุหรือหาตัวคนทำความผิดได้ จึงเสนอให้อัยการสั่งยุติการสอบสวน

กลายเป็นสำนวนมุมดำ!??

ขณะที่สำนวนคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชัดแจ้งที่สุด มีคลิปวิดีโอ ภาพนิ่ง เห็นภาพคนยิงที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แม้จะมีความพยายามยุติไม่ส่งให้อัยการสั่งฟ้อง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นคดีที่ศาลอาญาได้ไต่สวนการตาย และระบุว่า เกิดจากกระสุนจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่บนรางรถไฟฟ้า

ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยส่งถึงอัยการ แต่เป็นหลักฐานสำนวนสำหรับยื่นท้ายฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในขณะนั้น ซึ่งอัยการก็ส่งเป็นหลักฐานไป เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลเรื่องขอบเขตอำนาจ สำนวนดังกล่าวก็ถูกส่งกลับมา และตีคืนไปให้ดีเอสไอ เพื่อพิจารณาสอบสวนเพิ่มเติม

บัดนี้คืบหน้าอย่างไรยังเป็นปริศนา!??

ขณะที่ดีเอสไอเคยชี้แจงเมื่อปี 2561 ว่า รับคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองปี 2552-2553 รวม 371 คดี แบ่งเป็น 4 กลุ่มคดี ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คดีเกี่ยวกับการก่อการร้าย 155 คดี สอบสวนเสร็จหมดแล้ว

กลุ่มที่ 2 คดีเกี่ยวกับการขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ 25 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว

กลุ่มที่ 3 คดีเกี่ยวกับการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 169 คดี สอบสวนเสร็จ 154 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 15 คดี

และกลุ่มที่ 4 คดีเกี่ยวกับการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ 21 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว

ส่วนจะสั่งฟ้องได้เมื่อไหร่คงต้องติดตาม

เปิดสำนวนไต่สวนการตาย 17 ศพ

สําหรับ 17 สำนวนที่ศาลไต่สวนการตายไปแล้ว 17 สำนวน ประกอบด้วย 1.นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 หน้าคอนโดฯ ไอดีโอ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ 2.นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 หน้าปั๊มเชลล์ ถ.ราชปรารภ 3.นายชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 หน้าอาคารอื้อจือเหลียง ถ.พระราม 4

4.ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถ.ราชปรารภ วันที่ 15 พฤษภาคม 2553 5.พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 28 เมษายน 2553 หน้าอนุสรณ์สถาน ถ.วิภาวดีรังสิต ศาลมีคำสั่งว่า เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ 6.นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิตาลี ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ถ.ราชดำริ ศาลมีคำสั่งว่าถูกยิงด้วยกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

7.นายรพ สุขสถิต 8.นายมงคล เข็มทอง 9.นายสุวัน ศรีรักษา 10.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 11.นายอัครเดช ขันแก้ว และ 12.น.ส.กมนเกด อัคฮาด ถูกยิงเสียชีวิตหน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ศาลมีคำสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่มีวิถีกระสุนมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

13.นายจรูญ ฉายแม้น และ 14.นายสยาม วัฒนนุกูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน 2553 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ ศาลมีคำสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่มีวิถีกระสุนมาจากฝ่ายเจ้าพนักงาน

15.นายถวิล คำมูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บริเวณป้ายรถแท็กซี่ข้างรั้วสวนลุมพินี ถ.ราชดำริ ศาลมีคำสั่งว่า ถูกวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร

16.นายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดฯ บ้านราชดำริ ถ.ราชดำริ ใกล้แยกสารสิน ศาลมีคำสั่งว่า วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร

17.นายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ศาลมีคำสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฏิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่

เป็นคดีที่ศาลชี้การตาย ที่ล้มไม่ลงแน่นอน