อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การจับมือของสีจิ้นผิง-ซูจี สู่ข้อเสนอจากจีนที่พม่าปฏิเสธไม่ได้

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

พินิจ สีจิ้นผิง พบ ออง ซาน ซูจี (2)

สําหรับผู้เขียนแล้ว ข้อตกลงที่ลงนามโดยประธานาธิบดีสี่จิ้นผิง ของจีน กับนางออง ซาน ซูจี ตัวแทนของเมียนมาที่สำคัญที่สุดมี 2 โครงการ

โครงการที่ 1 คือโครงการท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู

โครงการที่ 2 โครงการเขื่อนมิตโสน (Mytson)

ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

โครงการท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู

โครงการท่าเรือน้ำลึก จอก์พยู และเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งรัฐยะไข่ มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นหัวใจของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanma Economic Corridor-CMEC)

โดยท่าเรือน้ำลึกจอก์พยูจะเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียของจีน ทว่าทางการเมียนมาได้เจรจาลดการลงทุนจากมูลค่า 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐเหลือ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยง “กับดักหนี้” (Debt trap) กับจีน

กระนั้นก็ดี ทางการเมียนมายังต้องลงเงิน 30% ในโครงการนี้อยู่ดี1

ปัญหาของโครงการท่าเรือน้ำลึกนำไปสู่ภาพกว้างและที่เป็นจริงของความช่วยเหลือพัฒนาจากจีนคือ เงินกู้ (loan) และเครดิตมากกว่าเงินให้เปล่า (grant) และข้อเรียกร้องให้ต้องทำงานร่วมกับบริษัทของจีน โครงการท่าเรือน้ำลึกจะเปลี่ยนไปเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้อันไปสู่การพึ่งพาในอนาคตของเมียนมาต่อจีนด้านการเงิน การบำรุงรักษาและการค้าที่คล้ายกับท่าเรือน้ำลึกฮัมบันโตต้า (The hambantota port) ของศรีลังกา โครงการท่าเรือน้ำลึกของศรีลังกาที่พึ่งพาจีนเป็นตัวอย่างที่เตือนประเทศอื่นๆ ให้เห็นว่าเกิดขึ้นได้ ถ้าเงินกู้ของจีนจ่ายกลับคืนไม่ได้2

ต่อโครงการนี้ ศรีลังกาได้เสนอ debt-for-equity swap แลกแก่บริษัทของจีนคือ บริษัท China Merchant Port Holding เช่าท่าเรือน้ำลึกเป็นเวลา 99 ปีดำเนินการบริหารอุปกรณ์ต่างๆ ของท่าเรือน้ำลึก3

มองให้กว้างและลึกจะเข้าใจบทบาทจีนในภูมิภาคนี้ กล่าวคือ ถ้าหากเกิด “กับดักหนี้” กับโครงการท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู จีนจะไม่ได้เพียงที่ตั้งยุทธศาสตร์ (Strategic station) แต่ยังได้ทางรถไฟทั้งความเร็วสูงในเขตรัฐฉานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นระบบโลจิสติกส์เพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 เขตติดชายแดนจีนและถนนไฮเวย์ อีกทั้งจีนยังได้ทางรถไฟสายต่างๆ ที่เชื่อมต่อผ่านมณฑลใต้เฉียงตะวันตกของยูนนาน

นั่นเท่ากับว่าเป็นเส้นทางครบรอบวงของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาที่เราเรียกว่า CMEC จนทำให้ CMEC เป็นมากกว่าเพียง “ระเบียงการค้า” แต่สามารถทำให้จีนควบคุมเส้นเลือดแดงที่ช่วยให้จีนกระจายและแผ่อิทธิพลของตนไปทั่วภูมิภาค

เท่ากับจีน “จำนำ” การใช้อำนาจสั่นคลอนอธิปไตยแห่งชาติ (National Sovereignty) ของเมียนมาได้

นอกจากท่าเรือน้ำลึก เขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณจอก์พยูจะเปลี่ยนไร่นาและป่าไม้สักโดยรอบให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าและอาหารสำเร็จรูป

แม้ทางการเมียนมาจะบอกแก่ชาวยะไข่ว่าพวกเขาจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับพิจารณารับเข้าทำงานบางตำแหน่งจากงานทั้งหมด 4 แสนตำแหน่ง4

แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าการจ้างงานจะตกไปเป็นของคนนอกรัฐยะไข่มากกว่า เพราะเขตนั้นทั้งกันดารและยากจน

อันนี้ไม่ต้องกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา พวกเขาแทบไม่ได้โอกาสนี้มีแต่ผลักไสพวกเขาไปอยู่ที่อื่นเช่นที่ผลักดันไปอยู่ชายแดนบังกลาเทศ เป็นต้น

 

การกลับมาของเขื่อนมิตโสน (Myitson)

โครงการเขื่อนมิตโสนมูลค่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 6,000 เมกะวัตต์ (MW) อาจเป็นโครงการในดวงใจของผู้นำสูงสุดของจีนที่มาเยือนเมียนมาครั้งนี้ก็ได้

โครงการดังกล่าวได้ถูกระงับไปโดยรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ในปี 2011

การสร้างเขื่อนนี้ได้รับการต่อต้านและประท้วงจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก โครงการก่อสร้างเขื่อนนี้อยู่ในรัฐคะฉิ่นรัฐที่อยู่ทางตอนเหนือของเมียนมา

การประท้วงมาจากหลายฝ่ายเห็นว่าโครงการเขื่อนที่ลงทุนโดยจีนจะสร้างความเสียหายอย่างมากเพราะเขื่อนนี้จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ขนาดเท่ากับประเทศสิงคโปร์

และที่สำคัญเป็นการทำลาย แม่น้ำอิระวดี ในขณะที่กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนจะมีการส่งออกไปยังประเทศจีนมากกว่า 90 % ของกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนผลิตได้ ทว่าเมียนมากลับขาดแคลนกระแสไฟฟ้าไปทั่ว

การเดินทางออกต่างประเทศครั้งแรกของประธานาธิบดีสี ผู้นำสูงสุดของจีนในปี 2020 จึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งของการก่อสร้างเขื่อนมิตโสน

ไม่ใช่ว่าเมียนมามีความสำคัญในฐานะสมาชิกอาเซียน

กระแสไฟฟ้าคือเป้าหมายที่จีนไม่ปิดบัง น่าสนใจว่า แม่น้ำอิระวดีเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำที่จีนหมายเอาไว้เป็นเส้นทางการค้า คมนาคมและทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียผ่านอ่าวเบงกอล ก่อนแผนการสร้างเส้นทางรถไฟและถนนพาดผ่านท่าเรือน้ำลึกจอก์พยูในรัฐยะไข่เสียอีก

เมื่อสร้างเขื่อนมิตโสนไม่ได้เพราะการประท้วงของชาวบ้านจนต้องเลื่อนโครงการออกไป ต่อมาภายหลังทางการจีนได้รับอนุญาตจากเมียนมาให้สร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันจากจอก์พยูจนถึงเมืองคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนานของจีนแทน

แม้ว่าค่าก่อสร้างท่อขนส่งก๊าซและน้ำมันจะมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับการขนส่งและการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอิระวดี จีนก็สร้าง โดยก๊าซนำส่งถึงโรงงานผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์

ในเวลาเดียวกัน การรุกคืบและเดินเกมทางการทูตของผู้นำจีนได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเมียนมา

ก่อนหน้าการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีสีกับนางออง ซาน ซูจี นางได้เดินทางไปเยือนรัฐคะฉิ่นอันเป็นการปรากฏกายที่หาดูได้ยากมากของเธอยังถิ่นชนกลุ่มน้อย โดยที่ไม่ต้องตีความมากก็ได้

นี่เป็นอีกข้อพิสูจน์อีกประการหนึ่งของ “เทพีแห่งเสรีภาพ” เมียนมา นางออง ซาน ซูจี เดินทางไปเจรจากับผู้นำรัฐคะฉิ่น5

เธอแต่งกายชนเผ่าคะฉิ่นเพื่อโน้มน้าวการรื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนมิตโสน โดยไม่สนใจแรงต่อต้านจากคนท้องถิ่นก่อนหน้านั้น

เธอไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ว่า จะต้องมีการอพยพย้ายถิ่นของคนคะฉิ่นขนาดใหญ่เมื่อการสร้างเขื่อนเริ่มต้นใหม่

เธอตัดสินใจลงนามข้อตกลงว่าด้วย การย้ายถิ่นภายในประเทศเมียนมากับผู้นำจีน ซึ่งก็คือชาวคะฉิ่นแน่นอน โดยไม่มีสำนึกของเรื่องสิทธิการตั้งถิ่นฐาน สิทธิทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยเลย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและใหม่ที่เธอเห็นพ้องกับกิจกรรมทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐที่เธอเองเห็นด้วย มิไยต้องกล่าวถึงการปกป้องการปราบปรามชาวโรฮิงญาที่เธอออกให้ปากคำต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์6 ว่ากองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมาสามารถใช้กำลังแก้ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งภายในได้

 

สรุป

ใครจะขนานนาม BRI ของจีนเป็นอะไรก็แล้วแต่ สำหรับผม นี่คือมหายุทธศาสตร์ มีบทบาทพหุหน้าที่ ลื่นไหล พลิกแพลง แต่ทรงพลังถ่ายเทผลประโยชน์นานัปการต่อจีน จีนต่อเมียนมาย้ำให้เราเห็นภาพนั้นชัดเจนขึ้นซึ่งก็เหมือนที่อื่นๆ ที่มหายุทธศาสตร์ดังว่าแผลงฤทธิ์

BRI ด้านหนึ่งอุปโลกน์ว่าเป็น “เอาชนะใจเพื่อนๆ” บางโครงการ เช่น ออกมาในรูปสนามเล่นสกีในร่มที่ออสเตรเลีย เป็นร้านสปา แพทย์แผนจีนในสาธารณรัฐเช็ก บ้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมและสวนสนุกในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม อิตาลี ฮังการีและเซอร์เบีย

แต่มหายุทธศาสตร์นี้ยังเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ระเบียงเศรษฐกิจ เช่น กับปากีสถาน เส้นทางการค้าสายไหมที่คาซัคสถานและเอเชียกลาง รถไฟความเร็วสูงและถนนไฮเวย์เจาะทะลุภูเขา เช่น ใน สปป.ลาว ท่าเรือในศรีลังกา ท่าเรือน้ำลึกในเมียนมา นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่มะลากาเกตเวย์และเส้นทางรถไฟสายตะวันออกของมาเลเซีย รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตาถึงบันดุงในอินโดนีเซียและที่อื่นๆ อีกมากมาย

แต่ละโครงการจะมีเรื่องเงินกู้และหนี้สินจำนวนมหาศาล การแลกเปลี่ยนทรัพยากรของประเทศต่อโครงการ เช่น ทำเหมืองแร่ทองแดง สัมปทานไม้ สัมปทานประมง สัมปทานการปลูกข้าว ข้าวโพด ปาลม์ขนานใหญ่ในหลายๆ ประเทศ

ข้อเรียกร้องการจ้างวิศวกรชาวจีน อุปกรณ์ก่อสร้างของจีน การค้าขายสินค้าของจีนตามเส้นทางต่างๆ การแย่งอาชีพพ่อค้าท้องถิ่นที่สู้พ่อค้าจีนที่ขายของราคาถูกกว่า แรงงานจีนทะเลาะกับชาวบ้าน

ทั้งหมดนี้กล่าวย่อๆ เพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การขูดรีด การไล่ที่ดินทำกิน การย้ายถิ่นฐานของคนท้องถิ่น

เรายังไม่ได้กล่าวถึง ภูมิรัฐศาสตร์ ยุทธศาสตร์ทางการเมือง การทหารที่ร้อยรัดอย่างไม่มีรอยต่อกับเส้นทางต่างๆ ทั้งบนบกและทางทะเลที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของ BRI และโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ

ขอยกตัวอย่างอีกแห่ง รถไฟไทย-จีน มิได้อยู่นอกมหายุทธศาสตร์นี้เลย ไทยทั้งรีบประกาศรับมหายุทธศาสตร์โดยมิได้ดูตัวอย่างในที่อื่นๆ เลย

นี้เองที่ต้องพินิจ ก้าวแรกของผู้นำจีนสู่ภายนอกในปี 2020

———————————————————————————————————-
(1) “จีน สีจิ้นผิง เยือนเมียนมาครั้งแรก” บีบีซีไทย 16 มกราคม 2020
(2) Bertil Lintner “What China”s Xi will and won”t get in Myanmar” Asia Times 16 January 2020
(3) Ibid.,
(4) ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขนี้มาจากไหน
(5) “China”s Xi vows “New Era” Myanmar ties” The ASEAN Post 18 January 2020
(6) 11 พฤศจิกายน 2019 ดูเพิ่มเติม อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ เทพีสันติภาพ มติชนสุดสัปดาห์ 27 ธันวาคม 2562-2 มกราคม 2563 : 112