เพ็ญสุภา สุขคตะ : อัคนี มูลเมฆ ระวี ตระการจันทร์ แทนชีวา และ ธวัชชัย ทนทาน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ได้กล่าวถึงบทกวีสามชิ้นที่ได้รับรางวัลชมเชย “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ครั้งที่ 2 ไปแล้ว

ฉบับนี้มาทำความรู้จักกับกวีทั้งสามแบบเจาะลึก

ก่อนอื่นขอนำเสนอฉากและชีวิตของ “อัคนี มูลเมฆ” กวีที่ได้รับรางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ในฐานะ “ตัวบุคคล” เป็นปฐมบท

 

อัคนี มูลเมฆ

นามจริง อภิชาติ สุทธิวงศ์ เกิดภูเก็ต โตพัทลุง ใหญ่กรุงเทพฯ เป็นศิษย์เก่าชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนพัทลุง และชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนบางกะปิ กรุงเทพฯ

เดินผ่านการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์สาขาการต่างประเทศ-มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเรียนวิชาปรัชญาระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคภูมิใจที่สุดสำหรับชีวิตทางการศึกษาที่สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถึงอย่างนั้น เป็นหนึ่งในอีกหลายคนที่ไม่เคยมีปริญญาบัตรแม้แต่สักใบ

เป็นหนึ่งในขบถและจำเลยรุ่น 6 ตุลาคม 2519

อัคนีเริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกที่ นสพ.มาตุภูมิรายวัน และต่อมาที่นิตยสาร “อาทิตย์รายสัปดาห์” (รุ่นข่าวพิเศษ) กระทั่งเดินผ่านวิชาชีพสื่อมวลชนบนแผ่นกระดาษและบนเว็บไซต์มาหลายสำนัก อาทิ มาตุภูมิรายวัน, กรุงเทพธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลอินโดจีน, สำนักข่าวเอพี, เอเอฟพี, ไมนิจิชิมบุน และสุดท้ายที่อินเตอร์เพรสเซอร์วิส

ในชีวิตการทำงานกว่า 15 ปี เคยขลุกอยู่กับสถานการณ์ข่าวในประเทศลาว, กลุ่มขบถพม่า, ปัญหายาเสพติด และการเมืองของชนชาติส่วนน้อย ทั้งในพม่าและภูมิภาคเอเชียใต้ กระทั่งนิยามตัวเองว่า “ผู้สื่อข่าวสงคราม”

สุดท้ายออกมาเป็นนักเขียน, นักทำสารคดี และนักแปลอิสระ

งานที่เคยออกมาในรูปพ็อกเก็ตบุ๊กได้แก่ คำสารภาพ (The Confession), กฎแห่งความรักและกฎแห่งความรุนแรง (The Law of Love and Law of Violence), ศาสนาและศีลธรรม (Religion and Morality), ศาสดาขบถ (Bob Marley : The Definitive Biography of Raggae”s Greatest Star), บิน ลาเด็น (ชีวประวัติ), เดินใต้ดวงตะวันสู่สวรรค์บนดิน (สารคดีเดินทางในเนปาลและทิเบต), นากาแลนด์: ดินแดนที่โลกลืม (Nagalim : The Forgotten Land)

ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก (The Symposium), รัฐฉาน : ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ (Shan State : History and Revolution), กัญชาปกรณัม (Ganja Mythology), แม่มด : ประวัติศาสตร์แห่งไสยเวท (Witchcraft History), พีคัสโซ่-อัจฉริยภาพและสัญชาตญาณมืด (Picasso : Creator and Destroyer), ซาราธุสตรา (Thus Spoke Zarathustra)

ย้ายตัวเองมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2539 เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสีเขียว เป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กร “ภาคีคนรักเชียงใหม่” เคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้า เรื่อยมาถึงมหาโครงการไนท์ซาฟารีและพืชสวนโลก รวมทั้งงานสีเขียวอื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่และภาคเหนือ

ปัจจุบันเป็นกรรมการที่ปรึกษาของ “เขียว-สวย-หอม” องค์กรสีเขียวในจังหวัดเชียงใหม่

ในอดีต, เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มศิลปิน “อุกกาบาต” และ “สโมสรนักเขียนเชียงใหม่”

ในการเคลื่อนไหวทางสังคม อัคนียังใช้ปากกาและน้ำหมึกให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเขียนบทกวี, สารคดี, บทความ, แถลงการณ์ และการแต่งเพลง

บ่อยครั้งที่บทเพลงของเขาถูกนำไปขับขานอยู่บนเวทีสีเขียวเพื่อต่อสู้กับโครงการทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ

งานเพลงของอัคนีสามารถย้อนรอยไปได้ถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งชาวเชียงใหม่ลุกขึ้นต่อต้านโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปยังดอยเชียงดาว และถัดมาเมื่อต่อต้านโครงการสร้างพืชสวนโลก เหตุการณ์ทั้งสองเป็นที่มาของอัลบั้ม 2 ชุด ที่นักดนตรีเชียงใหม่ร่วมกันทำขึ้นเพื่อการรณรงค์ต่อต้านโครงการดังกล่าว อัคนียังเข้าร่วมโครงการรณรงค์พิทักษ์แม่น้ำโขงด้วยการทำอัลบั้มเพลงร่วมกับนักดนตรีในภาคเหนืออื่นๆ

แม้มิใช่นักดนตรีอาชีพ อัคนียังใช้ดนตรีเพื่อการรณรงค์ทางสังคมควบคู่ไปกับงานเขียนเรื่อยมาจนบัดนี้

อนึ่ง อัคนียังไม่เคยถูกเลือกให้รับรางวัลหรือเสนอตัวเองเข้ารับรางวัล หรือได้รับทุนอุดหนุนการทำงานใดๆ มาก่อน เป็นครั้งแรกที่ได้รับเกียรติให้รับรางวัล “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”

เขากล่าวว่า รางวัลเป็นเหมือนกำลังใจ เป็นความภาคภูมิ และสิ่งกระตุ้นให้ผู้คนทำงาน รางวัลจึงสร้างบทบาททางสังคมให้ตัวมันเองและให้กับผู้ได้รับรางวัลไปพร้อมกันด้วย

 

ระวี ตระการจันทร์
สนธยาลัย

ระวี ตระการจันทร์ คือนามปากกาของ กวีระพงศกร มุ่งงาม เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2521 ภูมิลำเนาเป็นชาวอุบลราชธานี

จบมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนบ้านกอก (เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษารุ่นบุกเบิก) ที่จังหวัดอุบลราชธานี จบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จังหวัดยโสธร

ปัจจุบันรับราชการ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

ผลงานทางด้านวรรณกรรม

๏ บทกวีชื่อ “เปลื้อง วรรณศรี” ได้รับรางวัลชมเชย โครงการประกวดวรรณกรรมรางวัลเปลื้อง วรรณศรี ครั้งที่ 1 พ.ศ.2558 ของสโมสรวรรณศิลป์สุรินทร์

๏ บทกวี “ลมหายใจโบราณ” ผ่านเข้ารอบสุดท้าย การประกวดโคลงสี่สุภาพ ของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558

๏ บทกวี “อ้อมกอดสุดท้ายบนถนนสายเศร้า” ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดกวีนิพนธ์ขนาดสั้น หัวข้อ แรงบันดาลใจจากภาพสู่กวีนิพนธ์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ พ.ศ.2559

๏ บทกวี “ในความเศร้าสร้อยบนรอยยิ้ม” ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดกวีนิพนธ์ขนาดสั้น หัวข้อ แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ไทยสู่งานกวีนิพนธ์ โครงการของอาจารย์ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ.2557

๏ บทกวี “บนถนนสายเศร้าที่เราฝัน” ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดบทกวีรางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2561)

๏ บทกวี “อาภรณ์ของแม่” ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลเปลื้อง วรรณศรี ครั้งที่ 4

๏ หนังสือกวีนิพนธ์ (เล่มแรก) “สายรุ้งที่หายไป” พ.ศ.2559

๏ บทกวี “ปลายทางของเส้นขนาน” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ พานแว่นฟ้า พ.ศ.2561

๏ มีบทกวีตีพิมพ์บ้างตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

ระวีกล่าวถึงบทกวี “สนธยาลัย” ว่าชิ้นนี้ใช้รูปแบบคำฉันท์รองรับเนื้อหา อันกล่าวถึงดินแดนที่กำลังตกอยู่ในห้วงมืดมัวสลัวหม่น เศร้าสร้อย และเพรียกหาแสงแห่งอรุณรุ่ง ท่ามกลางรอยแยกแหลกร้าวใต้ซากปรักหักพัง ความหวังดูเหมือนเลือนรางห่างไกลออกไปทุกที ไม่ว่าฝ่ายใด ก็ต่างจ้องจะแย่งชิงกันเป็นใหญ่

เป็นยุคที่ “ลอยตรงหน้าล้วนกระเบื้องของเมืองบ้าน น้ำเต้าน้อยถอยลาจมบาดาล”

 

แทนชีวา
ย่าผู้ปรุงชีวีวิถีชีวิต

“แทนชีวา” หรือ “พิริยภูมิ หง่อยกระโทก” มีภูมิลำเนาเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา กำลังศึกษาอยู่ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 1

แรงบันดาลใจในช่วงวัยมัธยมต้น การอ่าน การเขียน เป็นไปในแนวเพ้อฝัน จนกระทั่งได้พบเจอกับหนังสือบทกวีเล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือช่างหวานปนเศร้าราวกับหนังสือกลอนรักหวานซึ้ง เขาตัดสินใจจับจองโดยไม่ลังเล แต่การได้พบหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ ได้เปลี่ยนแปลงการอ่าน การเขียน ของเขาไปอย่างมาก เนื้อหาในหนังสือบรรจุเรื่องราวความสะเทือนใจของชีวิตได้อย่างงดงาม

นั่นคือหนังสือกวีนิพนธ์ “เหมือนดั่งดอกหญ้า” ของ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า บทกวีที่เป็นแรงบันดาลใจของเขาในการอ่านการเขียนคือบทกวีของ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”

รางวัลที่เคยได้รับ : ชนะเลิศรางวัล วรรณศิลป์อุชเชนี ปี 2560 ชนะเลิศรางวัลวรรณศิลป์ อุชเชนี ปี 2561 รางวัลกวีปากกาทอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2562 และชมเชยรางวัล ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ปี 2562

บทกวี “ย่าผู้ปรุงชีวีวิถีชีวิต” เกิดจากความคิดถึงคุณย่า ที่หลานคนหนึ่งต้องไกลบ้าน ไกลย่า เพื่อตามไขว่คว้าความฝัน พบเจอชีวิตที่ไม่คุ้นเคย คิดถึงย่า คิดถึงกับข้าวฝีมือย่า

การเดินทางเพื่อที่จะฉวยคว้าความฝัน มักแลกด้วยอะไรบางอย่าง ในที่นี้ อาจเป็นความคิดถึง ที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ขอให้ผู้อ่านทุกคนค้นพบถ้อยคำในใจ แทนชีวา

 

ธวัชชัย ทนทาน
คำตระบัดสัตย์ของสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง

ธวัชชัย ทนทาน เป็นชื่อจริง เกิดที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จบการศึกษาทางด้านช่างก่อสร้าง/โยธา เป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับบทกวีชิ้นนี้เขาได้ทำไว้ 2 ชุดในชื่อ “สุดสัปดาห์บนหน้าผาของการปีนไต่ : สงครามการค้าแผ่ลามไหลเหมือนไฟลามทุ่ง (1)-(2)” แรงบันดาลใจหลักที่ทำให้เขาต้องเขียนชุดที่ 3 เพิ่ม ก็คือประจวบเหมาะกับช่วงที่เขากำลังเจอมรสุมถาโถมหัวใจ (อกหัก)

บทกวี “คำตระบัดสัตย์ของสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง” จึงได้เผยโฉมออกมา ใช้เวลาเขียนไม่เกิน 1 ชั่วโมง ตอนนั้นเขาพลัดตกไปในหลุมดำของฤดูกาล จึงต้องย่อยอารมณ์ความโศกเศร้าต่างๆ นานา เปลี่ยนเป็นบทบันทึกเล็กๆ ผนวกเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม ที่เหล่าผู้นำต่างก็เล่นเกมทางด้านปากท้องกับประชาชนทั่วทั้งโลกมาร้อยเรียง

“ผมเริ่มหลงรักโลกของการอ่านเมื่อ พ.ศ.2538 กระทั่ง พ.ศ.2541 มีบทกวีชิ้นแรกชื่อ “ดอกไม้แห่งห้วงกาล” ด้วยสไตล์และน้ำเสียงในบทกวีรวมถึงการตั้งชื่อเรื่องยาวเป็นกิโล นั่นจึงทำให้ผลงานที่ออกมากลายเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวไปโดยปริยาย”

ตั้งแต่ พ.ศ.2549 ถึง 2559 มีผลงานหลายชิ้น ตัวอย่างเช่น เรื่องสั้น “ขบวนรถถังในเดือนกันยาที่บรรจงออกมาเคาะระฆังลั่นฟ้าปรากฏการณ์”

บทกวี “โลกในดวงตาเด็กเด็ก : เสียงกระซิบเล็กเล็กที่ดังมาจากเด็กเด็กท้ายหมู่บ้านแห่งสยามประเทศ”, “นิทานจากชายแดนปักษ์ใต้ : เรื่องเล่าของฟืนไฟในฤดูกาล” และบทกวีชื่อ “การเดินทางครั้งสุดท้าย : บนทางหลวงหมายเลขทั้งสิบสอง” ทั้งหมดนี้เข้ารอบสุดท้ายจากการประกวดรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด

บทกวี “นิทานทิวทัศน์ในกล้อง cctv : แผ่นดินมีน้ำตาที่ราชประสงค์”, “ความตายของเด็กๆ ในโรงเรียนประจำ : เสียงรำพึงช้ำๆ ซ้ำๆ บนความคล้ำหมองของเสียง ณ เวียงป่าเป้า” และ “สมุดบันทึกเล่มเก่าๆ ที่เปื้อนคราบน้ำตา : ทิศทางวาระแผนแม่บทพัฒนาหมายเลขศูนย์” ทั้งหมดเข้ารอบสุดท้ายจากการประกวดบทกวีขนาดสั้นครั้งที่ 1 และ 2 ของสถาบันปรีดี พนมยงค์

บทกวี “ข่าวการเดินทางไกลไปกับนกฝูงหนึ่ง : ลิ้มชิมน้ำผึ้งแสนหวานอีกฟากด้านของการผ่านล่วง” ได้รับรางวัลประเภทกวีนิพนธ์ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2552

ผลงานรวมเล่ม โดยสำนักพิมพ์ปากพนัง 3 เล่ม “ภาพประทับกับนักแกะสลักระฆังกาลผ่านประวัติศาสตร์ประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร”, “เด็กเด็กของเราควรมีเรื่องเล่าคนละเรื่องเกี่ยวกับเมืองต้องคำสาปเหนือคาบสมุทร” และ “นิทานในบ้านเจ้าชายน้อย”

ปัจจุบันทดลองเป็นนักเดินทางระหว่างประเทศและทดลองเป็นนักวิ่งมาราธอนโดยไม่ได้คาดหวังจะทำลายสถิติใดๆ ทั้งสิ้น คาดหวังเพียงแค่หยาดเหงื่อดอกผลของความมุ่งมั่นและความอ่อนล้าจากการฝึกซ้อมในแต่ละวัน จะกลับกลายมาเป็นบททดสอบและเคี่ยวกรำตนเองเพื่อให้มันรินหลั่งไปสู่อีกฟากฝั่งของงานสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบ