นิธิ เอียวศรีวงศ์ | โลกพระศรีอาริย์เอไอ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวใหญ่ระดับโลกหลายแห่งเพิ่งเสนอข่าวคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับฟินแลนด์ว่า นายกรัฐมนตรีหญิงที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประกาศจะลดวันทำงานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์ และ 6 ชั่วโมงต่อวัน

ที่ว่าคลาดเคลื่อนก็เพราะ ที่จริงแล้วคุณแซนนา มาริน (Sanna Marin อ่านด้วยเสียงภาษาอังกฤษ เพราะไม่ทราบว่าภาษาฟินน์ออกเสียงอย่างไร) นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมหรือรัฐบาลผสมของเธอยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ถึงกับผิดโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อคุณมารินดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่ง เคยเสนอความเห็นทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว แต่รัฐบาลสมัยนั้นก็ไม่ได้หยิบขึ้นมาดำเนินการต่อ

Sanna Marin of Finland’s Social Democrates is pictured after she was elected to the post of Prime Minister in Helsinki, Finland, on December 8, 2019. – Sanna Marin narrowly won the vote to replace outgoing leader Antti Rinne, who resigned on Tuesday, December 3, 2019, after losing the confidence of the coalition partner Centre Party over his handling of a postal strike. (Photo by Vesa Moilanen / Lehtikuva / AFP) / Finland OUT

ความจริงแล้ว การลดชั่วโมงทำงาน (โดยเพิ่มวันหยุดหรือลดชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์) ไม่ใช่ของใหม่ ใน ค.ศ.1996 ประเทศฟินแลนด์เอง เป็นประเทศแรกที่ประกาศให้แต่ละคนสามารถเลื่อนการเข้า-ออกงานได้วันละ 3 ชั่วโมง เช่น เข้าช้า 2 ชั่วโมง ก็ออกงานสายไป 2 ชั่วโมง ฝรั่งเศสลดเวลาทำงานจากสัปดาห์ละ 39 ชั่วโมงเหลือเพียง 35 ชั่วโมง ตั้งแต่ ค.ศ.2000 ส่วนสวีเดนได้ทดลองลดเวลาทำงานเหลือวันละ 6 ชั่วโมงตั้งแต่ ค.ศ.2015 แต่ไม่ได้ใช้ทั่วประเทศ ทดลองนำร่องกับเมือง Gothenburg ใกล้พรมแดนฟินแลนด์ และพบว่าดัชนีความสุขของคนในเมืองนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เป็นภาระงบประมาณที่สูงเกินไป

การลดชั่วโมงการทำงานของทุกประเทศที่กล่าวแล้ว อาจไม่ตรงกับเป้าหมายของคุณมารินเมื่อเป็น รมต.ขนส่งนัก เพราะลดไม่มากพอจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนได้ แม้ทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้นก็ตาม การไม่กำหนดเวลาเข้า-ออกงานที่ตายตัวอย่างฟินแลนด์ (ซึ่งบัดนี้มีประเทศอื่นทำตามมากทีเดียว) ช่วยให้ความสะดวกแก่ชีวิตของคนทำงานแต่ละคนซึ่งย่อมแตกต่างกันแน่ เช่นคนมีลูกเล็กจะมีเวลาส่งลูกไปโรงเรียน (หรือรับลูกกลับจากโรงเรียน) แต่แทบจะไม่กระทบวิถีชีวิตของผู้คนเลย

แตกต่างจากข้อเสนอของคุณมารินอย่างไร ก็ต้องกลับมาดูว่า ในครั้งนั้นเธอพูดถึงการลดชั่วโมงทำงานครั้งใหญ่ของเธอว่าอย่างไร

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนสมควรจะได้ใช้เวลามากขึ้นกับครอบครัว, คนรัก, งานอดิเรก และด้านอื่นๆ ของชีวิต เช่น วัฒนธรรม นี่คือก้าวต่อไปในชีวิตการงานของเรา”

เป้าหมายคือวิถีชีวิต จาก 8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงนอน 8 ชั่วโมงพักผ่อน (รวมกิจวัตรส่วนตัว) มาให้ความสำคัญแก่เวลาพักผ่อนเหนือส่วนอื่น สาระของชีวิตอยู่ที่ส่วนนี้ ไม่ใช่การทำงาน นี่เป็นการพลิกกลับระบบคุณค่าชีวิตที่เริ่มปลูกฝังกันมาตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม จนทำให้อัตลักษณ์ของคนอยู่ที่งาน และชีวิตไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากทำงานจนหมดแรง แล้วก็ตาย

(นักวิชาการญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกผมว่า ความขยันขันแข็งของคนญี่ปุ่นจนลือชื่อในปัจจุบันนั้น เป็นอัตลักษณ์ที่เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยเมจินี้เอง ก่อนหน้านี้คนญี่ปุ่นก็ “ขี้เกียจ” ไม่ต่างจากคนในสังคมอื่น)

เมื่อนักคิดไทยมองเห็นว่าทักษะของมนุษย์ด้อยคุณค่าลงเพราะหุ่นยนต์และเอไอ ดูเหมือนจะยอมรับไปโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามว่า มนุษย์เองก็ด้อยคุณค่าลงไปด้วย แต่ก็ไม่รู้จะเอาขยะมนุษย์เหล่านี้ไปทิ้งไว้ที่ไหน เพื่อไม่ให้คนตกงานและความยากจนอย่างไพศาลสร้างความปั่นป่วนจลาจลแก่ “อารยธรรม” ที่ไร้แรงงาน ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

(ผมมีข้อเสนอในใจทีแรกว่า เอาไปเป็นทหารไว้คอยปราบปรามเข่นฆ่าขยะมนุษย์ผู้ก่อการจลาจลด้วยความหิวโหย แต่ก็คิดออกในทันทีเหมือนกันว่า หุ่นยนต์ทำหน้าที่นั้นได้เก่งกว่าและมีอันตรายน้อยกว่าทหารมนุษย์ อย่างน้อยก็เพราะทหารมนุษย์คิดและรู้สึกเองเป็น จึงอาจหันปากกระบอกปืนกลับมาทิศตรงข้ามได้… อย่างที่กองทัพมนุษย์เคยทำอย่างนั้นมาแล้วหลายครั้งหลายหนทั่วโลก)

ข้อเสนอของคุณมารินเมื่อเป็น รมต.ขนส่งเกี่ยวกับเปลี่ยนวิถีชีวิต จึงสอดคล้องกับความคิดของนักคิดยุโรปในต้นศตวรรษที่ 20 (โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปแล้ว) ในตอนนั้นยังไม่มีใครคิดถึงหุ่นยนต์หรือเอไอ แต่คิดถึงความเป็นอัตโนมัติหรือ automation เพราะนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือการนำเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นฐานความรู้ในการผลิตอย่างเต็มที่ ผลก็คือ เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำงานโดยอัตโนมัติมากขึ้น ต้องการแรงงานคนในการคุมเครื่องจักร หรือป้อนเครื่องจักรน้อยลง

นักคิดในรุ่นนั้นไม่ได้คิดว่ามนุษย์จะกลายเป็นขยะมนุษย์ เพราะเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานคน แต่กลับคิดว่า แทนที่คนจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ก็ควรลดการทำงานเหลือเพียงวันละ 4 ชั่วโมงก็เพียงพอที่จะรักษาผลิตภาพได้เท่าเดิมแล้ว (เตือนไว้ด้วยว่า 8 ชั่วโมงต่อวันนี่เป็นการต่อสู้อย่างหนักของแรงงานกว่าจะได้มาในหลายสังคม เพียงประมาณ 50 ปีก่อนหน้านั้น แรงงานยังต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงในเกือบทุกประเทศยุโรป)

สิ่งที่นักคิดรุ่นนั้นมองเห็นเป็นปัญหาก็คือ ชั่วโมงพักผ่อนจะกลายเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน ผู้คนจะใช้เวลา “ว่าง” นี้ไปทำอะไร จึงจะทำให้อารยธรรมที่มนุษย์บรรลุถึงแล้วนี้ก้าวหน้าต่อไป ไม่ใช่รวยขึ้นนะครับ แต่ผู้คนมีความสุขที่ละเมียดละไมและสร้างสรรค์ได้มากขึ้น จึงจะทำให้เกิดความก้าวหน้าในอารยธรรมได้

นักคิดในรุ่นนั้นคิดถึงการเตรียมการและสร้างสังคมที่สามารถตอบสนองการใช้เวลาว่างของคนอย่างสร้างสรรค์ เช่น ผู้คนมีความสามารถในการอ่านกวีนิพนธ์ที่ลึกซึ้งเป็น ชื่นชมศิลปกรรมที่งดงามและบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ เป็น สนุกกับการแสวงหาความรู้และความชำนาญที่ตนชอบ หรือมีงานอดิเรกที่บันเทิงใจและสติปัญญา ฟังเพลงที่ไพเราะและซับซ้อนได้เป็น ฯลฯ ทั้งหมดนี้รวมถึงการมีความสามารถและความอยากจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เหล่านี้ด้วยตนเองด้วย ทั้งนี้ รวมถึงสังคมที่ผู้คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันเพราะมีเวลาเพียงพอจะเอาใจใส่คนรอบข้างด้วย

อย่างที่คุณมารินพูดแหละครับ เวลาว่างต้องทำให้ชีวิตมนุษย์ในทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่ด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ชีวิตทางสังคม, ชีวิตทางวัฒนธรรม และชีวิตส่วนตนและส่วนในของทุกคน เป็นไปในทางที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นด้วย

ความคิดเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ในสมองของนักคิด มีเงื่อนไขปัจจัยบางอย่างในช่วงนั้นที่ช่วยเอื้อให้เกิดความคิดเช่นนี้ด้วย ผมขอยกให้ดูเพียงสองอย่าง

อย่างแรกก็คือ จากการสอบสวนอย่างละเอียดของ Thomas Piketty (Capital in the Twenty-First Century) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในยุโรปลดขนาดความรุนแรงไปมาก ลูกระเบิดทำให้บ้านเรือนในสลัมซึ่งอาจสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่ถูกทิ้งขว้างในกองขยะ และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีเครื่องจักรซับซ้อนของนายทุนพังทลายลงพร้อมกัน ดึงคนสองพวกเข้ามาอยู่ในระนาบของทรัพย์สินที่ใกล้เคียงกันยิ่งขึ้น

ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากจะทำให้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์รับใช้มนุษยชาติ ไม่ใช่เจ้าสัวเพียงบางคน

ในต้นศตวรรษที่ 20 ธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิงยังไม่ใหญ่โตมโหฬารเท่าสมัยหลัง (เช่น ไม่มีโทรทัศน์) นายทุนยังสามารถผลิตสินค้าบันเทิงที่มีคุณภาพอื่นๆ นอกจาก “กำไร” ได้อีกมาก แม้แต่รัฐเองก็ยังมองไม่เห็นว่าสินค้าบันเทิงเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อ “ล้างสมอง” พลเมืองได้ดี พูดง่ายๆ คือมัน “บริสุทธิ์” (จากเป้าหมายทางธุรกิจและการเมือง) กว่าสินค้าบันเทิงในสมัยหลัง

แม้กระนั้น ความคิดของนักคิดยุโรปในรุ่นนั้นก็ยังเป็นเพียงความ (เพ้อ) ฝันเท่านั้น เพราะในต้นศตวรรษที่ 20 คนกว่าครึ่งโลกยังอยู่ในรัฐอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม อันเป็นสถานที่สำหรับผลิตวัตถุดิบราคาถูก, ตลาดผูกขาดของสินค้าอุตสาหกรรมจากเมืองแม่, การลงทุนที่ต้องทำกำไรได้สูงด้วยการกดขี่แรงงานหรือดอกเบี้ยสูง ฯลฯ

ดังนั้น แม้จะมีเครื่องจักรอัตโนมัติที่ปลดปล่อยแรงงานมนุษย์ออกไปได้มากสักเพียงไรในยุโรป (และอเมริกาเหนือ) แรงงานในอาณานิคมก็ยังต้องทำงาน 8 ชั่วโมงหรือเกินกว่านั้นอยู่นั่นเอง

แม้ความคิดอันน่ายกย่องสรรเสริญของนักคิดยุคนั้นไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในสมัยนั้น แต่ผมคิดว่าก็ยังปฏิบัติไม่ได้จริงในยุคนี้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์ดูจะให้โอกาสความเป็นไปได้สูงกว่าเครื่องจักรอัตโนมัติก็ตาม และที่ปฏิบัติไม่ได้นั้นก็ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันคือ ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์เวลาว่างเป็นอภิสิทธิ์ที่แจกจ่ายให้แก่คนได้จำนวนน้อยเท่านั้น และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นอภิสิทธิ์ซึ่งแม้มีผู้ครอบครองมากขึ้นกว่าสมัยโบราณ ก็ยังไม่ใช่พลโลกส่วนใหญ่อยู่นั่นเอง

ในทุกวันนี้ มีคนจำนวนมากต่อมากต้องทำงานหนักแทนมนุษย์เวลาว่างจำนวนน้อยอยู่ทั่วทั้งโลก แม้ว่าเวลาทำงานเป็นทางการจะเหลือเพียง 8 ชั่วโมงต่อวันในประเทศส่วนใหญ่ แต่แรงงานในเวียดนาม, กัมพูชา, ไทย, พม่า, ฟิลิปปินส์, จีน, อินเดีย, แอฟริกาและอีกหลายประเทศในละตินอเมริกา ไม่อาจเอาชีวิตของตนเองและครอบครัวให้รอดได้ด้วยเวลา 8 ชั่วโมง จำเป็นต้องทำงานนอกเวลาจนถึง 12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

ไม่เฉพาะแต่ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น คนอเมริกันพบว่า เพื่อจะมีรายได้เพียงพอ คนจำนวนมากต้องทำงานเกินหนึ่งงานเท่านั้น จึงจะทำรายได้ให้พอต่อการครองชีพแบบที่ตนเห็นว่าควร

การลดเวลาทำงานในยุโรปบางประเทศอาจไม่ใช่แนวโน้มใหม่ของโลก เพราะทั่วทั้งโลกผู้คนพบว่า เขาต้องทำงานเกินกว่าเวลางานซึ่งเป็นทางการทั้งนั้น ไม่ในโรงงานก็ที่บ้าน ไม่ในออฟฟิศหนึ่งก็ในออฟฟิศสอง

ผมไม่ปฏิเสธว่า ความต้องการของผู้คนในโลกปัจจุบันเองก็มีมากขึ้น เพราะมีตัวอย่างของมาตรฐานการครองชีพที่สูงกว่าให้ได้เห็นตำตาอยู่ตลอดเวลา จะไม่ให้คนคิดใฝ่ฝันทะเยอทะยานอยากได้อยากมีกับเขาบ้างคงเป็นไปไม่ได้ แต่เรื่องนี้แก้ไม่ได้ด้วยการสอนให้คน “พอเพียง” อย่างเดียว เพราะเศรษฐกิจพอเพียงนั้นควรมีสองด้าน หนึ่งคือด้านจิตใจของคน ที่ต้องรู้จักควบคุมความต้องการให้อยู่ในระดับพอเพียง แต่อีกด้านหนึ่งที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมาพร้อมกับการจัดการทางเศรษฐกิจ เช่น ทำให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีสินค้าทางสังคมซึ่งจำเป็นแก่ชีวิตของคนสมัยใหม่ที่ทุกคนเข้าถึงได้เท่าๆ กัน เช่น สุขอนามัย, การศึกษา, ความปลอดภัย ฯลฯ เป็นต้น

“เศรษฐกิจพอเพียง” ในประเทศไทยท่องจำกันแต่ด้านแรก โดยไม่ใส่ใจด้านหลังเอาเสียเลย จึงเป็นแต่เพียงคำประณามพจน์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน มากกว่าเจตนารมณ์แท้จริงที่จะบรรลุให้ถึงเป้าหมายนั้น

ตราบเท่าที่หุ่นยนต์ยังมีราคาแพง แรงงานคนยากจนย่อมให้กำไรมากกว่า แต่สักวันหนึ่ง การประกอบหุ่นยนต์คงย้ายมาทำในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ราคาหุ่นยนต์ถูกลงจนกระทั่งแรงงานมนุษย์ใกล้เคียงขยะเข้าไปทุกที อยู่แต่จะกวาดพวกเขาไปไว้ที่ไหนเท่านั้น

เครื่องจักรอัตโนมัติ, หุ่นยนต์, เอไอ, เศรษฐกิจพอเพียง, หรืออะไรก็ตามที ไม่ดีหรือชั่วในตัวมันเอง จะทำงานเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่มนุษย์ก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวมันเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยที่แวดล้อมการใช้ประโยชน์มันเป็นสำคัญ ในท่ามกลางความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สินดังที่เป็นอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน ยุคหุ่นยนต์คือยุคที่ทุกคนจะได้โอกาสชื่นชมโขนกัมพูชาและแฮมเล็ต หรือยุคแห่งความอดอยากหิวโหยที่แผ่ไพศาลไปทั่วโลก ไม่ได้ขึ้นกับหุ่นยนต์ แต่ขึ้นกับการตัดสินใจของมนุษย์เอง