เทศมองไทย : “กัญชา” ในสังคมไทย กำลังถูกจับตามอง

ผมไม่แน่ใจนักว่า ใครที่ได้อ่านรายงานเกี่ยวกับกัญชาในสังคมไทยของแมกซ์ วอลเดน ผ่านทางเว็บไซต์เอบีซีออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมาแล้วจะรู้สึกอย่างเดียวกันหรือเปล่า

แต่ผมรู้สึกว่า โครงการที่เริ่มต้นจากโครงการกัญชาสำหรับใช้ทางการแพทย์ในไทยกำลังถูกจับตามองอย่างพินิจพิเคราะห์ ใคร่ครวญ และรอคอยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของมันอยู่อย่างจดจ่อ

ไม่เพียงจากเพื่อนบ้านหลายประเทศ หากแต่ยังรวมถึงองค์กรระดับโลกด้วยอีกต่างหาก

ความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายที่แมกซ์ วอลเดน ถ่ายทอดออกมาผ่านข้อเขียนชิ้นนี้ สะท้อนให้เห็นนัยเช่นนั้นครับ

แน่นอน วอลเดนเขียนเรื่องนี้สืบเนื่องจากโอกาสที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดดำเนินการคลินิกกัญชาทางการแพทย์เต็มเวลา แห่งแรกขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากให้ความเห็นชอบในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยและโรคหลายอย่าง ตั้งแต่มะเร็ง, ลมบ้าหมู, อัลไซเมอร์, พาร์กินสัน และอาการกระวนกระวาย เป็นต้น มาตั้งแต่ปลายปี 2018 เป็นชาติแรกในภูมิภาคอาเซียน

แถมยังมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมโปรโมตมาสคอต “ดร.กัญชา” พร้อมดมยาดมกัญชาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์นี้ด้วย

วอลเดนตั้งคำถามตามมาหลายอย่างครับ ตั้งแต่เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร? จะก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง? และนำไปสู่การ “ปลด” หรือ “ผ่อนปรน” สถานะของยาเสพติดอื่นๆ หรือไม่?

 

เขาเริ่มต้นตั้งแต่การบอกว่า ก่อนหน้าที่จะถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายครั้งแรกในปี 1935 นั้น กัญชาเป็นองค์ประกอบในตำรับยาของแพทย์แผนไทย กระทั่งเป็นสิ่งปรุงแต่งในอาหารสารพัดมานานหลายร้อยปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้ก็ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการให้ความรู้ต่อประชาชนในหลายๆ ด้านพร้อมกันไปด้วย

ตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีสถาบันการศึกษา อย่างเช่นมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เปิดดำเนินการสถาบันวิจัยกัญชาทางการแพทย์แห่งแรกของประเทศไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาอีกด้วย

ถือเป็นโครงการกัญชาศึกษาอย่างเป็นทางการในภูมิภาคเอเชียอีกต่างหาก จนได้รับความสนใจสูงไม่น้อย

 

แม้การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะไม่ทำให้การเสพกัญชาทั่วไป “ถูกต้องตามกฎหมาย” ก็ตาม แต่ก็เปิดโอกาสให้สามารถนำ “กัญชาทางการแพทย์” เข้ามาในประเทศได้ และยังเปิดโอกาสให้กิจการต่างชาติสามารถเข้ามามีหุ้นส่วนในการผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ได้ สูงสุดถึง 33 เปอร์เซ็นต์

ผู้ผลิตต่างชาติหลายรายจับตามองมาที่ไทยเพราะเหตุนี้ วอลเดนยกตัวอย่างเช่น “ราฟาร์มา ฟาร์มาซูติคอล” บริษัทอเมริกัน ว่าจ้างบริษัทสัญชาติไทยบริษัทหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ให้ทำหน้าที่บริหารจัดการสาขาประจำประเทศไทย “ที่จะมีขึ้นในอนาคต” ทำงานสอดประสานกับกิจการของบริษัทในภาคพื้นยุโรป

นั่นคือตัวอย่างของสิ่งที่วอลเดนเชื่อว่าเป็นเหตุที่ทำให้รัฐบาลไทยเปิดทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ กัญชาทางการแพทย์สามารถกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำรายได้ในรูปของภาษีอากรให้รัฐได้ไม่น้อยในอนาคต

“แกรนด์ วิว รีเสิร์ช” บริษัทวิจัยด้านการตลาดอเมริกัน ทำวิจัยไว้เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาว่า ตลาดกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 66,300 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 ขณะที่โพรฮิบิชั่น พาร์ตเนอร์ บริษัทวิจัยอีกบริษัท คาดว่าตลาดกัญชาทางการแพทย์ในเอเชียจะมีมูลค่าสูงถึง 8,400 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2024 นี้เท่านั้น

จิโน วัมบาคา ประธาน “ฮาร์ม รีดักชั่น ออสเตรเลีย” ชี้ว่า เงินเหล่านี้เคยตกอยู่ในมือขององค์การค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้เป็นรายได้ของรัฐ ทำนองเดียวกับยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนถูกส่งกลับคืนเพื่อประโยชน์ของสังคม

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคืออุตสาหกรรมกัญชาที่ขยายตัวเร็วมากในสหรัฐอเมริกาหลังถูกทำให้ “ถูกกฎหมาย” สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลพอๆ กับสร้างงานให้กับคนเป็นเรือนแสนเรือนล้าน

 

วอลเดนชี้ว่า รัฐบาลไทยยังสามารถคาดหวังถึงการดึงดูดเอานักท่องเที่ยวทางการแพทย์ ที่ต้องการกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายเข้ามามากขึ้นอีกด้วย

เขาตั้งข้อสังเกตถึงผลโพลเมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า กว่าครึ่งของคนไทยหนุนให้เปิดกัญชาเสรี ว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยอาจเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อ “สันทนาการ” ได้ในอนาคต

ที่สำคัญคือ ความคิดเห็นของฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ เอเชีย ที่มองเรื่องนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง “มุมมองต่อยาเสพติด” ที่ “ถูกต้อง” ของรัฐบาลไทย ซึ่งต่างกันใหญ่หลวงกับที่รัฐบาลมอง “ยาบ้า”

วัมบาคาเห็นด้วยและชี้ว่า อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องหยุดและหันมาใคร่ครวญเพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำอยู่

เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกับไทยกำลังค่อยๆ ดำเนินไปในภูมิภาคนี้อยู่ในเวลานี้