รัฐบาลที่ “กติกาดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” กับ “การปัญหาภัยแล้ง”

“แล้ง” ตอกย้ำเหลื่อมล้ำ

ข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสรุปออกมาแล้วว่า ปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งหนักหนาสาหัสที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

ไม่เพียงจากข้อมูลของหน่วยราชการ กระทั่งความรู้สึกของประชาชนทั่วไปยังสัมผัสได้ถึงความผิดปกติของดินฟ้าอากาศ

เดือนมกราคม ซึ่งปกติจะยังอยู่ในกลิ่นอายของฤดูหนาว แต่ปีนี้แค่ต้นเดือนสภาวะร้อนระอุเกิดขึ้นไปทั่ว

คนที่อยู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะในชนบทรับรู้ได้ถึงสภาพแห้งแล้งของท้องทุ่ง ต้นไม้ใบหญ้าแห้งกรอบ ฝุ่นกระจายฟุ้งไปทั่ว

“สวนดุสิตโพล” สำรวจความคิดประชาชน

ร้อยละ 43.80 เป็นห่วงกังวลว่าภัยแล้งปีนี้จะก่อวิกฤตหนักกว่าทุกปี

ร้อยละ 26.51 กลัวไม่มีน้ำกินน้ำใช้ สงสารชาวนาและสัตว์ต่างๆ

ร้อยละ 22.19 เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการป้องกันและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ร้อยละ 16.14 คิดว่าจะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรและกระทบต่อเศรษฐกิจ

ร้อยละ 10.37 เห็นว่ารัฐบาลต้องรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บอกความจริง ไม่ปิดบัง

แสดงถึงความหวั่นวิตกนั้นประชาชนเรียกร้องจากรัฐบาล ด้วยความหวังว่าจะไม่ให้ข้อมูลที่บิดเบือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับไปมองรัฐบาล พบว่าความตื่นตัวที่จะรับมือกับภัยแล้งเป็นไปอย่างเอาจริงเอาจังไม่น้อย มีการตั้งศูนย์บัญชาการและคณะทำงานในระดับต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ปฏิบัติการแก้ปัญหาได้สำเร็จ

ถ้อยแถลงต่างๆ ของผู้นำประเทศแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คำตอบย่อมเกิดขึ้นหลังการดำเนินการ

ความน่าสนใจอยู่ที่ภัยแล้งนั้น เพราะกระทบต่อประชาชนในทุกระดับ ทุกอาชีพ การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจะออกมาแบบไหน ระหว่าง “ประชาชน” ระดับล่าง โดยเฉพาะเกษตรกรที่น้ำเป็นปัจจัยการทำมาหากินสำคัญกับธุรกิจของนักลงทุน หรือคนอีกชนชั้น

รัฐบาลจะเน้นให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของใครก่อน

ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งคะแนนเสียงของประชาชนมีความสำคัญต่อเสถียรภาพ

ชะตากรรมของคนส่วนใหญ่ย่อมมีน้ำหนักพอจะเรียกร้องความใส่ใจ

แต่รัฐบาลที่ครอบครองอำนาจด้วย “กติกาที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” และจัดตั้ง “กลไกรองรับไว้อย่างไว้วางใจได้” คำถามถึงความจำเป็นจะต้องดูแลคนส่วนใหญ่น่าจะเกิดขึ้น

“สวนดุสิตโพล” ถามประชาชนว่า “มีความพึงพอใจต่อการรับมือภัยแล้งของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด”

ร้อยละ 47.44 ตอบว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ

ร้อยละ 35.64 ไม่พึงพอใจเลยเหตุผลของกลุ่มที่ไม่พอใจ

ซึ่งรวมกันแล้วมากถึงร้อยละ 83.08 คือเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่มีการแก้ไขระยะยาว เป็นปัญหาซ้ำซาก ไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ

ที่ออกไปในทางพอใจมีแค่ร้อยละ 16.92 คือค่อนข้างพึงพอใจร้อยละ 14.62 และพึงพอใจมากร้อยละ 2.30 ด้วยเหตุผลว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เร่งอนุมัติโครงการความช่วยเหลือ

ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ออกมาแบบนี้ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” จะนั่งไม่ติดเก้าอี้ ต้องระดมกันลงพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่า ใส่ใจในการแก้ปัญหา

แต่สำหรับรัฐบาลที่ “กติกาดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” อีกไม่นานคงได้รู้กันว่า “ภัยแล้ง” ที่กระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ คนกลุ่มไหนที่จะได้รับการดูแลแก้ปัญหา

คนกลุ่มไหนจะถูกชี้ให้เห็นว่า ก่อให้เกิดปัญหา และต้องรับชะตากรรมอย่างเดียวดาย