เปลี่ยนผ่าน : คุยกับ “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” เรื่อง “ประชามติ” แบบไทยๆ ที่มากกว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ”

โดย ธงชัย ชลศิริพงษ์

“ประชามติจริงๆ เป็นโครงสร้างที่ดี เพราะในเชิงวิทยาศาสตร์มันคือการนับคะแนนเสียงจริงๆ ว่าคิดอย่างไรกันบ้าง ตอนนี้เราใช้วิธีทางอ้อมค่อนข้างมาก คือทำโพล

“สังเกตว่ามีโพลหลายสำนัก แต่ละโพลบางทีบอกว่าตัวแทนพันกว่าคนเทียบเท่ากับคนทั้งประเทศ โพลอีกเจ้าหนึ่งบอกควรเอารัฐบาลนี้ โพลอีกเจ้าบอกไม่เอารัฐบาลนี้ เรารู้ได้อย่างไรว่าเป็นอย่างนั้น

“การลงประชามติก็เหมือนกับการเลือกตั้ง คุณไปใช้เสียงจริง นับคะแนนจริง มันเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งการเลือกตั้งก็ตาม ประชามติก็ตาม มันเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ดี มันทำให้รู้ผลแท้ๆ ว่าคืออะไร

“เพียงแต่ว่าหลังจากนั้นล่ะ หลังจากที่เลือกตั้งเสร็จแล้ว คุณยอมรับกติกาที่เกิดขึ้นไหม ทำประชามติแล้ว คุณยอมรับผลที่เกิดขึ้นไหม?”

นี่คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามการเมืองไทยในห้วงเวลาปัจจุบันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นการลงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์

ก่อนหน้านี้ ทีมงานรายการ “มติชน วีกเอ็นด์” (แพร่ภาพทางช่องวอยซ์ทีวี ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00-22.00 น.) มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.เจษฎา ถึงความเห็นเรื่องการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยมีหลากหลายประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ

 

มองอย่างไรกับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ในการลงประชามติครั้งนี้?

“ตอนนี้เป็นการลงประชามติเพื่อรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งมันไม่ใช่ฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีความแตกต่างค่อนข้างสูงมาก

“สำหรับอาจารย์บวรศักดิ์เหมือนกับมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักวิชาการ แล้วเป็นตัวแทนของภาครัฐ และมาช่วยร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เขาก็อ้างว่ามีการรับฟังประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นคนค่อนข้างกลุ่มเล็ก

“ฉะนั้น ถ้าเรามีการลงประชามติ ณ รอบนั้น (ประเด็นการตัดสินใจ) มันจะค่อนข้างเป็นเนื้อของรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก คือดูว่าเขียนมาดีหรือยัง เขียนมาเยิ่นเย้อเกินไปอย่างที่บางคนตำหนิ มีจุดบอดไหม หรือว่าโดยภาพรวมรับได้ไหม

“ทีนี้สถานการณ์ค่อนข้างเปลี่ยนไปมากในคราวนี้ การมีบทบาทค่อนข้างสูงไม่ใช่แค่เฉพาะของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญด้วย ในส่วนของ คสช. เอง รัฐบาลนี้เอง ในส่วนขององค์กรต่างๆ ที่เข้ามา คือมีคนเข้ามาให้ความเห็นเยอะมาก ทั้ง สนช. สปท. เข้ามาให้ความเห็นว่าไอ้นี่เอา ไอ้นี่ไม่เอา

“มีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะมาก จะเห็นได้ว่าการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างมีการกระทบต่อประชาชนค่อนข้างสูง ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่การลงประชามติของตัวรัฐธรรมนูญแล้ว แต่มันคือประชามติว่ายอมรับแนวคิดของคนที่มาแก้ไขด้วยหรือเปล่า

“มันจะเป็นภาพสะท้อนที่เป็นทางอ้อมก็จริง แต่มันค่อนข้างรุนแรง ถ้าเกิดบอกว่ารับ รับได้กับรัฐธรรมนูญชุดนี้ ซึ่งมีการแก้ไขโดยองค์กรต่างๆ ก็คือเรารับองค์กรต่างๆ ที่ว่านั่นไปด้วย

“ถ้าองค์กรต่างๆ ที่ทำอยู่ คุณเห็นว่าเขาดำเนินการมาสองสามปี แปลว่าคุณเห็นด้วยกับที่เขาทำมาใช่ไหม คุณก็เลยรับกับสิ่งที่เขาเสนอกับรัฐธรรมนูญด้วยใช่ไหม คุณจะเอาสิ่งนี้ไปใช้ต่อในอนาคตด้วยใช่ไหม

“ขณะเดียวกัน คนบางคนก็จะบอกว่า ไม่ใช่ละ นี่มันมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่พวกนั้นทำมา แล้วคนกลุ่มนั้นคือคนกลุ่มที่คุณไม่ชอบตั้งแต่แรก คุณอาจจะบอกว่าคุณพยายามสะท้อนความรู้สึกที่คุณไม่ชอบคนกลุ่มนั้นเข้าไปในการลงประชามติก็ได้

“ฉะนั้น การลงประชามติคราวนี้มันมีมิติค่อนข้างมากขึ้น แล้วมิตินี้มีผลกระทบต่อทั้งการเมืองเอง และต่ออนาคตของประเทศชาติค่อนข้างมาก”

 

การทำประชามติเพื่อรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีความกังวลอะไรบ้าง?

“กระบวนการในกรอบของเวลา ฉบับมีชัยใช้เวลาค่อนข้างสั้นกว่า และกระบวนการร่างก็เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเล็กกว่า การรับฟังความเห็นจากคนวงกว้างก็ค่อนข้างน้อยกว่า

“เป็นการร่างขึ้นมาใหม่มากกว่าที่จะเป็นการหยิบของอาจารย์บวรศักดิ์ขึ้นมา แล้วมาบอกว่าตอนนั้นที่ตกไป สปช. ไม่เอา ตกเพราะข้อไหนบ้าง เอาข้อนั้นออก เอาข้อนี้เข้า แต่ไม่ใช่ คือถ้าเป็นอย่างนั้นมันอาจจะทำให้มันดำเนินการค่อนข้างดี เพราะว่ามีการต่อเนื่องกันมา แต่นี่เอาเก็บไปเลย แล้วมาร่างใหม่

“พอมาร่างใหม่มันก็อยู่บนกรอบความคิดของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ เขาร่างในมุมที่เขาคิดว่าดีของเขาแล้ว ผู้ร่างค่อนข้างอนุรักษนิยม จะย้อนกลับไปในอดีตค่อนข้างมาก ถ้าเทียบกับอาจารย์บวรศักดิ์หรือปี 50 ยังมีความก้าวหน้าสูงกว่ามาก

“เพราะฉะนั้น รูปแบบที่ออกมาให้ประชาชนใช้ ถ้าใครที่ศึกษาการเมืองมา อาจจะไม่พอใจได้ว่าสิ่งที่เขาเคยได้มาในสมัยก่อน เช่น รัฐธรรมนูญที่เรียกว่าเต็มใบ คือนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่รูปแบบใหม่มันเปิดช่องว่างให้คนภายนอกเข้ามาได้ และมี ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

“หลายๆ อย่างที่ดูเป็นประชาธิปไตยถูกลิดรอนออกไป โดยกรอบความคิดของคนที่เข้ามาแก้ไข อาจมาจากเจตนาดีก็ได้ หรือ คสช. ต้องการรักษาความสงบ อยากเห็นความสงบนานออกไปอีกสัก 5 ปี 10 ปี เลยแก้ไขเช่นนี้

“องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ถ้ามีนักการเมืองเข้ามาจะปฏิรูปไม่ได้ คนหลายคนคิดว่ามีรัฐธรรมนูญใหม่น่าจะเซ็ตศูนย์เริ่มกันใหม่ แต่มันไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกมาค่อนข้างจะเข้มแข็ง คือแก้อะไรค่อนข้างยากมาก

“มันเลยกลับมาที่คำตอบของเราที่พูดกันคือ การลงประชามติคราวนี้ไม่ใช่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่คือรับหรือไม่รับแนวความคิดของผู้ปกครองที่มีอยู่ในขณะนี้ รวมถึงแนวความคิดแบบอนุรักษนิยมในปัจจุบันนี้

“แล้วก็วัดว่าคนไทยจริงๆ เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และสังคมการเมืองโดยภาพรวมมากน้อยแค่ไหน”

 

มีหวังกับการลงประชามติครั้งนี้ไหม?

“ผมค่อนข้างมีหวัง เราไม่รู้ว่ากระแสทั้งประเทศเป็นอย่างไร เพราะสื่อก็ทำงานลำบาก แต่ในโซเชียลมีเดียกระแสค่อนข้างเห็นภาพการพูดคุยกันมากขึ้น

“โอเคมันอาจจะเป็นภาพที่มีทั้งด้านลบและด้านบวก เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย กับประชามติ ข้อมูลที่มันเข้ามา แต่มันก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับสมัยวิกฤต กปปส. หรือพันธมิตรฯ คือมีการปิดถนนหรืออะไรก็ตาม มันไม่ถึงขนาดนั้น

“แต่ในโซเชียลมีเดียเริ่มมีการให้ข้อมูลมากขึ้น มีการถกเถียง มีตรรกะที่ซับซ้อนขึ้นมากว่าจะรับเพราะอะไร ไม่รับเพราะอะไร รับก็แยกย่อยข้อไหนบ้าง บางคนไม่รับก็มี แต่หลายคนก็มีรายละเอียด ฝ่ายรับก็มีประเด็นของเขา อาจจะใช้คำว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงก็ได้ คือมันมีประเด็นที่โต้เถียงมากขึ้น

“แต่ถ้าสังคมไทยกำลังจะใช้วิธีที่บอกว่าห้ามรณรงค์ ห้ามพูดคุยกัน อันนี้อันตราย…

“เพราะสุดท้ายพอลงประชามติกันเสร็จ จะเริ่มมีคนมาอ้างผลแล้วว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไทยไม่รู้จริง อันนี้น่าห่วง”