ครูคือคำตอบแรก ไม่ขยับ ตกขบวน ปฏิรูปการศึกษา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ภาคประชาชนเชียงใหม่ไปไกลมากแล้ว พวกเราทฤษฎีจ๋าได้แต่วิชาการ มาเห็นภาคีเชียงใหม่เคลื่อนไหวกัน สะดุ้งเลย กลับไปคณะคุยกับอาจารย์ด้วยกัน หากเราไม่ขยับ จะตามไม่ทัน ในที่สุดสักวันหนึ่งเราก็อยู่ไม่ได้ เพราะนี่คือภาคประชาสังคม กำลังตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาล”

รศ.ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มบทสนทนา หลังรับไมค์ต่อจากศึกษาธิการจังหวัดที่เพิ่งจบการบรรยาย

เธอทักทายทุกคนด้วยสำเนียงเจียงใหม่อย่างคุ้นเคย บรรยากาศห้องประชุม เอ 5 ค่อยๆ คึกคักขึ้นตามลำดับ จากสาระและท่วงทำนองแบบเป็นกันเอง

แต่ลึกซึ้ง กินใจ

 

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคีแล้ว ยังรับติดตามประเมินความก้าวหน้าของภาคี ศึกษาวิจัย วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ค้นหาปัจจัยที่ทำให้การขับเคลื่อนเกิดความยั่งยืนภายใต้หัวข้อ “รูปแบบกระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการสร้างแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่”

แสดงบทบาท สถาบันอุดมศึกษารับใช้สังคมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น อีกด้านหนึ่งสะท้อนการทำงานของภาคประชาสังคมที่มีการประสานเชื่อมโยง มีฐานทางวิชาการ ความรู้ รองรับสนับสนุน เป็นแบบอย่างให้ที่อื่นๆ เรียนรู้ เรียนลัด ปรับให้เข้ากับสภาพพื้นที่ของแต่ละแห่ง

เธอเล่าความเป็นมาเมื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งแรก ปี 2559 “ได้ฟังที่ภาคีเชียงใหม่คุยกัน ตายละที่เราคิดไว้แต่ก่อน มีแต่เรื่องของเราในตำรา ไม่เกี่ยวข้องกับข้างนอกเลย ยิ่งเวลาผ่านไป ภาคประชาชนออกมาขยับลูกหลานด้วยตัวเอง ต้องการกระตุกให้รัฐบาลเห็นว่าต้องทำอะไร”

ภาคีเครือข่ายเกิดก่อนรัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษารอบนี้ รวมตัวตั้งแต่ปี 2556 คุยกันเป็นระยะพบว่าหลายเรื่องเป็นปัญหา แต่ครูเป็นตัวหลัก พานักเรียนไปเข้าแท่งที่จะเข้ามหาวิทยาลัยกันหมด มช. ทำหน้าที่ผลิตครูต้องขยับ

เครือข่ายเดินหน้าไปเรื่อยๆ แบบรถถัง คนที่อยู่ในระบบต้องคิด ไม่เช่นนั้นก็เหมือนอยู่กันคนละยุค อย่างทักษะทางไอที ถามว่าน้องๆ นักเรียนที่เข้ามาร่วมเวทีในห้องนี้กับครูใครเก่งกว่ากัน ถ้าครูยังคงสอนแบบเก่าๆ แบบเดิมๆ จะตามเด็กไม่ทัน

“การศึกษาล้มเหลว ยกตัวอย่างภาษาอังกฤษ สอบโอเน็ต ปิซ่า เรียนอังกฤษตั้งแต่ ป.1 จนจบมหาวิทยาลัยพูดไม่ได้ เราไปหลงทิศหลงทาง มหาวิทยาลัยหนักกว่าโรงเรียน รับหน้าที่ผลิตครู ขณะที่แนวโน้มรัฐบาลกำลังลดกำลังผลิตลงเพราะออกมาล้นตลาด จบมาตกงาน ผลิต 60,000 คนแต่มีครูเกษียณ 5,200 คน แค่ 8% บางโรงเรียนก้าวหน้าเอาผู้ปกครองเข้าไปช่วยเรียบร้อยแล้ว เด็กเล่นเฟซบุ๊ก มาบอกว่าครูสอนภาษาอังกฤษออกสำเนียงไม่ถูก ภาคประชาชนลุกขึ้นมาถ้าครูไม่ขยับ สักวันหนึ่ง ต่อไปจะไม่มีความหมาย”

พิสูจน์โดยโครงการครูคืนถิ่นที่รัฐบาลทำไปแล้วรุ่นแรก จากผู้สมัคร 30,000 คน ผ่านการคัดเลือก 3,300 คน 400 คนไม่ได้จบทางการศึกษา หลายคนสอนดีกว่าคนจบศึกษาศาสตร์

การสอบใช้ข้อสอบกลาง กำลังบอกนัยบางอย่าง เทียบเคียงจากผลการสอบ พิสูจน์ศักยภาพของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ แต่ละมหาวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตออกมาคุณภาพเป็นอย่างไร อาจถูกประกาศงด ลดกำลังการผลิต หรือเปล่า

 

เชียงใหม่กำลังหานวัตกรรมระบบผลิตครูโดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณ มีแผนจะออกหนังสือ พูดถึงการสอนแนวใหม่ ระบบการรับเข้า การประเมินต้องเปลี่ยน การสอบ การสอนเรื่อง Project Based เอานักศึกษาไปอบรม ถอดบทเรียน มีการวางแผน มีการสื่อสาร มียุทธศาสตร์ แนวทางนำแผนสู่การปฏิบัติที่ดี

คณะศึกษาศาสตร์ทำวิจัย เห็นปัจจัยที่ทำให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันเพราะ

1. เชื่อว่าทำงานไปตามเป้าหมาย

2. นโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วม

3. คิดว่าแก้ปัญหาได้

4. มีนโยบายเป็นแบบอย่างสังคม

5. ทำงานได้ตามกำหนดเวลา

และ 6. ส่งเสริมการพัฒนาที่ชัดเจน ทุกฝ่ายต้องการเห็นการศึกษาเชียงใหม่ดีขึ้นกว่าเดิม ต้องการ พ.ร.บ.การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่

“ความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ม.44 กศจ. เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระเพื่อมของเชียงใหม่” เธอย้ำ ก่อนส่งลูกต่อให้ อ.ดร.มนต์นภัส มนูการณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนักวิจัยเล่ารายละเอียด การศึกษาจากเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ หลากหลายกลุ่ม

จากภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมทั้งหมด 99 องค์กร สมาชิก 2,600 คน ครูในจังหวัดเชียงใหม่ 20,000 คนในทุกสังกัด โรงเรียนผู้ปกครอง 6 รุ่นจำนวน 3,900 คน อสม. 2,500 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 211 แห่ง ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2,066 คน คณะสงฆ์ 1,700 รูป

ที่องค์กรและบุคคลเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเพราะปัจจัยอะไรจูงใจ พบว่ามาจากองค์ประกอบ 10 ประการ ได้แก่ ด้านนโยบายของภาคีเชียงใหม่ ด้านการจัดการศึกษาให้ท้องถิ่น ด้านความยอมรับนับถือ การได้รับการยกย่องในผลงาน มีเกียรติ ด้านการได้ช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่น ด้านความก้าวหน้า ด้านลักษณะของงานที่ปฏิบัติ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ด้านผลประโยขน์ร่วมกัน ด้านความตระหนักในปัญหา และด้านการพัฒนาการศึกษาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

แต่ละด้านมีตัวชี้วัดมากน้อยต่างกัน ผมเล่าไม่หมด ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้ใฝ่ใจการศึกษาท่านใดสนใจ หาอ่านรายงานตัวเต็มกันต่อไป

 

ที่น่าสนใจคือข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเรื่องแรก แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน วิธีปฏิบัติที่ดีและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เรื่องต่อมา เงื่อนไขความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

ด้านแนวทางมีข้อเสนอ 5 ประการได้แก่

1. กลุ่มผู้มีส่วนผลักดันมากที่สุดได้แก่ ครูผู้สอน นักศึกษาครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยงานทางการศึกษาเดิม หน่วยงานทางการศึกษาใหม่ที่อาจจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ บุคคลเหล่านี้จะต้องมีบทบาทในการบริหารจัดการทั้งการวางแผน การปฏิบัติ และตรวจสอบผลของการจัดการศึกษาร่วมกัน

2. ระบบสารสนเทศทางการศึกษาที่ดี ที่ลงลึกถึงรายละเอียดของผู้เรียนเป็นรายคน สถานศึกษาต้องมีรายละเอียดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนในการนำพาผู้เรียนไปสู่คุณลักษณะตามแผนยุทธศสาสตร์ และสารสนเทศเกี่ยวกับแหล่งภูมิปัญญาและทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ที่จะขับเคลื่อน

3. นโยบายของรัฐต้องเอื้อต่อการตอบสนองการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เน้นให้ความเป็นอิสระในภาคพื้นที่และกำหนดนโยบายกลางเพื่อตอบสนองกำลังคนของประเทศ

4. ระบบการผลิตครูต้องปรับหลักสูตรที่เน้นการผลิตครูที่บูรณาการทรัพยากร แหล่งเรียนรู้ทั้งในระดับสากลและระดับภูมิภาค ในการพัฒนาผู้เรียน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องทำงานจริงจัง เข้าใจวิธีการสอนแบบใหม่ๆ เพื่อการนำพาผู้เรียนสู่เป้าหมาย

5. การวางแผน ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพ ต้องใช้การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและต้องทำอย่างจริงจัง โดยประเด็นคุณภาพของผู้เรียนต้องมุ่งเน้นการรักษ์วัฒนธรรมทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงและการแสวงหาสัมมาชีพเป็นหลัก

ครับ ข้อเสนอที่สะท้อนนัยสำคัญปรากฏตั้งแต่ข้อแรก กลุ่มที่มีส่วนผลักดันความเป็นไปได้มากที่สุดกลุ่มแรก คือ ครูผู้สอน

เท่ากับผลวิจัยตอกย้ำว่า คานงัดปฏิรูปการศึกษา ต้องทำก่อนเพื่อน คือ ปฏิรูปครู กระบวนการเรียนการสอน รวมถึงระบบการผลิตครู ตามข้อเสนอที่ 4

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เสนอจะเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ต้องเกื้อหนุนด้วย เงื่อนไขอะไรเป็นปัจจัยของความสำเร็จ งานวิจัยชี้ว่าอย่างไร ต้องติดตาม