คนมองหนัง | 7 ภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ชื่นชอบในรอบปี 2562/2019

คนมองหนัง

เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากปีเก่ามายังปีใหม่ ก็มักเป็นเรื่องปกติ ที่คอลัมน์แนวหนัง-เพลง-ละครทั้งหลาย จะจัดอันดับผลงานทางวัฒนธรรมแห่งปีตามทัศนะของคอลัมนิสต์แต่ละราย ทั้งเพื่อเป็นคู่มือประจำปีให้แก่ผู้อ่าน/ผู้ชม และเพื่อเป็นการทบทวนความคิด-รสนิยมของตัวผู้เขียนเอง

ในโอกาสของการก้าวเข้าสู่ พ.ศ.2563 พื้นที่คอลัมน์นี้จึงขออนุญาตประมวลหนังต่างประเทศเด่นๆ จำนวน 7 เรื่อง ซึ่งเคยเข้าฉายในเมืองไทยตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา

มานำเสนอ ดังต่อไปนี้

Parasite (บงจุนโฮ)

หนังจากเกาหลีใต้ที่มีชื่อไทยว่า “ชนชั้นปรสิต” ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้านรายได้ จากการออกตระเวนฉายเชิงพาณิชย์ในหลายประเทศทั่วโลก

ผลงานเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ดราม่าครบรส ที่ดูง่ายและมีรสชาติจัดจ้านไม่ต่างจากละครหลังข่าวบ้านเรา พร้อมกันนั้น หนังยังฉายภาพความแตกต่าง-ขัดแย้งทางชนชั้น ผ่านมิติทางด้านสัญลักษณ์, พื้นที่ และสถาปัตยกรรม ออกมาได้อย่างเข้มข้น คมคาย แพรวพราว สนุกสนาน สะเทือนอารมณ์

“Parasite” เปิดตัวต่อชาวโลกด้วยการคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ มาถึงต้นปีนี้ หลายๆ ฝ่ายเชื่อและแอบลุ้นว่าหนังอาจไปได้ไกลกว่าการคว้ารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

Midsommar (อารี แอสเตอร์)

ภายใต้ฉากหน้าที่เป็นภาพยนตร์สยองขวัญ จุดน่าสนใจอีกหนึ่งประการของหนังเรื่องนี้ คือ การมีตัวละครนำที่เป็น “นักเรียนมานุษยวิทยาอเมริกัน” ที่เดินทางพร้อมผองเพื่อนเข้าไปท่องเที่ยว/ศึกษาเทศกาลเฉลิมฉลอง-ลัทธิพิธีของชุมชนทางเลือกแห่งหนึ่งในสแกนดิเนเวีย

หนังสยองขวัญของอารี แอสเตอร์ จึงมีความลุ่มลึกกว่าหนังในตระกูลเดียวกันส่วนใหญ่ ผ่านการชวนผู้ชมครุ่นคิดถกเถียงในประเด็นว่าด้วยเทศกาล-พิธีกรรม-ตำนานปรัมปรา-แนวคิดเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม กระทั่งแทบจะกลายเป็นชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาเบื้องต้น

หนังปิดฉากลงด้วยการที่ “คนนอก” ค่อยๆ กลายสภาพเป็น “คนใน” ทั้งในฐานะ “เหยื่อบูชายัญ” และ “สัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์-อุดมสมบูรณ์”

John Wick : Chapter 3 – Parabellum (แชด สตาเฮลสกี)

นี่คือหนัง “นักฆ่า” ที่ไม่ได้อัดแน่นด้วยการ “ฆ่าเอามัน”

หลายคนอาจรู้สึกว่า “จักรวาลนักฆ่า” อันมีระบบ-สายบังคับบัญชาสุดสลับซับซ้อนใน “John Wick” นั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับ “ยุทธจักร/ยุทธภพ” ในนิยายกำลังภายใน

ขณะเดียวกัน หนังก็พยายามเน้นย้ำว่าแทบทุก “ความรุนแรง” ในเรื่อง ล้วนมี “ความหมาย/สายสัมพันธ์ทางสังคม” ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ไล่ตั้งแต่สัญญาประชาคม, การแลกเปลี่ยนของขวัญ, ลำดับชั้นภายในองค์กร/สถาบัน

รวมถึงความทรงจำของปัจเจกบุคคล

Joker (ท็อดด์ ฟิลลิปส์)

ภาพยนตร์แนว “แอนตี้ฮีโร่” ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปีก่อน

ทั้งยังถูกหลายคนอ่าน/เพิ่งพินิจพิจารณาในฐานะ “ภาพยนตร์ (ไม่) การเมือง”

ตามความคิดเห็นส่วนตัว ผมมองว่า “Joker” ฉบับนี้พยายามจะวิพากษ์รูปแบบการชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะเป็น “เฟสติวัล/คาร์นิวัล” อันทรงอิทธิพลอย่างสูงในหมู่นักกิจกรรม/นักเคลื่อนไหวทางสังคมตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

The Favorite (ยอร์กอส ลันธิมอส)

ด้านหนึ่ง นี่คือหนังแนวตบตีชิงดีชิงเด่นที่เข้มข้นแสบสัน

อีกด้านหนึ่ง หนังก็ซ่อนประเด็นชวนขบคิดไว้มากมาย เช่น การมีชีวิต 2 มิติ/สถานภาพของประมุขแห่งรัฐ

มิติแรก คือ การมีชีวิตส่วนตัว/ร่างกายอันป่วยไข้เสื่อมทรุด

มิติที่สอง คือ การต้องดำรงตนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมือง

และดุลอำนาจอันหลากหลาย

Glass (เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน)

ภาพยนตร์ที่กล่าวถึงพลังอำนาจของเรื่องเล่า (หนังสือการ์ตูน)

และปฏิสัมพันธ์ระหว่างอำนาจดังกล่าวกับเงื่อนไข/บริบททางประวัติศาสตร์

หนังสาธิตให้เห็นว่า เรื่องเล่า/การ์ตูน สามารถกำหนดประวัติศาสตร์ได้อย่างไร

เช่นเดียวกับที่บริบททางประวัติศาสตร์อันพลิกผัน สามารถจะเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่า/การ์ตูนได้ในทางกลับกัน

Once Upon a Time in Hollywood (เควนติน แทแรนติโน)

แทแรนติโนยังคงทำ “หนังประวัติศาสตร์” ผ่านกระบวนการ “ปลอมแปลงประวัติศาสตร์” ในลักษณะ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ได้อย่างอยู่มือ

แม้หนังเรื่องล่าสุดนี้จะไม่ได้มีความโหด มัน ฮา ระดับเดียวกับหนังเรื่องอื่นๆ ในแนวทางเดียวกันของเขา

แต่ “Once Upon a Time in Hollywood” ก็นำเอาอารมณ์โหยหารำลึกถึงอดีตอันเรืองรองของฮอลลีวู้ด มาจัดวางคู่เคียงกับการทำลาย-ชำระล้าง “ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์” บางประการ

ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว