อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : เทพีสันติภาพ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกในวันข้างหน้าก้าวสู่โลกแห่งความรุนแรงอย่างถ้วนหน้า

ผมขอเริ่มจากใกล้บ้านเราแล้วฉายภาพออกไปในมุมอื่นๆ ของโลกในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ดังนี้

 

ข้อมูล

วันที่ 11-13 ธันวาคม 2019 เป็นเวลานานถึง 3 วัน นางออง ซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมานำคณะผู้แทนเมียนมาเข้าชี้แจงและแก้ต่างในข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ชนกลุ่มน้อยชาวมิสลิมโรฮิงญา (Rohingya) ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) ที่กรุงเฮก (The Hague) ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังจากที่ประเทศแกมเบีย (Gambia) นำคดีนี้ขึ้นฟ้องต่อศาล

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2019 แกมเบียประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามได้ยื่นฟ้องด้วยคำฟ้องหนา 46 หน้าต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในนามรัฐสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization Islamic Cooperation-OIC) ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ โดยกล่าวหาว่า เมียนมาละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide Convention 1948) ที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) รวมทั้งแกมเบียและเมียนมาร่วมลงนามเมื่อปี 1948 จากการที่กองทัพเมียนมาปฏิบัติการ “อย่างโหดร้ายและป่าเถื่อน” ในรัฐยะไข่ เมียนมา โดยเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 20171

แกมเบียขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกคำสั่งฉุกเฉินที่ระบุว่า ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญความเสี่ยงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากเมียนมาและให้ยุติการโจมตีชาวโรฮิงญาโดยทันที พร้อมขอให้มีการเก็บรักษาหลักฐานเพื่อให้เอาผิดผู้เกี่ยวข้องและดำเนินการชดเชยต่อเหยื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

คดีนี้นับเป็นครั้งแรกของความพยายามดำเนินการทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อเอาผิดเมียนมาต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ความพยายามทางกฎหมายอาจไม่ได้ผลด้วยประเด็น “อำนาจ” ดำเนินการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คำตัดสินของศาลไม่มีผลผูกพันกับจำเลย ศาลไม่มีอำนาจบังคับให้ฝ่ายจำเลยปฏิบัติตามคำตัดสินใดๆ ของศาลได้2

อย่างไรก็ตาม หากในแง่การวิเคราะห์ เราอาจแบ่งประเด็นที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันพร้อมทั้งมีผลต่อกันและกันระหว่างปัญหาความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน เมียนมาและนางออง ซาน ซูจี และโรฮิงญากับโลกมุสลิมในแง่ต่อไปนี้

 

เมียนมากับประชาคมโลก

นางออง ซาน ซูจี ได้ให้การเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ว่า “…ปฏิบัติการที่นำไปสู่การอพยพหลบหนีของชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คนไม่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อยู่เบื้องหลัง…”

นางออง ซาน ยังกล่าวด้วยว่า “…การกระทำของเมียนมานั้นเกิดจากเมียนมาเผชิญกับความขัดแย้งภายในและทหารดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างหลังการโจมตีของกลุ่มกบฏโรฮิงญาเมื่อเดือนสิงหาคม 2017…”

ความจริงแล้วนางออง ซาน เผชิญกับปัญหาโรฮิงญามานานแล้ว โดยเธอเลือกที่จะ “เงียบ” ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เมื่อเกิดความรุนแรงทางการเมืองและการอพยพหลบหนีของชาวโรฮิงญาข้ามพรมแดนเมียนมาไปยังพรมแดนของบังกลาเทศ

ไม่เพียงแต่เท่านั้น เธอยังไม่แสดงออกใดๆ ทั้งความเห็น นโยบาย และการสั่งการใดๆ มาโดยตลอดต่อความรุนแรงทางการเมือง การทำร้ายและเผาบ้านเรือนชาวโรฮิงญาหรือชาวมุสลิมที่เกิดขึ้นในเมืองอื่นๆ ในเมียนมา

ทั้งนี้เพราะคนเมียนมาไม่ชอบและมีอคติต่อชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มแต่มีอคติรุนแรงมากต่อชาวมุสลิม

ดังนั้น เธอจึงเลือกการรักษาความนิยมทางการเมืองเป็นหลักโดยที่ยอมสูญเสียความเป็นสัญลักษณ์ หรือผมใช้คำว่า “เทพีแห่งเสรีภาพ”

เพราะหลังจากนั้นมีการตั้งคำถามต่อการรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของเธอ ซึ่งมีข้อเรียกร้องขอรางวัลคืน มีบางประเทศยกเลิกสถานะพลเมืองพิเศษของเธอที่เธอเคยได้รับในฐานะไอคอนของเสรีภาพและการปกป้องสิทธิมนุษยชน

การเปลี่ยนจาก “เงียบ” ไปเป็นปฏิเสธว่าการอพยพหลบหนีของชาวโรฮิงญาไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งการอ้างเหตุผลเรื่องชาวโรฮิงญาว่าเป็นเพราะเมียนมากำลังต่อสู้กับความขัดแย้งภายในซึ่งก็มาจากกลุ่มกบฏโรฮิงญา

เธอไม่พูดถึงแม้แต่คำเดียวเรื่องการสังหารหมู่ การข่มขืนและถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ

รวมทั้งเธอได้ให้ถ้อยคำต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศด้วยว่า

“…(ผู้แทน) แกมเบียได้ให้ภาพที่ไม่สมบูรณ์และผิดพลาดของสถานการณ์จริงในรัฐยะไข่ เมียนมา…”3

ที่มีผลอย่างมหาศาลคือ “จากความเงียบ” ซึ่งความจริงคือ ความเงียบที่ดังแสบแก้วหู ไปเป็นประกาศออกไปก้องโลก พร้อมกันนั้นและอาจแย่ไปกว่านั้น เธอได้ประกาศจุดยืนปกป้องทหารเมียนมาต่อประชาคมโลกเลยทีเดียว

แน่นอนเธอได้รับเสียงเชียร์จากประชาชนจำนวนหนึ่งในเมียนมาซึ่งอาจรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำระดับสูงของประเทศด้วย

เพราะจุดยืนของเธอเป็นสิ่งเดียวกับคนเมียนมาที่มีอคติต่อชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะคนมุสลิม นางออง ซาน ซูจี อาจรอดตัวไปคราวนี้จากกับดักการเมืองภายใน และก้าวเดินทางการเมืองในถนนสายเดิมต่อไป แต่เธอได้ทำลาย “เทพีสันติภาพ” ซึ่งก็คือตัวเธอเองด้วยมือของเธอเอง

ตอนนี้และในวันข้างหน้า ประชาคมโลกได้ทอดทิ้งเธอไปแล้ว และนั่นหมายความว่าได้ทอดทิ้งเมียนมาไปด้วย

ประชาคมโลกทอดทิ้งสัญลักษณ์ของการเมืองแบบเปิด การเมืองของภาคประชาชนที่กำลังมีพลังและหนุนหลังการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเมียนมา ซึ่งได้อุ้มชูเมียนมาหลังจากทหารได้ก้าวออกจากการเมือง

และเปิดโอกาสให้ประเทศภายนอกรวมถึงชาติตะวันตกหวนกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมียนมาด้วย

 

โลกกับอคติทางการเมือง

ความรุนแรงทางการเมือง การใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย ผิวสี คนที่นับถือศาสนาอื่น รวมทั้งอคติทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่มีเพียงในเมียนมา

ตรงกันข้ามปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลกและแก้ยากขึ้นทุกทีด้วยความซับซ้อนของปัญหา ดังตัวอย่าง ความเกลียดชังต่อเชื้อชาติไม่ได้หายไปง่ายๆ ยิ่งมีการอพยพย้ายถิ่นข้ามพรมแดน ปัญหานี้จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เช่น

กลุ่มเปราะบาง กลุ่มต่างๆ เคลื่อนย้ายไปที่ปัญหาอคติเกิดง่าย หลากพื้นที่ หลายชั้นปัญหาที่ซ้อนทับ อาทิ แรงงานย้ายถิ่น คนตุรกีเข้าไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในยุโรปที่กำลังถดถอยทางเศรษฐกิจ

คนยากจนหนีตายความยากจนและรัฐเผด็จการแอฟริกาเหนือไปยุโรป

ชุมชนคนผิวสีคนรุ่นใหม่เกิด เรียน ทำมาหากินและได้สวัสดิการจากรัฐสวัสดิการในกลุ่มนอร์ดิกยุโรปเหนือ

คนผิวสียากจนดิ้นรนหางานทำในโรงงานที่ใช้แรงงานคนต่างด้าวในสหรัฐอเมริกา

แรงงานเวียดนามและไทยหลบเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีท่ามกลางความต้องการแรงงานราคาถูกเพื่อโรงงานขนาดกลางและเล็ก แต่คนเกาหลีเห็นว่าเป็นการแย่งงาน แย่งอาหาร แย่งที่อยู่อาศัยที่มีจำกัดในประเทศของตน

แรงงานชาวเมียนมาไหลบ่าเข้าอุตสาหกรรมประมง โรงงานผลิตอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

แล้วจำนวนหนึ่งแปลงร่างมาเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร ก่อสร้าง

ส่วนแรงงานกัมพูชาเป็นแรงงานรับเหมาก่อสร้างในไทยทั่วราชอาณาจักร

ทว่าแรงงานเหล่านี้เข้ามารับบริการสาธารณสุข เช่น การรักษาโรคเอสด์ทั้งจากโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนและโรงพยาบาลใหญ่ส่วนกลาง

เมื่อสำรวจไปทั่วโลกคนท้องถิ่นในยุโรปที่เคยเมตตา รักสันติ มีมนุษยธรรมสูง เปลี่ยนไปเป็นโกรธแค้นและเกลียดชังคนต่างชาติ

ความรุนแรง อาทิ การกราดยิงคนผิวสี ความเป็นมุสลิม คนเชื้อสายแอฟริกันในนิวยอร์ก แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ออสโล ปารีส ลอนดอน โรม แมดริด เมลเบิร์น แวลลิงตัน จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราวและความบังเอิญ แต่กลับมีรากเหง้าเดียวกันคือ อคติและความโกรธแค้น

ผู้นำการเมืองอย่างนางออง ซาน ซูจี เพียงประกาศจุดยืนทางการเมืองเหมือนคนท้องถิ่น แต่รังเกียจคนต่างความเชื่อและวัฒนธรรมชาวโรฮิงญา การทำลายเทพีสันติภาพด้วยมือของเทพีเอง ช่วยให้เรากวาดตาไปทั่วและพบว่าโลกไม่มีเทพีสันติภาพที่ไหนเลย

ไม่มีเทพีสันติภาพ มีแต่คบเพลิงแห่งอคติอันพร้อมจุดไฟแห่งความขัดแย้งทั่วโลก

——————————————————————————————————–
(1) “ซูจีโดนแกมเบียถล่มหนัก…” ผู้จัดการออนไลน์ 12 ธันวาคม 2562
(2) เพิ่งอ้าง
(3) Shoon Lei Win Naing and Toby Sterling “Su Kyi tells UN”s top court charge of Rohingya genocide is misleading” Reuter 11 December 2019