มนัส สัตยารักษ์ | ท้าทายกฎหมาย

ผมดูมินิซีรี่ส์กึ่งสารคดีสั้นๆ จากต่างประเทศในทีวีช่องหนึ่ง (เสียดายที่จำชื่อรายการและช่องที่ถ่ายทอดไม่ได้) เป็น “คอร์ทซีน” ที่ผู้พิพากษาซักจำเลยด้วยตนเองและอย่างกันเอง

จำเลยและพยานต่างเป็นเด็ก แม่บ้าน หรือคนทำงานระดับล่าง ทำความผิดขั้นพื้นฐานด้วยความเคยชิน มักง่าย และไม่สนใจกฎหมาย มากกว่าจะด้วยสันดานดื้อด้าน เห็นแก่ตัว เอาเปรียบสังคม หรือหัวหมอ

พวกเขาตอบคำถามด้วยความซื่อ และบางทีก็ถึงขั้นเซ่อ ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจว่าการกระทำบางอย่างเป็นความผิดตามกฎหมายและรบกวนสังคมส่วนรวม

ผู้พิพากษาเป็นชายสูงอายุในชุดครุยน่าเกรงขาม แต่มีความเมตตาอยู่ในสีหน้าและท่าทาง คำพูดเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน สอดแทรกคำสอนและอธิบายเหตุผลแก่ทุกคนในห้องพิจารณา อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีแถ ไม่มีดิ้นได้ และไม่มีหลายมาตรฐาน

ครั้นแล้วก็พิพากษาลงโทษเพียงสถานเบา ปรับในอัตราที่น้อยที่สุด จบลงด้วยภาพแปลก…จำเลยพอใจและเต็มใจรับโทษด้วยความยินดี!

คงเป็นรายการทีวีที่ทางช่องในประเทศไทยซื้อมาด้วยราคาที่ไม่แพง แต่มีคุณค่ากว่ารายการราคาแพงไร้สาระที่ซื้อจากเกาหลีและญี่ปุ่น

ผมพยายามค้นหาชื่อรายการจากกูเกิลแต่ไม่พบ เข้าใจว่าช่องที่ซื้อรายการนี้มาอาจจะปิดตัวเองไปแล้วเพราะไม่มีเงินจ่าย กสทช.

ตรงกันข้ามกับมินิซีรี่ส์..เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าเรื่อง “คอร์ทซีน” จากเหตุการณ์จริง ที่ศาลลงโทษกลุ่มชายฉกรรจ์และวัยรุ่น 24 คนของขบวนแห่นาควัดสิงห์ บางขุนเทียน เมาสุราทำร้ายร่างกายผู้อำนวยการ ครู รปภ. และนักเรียนโรงเรียนวัดสิงห์ ศาลสั่งจำคุกตัวหัวหน้า 19 ปี 3 เดือน ที่เหลือลดหลั่นลงมาตามพฤติกรรมของแต่ละคน

ทั้งนี้ น่าจะเป็นด้วยศาลเห็นว่า “เป็นการท้าทายสังคมและกฎหมายบ้านเมือง”

19 ปี 3 เดือน เป็นเวลามากกว่าที่ฆาตกรต่อเนื่องได้รับ (นายสมคิด พุ่มพวง ฆ่าต่อเนื่อง 5 ศพ ติดคุกจริง 14 ปี) คิดอย่างเถรตรงก็แปลได้ว่า “การท้าทายกฎหมายบ้านเมือง” เป็นเรื่องร้ายแรงกว่า “ฆาตกรรมต่อเนื่อง” เลยทีเดียว

หลังจากส่งต้นฉบับ “เมื่อกฎหมายไม่มีความหมาย”แล้ว ผมพบข่าว “ตำรวจเพิ่มข้อหาทำร้ายร่างกายในห้องฉุกเฉิน 6 ข้อหา” ข้อหาสำคัญที่เพิ่มก็คือ “พยายามฆ่า”

ทำให้ย้อนไปดูสถิติของคดีทำร้ายร่างกายในห้องฉุกเฉิน ปรากฏว่าปี 2562 ใน 9 คดีที่ผ่านมา ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3-15 ปี ตามความร้ายแรงของพฤติกรรม ความเสียหายของคนเจ็บและของโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จำคุกรายละ 12 ปี

สรุปก็คือ การท้าทายกฎหมายเท่ากับเป็นการ “เพิ่มความเข้มข้น” ให้แก่พฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นเหตุให้ศาลไม่อาจเมตตาปรานีได้

ถ้าย้อนกลับไปสำรวจพฤติกรรมที่ได้ชื่อว่า “ท้าทายสังคมและท้าทายกฎหมาย” ที่สืบเนื่องมาจากข้อขัดแย้งทางการเมือง ก็ยากที่เราจะวิเคราะห์ด้วยใจเป็นกลางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อพบว่าช่างมีพฤติกรรมที่ท้าทายฟุ่มเฟือยมากมายจนเกินจำเป็น เลอะเทอะ สับสน จนแทบจะแยกไม่ออกว่าเกิดจากฝ่ายใดและอะไรเป็นต้นเหตุ

ซ้ายหรือขวา? ซ้ายจัดหรือซ้ายธรรมดา ขวาจัดหรือขวาธรรมดา?

เป็นเหตุจริงหรือภาพปลอม? ซ้ายสร้างขึ้นมาเพื่อบ่อนทำลายฝ่ายขวา หรือทำลายเครดิตฝ่ายซ้ายกันเอง? หรืออาจจะตรงกันข้าม? เป็น IO ที่ฝ่ายขวาจัดทำขึ้นเพื่อทำลายล้างฝ่ายซ้าย?

ทุกปมประเด็นเต็มไปด้วเครื่องหมายคำถาม

อย่างไรก็ตาม มีลักษณะที่คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ทุกฝ่ายต่างมี “ฮีโร่” อยู่ในแต่ละเหตุการณ์ พวกเขาหรือเธอเหล่านั้นต่างเป็นผู้ที่เพิ่มดีกรีความเข้มข้นให้แก่พฤติกรรมจนถึงขั้นท้าทายสังคมหรือท้าทายกฎหมาย (โดยไม่จำเป็น)

ขออ้างถึงเหตุการณ์ “ทำลายการประชุมอาเซียน 2552” เมื่อ 12 กันยายน 2552 กับเหตุการณ์ “แฟลชม็อบ สกายวอล์ก 2562” เมื่อ 14 ธันวาคม 2562 เป็นหลัก

การประชุมอาเซียน 2552 ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เกิดเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดงในนาม นปช. บุกเข้าไปทำลายข้าวของบางส่วนภายในโรงแรม

ผมซึ่งเคยชินกับภาพจลาจลมาพอสมควรในฐานะเป็นตำรวจ ดูคลิปช่วงนี้แล้วเห็นว่าแกนนำต่าง “เพิ่มความเข้มข้น” ของการบุกทำลายประหนึ่งคนเสียสติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องสั่งยุติการประชุมทั้งที่ยังไม่ทันได้กล่าวเปิด ต้องจัดยานพาหนะพร้อมกำลังอารักขา ส่งกลับผู้นำประเทศสมาชิกและผู้นำประเทศมหาอำนาจที่มาร่วมประชุมอย่างโกลาหล

ประเทศและรัฐบาลเสียชื่อเสียงและเครดิตความน่าเชื่อถืออย่างหนัก แต่บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงต่างได้รับคำยกย่องจากคนที่ไม่ชอบรัฐบาล รวมทั้งสื่อบางเจ้าว่าเป็น “ฮีโร่” จนเมื่อเวลาผ่านไปร่วม 10 ปี แกนนำทั้ง 15 คนถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาตัดสินจำคุกคนละ 4 ปี พอถึงขั้นฎีกา จำเลยบางคนตัดสินใจหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา จนศาลต้องออกหมายจับ

ผมเชื่อว่าประชาชนหลายล้านคนที่เคยเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองที่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศ เริ่มรู้สึกเอะใจและชะงัก

จากนั้นเราก็มี “ฮีโร่” ทยอยแจ้งเกิดเป็นระยะ

บ้างก็แจ้งเกิดด้วยตัวเอง ด้วยการแสดงและเผยแพร่บทบาทในสื่อโซเชียล

บ้างก็ดังขึ้นมาในโรงพยาบาลหรือโรงพักพร้อมด้วยบาดแผล

หรือจากข่าวหน้าหนึ่ง

มีไม่มากที่ถูกชักชวนและได้รับการโปรโมตจากเจ้าของคอก

แต่ก็มีไม่น้อยที่อิงอาศัยบุคลิกและบทบาทของคนที่ดังอยู่แล้วอย่างคนที่ฮ่องกง

ทุกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นฮีโร่ จะไม่มีนักการเมืองคนไหนกล้าปฏิเสธหรือยอมรับ ด้วยคิดว่า “แนวร่วม” เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งๆ ที่ตระหนักดีว่าไม่คุ้มกับความเสียหายที่จะตามมา

ล่าสุดของคนที่พยายามจะเป็นฮีโร่ในทางการเมืองก็คือผู้ที่โพสต์ภาพข้อความภาษาอังกฤษหยาบคายในมุมหนึ่งของสกายวอล์ก ที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ใช้เป็นสถานที่จัดชุมนุมแบบแฟลชม็อบ

พบข่าวในสื่อออนไลน์ว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ แถลงว่า เป็นภาพอันมิบังควร ทำร้ายจิตใจคนไทยทั่วทั้งแผ่นดิน จึงร่วมด้วยทีมงานเจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานทางสื่อออนไลน์ต่างๆ จนล่าสุดทางตำรวจได้จับกุมผู้กระทำผิดแล้ว

ผมอ่านข่าวแล้วไม่รู้จะเชื่อใคร จึงไม่เชื่อทั้งหมด ได้แต่เตรียมรับความรู้สึกผิดหวัง ที่เคยตั้งความหวังไว้ว่าจะมีนักการเมืองใหม่ๆ มาขับไล่นักการเมืองที่เป็นทหารกับนักการเมืองเก่าที่ขึ้นสนิมเพราะคอร์รัปชั่น

ป.ล.พูดถึงมินิซีรี่ส์สำหรับทีวี ผมเคยรับเป็นที่ปรึกษาของผู้จัดฯรายหนึ่ง (บริษัทของเขาพยายามสะท้อนปัญหานักเรียนตีกัน) ผมขอดูตัวอย่างตอนที่ทำเสร็จแล้ว แล้วผมก็ “รื้อบ่อน” ด้วยการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

“เด็กที่ถูกทำร้าย ท่าทางมันกวนๆ มันน่าถูกกระทืบมากกว่าน่าสงสาร…เรื่องนี้ต้องให้ฝ่ายแคสติ้งหาตัวแสดงใหม่”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าให้ฮีโร่เป็นคนน่าสงสารและเป็นแกนนำประท้วง