คนมองหนัง | จดหมายรัก จาก “เจน เบอร์กิน” ถึง “อานเญส วาร์ดา”

คนมองหนัง

เจน เบอร์กิน” นักแสดง-นักร้องชื่อดังในยุค 1960-1980 เขียนบทความไว้อาลัย “อานเญส วาร์ดา” (1928-2019) ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงรุ่นบุกเบิกชาวเบลเยียม ที่เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปีนี้

บทความชิ้นดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ https://www.theguardian.com/ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา

ฉันเคยไปหาอานเญสที่บ้านและเคยพบกับเธอมาก่อนแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ฉันมารู้จักมักคุ้นกับเธอจริงๆ หลังจากฉันเขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปถึงเธอ

ในจดหมายฉบับนั้น ฉันเขียนถึงหนังเรื่อง “Sans toit ni loi” (หนังของวาร์ดาเมื่อปี 1985 มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Vagabond”) ซึ่ง “ซองดรีน บอนแนร์” นำแสดงเป็นตัวละครเด็กสาวคนเร่ร่อนจรจัด

ฉันเขียนถามไปในจดหมายว่า ใครกันจะเข้ามาช่วยดูแลประคับประคองผู้ชมที่ได้เสพภาพยนตร์อันเต็มไปด้วยความโศกช้ำระกำใจเรื่องนั้น

อานเญสโทรศัพท์มาหาฉันและกล่าวว่า เธอไม่เข้าใจถ้อยคำบางจุดในจดหมาย เนื่องจากลายมือที่แสนย่ำแย่ของฉัน เธอออกความเห็นว่าเราสองคนควรนัดพบกัน เพื่อฉันจะได้มานั่งอ่านจดหมายฉบับนั้นให้เธอฟัง

เรานัดพบกันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง อานเญสตัวน้อยๆ รอคอยฉันอยู่ ณ ที่แห่งนั้น แม้ว่าฉันจะไม่ชอบเดินเหินไปเรื่อยๆ และไม่ชอบสวนสาธารณะ แต่นั่นคือกิจกรรมที่อานเญสอยากจะทำ

ระหว่างพบกัน อานเญสบอกว่า เธอต้องการจะทำหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับฉัน แต่ขณะนั้นฉันติดงานร้องเพลงที่โรงละครบาตาคล็องและไม่มีเวลาว่างเลย อานเญสจึงเสนอว่าเธอจะถ่ายภาพยนตร์ตามติดชีวิตฉันเป็นเวลาหนึ่งปี

มาถึงตอนนี้ ฉันเริ่มไม่แน่ใจว่า ตอนนั้นเธอพูดคำว่า “หนึ่งปี” ออกมาจริงหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม นั่นคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ภายหลังการพูดคุย

พวกเราเริ่มต้นร่างเค้าโครงของภาพยนตร์เรื่อง “Jane B. by Agnes V.” ก่อนที่ผลงานชิ้นนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้นลงในปี 1987

อานเญสต้องการให้ฉันเป็น “ฌาน ดาร์ก” (โจนออฟอาร์ก) เธอต้องการให้ฉันเป็นคนยากไร้ประหนึ่งมีชีวิตอยู่ในนิยายของ “ชาร์ลส์ ดิกเกนส์” เธอยังรบเร้าให้ฉันสวมใส่ชุดเต้นรำแบบสเปน ซึ่งฉันไม่อยากใส่ แต่ก็ต้องใส่ เพราะไม่อาจละเมิดสัญญาที่เราสองคนตกลงกันเอาไว้

สัญญาที่ระบุว่าฉันต้องทำอะไรก็ตามที่เธออยากให้ฉันทำ และเมื่อนั้น ตัวเธอเองก็จะลงมือทำในสิ่งที่ฉันปรารถนาอยากจะให้เกิดเช่นเดียวกัน

นั่นคืออานเญส ผู้หญิงร่างเล็กๆ ทว่าเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการอย่างถึงที่สุด

อานเญสคือผู้ที่มีความคิดจินตนาการวิเศษล้ำเหนือธรรมดา ทันทีที่ฉันหลงคิดไปว่าหนังของเราได้ปิดกล้องลงเรียบร้อยแล้ว เธอก็โยนไอเดียใหม่เข้ามา

ระหว่างนั้น ฉันเคยนำบทภาพยนตร์ที่ตนเองเขียนขึ้นไปให้อานเญสอ่าน มันเป็นเรื่องราวของหนุ่มน้อยวัยประมาณ 15 ปี ที่ลุ่มหลงในผู้หญิงวัย 40 ปีรายหนึ่ง

อานเญสรู้สึกว่าเธอต้องยกย่องเชิดชูความคิดของฉัน นั่นนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Kung Fu Master”

“แมตธิว” ลูกชายของอานเญส รับบทเป็นตัวละครหนุ่มน้อย ส่วนฉันแสดงเป็นตัวละครนำหญิง อานเญสยังชวนให้ลูกสาวสองคนของฉัน คือ “ชาร์ลอตต์” (แกงสบูร์ก) และ “ลู” (ดัวญง) มาร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย

ณ ห้วงเวลาดังกล่าว โรคเอดส์คือประเด็นร้อนในทางสังคม อานเญสยืนกรานว่าเราควรนำเสนอประเด็นนี้ลงไปในภาพยนตร์

นี่คืออานเญสผู้มีความกระตือรือร้นในการแสดงความเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ และหากเธอกำลังลงมือทำอะไรบางอย่าง แล้วมีประเด็นร่วมสมัยใหญ่ๆ เกิดขึ้น เธอจะไม่รีรอในการกล่าวถึงประเด็นนั้นๆ ผ่านผลงานของตนเอง

อานเญสเริ่มต้นทำงานด้วยฐานะช่างภาพนิ่ง เธอบันทึกรูปถ่ายของเหล่าดาราฝรั่งเศสไว้ในฟิล์มขาว-ดำ ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์หญิงรุ่นแรกๆ ถ้าคุณได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์ของอานเญสที่เล่าถึงประสบการณ์ช่วงนั้น คุณจะพบว่าคำตอบของเธอช่างเปี่ยมอารมณ์ขันและทะลึ่งตึงตังเสียนี่กระไร

อานเญสเป็นคนที่มียีนแห่งความสอดรู้สอดเห็นอย่างมากมายมหาศาล และเธอมักกระทำในสิ่งที่คนอื่นๆ คาดไม่ถึงเสมอ

ครั้งหนึ่ง เธอเชิญฉันไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์ที่ลียง หลังจากปฏิบัติภารกิจที่ต้องทำเสร็จเรียบร้อย ฉันก็เตรียมตัวไปพักผ่อนที่โรงแรมอันแสนสะดวกสบาย แต่แล้วอานเญสกลับจัดแจงพาฉันและตัวเธอเองเข้าไปหลับนอนในพิพิธภัณฑ์ลูมิแยร์

เราสองคนนอนหลับกันในห้องของ “หลุยส์ ลูมิแยร์” (หนึ่งในบิดาผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์โลก) เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันตื่นขึ้นมาพบอานเญสกำลังนั่งอยู่บนเตียง พร้อมด้วยกาแฟและครัวซองต์ เธอกล่าวกับฉันว่า “นับจากนี้ ลียงในมุมมองของเธอจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

อีกครั้งหนึ่ง เราสองคนกำลังเดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ที่แอฟริกาเหนือ และต้องไปรอต่อเครื่องบินที่มาดริด

แน่นอน ฉันหลงคิดว่าพวกเราคงจะนั่งรอเครื่องบินอยู่ในเลาจน์สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง แต่อานเญสกลับยืนยันว่าเราควรไปชื่นชมผลงานของ “โกยา” และ “เบลัซเกซ” ที่พิพิธภัณฑ์ปราโด

เรารีบจับแท็กซี่ไปยังปราโด ก่อนจะพบผู้คนจำนวนมากเข้าคิวยาวเหยียดอยู่หน้าอาคาร อานเญสดุ่มเดินงงๆ ไปด้านหน้าแถว และแสร้งทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่พลัดหลงจากคณะทัวร์ แล้วเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ก็ปล่อยให้อานเญสเดินเข้าไปดื่มด่ำกับผลงานจิตรกรรมชิ้นเอกอย่างง่ายดาย

ปัจจุบันฉันไม่อาจนึกถึงมาดริด โดยไม่ครุ่นคำนึงถึงอานเญส อานเญสผู้รู้จักคุ้นเคยกับบรรดาคนถือกุญแจทั้งมวล กระทั่งพวกเราสามารถเดินเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา แม้ในเวลาที่สถานที่เหล่านั้นปิดทำการแล้วก็ตาม

เธอคือบุคคลประเภทที่สามารถสร้างสรรค์ความทรงจำงดงามนานาไว้ให้เราชื่นชม

อานเญสเป็นคนละเอียดอ่อนเอามากๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อแม่ของฉันเสียชีวิต เธอก็รีบบึ่งรถยนต์สีแดงคันจิ๋วมาหา เพื่อดูว่าฉันยังโอเคอยู่หรือไม่ เธอทำอย่างเดียวกัน ตอนที่ “เคต” (แบร์รี่) ลูกสาวคนโตของฉันเสียชีวิต อานเญสจะมากดกระดิ่งหน้าบ้านฉันในทุกสัปดาห์ แล้วปรากฏกายขึ้นพร้อมน้ำชาร้อนๆ ที่เธอนำมาฝาก

ไม่เพียงแต่จะมีความอยากรู้อยากเห็นและพลังแห่งความกระตือรือร้นอยู่เกินคณานับ อานเญสยังเป็นคนกล้าหาญและเข้มแข็งเหนือปกติวิสัย

เธอป่วยเป็นมะเร็งในระยะที่รุนแรง แต่เธอกลับตัดสินใจไม่รับการรักษาด้วยกระบวนการเคมีบำบัด เธอรู้แน่ชัดว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่

อานเญสเดินหน้าทำงานจนถึงวาระสุดท้าย เธอได้ร่วมสร้างหนัง (เรื่อง “Faces Places”) กับศิลปินอย่าง “เจอาร์” นี่คือภาพยนตร์ที่ช่วยยืดอายุของเธอให้ยาวนานยิ่งขึ้น ศิลปินหนุ่มสามารถดึงศักยภาพขั้นสุดยอดของอานเญสออกมาได้สำเร็จ

ฉันอยู่เคียงข้างอานเญสในค่ำคืนที่เธอเสียชีวิต “โรซาลี” ลูกสาวของเธอโทรศัพท์มาแจ้งว่าอานเญสต้องการจะกล่าวลาทุกผู้คนที่เธอรัก และพวกเขาก็รักเธอ ดังนั้น พวกเราจึงเดินทางไปรวมตัวกันที่บ้านของอานเญส

ชีวิตของอานเญสยุติลงด้วยความยิ่งใหญ่ ณ โมงยามแห่งการจากลา เธอกลับได้รับความรัก, ชื่อเสียง, เกียรติยศ และการร่วมเฉลิมฉลองในวาระปัจฉิมวัย อันเอ่อท้นล้นหลามอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แปลจาก https://www.theguardian.com/film/2019/dec/16/agnes-varda-remembered-by-jane-birkin