ม.44 ค้นวัดพระธรรมกาย เจรจาล่ม-ส่งจนท.ลุย ขี่ช้างจับ”ธัมมชโย”เพิ่มข้อหา313คดี

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่คนในสังคมจับตามองอย่างยิ่ง

สำหรับปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อหาตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ผู้ต้องหาคดีรับของโจรและฟอกเงินมาดำเนินคดีให้จงได้

ที่ยกระดับจากการใช้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

มาเป็นการใช้ ม.44 เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ

พร้อมส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทหารร่วมปฏิบัติการ

โดยแรกการเข้าตรวจก็เป็นไปด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัย

แต่ต่อมาก็เกิดความตึงเครียด ด้วยคำสั่งเรียกพระ 14 รูปไปรายงานตัว และให้พระ-ญาติโยมออกพ้นวัด

ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้น

ส่งผลให้เกิดคำถามกับรัฐบาลว่าจะยึดแนวทางไหนในการดำเนินการต่อไป

แฟ้มภาพ – พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

บิ๊กตู่ใช้ ม.44 ค้นธรรมกาย

เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. ที่ 5/2560 กำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

โดยมีคำสั่งให้วัดพระธรรมกายตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมถึงพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 11 หมู่ 12 และหมู่ 13 ในตำบลคลองสอง และพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 และหมู่ 11 ในตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งนี้

ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมการเข้าหรือออกในพื้นที่ สั่งให้บุคคลใดออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด หรือสั่งให้บุคคลใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุม หรือดูแลความปลอดภัย หรือให้งดเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องกับการ กระทำความผิด

ควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร การใช้อากาศยานไร้คนขับ ตลอดจนกำหนดมาตรการและดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย

โดยให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบ

พร้อมเริ่มตรวจค้นโดยมีพระและลูกศิษย์วัดพระธรรมกายนำตรวจ โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ ตั้งแต่กุฏิดาวดึงส์ ที่ระบุเป็นที่รักษาอาการอาพาธของพระธัมมชโย อุโมงค์รูปตัวยู ที่อ้างว่าเป็นอุโมงค์ลับ

รวมทั้งเข้าตรวจค้นอาคารต่างๆ ที่เป็นที่ต้องสงสัยว่าพระธัมมชโยจะหลบซ่อนอยู่

แต่ก็ไม่พบตัว!??

เจอก็เพียงเตียงผู้ป่วยที่วางหมอนห่มผ้าไว้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันฝุ่นจับ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ยึดเครื่องไฮเปอร์แบริก แชมเบอร์ ที่ใช้รักษาอาการอาพาธมาตรวจสอบดีเอ็นเอ เพื่อวิเคราะห์ให้ได้ว่าเครื่องนี้ใช้เมื่อใด และพระธัมมชโยยังอยู่ที่วัดหรือไม่

หลังจากใช้เวลาตรวจค้น 3 วัน แต่ไม่เจอตัว เจ้าหน้าที่ก็ยกระดับความเข้มข้นขึ้นอีก โดยใช้คำสั่งตามอำนาจ ม.44 ที่นายกฯ และหัวหน้า คสช. ให้ไว้ สั่งให้พระ-เณร และญาติโยมที่ไม่ได้จำวัดและพักอาศัยอยู่ในวัดพระธรรมกาย ออกพ้นวัดภายในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์

พร้อมเรียกตัวพระ 14 รูป ประกอบด้วย 1.พระธัมมชโย หรือพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) 2.พระทัตตชีโว หรือ เผด็จ ทัตตชีโว หรือพระราชภาวนาจารย์ 3.พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ 4.พระปลัด สุธรรม สุธัมโม หรือพระวิเทศภาวนาจารย์ 5.พระครูถวัลย์ศักดิ์ ยติสักโก 6.พระครูใบฎีกาอำนวยศักดิ์ มุนิสสโก 7.พระครูสังฆรักษ์ อนุรักษ์ โสตถิโก หรือพระครูแอ

8.พระสนิทวงศ์ วุฑฒวังโส 9.พระมหานพพร ปุญญชโย 10.พระภาสุระ ทันตมโน (ใจวงศ์) 11.พระนพดล สิริวังโส 12.พระมหาบุญชัย จารุทัตโต 13.พระครูสุวิทย์ สุวิชชาโก 14.พระแสนพล เทพเทพา หรือ ส.อ.แสนพล เทพเทพา มารายงานตัว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ลั่นไม่ยกเลิก ม.44 จนกว่าจะจับตัวพระธัมมชโยได้

เลิกเจรจา-พระอดข้าวประท้วง

พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ระดมกำลังเพิ่มอีก 16 กองร้อย พร้อมตั้งประจันหน้าที่ประตู 5-6 ตั้งแต่คืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์

จนกระทั่งช่วงเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ก็เกิดเหตุปะทะกันขึ้นจนได้ เมื่อพระวัดธรรมกาย ระบุว่าญาติโยมที่ออกไปหาอาหารรับประทานไม่สามารถกลับเข้าวัดได้

จึงเคลื่อนขบวนไปรับ จนเกิดผลักดันกับเจ้าหน้าที่ที่ประจำจุด เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย

หลังจากนั้นจึงต้องมีข้อตกลงให้แต่ละฝ่ายต้องถอยไปฝ่ายละ 10 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดกระทบกระทั่งกันอีก

อย่างไรก็ตาม การตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่

เมื่อกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในศูนย์อาหารร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ว่าไม่สามารถเข้าไปขายของได้ แม้จะมีหนังสืออนุญาตจาก สภ.คลองหลวง

โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเป็นพื้นที่ควบคุม หากจะขออนุญาตก็ต้องขอจากดีเอสไอ ไม่ใช่ตำรวจ ทำให้พ่อค้าแม่ขายต้องโอดครวญกับความเดือดร้อนที่ไม่สามารถทำมาหากินหาเลี้ยงครอบครัวได้

นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการเข้าออกเพราะการปิดถนนและตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งโรงเรียนต่างๆ โดยรอบต้องปิดโดยปริยาย

ขณะที่ในการประชุมมหาเถรสมาคม ที่มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประธานนัดแรก

ก็มีความเป็นห่วงสถานการณ์ โดยพระพรหมมุนี เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช มีบัญชาให้เจ้าคณะปกครองที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายทั้งหมดประชุมหารือถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานการประชุม

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว

ด้านคณะสงฆ์ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอบิณฑบาตระงับเหตุการณ์ ระบุว่า อาตมภาพพร้อมคณะสงฆ์ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 323 วัดมีความรู้สึกเป็นห่วงกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ใช้กองกำลังมากมายบุกเข้าจับหลวงพ่อธัมมชโย และตรวจค้นวัดพระธรรมกาย จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง ทั้งที่วัดเป็นที่สงบร่มเย็นเป็นที่บำเพ็ญบุญทางพระพุทธศาสนา

จึงขอบิณฑบาตนายกรัฐมนตรีให้พิจารณา โดยไม่ใช้ความรุนแรงและแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ขีดเส้นตายไว้ที่ 10.00 น. ของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เมื่อถึงเวลาแม้จะเจรจากันนานกว่า 5 ชั่วโมง ก็ไม่เป็นผล

ทำให้ดีเอสไอสั่งใช้กำลังเต็มอัตรา

ด้านพระวัดพระธรรมกาย ก็ทำได้เพียงนั่งอดข้าวประท้วง

แสดงอารยะขัดขืน

 

อ่วมหนัก-เจออีก 313 คดี

สําหรับพระธัมมชโย หรือพระเทพมหามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาในข้อหารับของโจร และฟอกเงิน กรณีรับเงินบริจาคจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 21 ครั้ง เป็นเงิน 1.2 พันล้านบาท

แม้ต่อมาทางวัดพระธรรมกายจะคืนเงินทั้งหมด พร้อมปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพราะถือเป็นเงินบริจาค ที่ผู้รับไม่สามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้

นอกจากนี้ ยังระบุว่าผู้บริจาคเงินหลักพันล้านยังมีอีกหลายราย ไม่สามารถตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอก็ยังดำเนินคดีพร้อมขออนุมัติหมายจับถึง 3 ครั้ง แต่พระธัมมชโยไม่เข้าพบพนักงานสอบสวน ระบุว่าต้องรักษาอาการอาพาธ

หลังจากพยายามหลายต่อหลายหน เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถควบคุมตัวมาดำเนินคดี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสั่งการให้ดำเนินคดีกับวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยในทุกคดีที่พบความผิด

โดยในพื้นที่ สภ.คลองหลวง สั่งดำเนินคดี 178 คดี ประกอบด้วยความผิดฐานบุกรุก 16 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 20 คดี ความผิดฐานกีดขวางการจราจร 5 คดี ความผิดฐานหมิ่นประมาท 1 คดี

ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 128 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล 1 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 4 คดี ความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน 2 คดี และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่เจ้าพนักงานยึดไว้ 1 คดี

ในความรับผิดชอบกองปราบปราม มีความผิดตาม ม.116 ปอ. 1 คดี ซึ่งออกหมายจับศาลอาญาต่อ น.ส.ดวงกมล ทองคณารักษ์ และ น.ส.ทิพววรรณ์ สุจริยานุรักษ์

ของ บก.ปทส. 19 คดี มีหมายจับพระธัมมชโยจากศาลจังหวัดสีคิ้ว

สภ.เกาะยาว จ.พังงา 103 คดี แบ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 98 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 1 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน 1 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 1 คดี ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน 1 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 1 คดี

สภ.ภูเรือ จ.เลย 6 คดี มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 3 คดี ความผิดฐานออก น.ส.3 ก. โดยมิชอบ 2 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 1 คดี

สภ.อุ้มผาง จ.ตาก 1 คดีคือความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้

นอกจากนี้ ยังมีเพิ่มอีก คือ คดีอาวุธปีน คดีขัดขวางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน คดีน้ำมันเถื่อน คดีบ่อบาดาล และคดีทำร้ายรางกายเจ้าหน้าที่

รวมแล้ว 313 คดี หมายจับ 10 คดี