เปิดใจ ผบช.ปส. “ลูก พล.ต.อ.เภา สารสิน”แม่ทัพด่านแรก ‘ภารกิจปราบยานรก’ เยาวชนน่าห่วงสุด อุดช่องว่างด้วยไอที

พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน แม่ทัพด่านแรกลุย “ยานรก” ป้องเยาวชน-เสริม “ไอที”

กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เป็นด่านแรกป้องกันยาเสพติดก่อนจะเข้ามาแพร่กระจายกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล หัวเมืองใหญ่และส่งไปต่างประเทศ ต้องเฝ้าบูรณาการทางด้านการข่าว เฝ้าระวัง สกัดกั้นการลักลอบลำเลียงขนส่งยาเสพติด สารตั้งต้นจากพื้นที่ตะเข็บแนวชายแดน เข้าไปพื้นที่ชั้นกลาง ชั้นใน

“บิ๊กป๋อ” พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผบช.ปส.ขณะนี้ ถือว่ามีประสบการณ์การปราบปรามยาเสพติดมายาวนาน ทำให้วางแผนจัดการ รับมือสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

“บิ๊กป๋อ” ยึดแบบอย่างทำงานมาจากคุณพ่อ พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจคนที่ 25

เวลาทำงานร่วมกับลูกน้อง ยึด “งานต้องเดิน คนต้องดี ความสุขต้องมี”

เจ้าตัวอธิบายว่า การทำงานปราบปรามยาเสพติดต้องมีประสิทธิภาพ ปรากฏผลงานเป็นรูปธรรม ในส่วนผู้ปฏิบัติงานก็ต้องอยู่ในกรอบ ระเบียบวินัย ไม่นอกลู่นอกทาง ที่สำคัญ ต้องมีความสุขกับการทำงาน ส่วนไหนที่ผู้บังคับบัญชาให้การสนับสนุนได้ จะทำทันที เพื่อให้บรรยากาศการทำงานมีความสุข

ผบช.ปส.พูดถึงมาตรการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดที่ฉวยโอกาสทะลักเข้าช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ว่า จากการปฏิบัติงานยังเน้นย้ำให้แต่ละชุดปฏิบัติการสกัดกั้นขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่แนวชายแดน ไม่ให้ลำเลียงเข้าพื้นที่ตอนใน และไม่ให้แพร่กระจายในพื้นที่ตอนใน ฉะนั้น ต้องทำควบคู่กันไป หากจับกุมก็จะขยายผลไปถึงทุกระดับ เพื่อถอนรากถอนโคน โดยใช้มาตรการตรวจสอบและยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติด รวมทั้งดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญ การลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านระบบโลจิสติกส์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางเออีซี ปีที่ผ่านมามีการค้ายาเสพติดข้ามชาติหลายคดี ที่อาศัยช่องว่างของระบบนี้ และถ้าลำเลียงเข้ามาในประเทศใช้ช่องทางแนวชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และช่องทางชายแดนภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การลำเลียงทางพัสดุภัณฑ์และไปรษณียภัณฑ์จับได้มาก สถิติระหว่าง 1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2562 พบการกระทำผิด 179 คดี ผู้ต้องหา 138 คน ยาบ้า 1.1 ล้านเม็ด ไอซ์ 9 หมื่นกว่ากิโลกรัม (ก.ก.) เฮโรอีน 26,090 ก.ก. กัญชา 5 แสนกว่า ก.ก. โคเคน 11 ก.ก. เคตามีน 143,429 ก.ก. และกระท่อม 8.1 แสน ก.ก.

ส่วนพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำถือเป็นทำเลทองแหล่งผลิตใหญ่นั้น ผู้ค้าจะใช้วิธีดัดแปลงรถยนต์ซุกซ่อนยาเสพติด เพราะสะดวกในการขนส่งปะปนมากับสินค้าต่างๆ หรือการขนส่งโดยการจัดส่งทางไปรษณีย์ทั้งของบริษัทไปรษณีย์ไทยและของเอกชน หรือระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถโดยสารประจำทาง และรถไฟ

และยังพบว่ามีความพยายามลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในประเทศผ่านทางท่าอากาศยาน เนื่องจากไทยมีระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศที่เชื่อมโยงกับทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะท่าอากาศยานนานาชาติ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เกาะสมุย หาดใหญ่ ภูเก็ต และเชียงใหม่

บางครั้งจะปรับเส้นทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วนำเข้ามาประเทศไทยตามแนวชายแดน

ผบช.ปส.ยังกล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2562 บช.ปส.จับกุมคดียาเสพติดได้ 2,199 คดี ผู้ต้องหา 2,482 คน จับกุมยาเสพติดประเภทยาบ้าและเฮโรอีนมากที่สุด โดยยาบ้าเกือบ 180 ล้านเม็ด เมื่อเทียบกับปริมาณยาบ้าทั้งหมด ภาพรวมตำรวจที่จับได้ 548.4 ล้านเม็ด เฮโรอีน 421.27 ก.ก.จากที่ ตร.จับกุมได้ 941.83 ก.ก. เกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนไอซ์ 5,089.59 ก.ก. กัญชา 15,365 ก.ก. โคเคน 26 ก.ก. เคตามีน 395 ก.ก. รวมมูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท และยึดทรัพย์ไว้เพื่อตรวจสอบมูลค่า 1,131.36 ล้านบาท

สถานการณ์ยาเสพติดในไทยเปลี่ยนไปจากอดีตมากน้อยแค่ไหน พล.ต.ท.ชินภัทรมองว่า ปัจจุบันเริ่มแพร่ระบาดลงสู่เยาวชนมากขึ้น แนวโน้มในอนาคตจะทวีความรุนแรงขึ้น คือการเชื่อมโยงเครือข่ายยาเสพติดกับการพัฒนาระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ควบคู่กับการขนส่งทางพัสดุจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาด เนื่องจากกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และไม่จำกัดพื้นที่

“ปัจจุบันพบว่ามีการสร้างเครือข่ายการค้ายาเสพติดโดยอาศัยระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นช่องทางในการลักลอบติดต่อสื่อสาร ลักลอบซื้อ-ขายยา ที่สามารถสร้างพื้นที่ติดต่อกันส่วนตัวได้ อีกทั้งผู้ค้าเข้าถึงกลุ่มผู้เสพยาเสพติดได้ง่าย และราคามีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เกิดผู้ค้ารายย่อยที่พัฒนามาจากผู้เสพในชุมชนมากขึ้น”

ผบช.ปส.กล่าว

ส่วนยาเสพติดประเภท “คลับ ดรักส์” ยังน่าห่วงเพราะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวกลางคืน โดยเฉพาะเคตามีน ระบาดแพร่หลายมากในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน และอาจมีการหาสารเสพติดประเภทใหม่มาให้กลุ่มผู้เสพทดลอง

หากเป็นประเภทที่ไม่เคยแพร่ระบาดในประเทศไทยมาก่อน อาจส่งผลให้ผู้บังคับใช้กฎหมายรู้ไม่เท่าทัน รวมไปถึงไม่มีเครื่องมือตรวจพิสูจน์ทราบสารเสพติด

พล.ต.ท.ชินภัทรยังมีเป้าหมายนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้และบูรณาการอุดรอยรั่วนั้นว่าด้วยเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการทำงานตำรวจ บช.ปส. เพราะบางครั้งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ไม่สามารถตรวจสอบติดตามได้ทัน

ทาง บช.ปส.จึงพยายามมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น ทั้งเสริมสร้างความรู้ทางด้านไอที ความรู้ทางด้านยุทธวิธี

รวมทั้งพยายามสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมเขี้ยวเล็บในการทำงานมากขึ้น