วิรัตน์ แสงทองคำ : บทสรุปปี 2562 ธนาคารไทย ธนาคารภูมิภาคแห่งแรก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจใหญ่ คงทรงอิทธิพลในสังคมไทย ท่ามกลางการเผชิญแรงกดดัน สามารถขับเคลื่อนและการปรับตัวอยู่เสมอ

เพิ่งกล่าวไว้ในตอนที่แล้ว “สะท้อนภาพการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงธนาคาร ภายใต้แรงกดดัน แรงขับเคลื่อนโดยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารธนาคารเอง เพื่อตอบสนองสถานการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากยุคธนาคารไทยก่อนปี 2540 การเปลี่ยนแปลงและถูกบังคับให้ปรับตัวมักมาจากแรงกดดันจากทางการ”

แทบไม่ขาดคำ ธนาคารกรุงเทพแสดงบทบาทนำอันครึกโครม หลายคนอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นในยุคชาติศิริ โสภณพนิช ซึ่งบางคนบอกว่ามีแนวการบริหารอนุรักษนิยมยิ่งกว่ายุคบิดา (ชาตรี โสภณพนิช) เสียอีก

“ธนาคารกรุงเทพตอกย้ำความเป็นผู้นำแห่งภูมิภาค ประกาศซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตา (PT Bank Permata Tbk) ในอินโดนีเซีย จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered Bank) และแอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล (PT Astra International Tbk)” หัวข้อข่าวใหญ่จากธนาคารกรุงเทพ (12 ธันวาคม 2562) ซึ่งขอเติมวงเล็บภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นข้อมูลที่จริงจังขึ้น เนื้อหาในถ้อยแถลงปรากฏชื่อ ปิติ สิทธิอำนวย (อายุ 85 ปี) ประธานกรรมการ กับชาติศิริ โสภณพนิช (อายุ 59 ปี) กรรมการผู้จัดการใหญ่ อันสะท้อนบุคลิกเฉพาะธนาคารกรุงเทพ

หากสนใจเชิงลึก เชิงเทคนิคมากขึ้น ขอให้ศึกษารายละเอียดจากเอกสารซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง “การเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT BankPermata Tbk)” ในวันเดียวกันกับถ้อยแถลงข่าวข้างต้น ลงนามโดย เดชา ตุลานันท์ (วัย 84 ปี) ประธานกรรมการบริหาร

นอกจากนั้น วันเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพได้นำเสนอข้อมูลนำเสนอ (presentation) ภาคภาษาอังกฤษในหัวข้อ “Permata and Bangkok Bank : Strategic Investment for Growth” ความยาว 20 หน้าไว้อย่างละเอียดอย่างน่าสนใจอีกด้วย

 

ข้อความสำคัญที่ว่า “ธนาคารกรุงเทพตอกย้ำความเป็นผู้นำแห่งภูมิภาค” เป็นมิติให้ความสนใจว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจ และประสบการณ์ธนาคารไทยที่แตกต่าง แสดงบทบาทใหม่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สำหรับบทเรียนสังคมธุรกิจไทย ซึ่งคงร่องรอยธุรกิจครอบครัว สะท้อนภาพความเชื่อมต่อระหว่างยุค ระหว่างรุ่นไว้ด้วย

โมเดลการบริหารธนาคารกรุงเทพมีความแตกต่างจากธนาคารอื่นๆ อย่างมาก มีโครงสร้างซ้อนกันระหว่างผู้บริหารสองรุ่น บ้างก็ว่าเป็นช่วงต่อที่ยาวนาน จากยุคชาตรี สู่ชาติศิริ โสภณพนิช แม้ว่าหลังจากชาตรี โสภณพนิช ถึงแก่กรรม (ปี 2561) โครงสร้างการบริหารยังคงเดิมอย่างเหนียวแน่น คงไม่อาจปฏิเสธว่าเป็นโครงสร้างซึ่งทำงาน เมื่อมองผ่านความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่บทบาทธนาคารระดับภูมิภาคอย่างเต็มตัว

ธนาคารกรุงเทพประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยในความพยายามสร้างเครือข่ายในภูมิภาค มิใช่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน หากเป็นพัฒนาการต่อเนื่อง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ เป็นจุดแข็ง

ว่าไปแล้วเป็นความต่อเนื่องตั้งแต่ยุคชิน โสภณพนิช ผู้บุกเบิกแผ้วทางไว้เมื่อกว่ากึ่งศตวรรษที่แล้ว ส่งผ่านมายังกระแสอันสอดคล้อง

โดยมีจุดเชื่อมต่ออย่างน่าทึ่งในยุคชาตรี โสภณพนิช

 

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อชิน โสภณพนิช ต้องระเห็จไปอยู่ฮ่องกง 5 ปี (2501-2506)

“นายชินใช้ฮ่องกงเป็นฐานปฏิบัติการงานด้านต่างประเทศ…ทุ่มเทความพยายามเต็มที่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเงินอย่างแน่นแฟ้นกับนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Robert Kwok แห่งมาเลเซีย Liem Sioe Liong แห่งอินโดนีเซีย Robin Loh แห่งสิงคโปร์ และ Ng Teng Fong แห่งฮ่องกง ขณะนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจ” เชื่อกันว่าสายสัมพันธ์มีความต่อเนื่องสู่รุ่นต่อมา (หนังสือ “ชิน โสภณพนิช (2453-2531)” จัดพิมพ์โดยธนาคารกรุงเทพ)

สาขาธนาคารในระดับภูมิภาคและข้างเคียง ที่ฮ่องกงเกิดขึ้นก่อนที่อื่น (ปี 2497) ตามมาด้วยสิงคโปร์ (ปี 2500) มีสาขาอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันเมื่อชิน โสภณพนิช ปักหลักที่ฮ่องกง นั่นคือสาขาโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แผนการขยายเครือข่ายภูมิภาคจริงจังมากขึ้นหลังจากนั้น มีอีก 2 สาขาในฮ่องกงช่วงต่อมา (ปี 2503 และ 2504)

ที่น่าสนใจ มีสาขากัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (2502) รวมสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม (ปี 2504)

ในช่วงชิน โสภณพนิช กลับมาบริหารธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัวอีกครั้ง เป็นช่วงยาวนานทีเดียว (2505-2535) มุมมองขยายตัวในภูมิภาคคงดำเนินต่อไป ที่ไต้หวัน (ปี 2508) จาการ์ตา อินโดนีเซีย (ปี 2511) อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าลดความสำคัญลงไปบ้าง เมื่อเทียบกับโอกาสเปิดกว้างในประเทศ

มาคึกคักอีกครั้งในช่วงหลังสงครามอินโดจีน “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” ท่ามกลางช่วงเวลาจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังขยับปรับตัวครั้งใหญ่ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง เมื่อเข้าช่วงคาบเกี่ยวยุคชาตรี โสภณพนิช (กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2522-2535 และประธานกรรมการบริหาร 2535-2541)

 

ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยแห่งแรก บุกเบิกเครือข่ายในจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มต้นเปิดสำนักงานตัวแทนธนาคารที่ปักกิ่งในปี 2529 และตามมาด้วยการเปิดสาขาแห่งแรกที่ซัวเถาในปี 2535 จากนั้นปีเดียว (2536) ตามมาด้วยสาขาเซี่ยงไฮ้

ขณะขยายสาขาในประเทศอาเซียนที่เหลือ อย่างสาขาเวียงจันทน์ ประเทศลาว (ปี 2536) และสาขามะนิลา ประเทศพิลิปปินส์ (ปี 2538) รวมทั้งดำเนินแผนพัฒนาเครือข่ายในอีกบางประเทศ กรณีประเทศเวียดนาม “ธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยสาขาโฮจิมินห์ ซิตี้ เปิดในปี 2535 และสาขาฮานอยเปิดในปี 2537” ข้อมูลทางการธนาคารกรุงเทพระบุไว้

และที่สำคัญมากๆ อีกกรณี ในประเทศมาเลเซีย

“ธนาคารกรุงเทพเปิดสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นสาขาแรกเมื่อปี 2502 หรือ 60 ปีมาแล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย จึงได้เปลี่ยนสถานะของสาขากัวลาลัมเปอร์เป็นธนาคารท้องถิ่น จดทะเบียนในนาม Bangkok Bank Berhad เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์” (เอกสารประชาสัมพันธ์ธนาคารเคยระบุไว้)

ถือเป็นธนาคารไทยธนาคารแรกที่ได้ใบอนุญาตก่อตั้งธนาคารท้องถิ่นในต่างประเทศ ในเวลานั้นไทยเองปิดตายสำหรับโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

เมื่อชาติศิริ โสภณพนิช ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ปี 2537 ขณะชาตรี โสภณพนิช เป็นประธานกรรมการบริหารช่วงเดียวกับบุตร 5 ปีแรก ก่อนจะขึ้นเป็นประธานกรรมการ (ปี 2542) ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ระบบธนาคารเผชิญปัญหาหนักหน่วง

ธนาคารกรุงเทพตามโครงสร้าง 2 รุ่น ไม่เพียงสามารถพยุงตัวอยู่รอด หากเผชิญความท้าทายใหม่ ท่ามกลางช่วงเวลาธนาคารต่างชาติ โดยเฉพาะธนาคารในภูมิภาคขยายเครือข่ายกันคึกคัก เข้ามาเป็นคู่แข่งรายใหม่ในระบบธนาคารไทยด้วย

ขณะธนาคารไทยที่เหลือกำลังสาละวนกับการแก้ปัญหา ด้วยมุมมองค่อนข้างเฉื่อยเนือยกับบทบาทภูมิภาค ธนาคารกรุงเทพมีโอกาสมากกว่าใคร จากรากฐานเดิม ได้ก้าวไปข้างหน้าเป็นขั้นๆ

 

ปฏิบัติการมุ่งมั่นในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจนในปี 2541 สามารถเปิดสาขาที่เซียะเหมิน ตามมาด้วยเป้าใหญ่อีกขั้นในปี 2548 เมื่อเปิดสาขาปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงนั้นดูมีแผนจริงจัง มีการย้ายสาขาจากซัวเถามายังเสินเจิ้น (ปี 2550) และแล้วปี 2552 ธนาคารกรุงเทพบรรลุเป้าหมายสำคัญ

“ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารแห่งใหม่ที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้น 100% ได้เปิดดำเนินธุรกิจโดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในธนาคารต่างชาติไม่ถึง 30 แห่งที่ได้รับอนุญาต ธนาคารกรุงเทพมีประสบการณ์ยาวนานในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชีย โดยเปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกในฮ่องกงเมื่อปี 2497 และเปิดสำนักงานตัวแทนแห่งแรกในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2529 การเปิดธนาคารแห่งใหม่ได้ใช้เวลาเตรียมการมาหลายปี ที่สำคัญธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สามารถเปิดสาขาได้เพิ่มขึ้นอีก สามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าทั่วไป และให้บริการชำระเงินในสกุลเงินหยวนได้อย่างครบวงจร สาขาของธนาคารกรุงเทพที่มีอยู่ก่อนแล้วในเขตเศรษฐกิจหลักๆ ของจีน ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เสินเจิ้น และเซียะเหมิน ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสาขาของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้”

ภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) อ้างจากข่าวประชาสัมพันธ์ธนาคารกรุงเทพ (28 ธันวาคม 2552)

“การจัดตั้งธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) สำเร็จลงและดำเนินการในช่วงเวลาที่สอดคล้อง กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิภาค หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ทศวรรษแห่งเอเชีย” เมื่อข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อตกลงเขตเสรีการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน และอีกหลายประเทศเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศไทย”

สาระและจินตนาการเพิ่มเติม จากรายงานประธานกรรมการบริหาร (ขณะนั้นคือโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ในรายงานประจำปี 2552 ธนาคารกรุงเทพ

 

เป็นจังหวะต่อเนื่องกับกรณี Bangkok Bank Berhad ธนาคารท้องถิ่นในมาเลเซีย ซึ่งธนาคารกรุงเทพถือหุ้น 100% “ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ให้เปิดสาขาใหม่ 4 สาขา ในรัฐยะโฮร์ (Johor) 2 สาขา รัฐปีนัง (Penang) 1 สาขา และรัฐสลังงอร์ (Selangor) 1 สาขา” ข่าวความเคลื่อนไหวสำคัญธนาคารกรุงเทพอีกชิ้นหนึ่งในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน (20 เมษายน 2553) จนถึงปัจจุบันมีสาขาถึง 5 แห่งแล้ว ที่กัวลาลัมเปอร์ มัวร์ ยะโฮร์บาห์รู ปีนัง และสาขากลัง

อันที่จริงนอกจากกรณีใหญ่ๆ แผนการขยายเครือข่ายในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านคงดำเนินไปอย่างเอาการเอางานด้วย สาขากัมพูชา เปิดขึ้นครั้งแรกปี 2557

ในเมียนมา ธนาคารกรุงเทพในฐานะธนาคารไทยแห่งเดียวที่มีสำนักงานตัวแทนเมื่อราว 20 ปีก่อน ได้ยกระดับขึ้น สาขาธนาคาร ณ กรุงย่างกุ้ง (ปี 2558) ในช่วงเดียวกัน เครือข่ายสาขาในลาวเพิ่มจากเดิมที่เวียงจันทน์เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว มีอีกแห่งที่จำปาสัก (ปี 2559)

จะไม่เรียกธนาคารกรุงเทพว่าเป็นธนาคารภูมิภาคอย่างแท้จริงได้อย่างไร