สุรชาติ บำรุงสุข | กำแพงพัง สงครามจบ… แล้วสงครามก็หวนคืน!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สุดของการพังทลายของระเบียบโลกเก่าก็คือ การเปิดกำแพงเบอร์ลินในวันที่ 9 พฤศจิกายน [1989]… เมื่อกำแพงพังลง การแบ่งยุโรปตะวันตก-ตะวันออกก็จบลงด้วย”

Robert J. McMahon, 2003

ในวันที่ 30 เมษายน 1945 ฮิตเลอร์ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในบังเกอร์

และในวันที่ 2 พฤษภาคม เบอร์ลินก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพโซเวียต

ต่อมาอีกหกวัน สงครามในยุโรปจึงจบลง (The VE Day)

แต่มิได้หมายความว่าสงครามในเวทีโลกจะสิ้นสุดลงไปด้วย

หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยสงครามชุดใหม่

และปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามใหม่นี้มีจุดเริ่มต้นที่เยอรมนี และมีจุดเริ่มสำคัญที่เบอร์ลิน

อีก 44 ปีต่อมา เหตุการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลงจริงๆ ที่เยอรมนี และจบลงที่เบอร์ลินในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการเมืองยุโรปเท่านั้น เนื่องจากประเด็นการรวมชาติของเยอรมนีที่ตกค้างมาตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นประเด็นที่หลายคนแทบไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริงได้ในยุคสมัยของตน

และหากจะมีโอกาสเป็นจริงได้ก็คงจะต้องทอดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจของโลกจะเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 1989

เยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน หรืออีกนัยหนึ่งประเทศถูกควบคุมโดยรัฐมหาอำนาจผู้ชนะสงครามทั้งสี่ และประเทศอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตะวันออก

การแบ่งเช่นนี้เกิดในระดับย่อยลงมาถึงตัวเมืองหลวง

กล่าวคือ เบอร์ลินก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกนักที่ “ปัญหาเยอรมนี” จะเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองโลกในยุคนั้น

สงครามของอภิมหาอำนาจ

การแบ่งเยอรมนีหลังสงครามเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เบื้องต้น 3 ประการ คือ เพื่อดำเนินการปลดอาวุธของกองทัพเยอรมนี (Demilitarization) เพื่อทำลายอิทธิพลของนาซี (Denazification) และการดำเนินการในสองส่วนนี้สุดท้ายแล้วเป็นความหวังว่าจะก่อให้เกิดปัจจัยที่สามคือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization)

เพราะสำหรับรัฐมหาอำนาจตะวันตกแล้ว การฟื้นเยอรมนีให้เป็นประชาธิปไตยจะเป็นหนทางสำคัญที่จะไม่ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นภัยคุกคามทางทหารของยุโรปในอนาคต

ทั้งยังจะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (ได้แก่ ความช่วยเหลือตามแผนการมาร์แชล-The Marshal Plan) และใช้เศรษฐกิจแบบเสรีเป็นทิศทางของประเทศ

เยอรมนีอยู่ในสถานะ “รัฐผู้แพ้สงคราม” ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมหาอำนาจสี่ฝ่าย คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต

แต่หากแบ่งตามชุดของอุดมการณ์การเมืองแล้ว สามารถแยกเป็น 2 ค่ายทางการเมือง

คือ ฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตะวันออก

และการแบ่งโลกออกเป็นสองค่ายทางอุดมการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดรวมถึงการแข่งขันระหว่างสองค่ายเช่นนี้ ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญรองรับต่อการกำเนิดของ “ระเบียบใหม่” หลังสงคราม

แต่พฤติกรรมของรัฐมหาอำนาจในระเบียบใหม่นี้ถูกจำกัดจากการมีอาวุธนิวเคลียร์

กล่าวคือ สหรัฐมีอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1945 และสหภาพโซเวียตมีในปี 1949

ซึ่งการมีอาวุธนิวเคลียร์เช่นนี้ทำให้รัฐมหาอำนาจทั้งสองไม่สามารถทำสงครามระหว่างกันได้ในแบบของ “สงครามเบ็ดเสร็จ” เช่นในสงครามโลกทั้งสองครั้ง

เพราะหากสงครามระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นจริง การต่อสู้จะไม่ใช่เพียงสงครามโลกครั้งที่ 3 เท่านั้น หากแต่อาจจะกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์ล้างโลก” ได้ด้วย

สภาวะเช่นนี้มีนัยอีกว่าทั้งสองประเทศมีสถานะมากกว่ารัฐมหาอำนาจในแบบเดิม คือเป็น “อภิมหาอำนาจ”

การแข่งขันที่เกิดขึ้นระหว่าง “อภิมหาอำนาจนิวเคลียร์” (The Nuclear Superpowers) ส่งผลโดยตรงให้เกิดสภาวะในการเมืองระหว่างประเทศที่ถูกเรียกว่า “สงครามเย็น” (The Cold War) และสงครามนี้มีนัยหมายถึงความขัดแย้งระหว่างค่ายตะวันตก-ตะวันออก (The East-West Conflict)

ผลของการแข่งขันทางการเมืองดังกล่าวทำให้เยอรมนีถูกแยกเป็นเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก

ยิ่งกว่านั้น เบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงก็ถูกแบ่งออกเป็นเบอร์ลินตะวันตกและเบอร์ลินตะวันออก

การแบ่งเบอร์ลินและเยอรมนีออกเป็นสองส่วนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น (ไม่แตกต่างจากกรณีเกาหลีและเวียดนามในเอเชีย)

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกของสงครามเย็นที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วนระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกนั้น การแบ่งเมืองของเบอร์ลินมีนัยกับความเป็นไปของโลกในยุคสงครามเย็นอย่างมาก

จนอาจกล่าวได้ว่าเบอร์ลินเป็นทั้งภาพสะท้อนของปัญหา ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความขัดแย้งด้วย

หรืออาจเรียกสถานะของเบอร์ลินในทางภูมิรัฐศาสตร์ว่าเป็น “เมืองที่ถูกแบ่งแยกในประเทศที่ถูกแบ่งแยก” (divided city within a divided nation) และเป็นเมืองเดียวในเวทีโลกที่มีลักษณะทางการเมืองเช่นนี้

หรืออาจกล่าวได้ว่าเบอร์ลินคือ “อัตลักษณ์ของสงครามเย็น”…

คิดถึงสงครามเย็น ต้องคิดถึงเบอร์ลิน

จากวิกฤต…สู่วิกฤต

บททดสอบในช่วงต้นของสงครามเย็นเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 1948 เมื่อผู้นำโซเวียตตัดสินใจปิดล้อมเบอร์ลิน (The Berlin Blockade) ซึ่งถือเป็นการวัดขีดความสามารถของฝ่ายตะวันตกในการคุ้มครองทั้งเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมนีตะวันตก

การปิดล้อมยาวจนถึงเดือนพฤษภาคม 1949 ฝ่ายตะวันตกตอบโต้ด้วยการขนส่งทางอากาศตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เบอร์ลินถูกบีบ จนต้องยอมจำนน

การขนส่งนี้ (The Berlin Airlift) กลายเป็นทางออกที่ทำให้โซเวียตไม่ประสบความสําเร็จ และปฏิบัติการทางอากาศครั้งนี้ได้รับการยกย่องอย่างมากที่ทำให้เบอร์ลินตะวันตกอยู่รอดได้

ในขณะเดียวกันผลจากการแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วน ทำให้คนจากฝั่งตะวันออกตัดสินใจหนีออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก จนผู้นำโซเวียตตัดสินใจหยุดการหนีของผู้คนออกจากฝั่งตะวันออก โดยในวันที่ 13 สิงหาคม 1961 แนวลวดหนามจึงเริ่มถูกจัดวางเพื่อแบ่งเบอร์ลินระหว่างเขตของตะวันตกกับส่วนของโซเวียต

ต่อมาก็ปรับเป็นแท่งคอนกรีต และยกระดับขึ้นอีกเป็นแนวกำแพงที่แข็งแรง

การเริ่มสร้างแนวกีดขวางจนกลายเป็นกำแพงในปี 1961 ทำให้เบอร์ลินกลายเป็นจุดวิกฤตของโลกอีกครั้ง (The Berlin Crisis 1961)…

ปัญหาความขัดแย้งของโลกยังคงมีเบอร์ลินเป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ

ดังนั้น เพื่อยืนยันถึงพันธกรณีด้านความมั่นคงและแสดงให้เห็นถึงการให้ความสําคัญของผู้นำสหรัฐต่อปัญหาเยอรมนี ประธานาธิบดีเคนเนดี้จึงเดินทางเยือนเบอร์ลินในเดือนมิถุนายน 1963 และแสดงสุนทรพจน์ที่กำแพงเบอร์ลินท่ามกลางประชาชนชาวเยอรมันที่ให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก

เขากล่าวว่า “…ในฐานะเสรีชน ข้าพเจ้าภูมิใจในคำว่า ข้าพเจ้าเป็นชาวเบอร์ลิน (Ich bin ein Berliner)” แล้วคำพูดนี้ได้กลายเป็นวลีทองของยุคสงครามเย็นไปทันที และเป็นคำยืนยันว่าสหรัฐจะไม่ทิ้งเบอร์ลินที่กำลังถูกปิดด้วยกำแพง เสมือนกับการปิดล้อมเบอร์ลินอีกแบบ (หลังจากการปิดล้อมครั้งแรกในปี 1948)

กำแพงเบอร์ลินประสบความสำเร็จในการกีดขวางการหลบหนีของผู้คนออกจากฝั่งตะวันออกได้จริงอย่างที่ผู้นำโซเวียตคิด

แม้จะไม่สามารถปิดกั้นได้ทั้งหมดก็ตาม

แน่นอนว่ามีผู้ที่ตัดสินใจหลบหนีเพื่อแสวงหาเสรีภาพหลายคนที่ทิ้งชีวิตไว้ที่กำแพงนี้ ในปีแรกของการมีกำแพงนั้น มีผู้เสียชีวิตถูกยิงเสียชีวิตที่แนวกำแพงมากถึง 41 คน

และหากกล่าวด้วยสำนวนของนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิล ที่เปรียบเทียบการขยายอิทธิพลของโซเวียตในการควบคุมยุโรปตะวันออกในช่วงสงครามเย็นว่า เป็นดังการสร้าง “ม่านเหล็ก” (The Iron Curtain) เพื่อปิดไม่ให้คนหนีออกจากประเทศคอมมิวนิสต์

ฉะนั้น คงไม่ผิดนักในกรณีนี้ที่จะกล่าวว่า กำแพงเบอร์ลินจึงเป็นดัง “ม่านเหล็กที่แข็งแรงที่สุด” ในการปิดกั้นการหลบหนีดังกล่าว

ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจของเยอรมนีตะวันออกขยับตัวดีขึ้น การหลบหนีของผู้คนจึงเริ่มลดลง

เป็นที่ยอมรับกันว่าคุณภาพชีวิตในเบอร์ลินตะวันออกดีที่สุดในยุโรปตะวันออก ผู้นำโซเวียตจึงพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ อันจะเป็นปัจจัยที่ดึงผู้คนไม่ให้หนีออกจากประเทศ ผลจากสภาพเช่นนี้ทำให้ปัญหาเบอร์ลินค่อยๆ ลดความตึงเครียดลง

คงต้องยอมรับว่าการตัดสินใจเสี่ยงชีวิตหนีออกจากค่ายคอมมิวนิสต์ มิได้แต่แสวงหาเสรีภาพเท่านั้น

หากแต่มีนัยของการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในทางเศรษฐกิจด้วย

แต่กระนั้นกำแพงเบอร์ลินยังคงทำหน้าที่สำคัญในการแบ่งโลกเป็นสองส่วนไม่ต่างจากเดิม เช่นเดียวกับ “ม่านเหล็ก” ของโซเวียตที่โรยตัวปิดยุโรปตะวันออกไว้ก็ไม่เคยขยับขึ้น

จุดเปลี่ยน

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเริ่มปรากฏให้เห็นในโปแลนด์ เมื่อขบวนการโซลิดาริตี้ (The Solidarity Movement) ชนะการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 1989 และทำการจัดตั้งรัฐบาลในเดือนถัดมา

เป็นครั้งแรกที่เกิดรัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นรัฐบาลแรกของยุโรปตะวันออกที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

และในเหตุการณ์ครั้งนี้ โซเวียตไม่ได้ส่งกำลังรถถังเข้าปราบปรามเช่นกรณีในอดีตของโปแลนด์ ฮังการี และเชโกสโลวะเกีย…

หรือว่าทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าอำนาจของโซเวียตในยุโรปตะวันออกกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว

จนกระทั่งในที่สุดระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกเริ่มประสบความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจอย่างมาก และผู้คนเป็นจำนวนมากเริ่มหนีผ่านฮังการีและออสเตรียเพื่อมาหางานในเยอรมีนตะวันตกในตอนกลางปี 1989

สัญญาณนี้ถูกตีความทันทีว่า ม่านเหล็กที่โซเวียตควบคุมไว้อย่างเข้มงวดกำลังค่อยๆ เปิดออกแล้ว

และในเวลาต่อมาระบอบการปกครองของเยอรมนีตะวันออกก็เดินมาถึงจุดสุดท้าย และล้มลงในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989

อันนำไปสู่การผ่านแดนอย่างเสรีที่กำแพงเบอร์ลิน ขณะเดียวกันผู้นำเยอรมนีตะวันตกประกาศเรียกร้องให้มีการรวมชาติ แล้วโมเมนตัมของสถานการณ์ก็เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว…

ม่านเหล็กถูกทลายลงแล้วที่โปแลนด์ และพังทลายตามมาที่เยอรมนี จนถึงจุดนี้ กำแพงเบอร์ลินก็สิ้นสุดภารกิจไปทันที

เช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 1989 โลกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เมื่อจุดผ่านแดนที่กำแพงเบอร์ลินเปิดอย่างเสรีแล้ว

ชาวเยอรมันเดินข้ามโดยไม่มีการตรวจตรา และสำหรับคนจากฝั่งตะวันออกแล้ว พวกเขาข้ามแดนอย่างเสรีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทหารรักษาการณ์ยิงเสียชีวิตเช่นในอดีต…

ปัญหาเยอรมนีที่ตกค้างจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยการรวมชาติ

เช่นเดียวกับปัญหาของกำแพงเบอร์ลินก็จบลงด้วย

และผลตามมาที่ใหญ่กว่านั้นคือ สงครามเย็นก็จบตามไปด้วยเช่นกัน ในเดือนธันวาคม ผู้นำสองอภิมหาอำนาจประกาศการสิ้นสุดของสงครามนี้

และสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกประการในเดือนเดียวกันนี้คือ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกเดินทางเยือนเยอรมนีตะวันออก

ระเบียบใหม่?

การสิ้นสุดของสงครามเย็นทำให้โลกก้าวสู่ยุคใหม่ หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ยุคหลังสงครามเย็น” (The Post-Cold War Era) สำหรับบางคนแล้ว นี่คือการเริ่มต้นของ “ระเบียบโลกใหม่” (The New World Order) ที่เป็นความหวังว่าโลกจะมีสันติภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับที่หวังว่าสงครามจะจากหายไป

แต่ประวัติศาสตร์การเมืองโลกมีข้อเตือนใจเสมอว่า ระเบียบเก่าพาสงครามเก่าสิ้นสุดไปเช่นไร ระเบียบใหม่ก็พาสงครามใหม่มาเยือนเช่นนั้น

พร้อมกับนำสถานการณ์ชุดใหม่มาด้วย เช่น การล่มสลายของระบอบสังคมนิยมในโซเวียต

การปฏิวัติอย่างสันติและการสิ้นสุดของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

การแตกสลายของยูโกสลาเวียและตามมาด้วยปัญหาสงครามชาติพันธุ์

ในอีกซีกหนึ่งของโลกอิรักบุกยึดครองคูเวต และกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย

ในเวลาต่อมาสหรัฐเผชิญกับการก่อการร้ายใหญ่ในปี 2001 ตามมาด้วยสงครามอัฟกานิสถาน และต่อมาด้วยสงครามอิรัก

นอกจากนี้ โลกยังเผชิญกับการก่อการร้ายชุดใหม่ ที่ขยายตัวในส่วนต่างๆ ของโลกภายใต้ร่มธงดำของกลุ่มรัฐอิสลาม และขณะเดียวกันก็เห็นถึงสงครามกลางเมืองในซีเรียและเยเมน ในอีกด้านที่อาวุธนิวเคลียร์ลดความสำคัญลงหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น

แต่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังคงเป็นปัญหาสำคัญในเวทีโลก และในมุมที่แตกต่างกันกับการรวมชาติของเยอรมนีเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เส้นสงครามเย็นที่แบ่งคาบสมุทรเกาหลียังคงความแข็งแรงไม่ต่างจากอดีต

ทั้งหมดนี้คือระเบียบใหม่หลังสงครามเย็น อาจจะโหดร้ายและยุ่งยากมากกว่าที่เราคิด!