ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
วันก่อน
“รัก” ลูกสาวของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ส่งชุดหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพคุณวิชัยมาให้
อยากได้หนังสือมานานแล้ว
เขาแบ่งเป็น 3 เล่ม เล่มหนึ่ง เป็นบทสวดมนต์
เล่มที่สอง เป็นคำไว้อาลัยของบุคคลมากมาย
และเล่มที่ 3 InMemory of Vichai Srivaddhanaprabha
ผมเป็นคนชอบอ่านประวัติชีวิตบุคคล
เพราะชีวิตคนเหมือนนิยายเล่มหนึ่ง
แต่เป็น “นิยาย” ที่ “เล่นจริง-เจ็บจริง”
หนังสืองานศพเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมาก มักมีเรื่องราวที่เราไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองของคนใกล้ชิด
In Memory of Vichai Srivaddhanaprabha ก็เช่นกัน
ผมติดตามเส้นทางชีวิตและธุรกิจของคุณวิชัยมาพอสมควร
เคยอ่านบทสัมภาษณ์ในนิตยสารผู้หญิงเล่มหนึ่ง
น่าจะเป็นบทสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตของเขาที่ละเอียดที่สุด
ชอบมาก
ยังจำตอนที่ “วิชัย” ไปเจรจากับ “มาเฟีย” ที่ฮ่องกง ที่จะบีบให้เขาขายหุ้นในธุรกิจหนึ่ง
แต่ “วิชัย” ไม่ยอม
มาเฟียตบโต๊ะขู่ว่าอยากจะมีชีวิตออกจากห้องนี้หรือไม่
เขาบอกว่า “อยาก”
แต่ไม่ขายหุ้นให้
และบลั๊ฟฟ์กลับไปว่า เขาทำร้านค้าปลอดภาษีที่เมืองไทย มีรัฐบาลถือหุ้นด้วย
ก่อนมาที่นี่ได้แจ้งสถานทูตไทยไว้แล้ว
ถ้าภายใน 1 ชั่วโมงยังไม่โทร.กลับไป สถานทูตจะส่งตำรวจมา
ในที่สุด “มาเฟียฮ่องกง” ก็ต้องยอมเขา
ผมจำเรื่องนี้ได้แม่นมาก
และเนื้อหาส่วนนี้ก็อยู่ในหนังสือ “InMemory of Vichai Srivaddhanaprabha” ด้วย
หนังสือเล่มนี้บอกเล่าความเป็น “วิชัย” ได้ดีมาก
เพราะเป็นคนแบบนี้
เขาจึงประสบความสำเร็จ
“ความเด็ดขาด” เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายคนพูดถึง
“วิชัย” เป็นคนกล้าตัดสินใจ
“เวลาที่เขาตัดสินใจ คุณไม่ต้องย้อนมาดูเลยว่าเขาเสียใจหรือเปล่า เขาไม่มีวันเสียใจในสิ่งที่ทำเป็นอันขาด”
“จุลจิตต์ บุณยเกตุ” ที่ปรึกษากลุ่มคิงเพาเวอร์ ยืนยัน
เมื่อตัดสินใจไปแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
เช่นเดียวกับ “ต๊อบ” อัยยวัฒน์ ลูกชายที่รับหน้าที่เป็น “หัวเรือใหญ่” ของกลุ่มคิงเพาเวอร์ เล่าถึง “คำสอน” ของคุณพ่อ
“การตัดสินใจทุกครั้ง เราจะพลาดหรือไม่พลาด ไม่มีใครรู้”
แต่ “เราต้องทำให้สำเร็จ”
พูดง่ายๆ คือ ตัดสินใจไปแล้วก็ลุยให้เต็มที่
อย่าคิดว่าไม่สำเร็จ
ให้คิดว่า “ต้องสำเร็จ”
เขาจะสอนให้ลูกให้เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาว
“รัก” วรมาศ บอกว่า ครั้งหนึ่งมีปัญหาจะไปปรึกษาคุณพ่อ
พอเล่าปัญหาแล้วเริ่มมีน้ำตาคลอ
“วิชัย” พูดประโยคแรกเลย
“รัก ใครสอนให้เป็นคนแบบนี้”
นี่คือวิธีการสอนลูกแบบ “วิชัย”
“ปรัชญาธุรกิจ” ของเขาก็น่าสนใจ
คุณเอมอร ภรรยาคุณวิชัย บอกว่า คำหนึ่งที่เขาจะพูดเป็นประจำ
คือ “ถ้ามันยังไม่ได้มาอยู่ในมือ มันก็ยังไม่ใช่ของเรา”
เหมือนจะบอกว่าอย่าเพิ่งดีใจเร็วเกินไป
อย่าคาดหวังมากเกินไป
เพราะความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน
ตราบใดถ้าสิ่งนั้นยังไม่อยู่ในการครอบครองของเรา
ให้คิดไว้เลยว่ามันยังไม่ใช่ของเรา
เช่นเดียวกับเรื่อง “ความสำเร็จ”
เขาคิดเหมือนคุณธนินท์ เจียรวนนท์
“ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”
“วิชัย” มีคาถาประจำตัว คือ “จะเอายังไงต่อ”
“ต๊อบ” เล่าว่าตอนทีทีมม้าแข่งของเขาชนะ
ในขณะที่ทุกคนกำลังดีใจ
“วิชัย” หันมาถามทีมงาน
“จะเอายังไงต่อ”
หรือตอน “เลสเตอร์” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก
เขาถาม “ต๊อบ” ตั้งแต่ยังไม่รับถ้วย
“แล้วจะเอายังไงต่อ”
“วิชัย” มองว่า ถ้าเราดีใจแล้วหยุด เราจะแพ้ทันที
ต้องทำให้ลูกและคนทำงานรู้ว่ายังพอไม่ได้
ต้องเดินหน้าต่อ
เรื่อง “ความกตัญญู” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกสะดุดมาก
เพราะในหนังสือ คนใกล้ชิดทุกคนจะพูดถึงเรื่องนี้มาก
นึกถึงตอนที่ทำหนังสือครบรอบ 100 ปี SCG
เวลาถามผู้บริหารของ SCG เรื่องหลักคิดการทำงาน
เชื่อไหมครับว่า แทบทุกคนพูดถึงปรัชญา “อุดมการณ์ 4” ของ SCG
– ตั้งมั่นในความเป็นธรรม
– มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ
– เชื่อมั่นในคุณค่าของคน
– ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม
ไม่น่าเชื่อ…
เช่นเดียวกับคนใกล้ชิดของคุณวิชัย จะพูดถึงเรื่อง “ความกตัญญู” ที่เขาทั้งสอนและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
“รากฐานความสำเร็จทั้งหมดของคุณวิชัยมาจากความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ใครช่วยเหลือเขา ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เขาจะตอบแทนดูแลอย่างสุดความสามารถจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน”
คุณเอมอรสรุปอย่างมั่นใจ
และมีหลายคนยืนยันเรื่องการดูแลผู้มีพระคุณแบบเหนือความคาดหมายของ “วิชัย”
“ต๊อบ” เล่าว่า คุณพ่อจะสอนเรื่องความกตัญญูตลอด
“ใครมีบุญคุณห้ามทิ้ง”
ตอนเป็นเด็ก “ต๊อบ” ถามคุณพ่อว่าคนนี้คือใคร ทำอะไร
คุณพ่อจะบอกว่า เขาเคยช่วยเราแบบนี้ๆ
“เราต้องดูแลเขาขนาดนี้เลยหรือ” ต๊อบถาม
“ก็เขาเคยดูแลป๊ามา”
สั้นๆ ง่ายๆ
และทำต่อไปเรื่อยๆ
แต่เรื่องที่ผมชอบที่สุด คือ เรื่องนี้ครับ
เรื่องขนาดของ “ใจ”
“วิชัย” เป็น “คนใจใหญ่” มาตั้งแต่เด็ก
ไปเรียนไต้หวันตั้งแต่อายุ 11 ขวบ
ได้เงินไปเรียนที่ไต้หวัน สัปดาห์ละ 50 เหรียญ
เขาเลี้ยงเพื่อนหมด
บางสัปดาห์ 50 เหรียญใช้แค่วันเดียว
“อย่าถามว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร เอ็นจอยวันนี้ก่อน”
“วิชัย” จึงเป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อน
“เพราะผมแชร์ความสุข”
วิธีคิดเช่นนี้อยู่ในตัว “วิชัย” จนถึงวันสิ้นลมหายใจ
ในคำไว้อาลัยของ “ต๊อบ” อัยยวัฒน์
เขาเคยถามพ่อว่า “ความสุขคืออะไร”
“วิชัย” ตอบสั้นๆ
“ทำให้คนรอบข้างมีความสุข”
ปรัชญาความคิดเช่นนี้เองทำให้ตอนที่เขาไปบริหารทีมเลสเตอร์ ซิตี้
“วิชัย” จึงกลายเป็น “ที่รัก” ของชาวเมือง
ไม่ใช่แค่เพราะเขานำ “เลสเตอร์” ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก
แต่ “วิชัย” ทำแบบที่เขาเคยทำมาตั้งแต่เด็ก
เลี้ยงเบียร์ เลี้ยงโดนัท แฟนบอล
มีรถฟรีพอไปเชียร์ตอนเป็นทีมเยือน
บริจาคเงินช่วยโรงเรียน โรงพยาบาล
…ทำให้คนรอบข้างมีความสุข
นั่นคือ “ความสุข” ของ “วิชัย”