ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงเต็มไปด้วยวัด?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดในเขตเมืองเก่าของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันกระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา เอาไว้ทั้งหมด 365 วัด (ผมไม่แน่ใจว่า กรมศิลปากรเคยรวบรวมและเผยแพร่จำนวนตัวเลขนี้ไว้หรือเปล่า? เพราะตัวเลขทั้งหมดที่ว่านี้ ผมรวบรวมขึ้นเองจากทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรเท่าที่มีการเผยแพร่ ดังนั้น ตัวเลขนี้จึงอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่จำนวนของวัดโบราณย่อมไม่น้อยกว่านี้แน่)

ในจำนวนนี้มีทั้งที่เป็นวัดร้าง และวัดที่ยังถูกใช้งานเป็นศาสนสถานอยู่ในปัจจุบัน

โดยหากจะนับเฉพาะวัดที่พบอยู่ในเขตเกาะเมืองอยุธยานั้น ก็มีมากถึง 106 วัด เลยทีเดียว (ผมได้นับรวมเอาซากโบราณสถานประเภทที่โดยทั่วไปแล้ว เป็นสิ่งปลูกสร้างในวัด เช่น เจดีย์ หรือวิหาร ที่กรมศิลปากรไม่ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้ในชื่อของวัดด้วย)

แน่นอนว่า ยังมีวัดอีกมากมายหลายแห่งที่สูญหายไปตามกาลเวลา ก่อนที่กรมศิลปากรจะไปขึ้นทะเบียนเอาไว้

ดังนั้น ในยุคที่กรุงศรีอยุธยายังคงรุ่งเรืองอยู่นั้น ก็ย่อมมีวัดในพระบวรพุทธศาสนามากกว่านี้แน่

เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของพื้นที่ ซึ่งอาจจะคำนวณขนาดพื้นที่ของศูนย์กลาง และเขตปริมณฑลของกรุงศรีอยุธยาในยุครุ่งเรืองอย่างคร่าวๆ ได้จากขนาดของ อำเภอพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบันคือ 130.6 ตารางกิโลเมตร

เท่ากับว่าในแต่ละตารางกิโลเมตรจะมีวัดอยู่ 2.794 แห่ง หรือเกือบๆ 3 วัดในทุกตารางกิโลเมตร

ซึ่งก็นับเป็นจำนวนอันมากมายอย่างไม่ต้องสงสัย

และยิ่งเมื่อนับเฉพาะเขตพื้นที่เกาะเมือง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทั้งอำนาจ และวัฒนธรรมความเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 7.68 ตารางกิโลเมตรแล้ว ก็จะพบว่ามีวัดอยู่ถึง 13.802 แห่ง หรือเกือบ 14 วัดในทุกๆ ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว

จำนวนอันมากมาย และความแออัดของวัดในกรุงศรีอยุธยา จึงมักจะถูกอธิบายถึงในแง่ของความเจริญรุ่งเรืองของอยุธยาในอดีต จนได้กลายเป็นสิ่งที่คนไทย และคนอยุธยาภาคภูมิใจถึงความรุ่งเรืองในอดีต

แต่ความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตดังกล่าวนี้ ทำไมจึงต้องแสดงออกผ่านการสร้างวัด? ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจะเป็นเหตุผลเดียวในการสร้างวัดจริงๆ หรือ? และทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงมีวัดเป็นจำนวนมากมายขนาดนี้?

 

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2223 ตรงกับสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีข้อความกล่าวถึงการสร้างวัดราชบูรณะ โดยระบุเอาไว้ว่า

“(จุล) ศักราช 776 มะโรงศก (พ.ศ.1967) สมเด็จพระอินทราชาเจ้าทรง (ประ) ชวร นฤพาน ครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระญาและเจ้ายี่พระญา พระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สพานป่าถ่าน เถิงพิราไลยทั้ง 2 พระองค์ที่นั่น จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระญา ได้เสวยราชสมบัติพระนครอยุ (ธยา ทรงพระ) นามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์ สวมที่เจ้าพระญาอ้ายและเจ้าพระญาญี่ชนช้างด้วยกัน เถิง (อนิจ) ภาพตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้นสถาปนาวัดราชบุรณ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ข้อความในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ทำให้ทราบว่า คติการสร้างเจดีย์ในสมัยอยุธยา ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะศรัทธาเนื่องในพระศาสนาเท่านั้นนะครับ

เพราะยังสร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย

ในกรณีนี้คือพระเชษฐาทั้งสองของพระองค์คือ เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา ที่ทำยุทธหัตถีกันจนสิ้นพระชนม์ไปทั้งคู่

ในขณะที่วัดราชบูรณะเองก็ตั้งอยู่ที่ข้างสะพานป่าถ่าน การที่พระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) สร้างวัดหลวงแห่งนี้ขึ้น ในปีเดียวกับที่พระราชบิดาของพระองค์คือ สมเด็จพระนครินทราชาเสด็จสวรรคต พร้อมกับเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงมีความหมายเชิงนัยยะที่มากไปกว่าการสร้างขึ้นเพราะศรัทธาในพระศาสนา

ภายในพระปรางค์อันเป็นเจดีย์ประธานของวัดราชบูรณะ มีกรุรวมทั้งสิ้นสามชั้นอยู่ภายใน กรุเหล่านี้ถูกทำขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยกรุชั้นบนสุดมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง รูปชนต่างชาติทำทีท่ามานมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยแต่เดิมลานที่กลางกรุมีการประดิษฐานพระพุทธรูปเอาไว้ด้วย

กรุชั้นกลางก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเช่นกัน ซ้ำยังเขียนขึ้นอย่างมี แต่ที่พิเศษคือมีการฝังเอาเครื่องราชูปโภคต่างๆ ที่ทำขึ้นจากทองคำ ประดับด้วยอัญมณี จัดเรียงไว้ภายในอย่างเป็นระบบ โดยทั้งหมดนั้นตั้งอยู่รอบพระปรางค์ทองคำจำลอง ที่ประดิษฐานอยู่ตรงกลางของกรุชั้นนี้อีกทอดหนึ่ง

ส่วนกรุชั้นล่างสุดนั้นถึงแม้จะไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่ก็ได้ประดิษฐานเจดีย์ทองคำจำลององค์ย่อม ที่มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายใน

พร้อมกับที่ได้โรยแผ่นโลหะทั้งเนื้อชิน และสำริด ดุนเป็นรูปพระพุทธเจ้า หรือรูปอื่นๆ นับพันนับหมื่นชิ้นไว้ที่พื้นของกรุ

ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสลักสำคัญของวัดราชบูรณะเป็นอย่างยิ่ง

แต่ถึงแม้ว่ากรุทั้งสามชั้นจะถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตร แต่กลับถูกปิดตายไม่ให้ใครสามารถเข้าไปได้

การสร้างกรุทั้งสามชั้นไว้ภายในจึงเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง โดยเมื่อพิจารณาจากปีที่สร้างอันเป็นปีที่สมเด็จพระนครินทราชาสวรรคต และสมเด็จเจ้าสามพระยา เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ชวนให้เชื่อได้ว่า เกี่ยวข้องกับคติการกลับไปรวมเข้ากับเทพเจ้าหลังความตาย ที่มีมาก่อนในการสร้างปราสาทของกัมพูชา

ดังจะสังเกตได้ว่าเจดีย์ประธานที่วัดราชบูรณะก็เป็นพระปรางค์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมขอม

โดยอาจปรับเปลี่ยนมาเป็นคติพระจักรพรรดิราชคือ พระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือพระราชาทั้งหลายในสากลโลก ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา จึงได้พบเครื่องราชูปโภคจำนวนมากอยู่ในกรุชั้นกลาง

ยังมีตัวอย่างที่สำคัญอีกกรณีหนึ่งคือ วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังของกรุงศรีอยุธยา เช่นเกียวกับที่กรุงรัตนโกสินทร์มีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกต

วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จึงมีเฉพาะส่วนที่เป็นเขตพุทธาวาส โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีที่สำคัญต่างๆ ของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

ดังนั้น วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมสำคัญของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

เหตุผลในการสร้างวัดเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกมาก

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารมักจะให้รายละเอียดไว้เฉพาะเรื่องการสถาปนา “วัดหลวง” คือวัดที่สร้างโดยราชสำนักของกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะวัดที่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสถาปนาขึ้น จึงไม่ค่อยมีประวัติของวัดราษฎร์ ซึ่งหมายถึงวัดที่ผู้ดี ข้าราชบริพาร หรือเศรษฐี เป็นผู้สร้าง ซึ่งมีอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากยิ่งกว่าวัดหลวงเสียด้วยซ้ำ

อีกหนึ่งหลักฐานที่น่าสนใจ ปรากฏอยู่ใน นิราศทวารวดี ของหลวงจักรปราณี (ฤกษ์) กวีสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงกรุงเก่า เมื่อเห็นซากวัดวาอารามจำนวนมากก็พรรณนาตามคำบอกเล่าที่เคยได้ยินมาว่า

 

“ดูวัดวาอารามงามสล้าง บ้างรกร้างโรยราน่าใจหาย

เมื่อครั้งกรุงยังสนุกสุขสบาย ได้ยินฝ่ายผู้เฒ่าท่านเล่ามา

ว่าเศรษฐีมีทรัพย์ไม่นับได้ สร้างวัดไว้ให้ลูกรักนั้นหนักหนา

ถ้าบุตรใครไม่มีซึ่งวัดวา ไปเล่นอารามเขาเศร้าฤทัย

เจ้าของเขาเฝ้าเปรยเยาะเย้ยหยอก กลับมาบอกบิดาน้ำตาไหล

พ่อก็สร้างอารามให้ตามใจ วัดจึงได้เกลื่อนกลาดดูดาษตา”

 

หากจะเชื่อตามข้อมูลในนิราศทวารวดีแล้ว นอกจากจุดประสงค์อื่นๆ จำพวกพิธีกรรมต่างๆ การสร้างวัดก็คือการแสดงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนในสมัยอยุธยา และเมื่อประกอบเข้ากับเหตุผลอื่นๆ อีกนานัปการ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยานั้นกลายเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยวัดนั่นเอง