หนุ่มเมืองจันท์ | ปรัชญา “มะพร้าว”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันที่สัมภาษณ์คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ในงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว”

มีคำถามหนึ่งที่ตั้งใจถามคุณธนินท์ คือ เรื่องการตัดสินไม่ลงทุนใน “อาลีบาบา”

แต่ลงทุนใน “เซเว่น-อีเลฟเว่น”

เพราะคุณธนินท์คุยกับ “แจ๊ก หม่า” ตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้น “อาลีบาบา”

คุยกี่ครั้ง คุณธนินท์ก็ไม่สนใจ

ไม่เคยเอ่ยปากจะลงทุนเลย

ถามว่าทำไมไม่สนใจ

คำตอบก็คือ เขาไม่เห็น “โอกาส”

มองไม่ออกว่าธุรกิจแบบนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร

เพราะตอนนั้นก้อน “ความฝัน” ของ “แจ๊ก หม่า” ยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจน

คุณธนินท์จินตนาการแล้วมองไม่เห็นภาพของธุรกิจ

ไม่เห็น “โอกาส” การทำกำไร

ไม่เหมือนกับ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ที่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว

นั่นคือ “ความแตกต่าง” ที่ทำให้คุณธนินท์ไม่สนใจ “อาลีบาบา”

ไม่เหมือนกับ “มาซาโยชิ ซัน” ของ “ซอฟต์แบงก์”

เขาเป็นนักลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพรายใหญ่ของโลก

“ซัน” ถือหุ้นใน “อาลีบาบา” ถึง 30%

ในขณะที่” แจ๊ก หม่า” ถือแค่ 7%

ตอนที่ “แจ๊ก หม่า” มาเสนอโครงการให้ “ซัน”

เขาไม่มีพรีเซ็นเตชั่นอะไรเลย

มีแค่การวาดภาพด้วยคำพูด

แต่ “ซัน” มองเห็นภาพและ “โอกาส” ทางธุรกิจ

ที่สำคัญเขาตัดสินใจด้วย “สัญชาตญาณ”

“I don”t think, I feel it.”

“ซัน” เชื่อมั่นใน “แจ๊ก หม่า”

เขาจึงตัดสินใจลงทุนใน “อาลีบาบา”

และถือว่าเป็นการลงทุนที่ถูกต้องครั้งหนึ่ง

ของ “มาซาโยชิ ซัน”

หลังจากนั้น “มาซาโยชิ ซัน” และ “ซอฟต์แบงก์” ก็ลงทุนในสตาร์ตอัพหลายราย

เรื่องนี้อธิบายไม่ยาก

นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ทุกคนมักจะมี “ท่าไม้ตาย” ประจำตัว

เคยทำสำเร็จด้วยวิธีการใด

เขาก็จะใช้กระบวนท่านั้นเสมอ

ด้วยความเชื่อว่าถ้าใช้ “ท่าไม้ตาย” ท่านี้ เราจะชนะเหมือนครั้งก่อน

“ซอฟต์แบงก์” จึงลงทุนในสตาร์ตอัพดังๆ หลายแห่ง

เขาหวังว่าจะประสบความสำเร็จเหมือน “อาลีบาบา”

แต่ปรากฏว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพดังๆ ไม่เป็นไปตามคาด

“สัญชาตญาณ” ของ “มาซาโยชิ ซัน” เริ่มมีปัญหา

“อูเบอร์” และ “วีเวิร์ก” บริษัทให้บริการโค-เวิร์กกิ้งสเปซ รายใหญ่ของโลก ผลประกอบการยังไม่มีกำไร

ยัง “เผาเงิน” และขาดทุนไปเรื่อยๆ

“แกร็บ” ก็เช่นกัน

ผลประกอบล่าสุดที่ออกมา ช่วงครึ่งปีแรก “ซอฟต์แบงก์” ขาดทุนถึง 1.555 หมื่นล้านเยน

หรือประมาณ 4,400 ล้านบาท

“ราจีฟ มิสรา” ผู้บริหารกองทุน “วิชั่น ฟันด์” ของ “ซอฟต์แบงก์” บอกเลยว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพต่อจากนี้ไป

เขาจะมองเรื่อง “ความสามารถในการทำกำไร” เป็นหลัก

“คุณต้องมีธุรกิจที่สมเหตุสมผล”

และ “การพูดเพียงแค่ว่า เรากำลังดิสรัปต์อุตสาหกรรมที่มีโมเดลธุรกิจแย่ๆ แค่นี้จะไม่เพียงพออีกต่อไป”

นี่คือ การเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองของธุรกิจสตาร์อัพ

เพราะที่ผ่านมา “โมเดล” การทำธุรกิจแบบ “สตาร์ตอัพ” คงทำให้นักธุรกิจรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์มายาวนานสับสน

หลักคิดของ “สตาร์ตอัพ” ไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเรียนรู้มาตลอดชีวิต

นั่นคือ ทำธุรกิจต้องมี “กำไร”

ผมนึกถึงคำพูดของ “พี่ช้าง” ขรรค์ชัย บุนปาน

“ปลูกมะพร้าว ต้องออกผลเป็นมะพร้าว”

ฟังเป็นปรัชญาน่าดูเลย

แต่ผมจำประโยคนี้ได้แม่นยำ

ตอน “แชร์แม่มณี” ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนกับ “ลูกแชร์” 93%

ฝาก 100 จ่ายดอก 93

นึกถึงประโยคนี้ขึ้นมาเลย

เพราะมันเกินจริง

ปลูก “มะพร้าว” ได้ผลเป็น “ทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์”

หลักการทำธุรกิจพื้นฐาน ก็คือ ลงทุนไป มีรายได้จากการขาย

“รายได้” ต้องมากกว่า “ต้นทุน”

บริษัทจึงจะมีกำไร และไปต่อได้

ขาดทุนได้บ้าง แต่ต้องไม่เยอะนัก

และไม่นานนัก

ทำธุรกิจแล้วขาดทุนมหาศาลต่อเนื่องยาวนาน

ไม่ตรงกับปรัชญา “สวนมะพร้าว”

นักลงทุนสตาร์ตอัพนั้นจะมุ่งหา “จุดอ่อน” ของธุรกิจดั้งเดิม

ใช้เทคโนโลยีและระบบคิดใหม่ “ดิสรัปต์” ธุรกิจเดิม

“เงินทุน” มาจากการระดมทุน

เขาจะไปนำเสนอโมเดลธุรกิจจาก “นักลงทุน” รายใหญ่

แล้วเอาเงินนั้นมา “เผา”

เพื่อสร้าง “ตลาด”

สนใจ “ตลาด” มากกว่า “ผลกำไร”

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ “แกร็บ” ในเมืองไทย

ลองดูผลประกอบการ 3 ปีของเขา

ปี 2559 รายได้รวม 104,131,569 ขาดทุน -516,139,966 บาท

ปี 2560 รายได้รวม 508,510,201 ขาดทุน -985,334,149 บาท

ปี 2561 รายได้รวม 1,159,233,358 ขาดทุน -711,561,304 บาท

นักธุรกิจรุ่นเก่าเห็นตัวเลขแล้วเป็นลมแน่นอน

3 ปี ขาดทุน 2,200 ล้านบาท

วิธีคิดของ “สตาร์ตอัพ” คือ สนใจสร้าง “ตลาด” ก่อน

ครองตลาดได้แล้ว ค่อยเริ่มทำกำไร

“สตาร์ตอัพ” จะไม่ยึดติดความเป็นเจ้าของ เป็นนักธุรกิจรุ่นเก่า

เขาพร้อมจะออกจากธุรกิจด้วยการขายหุ้น

หรือนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

นั่นคือ ช่องทางออกของการทำสตาร์ตอัพ

และไม่ต้องรอให้มีกำไรด้วย

ขอให้นักลงทุนรายใหญ่เชื่อ หรืออยากได้ “ตลาด” ที่เขาสร้างไว้ไปทำกำไรต่อ

แค่นั้นเขาก็ขายธุรกิจได้

เหมือน “ลาซาด้า” ที่ขายให้กับ “อาลีบาบา”

หรือกลุ่มเซ็นทรัล และธนาคารกสิกรไทย ลงทุนใน “แกร็บ”

“เจ้าของ” ทำกำไรมโหฬาร

ทั้งที่บริษัทขาดทุนมโหฬารกว่า

เพราะนักลงทุนรายใหญ่ “เชื่อ” ว่าโครงการนี้จะทำกำไรได้ในอนาคต

“เรย์ ดาลิโอ” ผู้บริหารบริษัท BridgewaterAssociates เฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่สุดในโลกเพิ่งเขียนบทความเขย่าโลกชิ้นหนึ่ง

เขาบอกว่าระบบการเงินของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เหตุผลข้อหนึ่ง คือ เงินกำลังเป็น “ของฟรี” สำหรับคนที่มีเครดิตดี

หรือพูดง่ายๆ คือ มหาเศรษฐี

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำเตี้ยดิน ทำให้แบงก์ปล่อยกู้ให้กับมหาเศรษฐี

ไม่แปลกที่นักลงทุนพร้อมจะ “เสี่ยง”

เพราะเงินในมือที่แบงก์ยอมปล่อยกู้ให้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ เยอะมาก

“เรย์ ดาลิโอ” บอกว่านักลงทุนที่มีเงินล้น กำลังหลงใหลไปกับ “สตาร์ตอัพ”

และเรื่องราวการเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยี

“บริษัทเหล่านี้ไม่มีแม้แต่แผนธุรกิจหรือความสามารถทำกำไร”

เขามีอย่างเดียวคือ “ขายความฝัน”

ครับ เป็นข้อกล่าวหาที่แรงมาก

สัปดาห์ที่แล้วเจอทั้งความเห็นของผู้บริหาร “ซอฟต์แบงก์” และผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก

ผมรู้สึกเหมือนว่า “เข็มทิศความเชื่อ” เรื่อง “สตาร์ตอัพ” ของนักลงทุนขนาดใหญ่กำลังจะเปลี่ยนไป

น่าสนใจและน่าติดตามจริงๆ

… “น้ำมะพร้าว” แก้วหนึ่ง