การศึกษา / เปิด…เบี้ยประกันเงินกู้ ช.พ.ค. แพงเว่อร์จริง หรือครูคิดกันไปเอง??

การศึกษา

 

เปิด…เบี้ยประกันเงินกู้ ช.พ.ค.

แพงเว่อร์จริง หรือครูคิดกันไปเอง??

 

เป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ สำหรับ “หนี้ครู” หลังเกิดกรณีกลุ่มครูยุติธรรมภิวัฒน์นครราชสีมา ออกมาเคลื่อนไหวให้ความรู้แก่ครูที่ต้องการฟ้องศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบทั้ง 9 และศาลคุ้มครองผู้บริโภค

โดยกล่าวหาว่าธนาคารออมสินคิดอัตรา “ดอกเบี้ย” ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ กรณีการจ่าย “เบี้ยประกันสินเชื่อ” ของครูที่กู้เงินในโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) กับทางบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระยะเวลา 9 ปี โดยอ้างว่าทิพยฯ จ่ายเบี้ยประกันเป็นรายปี ทำให้ดอกเบี้ยส่วนต่างที่เกิดขึ้น ต้องเป็นดอกเบี้ยของครู

อีกทั้งเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไป ซึ่งเดิมครูเข้าใจว่าเป็นเงินประกันชีวิต แต่เพิ่งรู้ว่าเป็นเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ที่จะไม่ได้เงินคืนเมื่อครบกำหนด ซึ่งไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

จึงเตรียมยื่นฟ้องสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ทิพยฯ และธนาคารออมสิน ต่อศาล กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องดอกเบี้ย และเงินประกันภัย

ซึ่งนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ในขณะนั้น ระบุว่าเป็นสิทธิที่ครูจะฟ้องร้องในประเด็นต่างๆ โดย สกสค.พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก และตอบข้อสงสัย

เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน!!

 

ล่าสุด ทางผู้แทนสมาคมผู้อำนวยการ สกสค. ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ขอให้ “ทบทวน” การต่ออายุกรมธรรม์ประกันสินเชื่อในโครงการ ช.พ.ค.กับทิพยฯ

เนื่องจากอายุกรมธรรม์ประกันสินเชื่อของครูผู้กู้โครงการ ช.พ.ค.หมดอายุลง และต้องต่ออายุกรมธรรม์ประกันสินเชื่ออีก 1 ปี ระหว่างที่รอ สกสค.หาบริษัทประกันรายใหม่แทนทิพยฯ

แต่ทิพยฯ กลับปรับราคาเบี้ยประกันสูงขึ้น

สร้างความ “ไม่พอใจ” ให้แก่ครู

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้มอบให้นายดิศกุลเร่งศึกษาปัญหาและแก้ไข

ทั้งเรื่องหนี้สินครู และการจัดเก็บเบี้ยประกันภัย

ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ โดยอ้างว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นข้อตกลงที่มาก่อนเข้ารับหน้าที่เลขาธิการ สกสค.

เบื้องต้นนายดิศกุลระบุว่า ได้รับการอธิบายว่า ในอดีตมีครูจำนวนมากทำประกันภัยเงินกู้ ทิพยฯ จึงคิดเบี้ยประกันสินเชื่อไม่แพง แต่ปัจจุบันมีจำนวนครูที่ทำประกันภัยลดน้อยลง การเก็บเบี้ยประกันจึงเพิ่มขึ้น

แต่ยังไม่มีใครยืนยันว่าข้อมูลนี้ “จริง” หรือ “ไม่จริง”

หรือบรรดา “แม่พิมพ์” คิดกันไปเอง…

โดยอัตราเบี้ยประกันภัยใหม่ที่ทิพยฯ เรียกเก็บล่าสุดคือ ผู้เอาประกันภัยที่อายุไม่เกิน 65 ปี มีอัตราเบี้ยประกัน จากเดิม 0.62% เป็น 0.84% ส่วนผู้กู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65-74 ปี คิดเพิ่มจาก 0.62% เป็น 1.176%

แต่ยังไม่รวมค่าอากรแสตมป์อีก 0.4% ที่ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเอง!!

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เกี่ยวกับอัตราค่าเบี้ยประกันที่สมาชิก ช.พ.ค.ที่กู้เงิน ช.พ.ค.โครงการ 6-7 และมีอายุไม่เกิน 65 ปี จำนวน 295,220 คน มีดังนี้

สำหรับสมาชิก ช.พ.ค.ที่อายุไม่เกิน 65 ปี ทุนประกัน 100,000 บาท ค่าเบี้ยประกันเดิมไม่กำหนดอายุ (0.62%) 620 บาท ค่าเบี้ยประกันใหม่ (0.84%) 840 บาท ค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น (35.48%) เท่ากับ 220 บาท, ทุนประกัน 600,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 3,720 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 5,040 บาท เพิ่มขึ้น 1,320 บาท

ทุนประกัน 1,200,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 7,440 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 10,080 บาท เพิ่มขึ้น 2,640 บาท, ทุนประกัน 1,800,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 11,160 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 15,120 บาท เพิ่มขึ้น 3,960 บาท, ทุนประกัน 2,400,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 14,880 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 20,160 บาท เพิ่มขึ้น 5,280 บาท

และทุนประกัน 3,000,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 18,600 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 25,200 บาท เพิ่มขึ้น 6,600 บาท…

ส่วนอัตราค่าเบี้ยประกันที่สมาชิก ช.พ.ค.ที่กู้เงิน ช.พ.ค.โครงการ 6-7 และมีอายุเกิน 65-74 ปี จำนวน 39,961 คน มีดังนี้

ทุนประกัน 100,000 บาท ค่าเบี้ยประกันเดิมไม่กำหนดอายุ (0.62%) 620 บาท ค่าเบี้ยประกันใหม่ (1.176%) 1,176 บาท ค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น (89.68%) เท่ากับ 556 บาท, ทุนประกัน 600,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 3,720 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 7,056 บาท เพิ่มขึ้น 3,336 บาท

ทุนประกัน 1,200,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 7,440 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 14,112 บาท เพิ่มขึ้น 6,672 บาท, ทุนประกัน 1,800,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 11,160 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 21,168 บาท เพิ่มขึ้น 10,008 บาท, ทุนประกัน 2,400,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 14,880 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 28,224 บาท เพิ่มขึ้น 13,344 บาท

และทุนประกัน 3,000,000 บาท ค่าเบี้ยเดิม 18,600 บาท ค่าเบี้ยใหม่ 35,280 บาท เพิ่มขึ้น 16,680 บาท!!

 

ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยฯ นายสมพร สืบถวิลกุล กล่าวว่า หลักการเดิมของโครงการพัฒนาชีวิตครู ให้รวมหนี้ในและนอกระบบทั้งหมดของผู้กู้มาไว้ที่ธนาคารออมสิน โดยครูจะรวมกลุ่ม 5-10 คน เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน หากเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันในกลุ่มจะต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือแทน ทำให้หาคนค้ำประกันได้ยาก

จึงเรียกร้องให้ทำประกันสินเชื่อ…

โดยโครงการ ช.พ.ค.ได้เพิ่ม “ทางเลือก” เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูง แต่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกันได้ บริษัทจึงได้เสนอกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยแบบความคุ้มครองทุนประกันเต็มวงเงินกู้ แบบทุนประกันคงที่ เพื่อลดความเสี่ยงทุนประกัน โดยบริษัทจะเป็นผู้ชำระคืนเงินกู้ที่เหลือแก่ธนาคารออมสินเต็มจำนวน เมื่อเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต แต่หากไม่ทำประกัน ก็หาครูมาค้ำประกันแทนได้

โดยมีผู้กู้เพียง 6% ที่ไม่เลือกทำประกัน

อีกทั้งบริษัทได้ผ่อนคลายข้อกำหนดให้สมาชิกเยอะมาก โดยเก็บเบี้ยประกันอัตราเดียวสำหรับทุกเพศ ทุกช่วงอายุ ที่ 620 บาทต่อปีต่อทุนประกัน 100,000 บาท ซึ่งคำนวณจากจำนวนเงินกู้ โดยได้ให้ส่วนลด และต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 15% แถมกรมธรรม์ยังให้ความคุ้มครองภัยจากอุบัติเหตุและสุขภาพ รวมทั้งการเจ็บป่วยจากภาวะโรคร้ายแรง อาทิ ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะโคม่า ภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ภาวะสมองตาย และระบบประสาทล้มเหลวด้วย

ส่วนการจัดเก็บเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปีนั้น ผู้เอาประกันภัยได้รับ “ส่วนลด” สำหรับการทำประกัน “ระยะยาว” ตั้งแต่แรก คิดเป็นราคาเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย

แต่หากผู้เอาประกันภัยทำประกันภัยแบบ “รายปี” เบี้ยจะถูกปรับเพิ่มตามอายุที่เพิ่มขึ้น และไม่ได้รับส่วนลดระยะยาว หากผู้กู้ชำระหนี้ครบก่อนกำหนด 9 ปี สามารถขอคืนเบี้ยส่วนที่ชำระไว้เกินได้ หรือหากชำระหนี้ยังไม่หมด สามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้เช่นกัน แต่ผู้กู้ต้องมีอายุไม่เกิน 74 ปี

สำหรับการต่ออายุประกันภัยในครั้งนี้ เป็นการต่อสัญญาประกันภัย 1 ปี เบี้ยประกันภัยที่เสนอเป็นเบี้ยประกันภัยในอัตราเดิม แต่ “ไม่มี” ส่วนลดเบี้ยระยะยาว

โดยการปรับเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มสำหรับผู้เอาประกันภัยที่มีอายุเกิน 65 ปี ปรับเพิ่มจาก “ความเสี่ยง” ด้านอายุที่เพิ่มขึ้นอีก 9 ปี และอัตรา “มรณะ” ที่เพิ่มขึ้น จากการรับประกันภัยเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา

ทิพยฯ จึงคิดอัตราเบี้ยประกันภัย “ปกติ” สำหรับกรมธรรม์รายปี

นับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน ทิพยฯ ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารออมสิน และทายาทของผู้เสียชีวิต ครบทุกราย คิดเป็นเงินค่าสินไหมทั้งสิ้น 16,409 ล้านบาท

    ต้องติดตามว่า เรื่องนี้จะจบอย่างไร!!