They Talk บทสนทนาของดินเผาในห้วงแห่งกาลเวลา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันอ่านตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า They Talk โดย ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปินหนุ่มชาวกรุงเทพฯ ที่เราเคยเขียนถึงนิทรรศการครั้งก่อนหน้าของเขาไปแล้ว (https://bit.ly/32j1s4L)

ผลงานในนิทรรศการของเขาครั้งนี้ เป็นประติมากรรมเซรามิกจัดวางกึ่งนามธรรมรูปทรงอิสระ สนุกสนานไร้กฎเกณฑ์

ดูคล้ายกับตุ๊กตาดินปั้นของเด็กๆ เช่นเดียวกับที่เราเคยเห็นในนิทรรศการคราวที่แล้ว หากแต่มีรูปแบบและพื้นผิวเคลือบหลากหลายสีสันสดใสกว่าเดิม

โดยดุษฎีเล่าถึงที่มาที่ไปของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ให้เราฟังว่า

“ที่เราเริ่มสนใจเซรามิก เพราะเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว น้องชายเราไปเรียนเซรามิกและเอางานกลับมาที่บ้าน เราเห็นว่างานที่น้องทําแสดงถึงความเป็นศิลปะก่อนประวัติศาสตร์และศิลปะสมัยใหม่อยู่ในตัว และก็เห็นอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่าที่เราเคยเห็นจากงานแบบอื่นๆ เราก็เลยเริ่มสนใจ แต่ยังไม่ได้เริ่มทําจริงจัง”

“สักพัก อาเราก็เปิดสตูดิโอทําเซรามิก ช่วงนั้นเราว่างพอดี ก็เลยอาสาไปเป็นลูกมือช่วยเขา พอเข้าเรียนปริญญาตรี เราเลือกเรียนเอกจิตรกรรม/วิดีโอ แต่ก็ไปลงเรียนเซรามิกด้วย และตอนไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ที่นั่นมีอาจารย์คนหนึ่งเป็นบุคคลสําคัญในวงการเซรามิกในซานฟรานซิสโก ชื่อริชาร์ด ชอว์ (Richard Shaw) คือในยุค 50 มีกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า Funk Movement ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินอเมริกัน ชื่อปีเตอร์ โวลกัส (Peter Voulkos) ซึ่งเป็นศิลปินระดับเซียน ผู้ทําให้พรมแดนของศิลปะเซรามิกแตกแขนงออกไปจากขนบเดิมอย่างมาก ซึ่งริชาร์ด ชอว์ เป็นลูกศิษย์ของเขา”

“แล้วบังเอิญตอนที่เราไปเรียนเนี่ย ชอว์เขากําลังจะเกษียณแล้ว เราก็เลยตัดสินใจลงเรียนกับเขาเทอมหนึ่ง เขาเป็นคนที่สุดยอดมาก อายุ 70 กว่าแต่เคลื่อนไหวเหมือนแมวหนุ่ม แล้วโปรเจ็กต์แรกในวิชาเรียนคือการทำแม่พิมพ์สำหรับงานเซรามิก ซึ่งเขาเป็นคนทําแม่พิมพ์ชิ้นแรกให้นักศึกษาทุกคนเลย”

“ยังมีศิลปินคนสําคัญอีกคนที่ผมได้เจอคือ เอห์เรน ทูล (Ehren Tool) ซึ่งเป็นเทคนิเชียนในวิชาที่เราเรียน เขาเป็นทหารผ่านศึกที่ทํางานปั้นถ้วยเซรามิก แต่ละถ้วยมีลวดลายที่เล่าเรื่องราวของสงครามที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้”

“เขาปั้นถ้วยเหล่านี้แจกคนฟรีๆ เป็นประจำเป็นหมื่นๆ ใบ ในหลากหลายสถานที่ ทั้งพิพิธภัณฑ์ โรงเรียน ศูนย์บำบัดต่างๆ งานทุกชุดของเขาทําเรื่องเกี่ยวกับการเยียวยาทหารผ่านศึกที่กลับมาจากสงครามและป่วยทางจิตโดยที่สหรัฐอเมริกาไม่มีงบประมาณช่วยเหลือ เขาก็เอาชุดทหารมาปั่นเป็นกระดาษ ทําภาพพิมพ์และถ้วยเซรามิกออกมา”

“หลังจากได้เจอศิลปินเหล่านี้ ทำให้เราได้เห็นว่าโลกของเซรามิกกว้างไกลขนาดไหน เราเริ่มจับงานเซรามิกเป็นเรื่องเป็นราว พอทํางานเรียนจบเสร็จก็มีโอกาสได้แสดงในนิทรรศการ Fertile Ground : Art and Community in California ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งซานฟรานซิสโก (SFMOMA) ทำร่วมกับ Oakland Museum of California และก็ได้แสดงในนิทรรศการ Sous la lune / Beneath the moon ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Palais de Tokyo ทำร่วมกับสถาบันศิลปะร่วมสมัยแห่งสิงคโปร์ (ICA Singapore) รวมถึงแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ (Mori Art Museum) อีกด้วย”

“ตอนเอางานไปเสนอในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น เราส่งงานแบบอื่นอย่างภาพวาด ภาพถ่าย โน่นนี่ไปให้ดูด้วย แต่เขาไม่เอาเลย สนใจแต่งานเซรามิกอย่างเดียว เราก็เลยตัดสินใจว่าเราต้องทํางานซรามิกแล้วละ เพราะงานเป็นที่สนใจ และดูท่าว่าพอจะมีทางไปอยู่เหมือนกัน”

“ก่อนหน้านี้เราเคยแสดงงานที่มีเซรามิกเป็นส่วนประกอบมาบ้าง มาคราวนี้ก็เลยลองทํางานเป็นเซรามิกทั้งหมดดู ตอนแรกก็อาศัยไปเผางานในเตาเผาเซรามิกที่สตูดิโอของอา หลังๆ เราก็ตัดสินใจซื้อเตาของตัวเองเลย จะได้ไม่ได้ไปรบกวนเขา เพราะเราไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ตอนกลางคืนเขาก็ต้องลงมาเปิดเตาให้เราทํางาน”

“เราก็เลยตัดใจกัดฟันรวบรวมเงินทุนซื้อเตาเผาเซรามิก ซื้ออุปกรณ์ ซื้อดิน ซื้อเคลือบ ลงทุนไปพอตัวเหมือนกัน แต่ก็ทำงานสะดวกดี”

แรงบันดาลใจของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของดุษฎีมีความเชื่อมโยงกับนิทรรศการครั้งที่แล้ว จากโบราณวัตถุอย่างกําไลสำริดในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยบ้านเชียง มาสู่เครื่องปั้นดินเผาโบราณบ้านเชียง แปรสภาพเป็นผลงานประติมากรรมเครื่องเคลือบดินเผา หรือเซรามิก ที่ดูๆ ไปก็เหมือนเป็นตัวละครต่างๆ ที่กำลังล้อมวงพูดคุยสื่อสารถ้อยคําผ่านกาลเวลาอันเก่าแก่โบราณนานนม มาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน

ผลงานเหล่านี้ของเขาส่งสารอย่างเงียบๆ มาถึงเราราวกับจะกระตุ้นความสามารถในการฟังสุ้มเสียงของความเงียบงันอันลึกซึ้งละเอียดอ่อนของมนุษย์เราให้หวนกลับมาในยามที่เราเฝ้าดูประติมากรรมเซรามิกขนาดกะทัดรัดเหล่านี้

ดุษฎีสนใจสัมผัสของดินเหนียว หนึ่งในวัสดุที่เก่าแก่ที่สุดของโลก รวมถึงกระบวนสร้างงานด้วยมือที่เปรียบเสมือนพิธีกรรมบางอย่าง

ในฐานะคนปั้นงาน เขาจึงต้องผสานร่างกายเข้ากับวัสดุและจังหวะของมัน เพื่อเชื่อมตัวเองกับอดีตที่หวนกลับไม่ได้และอนาคตที่หยั่งไม่ถึง

สายสัมพันธ์ของกาลเวลาเช่นนี้ยังถูกแสดงออกผ่านเศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาแลดูคลับคล้ายคลับคลากับของบ้านเชียง ที่ถูกจัดแสดงเคียงคู่กับประติมากรรมเซรามิกร่วมสมัย ที่ดุษฎีทําขึ้นมาใหม่ ราวกับจะสร้างบทสนทนาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกาลก็ว่าได้

“พอเราทําเซรามิก เราก็คิดถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งเป็นแหล่งศิลปะ เครื่องปั้นดินเผาที่เก่าที่สุดแหล่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ พอเราไปศึกษา เราก็ได้ฟังเรื่องราวว่า ลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงแต่ละใบ ไม่มีลายไหนเหมือนกันเลย ว่ากันว่าลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาแต่ละใบคือแผนที่ที่จะนำพาวิญญาณกลับเข้ามาสู่โลกของเราได้ ถ้าวิญญาณจําแผนที่ที่อยู่บนเครื่องปั้นดินเผาได้ และยังเป็นเหมือนกับสมุดบันทึกที่บ่งบอกตนเองและผู้อื่นในเวลาเดียวกันว่าเจ้าของเครื่องปั้นดินเผาแต่ละใบคือใครกันแน่”

“เราก็เริ่มคิดว่า ในระยะเวลาสี่ห้าพันปีในยุคบ้านเชียงมาจนถึงทุกวันนี้ มนุษย์เราใช้วัสดุตัวเดียวกัน คือดินเหนียว ทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นกระบวนการทํางานแบบเดิมที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย อีกอย่างเราชอบพวกรูปปั้นในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะมีศาสนา และสนใจคนทํางานเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนชายขอบรอบนอก ที่ไม่ขึ้นอยู่กับการปกครองแบบรวมอํานาจที่ศูนย์กลาง”

“รูปทรงของงานประติมากรรมเซรามิกแต่ละชิ้นก็จะมีเรื่องราวของตัวเอง เราให้ความหมายกับพวกมันด้วยการที่เรานั่งดู แล้วถามพวกมันว่า “มึงคือใคร?” “มึงมาที่นี่ทําไม?” เราคิดว่าถ้ามันจะมีความหมายอะไรสักอย่าง มันก็คือการเป็นรูปแสดงแทนของเรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากจะเล่า ซึ่งเราก็ใส่เอาไว้เป็นชื่อของงาน แต่ถ้าคนดูดูแล้วจะตีความไปยังไง เราก็ไปบังคับใจใครไม่ได้ เราก็แค่ตอบคําถามตัวเราเองว่าเราทํางานชิ้นนี้ไปทําไม เราเสียสตางค์ค่าวัตถุดิบ ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าน้ำมันไปทําไม”

“เราก็แค่ตอบคําถามของตัวเองเท่านั้นเอง”

องค์ประกอบที่น่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้อีกอย่างก็คือ แทนที่ประติมากรรมเซรามิกเหล่านี้จะวางอยู่บนแท่นแสดงงานสี่เหลี่ยมสีขาวแบบที่เราเคยเห็นกันตามปกติ

พวกมันกลับถูกวางอยู่บนแท่นวางไม้อัดที่ดูคล้ายกับหิ้งหรือชั้นวางของหน้าตาเรียบง่ายแต่เก๋ไก๋ เช่นเดียวกับนิทรรศการครั้งที่แล้ว

แท่นวางเหล่านี้เป็นการทํางานร่วมกันระหว่างดุษฎีและสตูดิโอออกแบบสัญชาติไทยรุ่นใหม่มาแรงอย่าง THINKK Studio ที่ไม่เพียงทําหน้าที่วางผลงาน หากแต่ยังสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสถาปัตยกรรม รวมถึงกระตุ้นให้เราสัมผัสกับความขัดแย้งและเชื่อมโยงกันระหว่างวัตถุธรรมชาติอย่างดิน และวัสดุอุตสาหกรรมอย่างไม้อัดได้อย่างแนบเนียน

อ้อ ถ้าเราไม่สังเกตให้ดีๆ ก็จะไม่รู้เลยว่าแท่นที่เป็นที่วางประติมากรรมเซรามิกทั้งหมด 28 ชิ้นเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการประกอบกันของแท่นวางเพียงสองแบบสองดีไซน์เท่านั้นเอง

นอกจากผลงานประติมากรรมและแท่นวางในห้องแสดงงานหลักแล้ว ในห้องแสดงงานเล็กของหอศิลป์ ยังมีผลงานวาดเส้นที่เป็นต้นฉบับของหนังสือนิทานชื่อน่ารักปนทะเล้นอย่าง “Grandma, I Want a Penis” (ยายจ๋า, หนูอยากได้จู๋หนึ่งอัน) ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในวัยเยาว์ของภรรยาของดุษฎี ผู้ใฝ่ฝันอยากมีจู๋เหมือนพี่ชายสองคน จึงรบเร้าให้ยายของเธอซื้อให้จากในตลาด แต่จนแล้วจนรอด ยายก็ไม่ซื้อให้เสียที

สุดท้ายแล้วเธอจะได้จู๋มาเป็นของตัวเองหรือไม่ ก็คงต้องให้ไปอ่านในหนังสือนิทานเล่มนี้กันเอาเอง

เขามีวางขายอยู่ในร้านหนังสือในห้องแสดงงานเล็กของหอศิลป์นั่นแหละ

ใครสนใจใคร่รู้ก็ไปซื้อหากันได้ตามอัธยาศัย

นิทรรศการ “They Talk” โดย ดุษฎี ฮันตระกูล จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทร ซอย 1 สถานีรถไฟฟ้า – ใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน-17 พฤศจิกายน 2562 แกลเลอรี่เปิดทําการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 13:00-19:00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ +66830872725

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่