จรัญ มะลูลีม : สาธารณรัฐตุรกี เออร์ดูอัน กุลเลน และรัฐประหารล่ม (1)

จรัญ มะลูลีม

ตุรกีมีพื้นที่ 784,000 ตารางกิโลเมตรหรือ 300,000 ตารางไมล์ มีขนาดเล็กกว่าปากีสถานเล็กน้อย แต่มีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัส

ตุรกีมีชายแดนร่วมกับซีเรีย อิหร่าน อิรักและสมาชิก EU อย่างกรีซและบัลแกเรีย มีเส้นทางทะเลดำที่หันสู่รัสเซีย

เมืองหลวงของตุรกีคืออังการา (Ankara) มีประชากรห้าล้านคน อิสตันบูลเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรม และมีประชากรอยู่ถึง 15 ล้านคน

สาธารณรัฐตุรกีซึ่งเป็นรัฐฆราวาสนิยมตั้งขึ้นใน ค.ศ.1923 หลังการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมานในปลายสงครามโลกครั้งที่ I

มุสฏอฟา เคมาล อะตาเติร์ก (Mastafa Kemal Ataturk) ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ.1938 อิสเม็ต อิโนนู (Ismet Inonu) ได้ตั้งพรรคประชาธิปไตยผสมขึ้นมาใน ค.ศ.1946 หลังจากนั้นตุรกีก็ต้องพบกับการรัฐประหารใน ค.ศ.1960, 1971 และ 1980

ใน ค.ศ.1997 ทหารตุรกีได้บังคับให้ประธานาธิบดี เน็ตเม็ตติน เอิรบาคาน (Necmettin Erbakan) ซึ่งเป็นผู้นำนิยมอิสลามและเป็นวีรบุรุษของเออร์ดูอัน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

เป็นสมาชิกนาโตมาตั้งแต่ ค.ศ.1952 ตุรกีจึงเป็นประเทศแนวหน้าของนาโตมามากกว่า 60 ปี

ถือเป็นประเทศหลักที่ร่วมมือกับสหรัฐในการต่อสู้กับกองกำลัง IS แต่ต้องรอเป็นปีกว่าจะร่วมกันถล่มซีเรียและเปิดฐานทัพอากาศให้กับเครื่องบินสหรัฐ

ตุรกีวิพากษ์การเข้ามาแทรกแซงของรัสเซียในซีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางอากาศหลายครั้งทางชายแดน

นับจากเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 เป็นต้นไป ตุรกีต้องเผชิญกับความรุนแรงขนานใหญ่จากการฟื้นตัวของชาวเคิร์ดหรือคูร์ด ซึ่งเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลมายาวนาน การฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งของชาวเคิร์ดมีพื้นฐานมาจากสงครามในซีเรียที่ชาวเคิร์ดได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐ

การหยุดยิงชั่วคราวกับพรรค PKK หรือพรรคแรงงานคูร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party) ของฝ่ายเคิร์ดได้ยุติลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 เมื่อรัฐบาลตุรกีบุกเข้าโจมตีคู่ปรปักษ์ทั้งสองด้านคือโจมตี IS และโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีและภาคเหนือของอิรัก

นับจาก ค.ศ.1984 เป็นต้นไป พรรค PKK ของชาวเคิร์ดได้ลุกขึ้นก่อกบฏในดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีซึ่งมีชาวเคิร์ดเป็นคนส่วนใหญ่ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 45,000 คน

หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะความเป็นประชาธิปไตยของตุรกีและเสรีภาพของการพูดหลังจากกลุ่มก้อนของสื่อถูกจู่โจม นักหนังสือพิมพ์ได้รับการกวาดล้าง

นับจากตอนกลางของ ค.ศ.2015 เป็นต้นไป ตุรกีถูกโจมตีหลายครั้งโดยมีประชาชนจำนวนมากต้องจบชีวิตลง ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน มีการระเบิดขนาดใหญ่ในประวัติศาสตร์ของตุรกี ที่ประชาชนถูกสังหารถึง 103 คน ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 500 คนจากระเบิดพลีชีพ โดยมีผู้เดินขบวนสนับสนุนชาวเคิร์ดตกเป็นเหยื่อ นายกรัฐมนตรีเออร์ดูอันออกมากล่าวว่า IS เป็นผู้ต้องสงสัย

ค.ศ.2016 เกิดการโจมตีครั้งใหญ่เกิดขึ้น 7 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 120 คน ต่อมาได้มีการโจมตีเกิดขึ้นอีกในวันที่ 28 กรกฎาคม โดยมีผู้เสียชีวิต 48 คน รวมทั้งชาวต่างชาติ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 200 คน อันเนื่องมาจากระเบิดพลีชีพที่เกิดติดต่อกันสามครั้ง รวมทั้งการโจมตีด้วยอาวุธปืนที่สนามบินอะตาเติร์ก กรุงอิสตันบูล

ไม่มีใครออกมารับผิดชอบ แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นฝีมือของ IS

ตุรกีมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตผู้อพยพ โดยมีผู้ลี้ภัยซีเรียอยู่ในตุรกีถึง 2.7 ล้านคน ในขณะที่ประชากรในประเทศมีอยู่ราว 80 ล้านคน อันเนื่องมาจากความหฤโหดของสงครามในซีเรียที่แผ่ขยายข้ามแดนมาถึงตุรกีใน ค.ศ.2011 ทำให้ตุรกีต้องกลายมาเป็นเจ้าภาพรองรับผู้อพยพที่มีจำนวนมากที่สุดของโลก

ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมากพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงยุโรปจากชายฝั่งตุรกีทำให้การเดินทางผ่านทะเลของกรีซเต็มไปด้วยความยากลำบากและทุกข์ทรมาน

ภายใต้ข้อตกลงที่เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งระหว่าง EU กับตุรกีในที่สุดในเดือนมีนาคม ค.ศ.2016 ผู้ลี้ภัยที่ไม่มีหลักฐานการลี้ภัยจึงถูกส่งกลับจากหมู่เกาะของประเทศกรีซไปยังตุรกี


เออร์ดูอัน

ใน ค.ศ.2000 เรซิป ตอยยิบ เออร์ดูอัน (อ่านตามภาษาเตอร์กิช) พร้อมกับพันธมิตรร่วมใจที่ใช้เวลาร่วมกันมายาวนาน คือ อับดุลลอฮ์ กุล (Abdullah Gul) และคนอื่นๆ ตั้งพรรค AKP ซึ่งมีพื้นฐานอิสลามขึ้นมาอันเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมาตลอดนับจาก ค.ศ.2002 เป็นต้นไป

เออร์ดูอันซึ่งปัจจุบันอายุ 61 ปี ได้นำเอาความมั่นคงมาให้ตุรกี หลังจากประเทศตุรกีต้องถูกสั่นคลอนด้วยการรัฐประหารและการเมืองพรรคผสมซึ่งทำให้ตุรกีมีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาก่อน

พรรคซึ่งมีรากมาจากแนวคิดอิสลามอย่างพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party (AKP) เข้ามาสู่อำนาจในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2002 โดยมีเออร์ดูอันขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจาก ค.ศ.2003-2014 และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของตุรกีคนแรกที่ได้รับเลือกจากประชาชนโดยตรง ใน ค.ศ.2014

เออร์ดูอันส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้มีความคล้ายคลึงกับระบอบการบริหารของสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี

รัฐประหารเมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.2016 เป็นรัฐประหาร ซึ่งเขาไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้นแม้แต่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน

เขาเป็นผู้นำที่มีลักษณะผสมผสานอย่างหลากหลายในประวัติศาสตร์ของสาธารณตุรกีสมัยใหม่เป็นผู้ที่ได้รับการเคารพอย่างสูงสุดจากผู้นิยมเขาในฐานะผู้ที่ทำให้ตุรกีมีความทันสมัย อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นคนเจ้าอารมณ์ เออร์ดูอันถูกเรียกโดยสานุศิษย์ของเขาว่าเจ้านายใหญ่ หรือเรียกง่ายๆ ว่าสุลต่านที่ห้ามใครมาวิพากษ์ตัวเขา

ความเป็นเผด็จการของเออร์ดูอันเห็นได้จากการที่นักหนังสือพิมพ์และคนทั่วไปต้องไปศาลด้วยข้อหาวิพากษ์การเป็นผู้นำของเขา

เออร์ดูอันมีความสามารถในการลดอำนาจทางทหารในประเทศลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจติดต่อกันมา 13 ปี เขาสามารถเด็ดปีกทหารที่ต่อต้านเขาลงได้เกือบหมด

เออร์ดูอันนำเอาความเคร่งครัดศาสนามาใช้ในสังคมตุรกีด้วยการห้ามขายเหล้า แยกหญิงชายในการเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐและควบคุมอินเตอร์เน็ต