คำ ผกา | ประชาธิปไตยเปลี่ยนผ้าอ้อม

คำ ผกา

ช่วงนี้ฉันจะได้ยินคำพูดทำนองที่ว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยอย่าทะเลาะกัน” หรือ “ฝ่ายประชาธิปไตยอย่ามัวแต่ด่ากันเอง สู้แบบนี้เมื่อไหร่จะชนะ”

ซึ่งฟังแล้วรู้สึกแปลกๆ และน่าคิดมากว่า เราเดินทางมาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร?

ฝ่ายประชาธิปไตยหมายถึงใคร?

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ถ้าจะให้แบ่งอย่างหยาบๆ น่าจะแบ่งได้อย่างนี้

2475-2500 เป็นการช่วงชิงกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยของคณะราษฎรกับฝ่ายอนุรักษนิยม ถ้านึกภาพฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ออกก็ลองนึกถึงกบฏบวรเดช

2500-2530 ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่สามารถเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็น “สยาม” ดังเดิมได้ ประเทศไทยจึงมีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีเอกราช อธิปไตย และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทว่าเราไม่มีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่นับว่าเรามีกฎหมายมาตรา 17 เรามีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และเรามีการปลุกเร้าความรักชาติโดยมี “ผีคอมมิวนิสต์” เป็นความเกลียดและความกลัวร่วมกัน

คำว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เป็นคำที่ใช้เรียกระบอบการเมืองของไทยในขณะนั้น นั่นก็คือ เรามีนายกฯ คนนอก ไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งครองเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ และไม่มีประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

บ้างก็ว่า เป็นการเมืองของเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ค้ำจุนกันระหว่างระบบราชการอันยิ่งใหญ่กับนายทุนใหญ่ ทั้งทุนธนาคาร ทุนอุตสาหกรรม นักการเมือง และเจ้าพ่อท้องถิ่น ภาพของการเมืองในยุคนี้จึงมีทั้งการซื้อเสียง ขายเสียง ระบบหัวคะแนน กับการเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นยุคทองของเจ้าพ่อ มือปืน

เขียนมาถึงตอนนี้ฉันยังประหลาดใจว่า เออหนอ..คนไทยก็ผ่านยุคอันลำบากยากแค้นอย่างนั้นมาได้ยังไงนี่

2531-2535 หลังการเลือกตั้งใหญ่ปี 2531 พรรคชาติไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคชาติไทย กิจสังคม ประชาธิปัตย์ ราษฎร มวลชน และสหประชาธิปไตย รวม 228 ที่นั่ง ส่วนพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเอกภาพและพรรคอื่นๆ มี 128 ที่นั่ง

รัฐบาลชาติชายถูกโจมตีเรื่องการคอร์รัปชั่น คนที่ออกมาโจมตีคือ ผบ.ทบ. ในขณะนั้นคือ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ทำให้หนึ่งในที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า

“ใครที่กล่าวว่ารัฐบาลพลเรือนมีการคอร์รัปชั่นสูงขึ้น 90% นั้น ให้กลับไปปัดกวาดบ้านเรือนของตัวเองเสียก่อน กองทัพไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ต้องแปรสภาพกองทัพ โดยรื้อหลักสูตรทั้งหมดแล้วสร้างความเป็นวิชาชีพ”

https://voicetv.co.th/read/Znq0lKGV7

แถมเกร็ดให้อีกนิดเพื่อความบันเทิงว่า ตอนนั้นกองทัพกับเฉลิม อยู่บำรุง สังกัดพรรคมวลชนขณะนั้นและเป็น รมต.สำนักนายกฯ คุม อสมท. ออกมาซัดกันนัว เรื่องรถโมบายยูนิตของ อสมท. โดยลือกันว่ารถโมบายยูนิตมีขึ้นเพื่อรบกวนคลื่นการสื่อสารของทหารและมีเพื่อภารกิจ “ปฏิบัติการต่อต้านรัฐประหาร” แน่นอนว่าเฉลิมซึ่งเป็น รมต. สำนักนายกฯ ได้ออกมาโจมตีทหารและกองทัพอย่างรุนแรง

ย้อนกลับไปดูการเมืองไทยตอนนั้น จะเห็นว่านักการเมืองและรัฐบาลพลเรือนนั้นออกมาโจมตีกองทัพได้ระรัว ส่วนกองทัพก็ตอบโต้ด้วยการออกมาตบเท้าแสดงพลังรัวๆ ด้วยเหมือนกัน กรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นั้นถึงกับต้องลาออกเพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลายเลยทีเดียว

ท่ามกลางความอลหม่านนี้ ชาติชายเลยตั้งรัฐบาลชาติชาย 2 คราวนี้เป็นส่วนผสมของชาติไทย เอกภาพ ปวงชนชาวไทย และราษฎร มี 227 ที่นั่ง ฝ่ายค้านประกอบไปด้วย กิจสังคม ประชาธิปัตย์ กับพรรคเล็ก มี 130 ที่นั่ง

แต่หลังจากการเมืองไทยแสนสุดจะโอละเห่ หลังรัฐประหารในปี 2534 อดีตนายกฯ ชาติชายลี้ภัยไปอังกฤษ สมาชิกพรรคเพื่อไทยตัวนำๆ ทั้งหลายถูก คตส.ไล่บี้ ทว่าพรรคได้เอาตัวรอดด้วยการเข้าไปเป็นพรรคนอมินีของคณะทหารที่ทำการรัฐประหารเสียเลย ด้วยการเชิญ พอ.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เพื่อนร่วมรุ่นของสุจินดามาเป็นหัวหน้าพรรค

ทบทวนความอลหม่านของการเมืองไทยช่วงนี้กันเล็กน้อย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้า รสช. ทำการรัฐประหาร ได้แต่งตั้งให้อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ชั่วคราว เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง เลือกตั้งเสร็จ ตามหลักการแล้วคนที่ควรจะได้เป็นนายกฯ คือณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม แต่ดันมีเรื่องว่าถูกแบล๊กลิสต์จากอเมริกากรณียาเสพติด (ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีการพิสูจน์แน่ชัดอย่างไร) การณ์กลับกลายเป็น รองหัวหน้า รสช. คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาเป็นนายกฯ แทน ทั้งๆ ที่เคยบอกว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทั้งนั้น จึงเป็นการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

ทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน เพราะเห็นว่านี่เป็นการเล่นไม่ซื่อ ทำแบบนี้มันเป็นการสืบทอดอำนาจนี่นา การประท้วงลุกลามบานปลายจนกลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั่นเอง

2535-2540 น่าจะเป็น 5 ปีแห่งความอลหม่านของการเมืองไทยหลังเหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้งหลังจาก 6 ตุลาฯ 19 แต่ในความอลหม่านนี้ มีความน่าสนใจมากของการขยับ เคลื่อนไหวของนักการมือง พรรคการเมือง และการตื่นตัวของการเมืองภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกไปตั้งพรรคใหม่ของชาติชายในนามของพรรคชาติพัฒนา การเกิดขึ้นของพรรคความหวังใหม่ การแตกหักกันระหว่างประมาณ อดิเรกสาร กับชาติชาย จนทำให้คนที่เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยคนต่อมาคือ บรรหาร ศิลปอาชา

เลือกตั้งปี 2538 บรรหารได้เป็นนายกฯ คนที่ 21 พรรคฝ่ายรัฐบาลมี ชาติไทย-ความหวังใหม่-พลังธรรม-กิจสังคม-ประชากรไทย-นำไทย-มวลชน) 238 ที่นั่ง

พรรคฝ่ายค้านมี ประชาธิปัตย์-ชาติพัฒนา-เสรีธรรม-เอกภาพ) 153 ที่นั่ง

เรียกได้ว่าเป็นบรรหาร ศิลปอาชา คือนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และให้ฉันพูดใน พ.ศ.นี้ก็ต้องบอกอย่างน่าชื่นชมว่ามาได้อย่างไรท่ามกลางความอลหม่านเบอร์นี้

แต่ความอลหม่านไม่หยุดแค่นี้ เพราะในฝั่งพรรคฝ่ายรัฐบาลเองก็มีกลุ่ม มีมุ้ง อาทิ กลุ่มวังน้ำเย็น ที่ต่อมาไปรวมกับพรรคความหวังใหม่ บรรหารเจอทั้งศึกซักฟอกเรื่องลอกวิทยานิพนธ์ เรื่องเป็นคนต่างด้าว ฯลฯ แต่มรดกที่เขาทิ้งไว้คือ แผนการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่การเลือกตั้ง สสร.

จนทำให้เรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 ในที่สุด และเป็นรัฐธรรมนูญที่คนในยุคเราปัจจุบันโหยหา ใฝ่ฝัน อยากได้กลับมา และบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีเหลือเกิน เป็นประชาธิปไตยเหลือเกิน

2540-2549 ฉันจะไม่ลงรายละเอียด เพราะทุกคนคงจำกันได้อยู่ สำหรับฉัน เป็นยุคประชาธิปไตยเต็มใบ เศรษฐกิจดี ประเทศกำลังเจริญก้าวหน้า ลงหลักปักฐาน กำลังจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่สำหรับคนบางกลุ่ม 9 ปีนี้ เขาจำได้แต่เรื่องกรือเซะ ตากใบ สงครามยาเสพติด และระบอบทักษิณอันชั่วร้าย

2550-ปัจจุบัน มันเป็นช่วงเวลาอันน่าประหลาด เมื่อเราเจอกับการรัฐประหารครั้งล่าสุด ที่ฉันเริ่มเข้าใจว่านี่เป็นการทำรัฐประหารที่รัดกุมที่สุด มีแผนการระยะยาวที่รอบคอบที่สุด และหวังใจว่าจะได้ทั้งออกแบบและ engineer ระบบการเมืองไทยใหม่หมดจด

จนสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยไม่อาจจะฟื้นลืมตาอ้าปากขึ้นได้ใหม่อีกเลย อย่างน้อยในอีกสามหรือสี่สิบปีข้างหน้า

เป็นระบบการบริหารประเทศอันเป็นไฮบริดของการปกครองหลายแบบ เพราะมีทั้งการเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภา ขณะเดียวกันก็มีกฎหมาย ระบบราชการ หน่วยงาน งบประมาณ กลไกพิเศษ หลายอย่างทับซ้อน มีอยู่อย่างเหลื่อมซ้อนทับกันเป็นรัฐกายาเชิงซ้อนอย่างที่ไม่เคยปรากฏอย่างเด่นชัดขนาดนี้มาก่อน

ท่ามกลางการ engineer ระบบการเมืองเช่นนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองไทย นั่นคือ ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐถือเป็นพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาสานเจตนารมณ์และการมีอยู่ของ คสช. ทางฝั่งที่ต้องการให้ประเทศปกครองด้วยรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริงและต้องการตัดวงจรรัฐประหาร ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่

และสิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อปฏิเสธวงจรของเผด็จการ แต่ต้องการปฏิเสธพรรคการเมืองฝั่งประชาชนที่เขามองว่าเป็นเลือดเก่าและ impotent นั่นคือพรรคเพื่อไทย

ในสายตาของพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทยยังคงเล่นการเมืองในไวยากรณ์เก่า มีเรื่องเงิน เรื่องอำนาจ เรื่องกงสี เรื่องระบบอุปถัมภ์ เต็มไปด้วยพื้นที่สี “เทาๆ” แต่เราซึ่งคืออนาคตใหม่นี่สิ เราจะไม่เป็นเหมือนทักษิณ เราจะสร้างการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ โอกาส ความฝัน อุดมการณ์ บลา บลา บลา เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้เราจะเปลี่ยนแปลงการเมืองไม่ได้

จุดนี้เองที่ทำให้เกิดความหมางใจเบาๆ ระหว่างผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ จนนำมาสู่คำพูดเชิงปลอบประโลมของกันและกันว่า “เอาน่า พวกเดียวกัน รักประชาธิปไตยเหมือนกัน หวังดีต่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน นิดๆ หน่อยๆ ก็อย่าตั้งแง่กันนักเลย เอาเป้าหมายให้สำเร็จก่อนเถิด”

ฉันกลับไปถามคำถามเดิมว่า ฝ่ายประชาธิปไตยคือใครกันเล่า?

คนอย่างเฉลิม อยู่บำรุง ที่ชนกับทหารมาตั้งแต่ครั้งอยู่กับรัฐบาลชาติชาย?

คนอย่างชาติชาย ที่เป็นนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง หรือบรรหาร ที่ทั้งมาจากการเลือกตั้ง ทำเรื่องปฏิรูปการเมืองสำเร็จ – เราจะเรียกคนเหล่านี้ว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้หรือไม่?

คนที่มีบทบาททำให้การเมืองในรัฐสภาเข้มแข็งจำนวนมากเคยเป็นทั้งงูเห่า เป็นฝ่ายรัฐบาลที่หันมาสมคบกับฝ่ายค้าน นักการเมืองเก๋าๆ หลายคนย้ายพรรคมาจนพรุน บางคนเคยเป็นฮีโร่ตอนอภิปราย สปก. เวลาต่อมากลายเป็นซูเปอร์ยี้

ย้อนกลับไปดูความอลหม่านทั้งหลายในการเมืองไทย สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ผุดขึ้นมาท่ามกลางกอดอกบัวผ่องไสว แต่ผุดขึ้นมาท่ามกลางโคลนตมสีเทาภายใต้น้ำมือของนักการเมืองสีเทา ผู้ตั้งใจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ททั้งสิ้น

ความหมางใจของกลุ่มคนที่สนับสนุนเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ไม่ใช่ความหมางใจของฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน แต่เป็นความหมางใจของคนที่เห็นการเมืองเป็นเรื่องจริงแท้แสนโสมมกับคนที่เห็นการเมืองและประชาธิปไตยเป็นสิ่งพิสุทธ์ดั่งความฝันและหยดน้ำค้างยามเช้า

สั้นๆ คือ เรามองการเมืองไม่เหมือนกัน เราจึงทะเลาะกันฉิบหายวายป่วงไปหมด และฉันไม่คิดว่าเราพึงหยุดวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะถ้าประชาธิปไตยมันจะพ่ายแพ้ มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเราวิจารณ์กันเองไม่ได้ และเรามีหน้าที่อย่างเดียวคือด่าประยุทธ์ ประวิตร ฉันก็คิดว่าเราก็ไม่ deserve ที่จะชนะอยู่ดี

หันไปมองความอลหม่านในการเมืองไทยที่ผ่านมา ประชาธิปไตยผลิใบแรกของมันออกมาได้ ไม่ใช่เพราะคนทรงพลังอุดมการณ์หาญกล้า 1 คน 1 พรรค หักหาญเข้าไปฟาดฟัน หักโค่น ศัตรูไปปักธงเอามาได้ เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่การปีนยอดเขาเอเวอเรสต์

ทว่าการมีรัฐสภาอยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นโอกาสให้ฝ่ายที่อยาก empower ให้ประชาธิปไตย ไปช่วงชิงเอาใช้ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไปช่วงชิงการนำและความชอบธรรมมาจากฝั่งอนุรักษนิยมมาให้ได้ และการทำเช่นนั้น จำต้องทำงานกับ ส.ส.ทุกคน นักการเมืองทุกคน โดยไม่มองว่าเขาเป็นตลาดล่างหรือตลาดบน เขาเป็นงูเห่า หรือไม่เป็น เขาเป็นฝั่งขาว ฝั่งดำ ฝั่งเทา เพราะแรงจูงใจของชัยชนะทางการเมืองนั้นอยู่บนฐานของการ win-win ในระดับหนึ่ง และต้องมีประโยชน์ที่จับต้องได้ ไม่ใช่ให้เขาอดอยากโดยแบกอุดมการณ์เอาไว้จนหลังบ่าลู่ดิน

หน้าที่ของการพูดถึงอุดมการณ์เป็นหน้าที่ของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือนักเขียนอย่างฉันนี่แหละ เพราะเราไม่ต้องลงไปขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นการเมืองภาคปฏิบัติ เราจึงไม่แคร์ว่าเราจะชนะหรือแพ้ ส่วนเรื่องศีลธรรมก็เว้นไว้ให้เป็นหน้าที่ของนักบวชและผู้ทรงศีลเขาเทศนาเสียบ้างก็ได้

ส่วนประชาชนอย่างเราก็ต้องใจแข็งๆ กันหน่อย มัวแต่พะเน้าพะนอกันไปมา ก็ผลัดกันเปลี่ยนผ้าอ้อมอยู่นั่น ไม่ต้องไปไหนกันพอดี