หมดยุค Facebook ถึงคราว Snapchat : แอพหมื่นล้านขวัญใจชาวมิลเลนเนียลส์ (ตอน3)

flickr/ barnimages

เรื่องราวการก่อร้างสร้างตัวของ Snapchat ก็คล้ายๆ กับสตาร์ตอัพพันล้านอื่นๆ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์

เริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์ไอเดียบ้าบิ่นของกลุ่มนักศึกษาหัวใสไม่กี่คน ตะบี้ตะบันอดหลับอดนอนเพื่อพัฒนาโปรแกรม เมื่อออกสู่ท้องตลาดก็ต้องผ่านความยากลำบากกว่าที่จะฝ่าด่านชนะใจผู้ใช้ ต่อสู้กับความขัดแย้งภายใน และฝ่าฟันจนได้นักลงทุนมาช่วยกันเพาะปลูกตัดกิ่ง จนผลิดอกออกผลเบ่งบ้านกลายเป็นธุรกิจระดับโลก

Snapchat มีผู้ก่อตั้ง 3 คน ได้แก่ Evan Spiegel, Bobby Murphy และ Reggie Brown กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

Evan Spiegel ซีอีโอคนปัจจุบัน มีประวัติคล้าย มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หลายอย่าง

เกิดในครอบครัวผู้ดีมีอันจะกิน (พ่อและแม่ของเขาเป็นทนายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง) ได้ศึกษาในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง และหลงใหลในเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเด็ก

เขาเคยบอกว่าเพื่อนสนิทที่สุดของตัวเองตอนเรียนไฮสคูลคือครูสอนคอมพิวเตอร์ชื่อ Dan

สิ่งที่แตกต่างจากซัคเคอร์เบิร์กคือ Evan Spiegel มีไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา และสนุกสนานกับการใช้ชีวิตอย่างเสพสุข เขาเหมือนลูกคนรวยที่โดนสปอยล์ ทั้งการอาศัยอยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่กับพ่อ ชอบท่องเที่ยว ขับรถหรู (รถที่ใช้ตอนเรียนคือ BMW 550i) จัดปาร์ตี้บ่อยครั้ง และมีเงินใช้ในแต่ละเดือนมากมาย

ปัจจุบันเขามีแฟนเป็นนางแบบชุดชั้นในวิกตอเรียซีเคร็ตชื่อ Miranda Kerr อีกทั้งยังมีข่าวว่าเคยกิ๊กกั๊กกับ เทเลอร์ สวิฟต์ อีกด้วย

“มันไม่ใช่เรื่องของการทำงานหนักอย่างเดียว”

เขามักจะโต้แย้งเสมอ เมื่อมีคนบอกว่าความสำเร็จของเขามาจากต้นทุนที่มีอยู่สูง

“แต่มันคือการทำงานอย่างเป็นระบบต่างหาก”

 

ปี 2010 Spiegel เข้าเรียน product design ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่นี่เขาได้พบกับรุ่นพี่ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่าง Bobby Murphy ทั้งคู่เริ่มสนิทสนมและพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยกัน

แน่นอนว่าล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

แต่แล้วจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายก็เข้ามา

วันหนึ่ง Reggie Brown เพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอีกคน เดินมาที่ห้องพักของ Spiegel เพื่อปรึกษาถึงปัญหาที่เขาชอบส่งรูปให้ผิดคน (ผมก็เคยเป็นครับ ส่งรูปสุนัขให้หัวหน้า) เขาอยากสร้างแอพพลิเคชั่นที่รูปมีอายุเพียงชั่วคราวแล้วก็หายไป ทั้งสองระดมสมองกันตลอดทั้งคืน ก่อนจะตกลงทำแอพนี้ขึ้นมา โดยดึงตัว Bobby Murphy ที่เพิ่งเรียนจบมาเป็นคนเขียนโปรแกรมให้

Brown ตั้งชื่อแอพนี้ว่า Picaboo (แปลว่า จ๊ะเอ๋)

Spiegel ลองเอาไอเดียนี้ไปเสนอเป็นโปรเจ็กต์จบของวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อไปพูดหน้าชั้นเรียน กลับไม่มีเพื่อนๆ คนไหนในชั้นเห็นด้วยสักคน ทว่า นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกความคิดนี้แต่อย่างใด

สามทหารเสือขลุกอยู่ด้วยกันในห้องนั่งเล่นของ Spiegel เป็นเวลาหลายเดือน ทำงานวันละ 18 ชั่วโมงต่อวัน จนในที่สุดเดือนกรกฎาคม ปี 2011 Picaboo ก็เปิดตัววันแรกใน iOS ปรากฏว่ามีคนดาวน์โหลดในวันแรกถึง 25,000 คน ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมความนิยมเหลือผู้ใช้เพียง 127 คน

Brown ถึงกับต้องเปลี่ยนโพสิชันนิ่งของแอพให้เป็น “sexting tool” หรือแอพส่งรูปสยิวแทน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น

 

จุดแตกหักครั้งสำคัญดำเนินมาถึง เมื่อ Brown มองว่าตัวเองควรจะมีหุ้นส่วนในบริษัทมากกว่านี้ คือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทต้องเขียนว่าเขาเป็นคนต้นคิดไอเดียนี้ของแอพนี้

ไม่น่าแปลกใจที่เพื่อนอีกสองคนจะไม่เห็นด้วย

สุดท้ายพวกเขาทั้งสามตกลงกันไม่ได้จึงตัดสินใจแยกทางกัน โดยเหลือผู้บริหารเพียง 2 คน Brown ทำการฟ้องร้องเป็นข่าวใหญ่โต และใช้เวลาหลายปีกว่าจะหาจุดลงตัวได้ โดย Brown ได้รับการใส่ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสามผู้ก่อตั้ง แต่ข้อมูลนอกเหนือจากนั้นพวกเขาขอไม่เปิดเผย

ก่อนที่เรื่องราวจะแย่ไปมากกว่านี้ ก็เหมือนมีเหตุการณ์ที่ทำให้บริษัทได้เกิดใหม่

บริษัทหนังสือภาพแห่งหนึ่งส่งข้อความมาหาทั้งคู่ว่าชื่อแอพ Picaboo ของพวกเขานั้นไปซ้ำกับชื่อบริษัทที่ตั้งมาก่อนแล้ว Spiegel และ Murphy จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น Snapchat

“เหมือนเป็นพรอันประเสริฐเลยครับ” Spiegel ให้สัมภาษณ์ถึงการเปลี่ยนชื่อ

ก็เห็นจะจริงดังเขาว่า เพราะหลังจากนั้น Snapchat ก็มีแต่ขาขึ้นจนใครก็ฉุดไม่อยู่

 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ Snapchat ได้รับความนิยมเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวปีเดียวกันนั้นเอง

ในช่วงเวลานั้นมีผู้ใช้บริการ Snapchat อยู่ประมาณ 1,000 คน ตัวเลขอาจจะไม่มาก แต่ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือการใช้งานจะพีกมากในช่วงเวลาประมาณ 9 โมงเช้าถึงบ่ายสามโมง หลังจากนั้นก็จะแผ่วลง

ใช่แล้วครับ เวลาเรียนหนังสือของนักเรียนนั่นเอง

เรื่องเกิดจากแม่ของ Spiegel ไปแนะนำให้หลานของเธอเล่นแอพนี้ ทันทีที่หลานนำไปเผยแพร่ที่โรงเรียน มันก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ยิ่งในช่วงที่โรงเรียนมีการแบนห้ามเล่นเฟซบุ๊กตอนเรียนหนังสือ หรือนักเรียนบางคนแอบใช้ Snapchat เป็นเครื่องมือในการส่งสิ่งที่ครูสอนบนกระดาน (ตรวจจับไม่ได้ด้วย เพราะหลักฐานหายไปอย่างรวดเร็ว) ก็ยิ่งทำให้มีผู้ใช้เป็นเด็กนักเรียนเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

จาก 1,000 เป็น 2,000 เป็น 20,000 และในเดือนเมษายนปี 2012 ก็มีผู้ใช้ถึง 100,000 คน

Snapchat หากลุ่มลูกค้าที่ถูกต้องเจอแล้ว คือ วัยรุ่นยุคใหม่ พวกเขาจึงทำการเปลี่ยนโพสิชันนิ่งตัวเองให้ชัดเจนมากขึ้น ผลก็คือแอพฮอตฮิตติดอันดับในกลุ่มคนรุ่นใหม่เทียบชั้นพอๆ กับอินสตาแกรมและแองกรี้เบิร์ด

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือพวกเขาไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าเซิร์ฟเวอร์แสนแพง เพราะตัวแอพในตอนนั้นแทบไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้เลย

และแล้วอัศวินขี่ม้าขาวก็เดินเข้ามาอีกครั้ง

เดือนมีนาคมปี 2012 Barry Eggers กรรมการผู้จัดการของกองทุน Lightspeed Ventures ทราบข่าวจากลูกสาววัยรุ่นว่า Snapchat คือแอพที่ฮิตที่สุดติด 1 ใน 3 ของวัยรุ่นในขณะนั้น จึงทำการลงทุนด้วยเงินจำนวน 485,000 ดอลลาร์ พร้อมกับประเมินว่าแอพนี้มีมูลค่า 4.25 ล้านดอลลาร์

“เป็นความรู้สึกที่สุดยอดที่สุดในชีวิตเลยครับ” Spiegel ให้สัมภาษณ์กับ Forbes เพราะแม้ว่าบ้านจะมีฐานะร่ำรวย และใช้เงินบางส่วนจากปู่ของเขามาจ่ายค่าเซิร์ฟเวอร์ แต่ในตอนนั้นเขาก็เป็นเพียงนักศึกษามหาวิทยาลัยที่กำลังจะจบการศึกษาในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเท่านั้น

สิ่งแรกที่ Spiegel ทำหลังจากได้รับเงินก้อนใหญ่มาต่อชีวิตธุรกิจคือ กลับไปที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เดินเข้าไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วบอกว่า

ผมขอลาออกครับ

(แล้ว Snapchat มีโมเดลทางธุรกิจอย่างไร หาเงินจากช่องทางไหน และทำไมจึงกลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน ต้องติดตามในตอนจบครับ)