หลังเลนส์ในดงลึก : “ผีเสื้อ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

มิถุนายน พ.ศ.2528 ถึงกันยายน พ.ศ.2530

ระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน ที่ สืบ นาคะเสถียร และทีมช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พวกเขาพบว่า สัตว์ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง คือกลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน

เพราะสัตว์เหล่านี้มีแบบแผนการใช้ชีวิต รวมถึงแหล่งที่อยู่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง ทั้งที่อยู่ตามผิวดิน ใต้ดิน หรือตามต้นไม้ สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้พวกมันหลีกเลี่ยงความตายไม่พ้น

พวกมันไม่ใช่ชีวิตที่น่าเอ็นดู หลายคนรังเกียจ

เกิดมาอย่างเงียบๆ และดูเหมือนความตายของพวกมันจะเงียบงันยิ่งกว่า

สัตว์จำนวนมากมายหลากชนิด อยู่ในสภาพนี้

แม้แต่ชีวิตซึ่งสวยงามอย่างผีเสื้อ

คนจำนวนไม่น้อยก็คิดว่า “ซาก” ของมัน สวยงามกว่าครั้งที่ยังมีโอกาสโบยบิน

 

ในช่วงฤดูฝน หนทางในป่า ไป-มาไม่สะดวก เส้นทางเละลื่นไถล รกทึบ เสียงไม้ครูดตัวรถ คือเรื่องปกติ

เดินทางเสียเวลาเป็นวันๆ รถติดหล่ม

แต่สิ่งทดแทน นอกจากความเขียวชอุ่มของป่าแล้ว ตลอดทางจะมีผีเสื้อจำนวนมหาศาล

ผีเสื้อตัวเล็กๆ สีเหลืองมอๆ ที่เราเรียกพวกมันว่า “ผีเสื้อสกุลเจ้าเณร” คือส่วนใหญ่ที่พบเห็นเสมอ

นอกจากนั้น ยามค่ำคืน หากท้องฟ้าใสไม่มีเมฆฝน

เบื้องบนมีดวงดาวส่องแสงระยิบระยับ

ด้านล่างก็จะมีความระยิบระยับจากแสงหิ่งห้อยเช่นกัน

ฤดูฝน แมลงต่างๆ จะวางไข่ หิ่งห้อยตัวผู้บินวนเวียน กะพริบแสงอวดตัวเมีย

ตัวผู้เป็นฝ่ายถูกเลือก ไม่ต่างกับสัตว์ชนิดอื่น ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่

ทุกเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่อยู่ในสถานภาพใด

ต่างล้วนมี “ผู้หญิง” อยู่เบื้องหลัง

 

ในเมืองไทย มีผีเสื้ออยู่ราว 700 ชนิด

บางชนิดดูธรรมดาๆ บางชนิดสวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ ว่าจะสวยและมีรายละเอียดได้ถึงเพียงนี้

คล้ายกับว่า ความสวยงามนี่เองทำให้ชีวิตผีเสื้อ เรียกได้ว่า “มีกรรม”

ความสวยงามของพวกมันมักถูกนำมาเก็บไว้เพื่อ “ดูเล่น”

ร่างไร้ชีวิต สวยงามอย่างน่าพิศวง

หลายชนิดนักสะสมยินดีทุ่มเงินจำนวนมากแลกมา

แน่นอนว่า นั่นจะเป็นผีเสื้อที่หาไม่พบแล้วในถิ่นที่พวกมันเคยอยู่

อายุผีเสื้อสั้นมาก มีเวลาไม่กี่วันในการโบยบิน

“ถึงอย่างไรมันก็ตาย” หนึ่งในเหตุผลที่นักสะสมใช้

มีความจริงอยู่ว่า ในวงจรชีวิตสั้นๆ ของผีเสื้อ ถ้ามีโอกาสอยู่รอด หน้าที่คือช่วยต้นไม้ผสมพันธุ์

ในป่า หน้าที่นี้สำคัญยิ่ง

และธรรมชาติไม่ยินยอมให้ผีเสื้อมีมากเกินไป มอบหมายให้นกจาบคา ทำหน้าที่ดูแลควบคุม

วิธีบินของนกจาบคา มีลักษณะเดียวกับผีเสื้อ การขยับปีกในจังหวะเดียวกัน ทำให้การโผเข้าโฉบผีเสื้อขณะบินจึงไม่ค่อยพลาด

ผีเสื้อแต่ละชนิด ต่างดูดดมดอกไม้แตกต่างกัน รวมถึงเวลากลางคืน ที่ดอกไม้บางชนิดบาน ก็จะมีผีเสื้อกลางคืนออกมาทำงาน

ชีวิตสั้นๆ ราว 7 วัน ดูเหมือนจะมีความหมาย

00

ฤดูฝน หมุนเวียนมาทุกปี จากฤดูฝน ป่าล่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง และฝนก็จะกลับมาอีก

ฝนจากไป แต่จะย้อนกลับมา

ผีเสื้อเช่นกัน พวกมันจะมาพร้อมๆ กับฤดูฝน

แน่ล่ะ ย่อมไม่ใช่ผีเสื้อตัวเดิม แต่จะเป็นผีเสื้อชนิดเดียวกัน สีสันไม่ต่างกัน

ในโลกที่ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ คล้ายจะไม่สำคัญ โลกที่ชีวิตเหล่านี้ต้องเผชิญกับยาพิษ ยาฆ่าแมลง

อีกไม่นาน ถึงฤดูฝนจะกลับมา

บางทีอาจไม่มีแม้แต่ “เงา” ของผีเสื้อ

00

“กรรม” ของผีเสื้อ เกิดขึ้นเพราะความสวยงาม

โศกนาฏกรรมหลายเรื่องเกิดขึ้นเพราะความงาม

จำเป็นไม่น้อย ที่ต้องยอมรับว่า ผีเสื้อไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อมีความงามประดับโลก

ในป่า ในไร่ ในสวน ผีเสื้อมีประโยชน์

การเห็นสัตว์ป่าเพียงในแง่สวยงามน่ารัก

นี่คืออันตรายสำหรับพวกมัน

ความสวยงามน่ารัก หากไร้ชีวิต ก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้

00

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมพูดถึงบ่อยๆ คือวันที่มีโอกาสดีได้เห็นภาพการหยอกล้อระหว่าง ผีเสื้อสกุลเจ้าเณร กับ เสือดาว ตัวหนึ่ง

เป็นภาพที่ดูจะขัดแย้งมาก เสือคือสัญลักษณ์นักฆ่า ดุร้าย ส่วนผีเสื้อคือชีวิตอันบอบบาง

ได้เห็นการหยอกล้อ นับเป็นโชคดีที่ได้เห็นความเป็นจริง

ไม่นาน ผีเสื้อก็บินจากไป ทิ้งเสือดาวเงยหน้ามองตาม

ผมบันทึกภาพนั้นไว้มาก

แต่ไม่มีภาพไหนแสดงให้เห็นถึงการหยอกล้อ

ภาพที่ดีที่สุดคือ เสือดาวนั่งแยกเขี้ยวขาวอยู่ลำพัง

ผมเคยคิดว่า เพราะกรอบของภาพแคบเกิน หรืออาจเพราะผมอ่อนด้อยเกินไป จึงไม่สามารถถ่ายทอด “ความจริง” ออกมาให้คนอื่นเห็นได้

ถึงวันนี้ ผมเริ่มเข้าใจ

เสือนั่งแยกเขี้ยวขาวอยู่เพียงลำพัง

นั่นคงเป็น “ภาพ” ที่มันอยากให้คนเห็น

00

ในฤดูฝน บนเส้นทางในป่า เราเดินฝ่าเข้าไปในฝูงผีเสื้อซึ่งเกาะรวมกลุ่มอยู่บนพื้น เมื่อเข้าใกล้ ฝูงผีเสื้อโผบินกระจัดกระจาย

ผมนึกถึงผีเสื้อสวยงาม ที่ถูกเก็บรักษาซากไว้อย่างดี

เห็นผีเสื้อตัวเล็กๆ สีมอๆ โบยบินไปได้ทั่ว มีโอกาสใช้ชีวิตไปตามวิถี

พวกมันต่างกันเพียงสีสัน

หน้าที่ในธรรมชาติไม่แตกต่าง

“หน้าที่” ซึ่งคนควรจะได้เห็น