พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : กับดักเศรษฐกิจ ช่วงเศรษฐกิจถดถอย

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบโลกกำลังมีปัญหาปั่นป่วน เริ่มจากการเผชิญหน้าอย่างเงียบๆระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับตะวันออกแบบจีนและรัสเซีย ความขัดแย้งทางศาสนาในตะวันออกกลาง บานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองทั้งระหว่างนิกาย และในนิกายเดียวกันที่มีความเคร่งศาสนาต่างกัน ซึ่งปกติเกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองและชนชั้นปกครองเป็นนิกายอื่นแตกต่างจากคนส่วนใหญ่

ผลที่ตามมาคือผู้หนีภัยสงครามจำนวนมาก และการก่อการร้ายที่ปลอมตัวเข้ามาในกลุ่มของผู้หนีภัยสงครามโดยมีเป้าหมายที่ประเทศตะวันตก ทำให้เกิดกระแสต่อต้านคนต่างศาสนาและเชื้อชาติจนการเลือกตั้งในหลายประเทศผู้ที่ครองเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นกลุ่มขวาจัดที่นิยมการเหยียดผิวและเชื้อชาติโดยสร้างกระแสความกลัวขึ้นทั่วไป

ในส่วนของการเผชิญหน้าเงียบๆระหว่างสหรัฐฯและจีน ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุจริงอยู่ที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจ ต่อมาคือการควบคุมเส้นทางยุทธศาสตร์และการแสวงหาพันธมิตรในรูปแบบต่างๆ จนในที่สุดเมื่อสหรัฐฯเปลี่ยนผู้นำประเทศ ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้จึงทวีความเข้มข้นขึ้น

เป็นเวลานานแล้วที่โลกมีความสงบ มีเพียงสงครามตัวแทนในพื้นที่ต่างๆเท่านั้น แต่ก็สามารถยุติลงได้หลังสงครามเย็น เปลี่ยนจากปัญหาความมั่นคงมาเป็นการแข่งขันและร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่แล้วเมื่อมีการแย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น ในที่สุดความตึงเครียดก็เกิดขึ้นอีกครั้งในทุกๆที่บนโลกใบนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณถดถอย ประเทศต่างๆสะสมอาวุธเพื่อเตรียมใช้กำลัง พ่อค้าสงครามได้กำไรงดงาม และปัญหาเศรษฐกิจของทั้งโลกและของไทยวิ่งเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำครั้งใหญ่ หลังจากที่มีการแสดงผลมาเป็นระยะแล้ว

เศรษฐกิจถดถอยหมายถึง การหดตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะซบเซา ค่าเงินตกต่ำ เหมือนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่คนต้องต่อคิวเข้าแถวกันซื้ออาหารและมีคนตกงาน ยากจนจำนวนมาก ภาวะสุดขั้วเช่นนั้น ได้รับการแก้ไขโดยการเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากเดิมที่เรียกว่าแบบคลาสสิคคือปล่อยให้ระบบตลาดทำหน้าที่ไปเองและเชื่อว่าจะมีการปรับตัวเข้าสู่จุดดุลยภาพในที่สุด แต่เมื่อเศรษฐกิจหดตัวมากเกินกว่าจะรองรับได้ถึงจุดหนึ่งจะเกิดการหดตัวต่อเนื่องกันไปจนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกตลาดเอง

แนวทางที่รัฐบาลต่างๆเลือกใช้ในภาวะเศรษฐกิจหดตัวเช่นนี้ปกติมี ๒ รูปแบบคือการใช้วินัยการเงิน การคลังอย่างมากเหมือนที่ไทยเคยทำมาสมัยหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี ๔๐ หรือสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง รอคอยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเอง ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ได้ผลและจะส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำซ้ำลงไปอีกเพราะเมื่อตัดการใช้จ่ายลงเศรษฐกิจก็ยิ่งหดตัวมากตามไปด้วย แม้ว่าจะมีสินค้าวางอยู่มากมายแต่ก็ไม่มีใครซื้อหรือไม่มีเงินพอจะซื้อ หรือกลับกันสินค้าจำเป็นต่างๆกลายเป็นหายาก ต้องใช้เงินจำนวนมากจึงจะพอซื้อของได้เล็กน้อยเพราะเงินหมดค่าลง

ในอีกรูปแบบหนึ่งที่แยกเป็น ๒ สายคือ ทางแรกเอาทรัพยากรและการลงทุนภาครัฐให้กับผู้มีกำลังได้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่และเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้จะจ้างงาน สร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ อีกสายหนึ่งกลายมาเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคือแบบของเคนส์ ได้แก่การที่รัฐบาลใช้งบประมาณลงไปทำกิจกรรมในระดับรากหญ้าให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แล้วเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ จากนั้นรายได้ในรอบแรกจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนๆไปหลายๆรอบ ยิ่งเงินที่รัฐบาลจ่ายลงไปตรงสู่มือระดับล่างได้เท่าไร อัตราการหมุนทางเศรษฐกิจจะมากขึ้นเท่านั้น

แต่ในสภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันมีเรื่องการเมืองและความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การผ่อนคลายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกลายมาเป็นการเป็นการปกป้องทางการค้าและการเผชิญหน้ากันทั้งการก่อการร้ายและแข่งขันกันทางด้านอำนาจส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ในส่วนของประเทศไทยภัยจากเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากปัญหาการเมืองภายในที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจหยุดและรอให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองก่อน เมื่อการได้เปรียบทางการค้าไม่เกิดขึ้น เงินเข้าประเทศก็ลดลง แม้จะมีดุลการค้าเกินดุลก็ตามแต่ก็อยู่ในอัตราลดลง ภาษีที่เก็บได้ก็จะลดลงตาม การขาดเงินจากดุลการค้าทำให้เศรษฐกิจหดตัว ส่วนการบริโภคภายในประเทศก็ชะลอตัวเนื่องจากระมัด ระวังในการใช้เงิน จากสัญญาณการไม่ลงทุนของภาคเอกชน ส่วนการทุ่มเงินภาครัฐในช่วงนี้นอกจากจะไม่เกิดผลดีแล้ว ยังส่งผลให้เงินจมหายไปเหมือนกับโยนก้อนหินลงน้ำ เพราะการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ไม่เกิดขึ้น เป็นเพียงการใช้จ่ายตามปกติเท่านั้นซึ่งมีขนาดเล็กกว่าภาคเศรษฐกิจทั้งหมดหลายเท่า และบวกกับนโยบายที่จะไม่ส่งเงินตรงลงสู่มือประชาชนระดับล่าง เนื่องจากใช้แนวทางพึ่งพา เกื้อหนุนธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้การจับจ่ายในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงน้อยลงไปอีก และยังส่งผลให้เงินคงคลังลดลงผิดปกติเพราะการลงทุนภาครัฐที่หวังจะให้เศรษฐกิจได้มีการขยายตัวและมีรายได้เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เกิดผลตามที่คาด เงินเข้าประเทศจึงมีเพียงภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นส่วนใหญ่เท่านั้นจึงทำให้ต้องใช้งบประมาณขาดดุล คือต้องกู้มาใช้จ่ายรวมแล้วประมาณ ๒ ล้านๆบาทดังที่ทราบกันแล้ว

สิ่งที่เป็นกับดักของรัฐบาลในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้คือ ไม่ว่าจะใช้การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างไร ก็ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภายนอกดังที่ทราบแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เงื่อนไขหลักเพราะประเทศอื่นๆในอาเซียนมีอัตราเจริญเติบโตที่น่าพอใจ สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวในกรณีของไทยที่ไม่ใช่ปัญหาจากภายนอกคือ เมื่อมีการจัดเก็บรายได้ลดลงมากและการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล ก็หมายความว่าทฤษฎีเศรษฐกิจทั้งแบบสนับสนุนบริษัทขนาดใหญ่และส่งทรัพยากรตรงลงไปสู่คนชั้นล่างแบบเคนส์ ไม่สามารถใช้ได้ผลในประเทศไทยแล้วกลายเป็นว่าติดกับดักตนเองอยู่เช่นนี้ไม่สามารถดิ้นออกจากปัญหาได้ และมีการซ้ำเติมปัญหาด้วยการเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ เพราะจนแต้มเนื่องจากมีการใช้จ่ายมากเกินตัวโดยไม่ระมัดระวังเท่าที่ควร การเก็บภาษีจะยิ่งทำให้การใช้จ่ายของประชาชนลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำในอัตราที่เร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าค่าเงินจะยังคงแข็งค่าอยู่เพราะมีเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศจำนวนมากเนื่องจากภาคเอกชนไม่ลงทุนเพิ่ม แต่ปัญหาอื่นๆเช่นการลดการใช้จ่ายของประชาชน ส่งผลให้รายได้รัฐลดลง ทำให้ต้องหาช่องทางเก็บภาษีเพิ่มเป็นงูกินหางไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือพ้นออกมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ นอกจากนั้นก็จะเหมือนจีนที่ธุรกิจต้องหนีตายออกไปลงทุนนอกประเทศ ส่งผลให้เงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศต้องลดลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีการลงทุนตรงจากภายนอกเข้ามา

ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ โดยที่ยังต้องหวังความช่วยเหลือจากภาวะเศรษฐกิจโลกด้วยคือการตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐในส่วนค่าใช้จ่ายประจำลงให้มากที่สุด อาจต้องลดเงินเดือนหรือค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลง และยังคงใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยย้ายจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นที่ปรึกษารัฐบาลอยู่ แล้วส่งตรงไปสู่ประชาชนระดับรากหญ้าให้มากที่สุด  ผ่อนคลายภาระภาษีให้มากที่สุด ทำให้เกิดกำลังใจในการจับจ่ายใช้สอยในผู้คนในจำนวนมากและขอบข่ายที่กว้างขวางที่สุดโดยหวังว่าการใช้จ่ายภายในประเทศจะยังมีผลเพื่อประคองให้ประเทศอยู่รอด แสวงหาเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศที่ไม่เสียเปรียบและสร้างงานได้ทันทีให้มากที่สุด

แนวทางนี้แม้จะดูไม่แตกต่างจากเดิม แต่การเปลี่ยนทิศทางจากการพึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ มาสู่ประชาชนโดยตรงและไม่ผ่านระบบราชการให้แท่งไอติมเหลือแต่ด้าม ความหวังที่จะประคองตัวต่อไปก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ตกลงในวังวนเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงเกินไป นี่เป็นทางออกจากกับดักที่ควรพิจารณาอย่างจริงจังในเวลานี้