โลกร้อนเพราะมือเรา : สวิสทำนายภัยร้าย

รายงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศและสวิตเซอร์แลนด์ 2050 ที่มี ดร.เคธี่ ริกกลิน เป็นบรรณาธิการ มีบทสรุปให้ผู้บริหารมองภาพอนาคตประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในอีก 33 ปีข้างหน้าซึ่งค่อนข้างเทน้ำหนักไปในทางร้าย

ผมเคยเล่าเรื่อง ดร.เคธี่ ประธานคณะที่ปรึกษาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ (ตอนที่ 57) เขียนในบทบรรณาธิการเล่าเรื่องราวสมัยเด็กๆ เมื่อ 45 ปีก่อนได้เล่นเลื่อนหิมะกลางถนนของเมืองซูริกในช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนักจนขาวโพลนแล้วตั้งข้อสังเกตว่า อนาคตคนรุ่นใหม่จะสัมผัสประสบการณ์เหมือนเธอหรือไม่

ดร.เคธี่ ระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 คนจากหลากหลายสาขา เช่น นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ของซูริก

นักพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยบาเซิล

นักฟิสิกส์มหาวิทยาลัยเบิร์น

ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน นักธรรมชาติวิทยา ฯลฯ

มาร่วมกันประชุมหารือ ทดลอง บันทึกและสังเคราะห์ข้อมูลจนออกมาเป็นรายงานฉบับนี้

 

ในรายงานระบุว่า ณ เวลานี้แม้ว่าชาวโลกช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษอื่นๆ แต่เป็นเพียงแค่บรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้แก้ไขกำจัดให้หมดสิ้น

ใน 33 ปีข้างหน้า ภาวะโลกร้อนจะเกิดผลกระทบกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทั้งทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมอย่างร้ายแรงแค่ไหนขึ้นกับการกระทำของชาวโลก

ถ้าในระยะ 10 ปีนี้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศยังไม่ลดลงอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้ คาดว่าครึ่งหลังของศตวรรษหน้าภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบในระดับรุนแรงมาก

รายงานชิ้นนี้ ตั้งสมมติฐานว่า อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นราว 2 องศาเซลเซียส หรืออาจเพิ่มช่วงระหว่าง 1-4 องศาเซลเซียสในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูหนาวและฤดูใบไม้ร่วง ส่วนฤดูร้อน อุณหภูมิจะเพิ่มระหว่าง 1.5-5 องศาเซลเซียส

จากสมมติฐานนำไปสู่การจำลองสถานการณ์ต่างๆ เช่น คาดว่าปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในฤดูหนาว ทำให้เกิดน้ำท่วม โคลนถล่ม ในฤดูร้อนอาจเกิดเหตุคล้ายๆ กัน อีกทั้งยังมีคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นรวมถึงภัยแล้งอีกด้วย

อนาคต ความต้องการใช้พลังงานความร้อนในฤดูหนาวจะลดลง ตรงกันข้ามฤดูร้อนความต้องการพลังงานเพื่อนำไปทำระบบความเย็นเพิ่มขึ้นสูงมาก

รูปโฉมของภาคพลังงานเปลี่ยนแปลง ผู้คนจะหันไปใช้เชื้อเพลิงเพื่อปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้า เกิดงานวิจัยพัฒนาด้านฉนวนกันความร้อนเพื่อนำไปติดตั้งกับตึกอาคารใหม่ๆ พร้อมกับการปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างให้เข้ากับยุคโลกร้อน

ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นและความเย็นที่ลดน้อยลงมีผลโดยตรงกับแม่น้ำลำธาร โดยเฉพาะในฤดูร้อน

โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้รับผลกระทบ ปริมาณการผลิตจะลดลง

เมื่อเกิดภัยแล้ง สวิตเซอร์แลนด์จะประสบปัญหาการแย่งชิงน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน เกิดภาวะตึงเครียดในภูมิภาค ระบบนิเวศน์และผู้ใช้น้ำ

เกษตรกรต้องการน้ำและเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น แนวโน้มรัฐบาลสวิสต้องวางนโยบายบริหารจัดการน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

ส่วนพลังงานหมุนเวียนเกิดแข่งขันสูงมาก ความต้องการใช้พลังงานปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

มีความเป็นไปได้ว่า โรงไฟฟ้าในสวิสอาจจะหวนกลับมาใช้เชื้อเพลิงยุคเก่าๆ เช่นไม้ เนื่องจากอุตสาหกรรมปลูกป่าเฟื่องฟู มีการปลูกต้นไม้มากเป็นสามเท่า

 

หันมามองผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมตลอดระยะ 50 ปี เห็นได้ชัดว่า มีระดับความรุนแรงเพิ่มมาตลอด ทั้งจากเหตุดินโคลนถล่มและน้ำล้นทะลักทำลายบ้านเรือนทรัพย์สินอย่างร้ายแรง

ปริมาณน้ำฝนในฤดูหนาวมีมากขึ้นแทนที่หิมะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมถี่บ่อย ทิศทางต่อไปรัฐบาลสวิสต้องหาทางป้องกันภัยน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เพื่อลดระดับความรุนแรงลง เช่น การจัดหาพื้นที่รับน้ำ

เมื่อเกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ส่งผลกระทบกับภาคประกันภัย บริษัทประกันภัยจะปรับเพิ่มค่าเบี้ยประกันสูงขึ้นรองรับความเสี่ยงและคิดหาโมเดลธุรกิจหรือแพ็กเกจประกันภัยใหม่ๆ ให้เข้ากับยุคโลกร้อน

ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน

ฤดูร้อนนักท่องเที่ยวแห่เที่ยวทะเลสาบหรือเทือกเขาเอลป์ แต่พอถึงหน้าหนาว นักท่องเที่ยวเบือนหน้าหนีภูเขาสูง เพราะปริมาณหิมะน้อยลง

ธุรกิจสกีรีสอร์ตจะอยู่ไม่ได้ต้องปิดตัวลง ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น รถไฟ กระเช้าไต่เขา มีรายได้ตกฮวบฮาบ

 

นักวิชาการของสวิสยังตั้งสมมติฐานกรณีอุณหภูมิโลกในอนาคตเพิ่มสูงไม่เกินกว่า 2 หรือ 3 องศาเซลเซียส จะเกิดผลดีกับภาคการเกษตร

ผลผลิตการเกษตรจะเพิ่มขึ้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นในชั้นบรรยากาศช่วยทุ่งหญ้าเจริญเติบโต ระยะเวลาปลูกพืชผักนานขึ้น ชาวปศุสัตว์ได้ประโยชน์จากโลกร้อน

อีกมุมหนึ่ง จะขาดแคลนน้ำในหน้าร้อนมีผลต่อพืชสวน ส่วนแมลงที่เป็นศัตรูพืชขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว รุมขย้ำทำลายผลผลิตการเกษตร

ในรายงานฉบับนี้ยังอ้างถึงเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อปี 2546 ชี้ให้เห็นว่าคลื่นความร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อผนวกกับโอโซนมีระดับความเข้มข้นมากขึ้น มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและประสิทธิภาพการทำงานของประชากรวัยทำงานลดลง ทำให้ภาคเศรษฐกิจโดยรวมกระทบด้วย

สวิสจึงจำเป็นต้องหามาตรการเหมาะสมเพื่อรับมือคลื่นความร้อน

อุณหภูมิยิ่งเพิ่มเท่าไหร่ ยุงยิ่งแพร่พันธุ์รวดเร็วเพิ่มขึ้น และยุงเป็นพาหะแพร่เชื้อโรค อย่างเช่น ไข้เวสต์ไนน์ ไข้เดงกี่ โอกาสที่ยุงกัดชาวสวิสและเกิดการระบาดของเชื้อจึงมีสูง

สวิตเซอร์แลนด์มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพืชพันธุ์นานาชนิด จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน พืชพันธุ์บางชนิดที่ไม่ชอบอากาศร้อนๆ ถ้าปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ได้ อาจจะหายสาบสูญไป

ตอนท้ายของรายงาน “การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและสวิตเซอร์แลนด์ 2050” ย้ำว่าแนวโน้มครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 จะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นกับการปล่อยก๊าซพิษของชาวโลก

ถ้าในระยะสิบปีจากนี้ไปยังควบคุมไม่ได้ ทุกประเทศไม่ใส่ใจ จะเกิดผลเลวร้ายอย่างมากโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทั้งกำลังคน กำลังเงินมากพอที่จะวางแผนป้องกันภัย “โลกร้อน” ล่วงหน้า

สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีความสามารถพอจะจัดการรับมือกับภาวะโลกร้อนได้ หากการปล่อยก๊าซพิษไม่ได้สูงจนทะลุเพดานที่สหประชาชาติกำหนดเอาไว้