หนุ่มเมืองจันท์ | พี่เป๋า

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“อาจารย์” ของผมในเรื่องการเขียนมีหลายคน

แต่ “อาจารย์” เรื่องการทำข่าวมีอยู่ 2 คน

คนหนึ่งคือ พี่ชลิต กิติญาณทรัพย์

อีกคนหนึ่งคือ “พี่เป๋า” ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์

2 คนนี้เป็น “บก.คู่” ของ “ประชาชาติธุรกิจ” ตอนที่ผมเริ่มเป็นนักข่าว

“พี่ชลิต” ค่อนข้างจะห้าว เสียงดัง

“พี่เป๋า” จะนิ่งๆ

แต่ภายใต้บุคลิกนิ่งๆ “พี่เป๋า” เป็นคนที่มีอารมณ์ขันมาก

ใจดี และใจเย็น

ผมชอบตอนที่ตาม “พี่ชลิต-พี่เป๋า” ไปสัมภาษณ์ “แหล่งข่าว” ที่มีข่าวเรื่องทุจริต

ลีลาการสัมภาษณ์ของ 2 คนนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“พี่ชลิต” เหมือน “ทนายความ”

ไล่ซักเหมือน “แหล่งข่าว” เป็น “จำเลย”

ไล่บี้ ขยี้ทุกเม็ด

เพื่อค้นหา “ความจริง”

แต่ “พี่เป๋า” จะนั่งหน้านิ่งๆ

พยักหน้าเป็นระยะ

พอ “แหล่งข่าว” ตอบคำถาม “พี่ชลิต” จนจบสิ้นกระบวนความ

“พี่เป๋า” จึงค่อยถาม

สั้นๆ ประโยคเดียว

“แล้วจริงๆ เป็นอย่างไรครับ”

แม้จะถามด้วยเสียงนุ่มๆ สุภาพ

แต่ความหมายก็คือที่พูดทั้งหมด “ไม่จริง”

“แล้วจริงๆ เป็นอย่างไรครับ”

เหมือน “มีดสั้น” ของ “ลี้คิมฮวง”

สะบัดทีเดียวเสียบลำคอเลยครับ

“พี่เป๋า-พี่ชลิต” เป็น 2 ใน 4 ขุนพลที่โยกมาจาก “มติชน” เพื่อกอบกู้ “ประชาชาติธุรกิจ”

เพราะตอนนั้นกองบรรณาธิการชุดเก่ายกทีมออกเพราะความเห็นไม่ตรงกัน

อีก 2 คนคือ “พี่โต้ง” ฐากูร บุนปาน

และ “พี่แหม่ม” สุมิตรา จันทร์เงา ที่เสียชีวิตไปแล้ว

ทั้ง 4 คนถือเป็น “ผู้กล้า” ที่แท้จริง

เพราะแต่ละคนไม่มีพื้นฐานข่าวธุรกิจเลย

ตอนที่ผมเข้ามากองบรรณาธิการ “ประชาชาติธุรกิจ” ยังมีนักข่าวไม่กี่คน

ตอนประชุมข่าวหน้า 1 ทุกคนยังเข้ามาร่วมประชุมได้

สุมหัวช่วยกัน

บรรยากาศช่วงนั้นสนุกมาก

ด้านหนึ่ง คือ “งานหนัก”

ทุกคนต้องช่วยกัน

แต่อีกมุมหนึ่ง นี่คือ “โอกาส” ของการเรียนรู้

อยากทำอะไรก็ได้ทำ

นักข่าวใหม่อย่างผมสามารถช่วยพาดหัวข่าวได้

ทำข่าวโต๊ะอุตสาหกรรม แต่มีข่าวด่วนเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสายข่าวก็ได้ไปทำข่าว

ได้เรียนรู้ข่าวสายอื่นๆ

พื้นที่ว่างบนกระดาษมากมาย

ผมพอเขียนสกู๊ปได้ พี่ๆ ก็จะให้ “โอกาส” เขียนสกู๊ปเป็นประจำ

ช่วงปีใหม่ที่ไม่มีโฆษณา

บางทีต้องเขียนสกู๊ปเรื่องหนึ่ง 2 หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์

ทำอย่างไรเรื่องจึงจะน่าอ่าน

จะเล่นกับพื้นที่ว่างมากมายขนาดนี้อย่างไร

ทำให้ผมรู้จักการวางโครงเรื่อง การแยกล้อมกรอบ หรือการหารูปและคำอธิบายใต้ภาพเพื่อช่วยส่งเรื่องให้น่าอ่านขึ้น ฯลฯ

เป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้เรื่อง “การเขียน” มากที่สุด

การได้ทำงานเยอะ อาจมองว่า “งานหนัก”

หรือเป็น “โอกาส” ของ “การเรียนรู้”

อยู่ที่ “มุมมอง”

ผมโชคดีที่มี “ต้นแบบ” อย่าง “พี่ชลิต” และ “พี่เป๋า” ให้เลียนแบบ

เพราะทั้งคู่ทำงานหนัก

เมื่อ “หัว” ทุ่มเท

“หาง” ก็บ่นอะไรไม่ได้

“พี่เป๋า” เป็นคนเขียนหนังสือดี

ภาษาเรียบๆ แต่กระชับและคลุมความได้ครบถ้วน

ผมชอบตอนที่ “พี่เป๋า” เขียน “คำนำ” หรือการสรุปภาวะเศรษฐกิจประจำปี

ข้อมูลมากมาย แต่ “พี่เป๋า” สามารถย่อยให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ ได้อย่างน่าอ่าน

เป็นความสามารถพิเศษที่ผมอิจฉา

ที่สำคัญก็คือ เขียนเร็วมาก

และต้นฉบับแทบไม่มีการแก้ไขเลย

แสดงว่าความคิดเป็นระบบมาก

คิดดูสิครับ ท่ามกลางกองบรรณาธิการที่มีเสียงรับข่าวทางโทรศัพท์

และตะโกนสั่งการข้ามไป-มา

“พี่เป๋า” สามารถนั่งนิ่งๆ เรียบเรียงข้อมูลมากมายบนโต๊ะ

พิมพ์ไปเรื่อยๆ

แป๊บเดียว ต้นฉบับเสร็จเรียบร้อย

“ความนิ่ง” ของ “พี่เป๋า” ไม่ใช่เพียงแค่ในการสัมภาษณ์นักข่าว

แต่ในวงเหล้า เขาก็นิ่งเช่นกัน

“พี่เป๋า” มีพลังดึงดูดคนที่เหมือนกันให้อยู่ด้วยกัน

วงเหล้าขาประจำของ “พี่เป๋า” สมัยอยู่กองบรรณาธิการ “ประชาชาติธุรกิจ”

คือ น้ายงค์ น้าตู่ และน้าอ๊อด

4 คนนี้สามารถคุยกันทาง “โทรจิต” ได้

นั่งกินเบียร์เป็นชั่วโมง

คุยกันเบาๆ ไม่กี่ประโยค

เหมือนกินเบียร์ในห้องสมุดเลยครับ

พอเบียร์หมดขวดก็สบตากัน

พยักหน้า

แล้วหันไปหาเด็กเสิร์ฟ

ชี้ไปที่ขวดเบียร์ แล้วชูนิ้ว 1 นิ้ว

ครับ สั่งเบียร์ ยังไม่ยอมออกเสียงเลย

เป็นวงเบียร์ที่คลาสสิคมาก

ไม่ว่าตำแหน่ง “พี่เป๋า” จะเปลี่ยนไป

จะใหญ่โตแค่ไหน

จะเป็น “ผู้จัดการทั่วไป” หรือ “กรรมการผู้จัดการ”

แต่ “พี่เป๋า” ก็ยังเป็น “พี่เป๋า” ของน้องๆ เสมอ

หลังจากผมออกจาก “มติชน” ไปได้ไม่นาน

ได้ข่าวว่า “พี่เป๋า” เป็น “มะเร็ง”

แต่เจอกันครั้งใด “พี่เป๋า” ก็ยังอารมณ์ดี

คุยเรื่อง “มะเร็ง” เป็นเรื่องสนุก

น้องคนหนึ่งบอกว่า มีอยู่วันหนึ่ง “พี่เป๋า” ไลน์มา

บอกว่า “วันนี้บุญหล่นทับ”

แล้วส่งรูป “เท้า” ตามมา

“เท้าบวม” ครับ

อีกครั้งหนึ่ง ส่งไลน์มาอีก

บอกว่า “โชคดีรวยเป็นล้าน”

แล้วส่งรูปศีรษะที่ล้านโล่ง เพราะผมร่วงจากการฉายรังสี

“พี่เป๋า” เผชิญหน้ากับ “มะเร็ง” แบบ “ไม่กลัว”

ยังมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ

เขาทำให้ “มะเร็ง” น่ารักขึ้น

ไม่น่ากลัวเหมือนที่เคยได้ยิน

ช่วง 2 เดือนก่อน “พี่เป๋า” เรียกน้องฝ่ายบุคคลไปพบที่บ้าน

ฝากให้ช่วยเตรียมการเรื่องงานศพล่วงหน้า

ทุกอย่างกำหนดไว้เรียบร้อย

วัดไหน จะทำอะไรบ้าง

พวงหรีดไม่รับ

ซองไม่เอา

เขียนประวัติตัวเองที่จะอ่านในงานศพ

และกำหนดตัวคนอ่านล่วงหน้า

ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับคนที่เคยฟันฝ่ามาด้วยกัน

“พี่เป๋า” ขอให้ “พี่ชลิต” เป็นคนอ่านครับ

วันนี้ “พี่เป๋า” ไปอยู่บนฟ้าแล้ว

คงนั่งนิ่งๆ จิบไวน์คุยกับเทวดา

ฟังเทวดาเล่าเรื่องราวบนสวรรค์

พอเทวดาเล่าจบ

“พี่เป๋า” คงถามสั้นๆ แบบเดิม

“แล้วจริงๆ เป็นอย่างไร”

คิดถึง “พี่เป๋า” ครับ