เด็กเก็บบอล : อาเซียนจัดฟุตบอลโลก เป็นไปได้หรือแค่เพ้อฝัน!

ขอออกมายอมรับโดยตรงเลยว่า พลันที่ได้ยินว่าประเทศไทยกำลังจะจับมือกับอีก 4 ชาติอาเซียน เพื่อขอเสนอตัวการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 ในใจก็คิดมาเลยทันทีว่า “เล่นบ้าอะไรกันอีกแล้วเนี่ย”

เรื่องนี้ต้นเรื่องมาจากความคิดของ “นายดอน ปรมัตถ์วินัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้เสนอ “บิ๊กตู่” “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ร่วมกับประชาคมอาเซียนประกาศจุดยืนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ใน 15 ปีข้างหน้า

จากนั้นล่าสุดในที่ประชุม “รัฐมนตรีกีฬาอาเซียน” ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ผ่านมา เรื่องนี้ถูกยกเข้ามาคุยกันในที่ประชุมอีกครั้ง และมีการเริ่มอนุมัติให้ 5 ชาติได้แก่ “ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม” และ “อินโดนีเซีย” ร่วมกันจัดทำข้อมูลทางเทคนิค ในการจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี ค.ศ.2034 พร้อมกับให้ประเทศไทยเป็นแกนนำหลัก

โดยทาง “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตอบรับมติที่ประชุมว่าประเทศไทยมีความยินดีและเห็นชอบตามมติที่ประชุมอย่างดี

อย่างไรก็ดี ต้องนำผลการประชุมครั้งนี้ไปนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีของไทยทราบและให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนอีกครั้งหนึ่ง

 

การจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ใครๆ ก็สามารถจะยื่นขอจัดได้นะครับ การจะเป็นเจ้าภาพ คุณต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสนามแข่งขัน, โรงแรมที่พัก, สนามฝึกซ้อม หรือแม้แต่การคมนาคมก็ตาม

อีกทั้งนี่คือการเป็นเจ้าภาพร่วม ไม่ใช่ร่วมธรรมดา แต่ร่วมกันถึง 5 ประเทศ มันมีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะการเตรียมงานทุกอย่าง ไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่คือความพร้อมของทั้ง 5 ประเทศ ที่ต้องพร้อมแบบพร้อมเพรียงกัน ห้ามมีใครแตกแถวแม้แต่ประเทศเดียว ไม่งั้นทุกอย่างที่ทำกันมาจะพังลงหมด

ในอดีตที่ผ่านมานั้น มีการเป็นเจ้าภาพร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลกมาแล้วครั้งหนึ่ง นั่นก็คือฟุตบอลโลก ฉบับเอเชีย เมื่อปี 2002 ที่ “ญี่ปุ่น” กับ “เกาหลีใต้” เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

ครั้งนั้นต้องยอมรับว่าทั้ง 2 ชาติมีความพร้อมอย่างมากในการจะเป็นเจ้าภาพ ไม่ว่าเรื่องสนามแข่งขันที่มีมากให้เลือกใช้แบบที่ไม่จำเป็นต้องสร้างกันใหม่เยอะแยะ

ส่วนครั้งต่อไปที่จะมีการเป็นเจ้าภาพร่วม ก็คือฟุตบอลโลกในปี 2026 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะไปจัดกันในทวีปอเมริกาเหนือ ในการเป็นเจ้าภาพร่วมของ “สหรัฐอเมริกา, แคนาดา” และ “เม็กซิโก”

แต่ทว่าทั้ง 3 ประเทศนี้ ไม่จำเป็นจะต้องไปพูดถึงเรื่องความพร้อม เพราะแต่ละชาติมีดีกรีในการจัดการแข่งขันระดับฟุตบอลโลกมาแล้วทุกชาติ

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาแล้วเมื่อปี 1994 หรือเม็กซิโกนั้น เคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกันคือปี 1970 และ 1986 ส่วนแคนาดา อาจจะยังไม่เคยจัดฟุตบอลโลก (ชาย) แต่เคยจัดฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกมาแล้วเมื่อปี 2015 ดังนั้น ทั้ง 3 ชาติไม่ต้องไปพูดถึงเลยว่าพวกเขาพร้อมกันขนาดไหน

แต่ฟุตบอลโลก เวอร์ชั่นอาเซียน ที่เรากำลังคิดจะทำกันนั้น ทั้ง 5 ประเทศ ล้วนแล้วแต่ขาดประสบการณ์เหล่านี้แทบทั้งสิ้น โดยเราจะมาดูกันทีละส่วนว่าขาดอะไรกันบ้าง

 

แน่นอนว่าอันดับแรกเลยคือเรื่องของสนามแข่งขัน ฟุตบอลโลก ที่จะจัดขึ้นในปี 2034 จะมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 48 ทีม (ซึ่งจะเริ่มใช้งานจริงในฟุตบอลโลก 2026) อย่างน้อยจะต้องมีสนามแข่งขันราวๆ 16 สนามเป็นอย่างน้อย

ความจุของสนามแบ่งออกเป็น สนามที่จะใช้ในรอบแรกจนถึงรอบสอง ต้องมีความจุไม่ต่ำกว่า 40,000 ที่นั่ง จากนั้นในรอบก่อนรองชนะเลิศขึ้นไป จะต้องเป็นสนามระดับ 60,000 ที่นั่ง และรอบชิงชนะเลิศกับนัดเปิดสนาม จะต้องเป็นสนามที่มีความจุไม่ต่ำกว่า 80,000 ที่นั่ง

แต่ทว่า ถ้าหากมองจากภาพความเป็นจริงตอนนี้ จาก 5 ชาติที่จะร่วมกันเสนอตัวนั้น มีสนามที่มีความจุเกิน 40,000 กันสักเท่าไหร่

ตัวเลขก็คือ ไทยมี 1 สนาม, สิงคโปร์มี 1 สนาม, เวียดนามมี 1 สนาม, มาเลเซียมี 9 สนาม และอินโดนีเซียมีอยู่ 8 สนามด้วยกัน

ตีซะว่า จาก 5 ชาติ ต้องมีสนามที่มีความจุมากกว่า 40,000 ที่นั่ง คนละ 3-4 สนามด้วยกัน เท่ากับว่า ทั้งไทย, สิงคโปร์ และเวียดนาม อาจจะต้องสร้างสนามกันยกใหญ่เลย

 

ยิ่งประเทศไทย ที่จะเป็นโต้โผหลักในการจัดการแข่งขัน เชื่อว่าไทยต้องจองอย่างน้อยไม่พิธีเปิด ก็ต้องเป็นพิธีปิด ที่จะต้องใช้สนามของไทย ซึ่งต้องใช้สนามที่มีความจุไม่ต่ำกว่า 80,000 ที่นั่ง และตอนนี้ไทยยังไม่มีเสียด้วย

สนามของประเทศไทยที่มีความจุมากที่สุดก็คือ “ราชมังคลากีฬาสถาน” ที่มีความจุประมาณ 55,000 ที่นั่ง แน่นอนว่ามันไม่พอสำหรับการจัดพิธีเปิดหรือนัดชิงชนะเลิศแน่นอน ได้อย่างมากสุดอาจจะแค่รอบรองชนะเลิศ ที่อาจจะต้องปรับปรุงสนามขนานใหญ่ เพื่อให้มีความจุถึง 60,000 ที่นั่งอีกด้วย

เท่ากับว่า ถ้าหากประเทศไทยจะจัดนัดเปิดหรือนัดชิง จะต้องสร้างฟุตบอลสเตเดี้ยมแห่งใหม่ขึ้นมา พร้อมกับเป็นสนามที่มีความจุไม่ต่ำกว่า 80,000 ที่นั่ง หรือไม่งั้นก็อาจจะต้องยอมให้อินโดนีเซีย, มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ที่มีสนามที่พร้อมกว่า ได้รับเกียรติในการจัดพิธีเปิดกับนัดชิงชนะเลิศไป

แค่นั้นยังไม่พอ เพราะสร้างมา 1 สำหรับไทยก็ยังถือว่าขาดอีก 2 สนาม ในระดับ 60,000 ที่นั่ง 1 สนาม และ 40,000 ที่นั่งอีกสนาม

แล้วประเด็นหนึ่งที่สำคัญเลย ใครจะเป็นคนสร้าง สร้างแล้วนอกจากการจัดฟุตบอลโลก จะสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง จะมีสโมสรมารับไปเป็นสนามเหย้าของตัวเองไหม หรือจะเป็นสนามเหย้าของ “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย จะมีแมตช์ลงพอที่ทำให้สนามมันได้ใช้งานตลอดหรือไม่

 

และการจะสร้างสนาม ก็ต้องมาอิงกับเรื่องของการคมนาคมด้วย เพราะเมืองที่จะจัดฟุตบอลโลกได้ ก็ต้องมีสนามบินที่ไม่ห่างจากสนามแข่งขันมากนัก และสามารถรองรับผู้โดยสารในแต่ละวันได้ไม่ต่ำกว่า 1,450 คน

สนามบินในประเทศไทยนั้น ที่สามารถรองรับผู้คนได้มากขนาดนี้ก็มีเพียงแค่สุวรรณภูมิกับดอนเมืองเท่านั้น ดังนั้น หากจะสร้างสนามก็ต้องอยู่ในละแวกกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล หรือไม่งั้นหากจะไปต่างจังหวัด ก็ต้องมาอัพเกรดสนามบินกันอีก

ต่อมาก็เรื่องที่พัก แต่เรื่องนี้คิดว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับประเทศไทยเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าในกรุงเทพฯ มีโรงแรมให้พักในจำนวนที่สามารถรองรับการแข่งขันได้ แต่ประเทศอื่นๆ ล่ะ อาจจะมีทั้งพอและไม่พอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทุกชาติจะต้องปรับตัวและรับมือกัน

แล้วโรงแรมเองก็จะต้องอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสนามฝึกซ้อม หรืออยู่ในสถานที่เดียวกันได้จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

ซึ่งเรื่องของสนามซ้อม ก็คงไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยอีกเช่นกัน ถ้าหาก “ศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลแห่งชาติ” ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กำลังทำแผนในการสร้างเสร็จสมบูรณ์ก็จะอย่างน้อยหนึ่งที่ไว้รองรับ (และอาจจะได้ในเรื่องของที่พักนักกีฬา ที่อาจจะอยู่ได้มากกว่า 1 ประเทศ)

หรือศูนย์ฝึกที่ ม.กรุงเทพธนบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถเก็บตัวฝึกซ้อมได้ หรืออาจจะเป็นโรงแรมเลอ เมอริเดียน ที่ทีมชาติไทยเก็บตัวซ้อมบ่อยครั้ง หรือแคมป์บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ดังนั้น อาจจะตัดปัญหาข้อนี้ไปได้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคืองบประมาณในการจัดการแข่งขัน ย้อนไปเมื่อปี 2014 ที่ “บราซิล” เป็นเจ้าภาพ ใช้งบประมาณ 1.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35.38 หมื่นล้านบาท) หรือล่าสุดที่ประเทศรัสเซีย ก็ใช้งบประมาณไปทั้งหมด 1.18 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35.99 หมื่นล้านบาท)

ก็เข้าใจว่าฟุตบอลโลกคือรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีคนดูเฉลี่ยมากกว่า 3 ล้านคนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (1998-2018) หรือแม้แต่การชมทางโทรทัศน์หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่ฟุตบอลโลกรัสเซีย มีการสรุปข้อมูลว่า มีคนชมมากถึง 3.57 พันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศระหว่าง “ทีมชาติฝรั่งเศส” กับ “โครเอเชีย” ก็มีผู้ชมสูงถึง 1.12 พันล้านคน

ไม่นับถึงการปักหมุดภูมิภาคอาเซียนลงบนแผนที่โลก ให้คนรู้จักได้จากการเป็นเจ้าภาพมหกรรมระดับโลก แถมยังมีเม็ดเงินมหาศาลที่จะไหลเวียนเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ, การท่องเที่ยว, การบริการต่างๆ, ร้านอาหาร รวมถึงโรงแรม ซึ่งจะก่อให้เกิดอัตราการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นในระยะสั้นๆ

แต่การจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก มันควรจะทำเมื่อพร้อมหรือไม่ เราควรจะเตรียมตัวกันให้พร้อมก่อน ทั้งสนามแข่งขัน การวางผังเมืองต่างๆ แล้วค่อยไปเสนอตัว

ยิ่งดูคู่แข่งที่พร้อมจะยื่นเช่นกันอย่าง “จีน, อียิปต์, ซิมบับเว, ไนจีเรีย” หรือชาติที่ขอจัดร่วมอย่าง “ออสเตรเลีย” และ “นิวซีแลนด์”

ก็ขอสรุปสั้นๆ ตรงนี้เลยว่า มันคงเป็นได้เพียงแค่ความฝันเท่านั้นแหละ