ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | สงครามระหว่างรุ่น คือวาทกรรมเพื่อสืบทอดอำนาจชนชั้นนำ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่ขยันพูดเรื่องความปรองดอง

แต่ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของคุณประยุทธ์ก็แสดงทัศนคติที่เลือกข้างอย่างที่สุด

ครึ่งทศวรรษของระบอบประยุทธ์เป็นครึ่งทศวรรษแห่งการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวาง

เช่นเดียวกับเป็นยุคทองของการปูนบำเหน็จให้คนที่คุณประยุทธ์ถือเป็นพวกเดียวกัน

ตรงกันข้ามกับคำพูดของคุณประยุทธ์เรื่องเป็นนายกฯ เพื่อคนไทยทุกคน ห้าปีของคุณประยุทธ์คือห้าปีที่ใครเห็นต่างล้วนถูกคุกคามด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งทั้งสิ้น

ส่วนใครที่เป็นพวกคุณประยุทธ์ก็มักเติบโตในตำแหน่งราชการ, ถูกแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก หรือกรรมการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหลุดคดีด้วยวิธีที่พิสดาร

ขณะที่ปากคุณประยุทธ์ย้ำเรื่องความปรองดอง คนที่อยู่รอบคุณประยุทธ์ล้วนเป็นคนที่สร้างความขัดแย้งทั้งในอดีตและปัจจุบันมาแล้ว

รัฐมนตรีหลายคนเป็นแกนนำม็อบล้มเลือกตั้งปี 2557, วุฒิสมาชิกหลายรายมีส่วนในรัฐประหาร 2549 และข้าราชการที่ได้ดิบได้ดียุคนี้ก็เป็นคนที่มีพฤติกรรมแบบนั้นเหมือนกัน

ห้าปีของคุณประยุทธ์ทำให้ประเทศไทยเกิดเครือข่ายของทหาร-นักการเมือง-นักธุรกิจ-วุฒิสมาชิก-นักวิชาการ-สื่อ ฯลฯ ซึ่งประกอบเป็น “ระบอบประยุทธ์” ที่ยึดกุมตำแหน่งสาธารณะแทบทั้งหมด รัฐและกลไกรัฐจึงเอียงข้างจนการที่ข้าราชการระดับสูงเลือกข้าง (Political Partiality) เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา

ด้วยวิธีที่ระบอบประยุทธ์แผ่อิทธิพลในปัจจุบัน เรากลายเป็นประเทศที่โดยเนื้อแท้อยู่ในระบบอุปถัมภ์นิยม (Favoritism) ซึ่งวางอยู่บนสังวาสของพวกพ้องนิยม (Cronyism) และเครือญาตินิยม (Nepotism)

ตำแหน่งสาธารณะจึงถูกจัดสรรให้พวกพ้องที่ทำประโยชน์ให้เสมอ หรือไม่ก็คือคนที่เป็นญาติพี่น้องกันไปเลย

ในเวลาที่ประเทศปกครองด้วยเผด็จการทหารอย่างสมบูรณ์ พวกพ้องและเครือญาติของผู้มีอำนาจในระบบอุปถัมภ์นิยม (Favoritism) มักถูกปูนบำเหน็จเป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น

แต่ทันทีที่เผด็จการทหารคลายตัวลง คนเหล่านี้ย่อมเผชิญสถานการณ์ที่อำนาจและอิทธิพลเปลี่ยนแปลงไป

กองทัพเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์นิยมของระบอบประยุทธ์มากที่สุด เพราะห้าปีนี้กองทัพได้งบประมาณโดยทำเรื่องขอรัฐบาลที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร จากนั้นรัฐบาลก็เสนองบไปขอการรับรองจากสภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น การจัดงบฯ จึงเป็นเพียงพิธีจัดเงินให้พวกเดียวกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่างบประมาณคือที่มาของรายได้ที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยของกลุ่มนายพล

เมื่อใดที่การจัดสรรงบฯ กระทำไปโดนคนกลุ่มเดียวกัน คนกลุ่มนี้ย่อมมีโอกาสมั่งคั่งขึ้น

ระบบการเมืองที่งบประมาณต้องเข้าสภาผู้แทนฯ จึงเป็นฝันร้ายของคนกลุ่มนี้ เพราะจะทำอะไรก็เผชิญการตรวจสอบตลอดเวลา

คุณอภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นทหารที่มีอิทธิพลและ “เครือข่าย” ตั้งแต่ยังไม่เป็น ผบ.ทบ.ยิ่งกว่า ผบ.ทบ.หลังรัฐประหารทุกคน

แต่ในเมื่อคุณประยุทธ์ถูกบีบจนต้องจัดเลือกตั้ง คุณอภิรัชต์ก็เป็นนายพลที่โชคร้ายกว่ารุ่นพี่ทุกคนที่เคยอยู่ตำแหน่งนี้ เพราะอำนาจและอิทธิพลถูกจำกัดด้วยกฎหมายและบรรยากาศประเทศกว่าที่ผ่านมา

หนึ่งปีที่คุณอภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ. คือหนึ่งปีแห่งการโจมตีนักการเมือง และนับตั้งแต่วันแรกที่คุณอภิรัชต์เปรียบเปรยถึงพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ช่วงเลือกตั้งว่า “หนักแผ่นดิน”

จนล่าสุดที่เปิดประเด็นซึ่งใครๆ ฟังก็รู้ว่าด่าธนาธรและใส่ร้ายฝ่ายค้าน

ทิศทางที่คุณอภิรัชต์แสดงออกก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

ถ้าคำนึงว่าคุณอภิรัชต์ตั้งต้นโดยวิธีกระทบกระเทียบให้บางพรรคฟังเพลงหนักแผ่นดิน

จากนั้นพอเดือนสิงหาคมก็กล่าวหาว่าบางพรรคใช้เฟกนิวส์ปลุกปั่นประเทศ

และพอถึงเดือนตุลาคมก็จัดเวทีให้ตัวเองบรรยายโจมตีพรรคการเมืองและคนรุ่นใหม่

ความต่อเนื่องทั้งหมดนี้ชี้ว่าคุณอภิรัชต์ยกระดับปฏิบัติการตลอดเวลา

คนที่มีสติสัมปชัญญะไม่มีทางเชื่อข้อกล่าวหาที่คุณอภิรัชต์ยัดเยียดว่าคนรุ่นใหม่เป็นคอมมิวนิสต์อย่างเลื่อนลอย

เพราะนอกจากคอมมิวนิสต์ในแง่ขบวนการและประเทศจะหมดจากโลกไปกว่าสามสิบปี ประเทศไทยยุค คสช.ก็ดำเนินนโยบายโหนจีนคอมมิวนิสต์จนถูกครหาว่า “ตามก้น” ต่อเนื่องจนปัจจุบัน

คำถามคือทำไมคุณอภิรัชต์หมกมุ่นกับการโจมตีคนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างที่ไม่เคยมีผู้บัญชาการทหารคนไหนทำมาก่อนเลย?

คำตอบที่ง่ายที่สุดคือคุณอภิรัชต์โจมตีคนรุ่นใหม่เพราะโกรธที่ไม่มีใครนับถือต่อไป

แต่ที่จริงกองทัพไม่ใช่สัญลักษณ์ของความก้าวหน้าหรือวิวัฒนาการด้านสติปัญญา

ความยอมรับต่อกองทัพจึงเป็นปรากฏการณ์ซึ่งเกิดในเวลาที่มีอะไรผิดปกติ การไม่เป็นที่นับถือจึงไม่ควรเป็นเหตุให้คุณอภิรัชต์เกรี้ยวกราดแต่อย่างใด

ไม่ว่าจะในสังคมโลกหรือสังคมไทย กองทัพจะมีบทบาทโดดเด่นในเวลาที่ชาติเผชิญศัตรูจนสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตเท่านั้น

ความยอมรับที่คนไทยมีต่อกองทัพในอดีตเกิดขึ้นในเวลาที่ประเทศเผชิญภัยคุกคามจากอาณานิคมภายนอก หรือไม่ก็คือการปราบปรามสิ่งที่เรียกว่า “ความไม่สงบภายใน” เท่านั้นเอง

สังคมไทยยุคที่กองทัพมีบทบาทสูงสุดคือยุคที่มีคอมมิวนิสต์คุกคามความมั่นคง

และในเมื่อคอมมิวนิสต์เผชิญหน้ากับสามสถาบันหลักของชาติ โอกาสที่กองทัพจะใช้คอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้างระดมความสนับสนุนเพื่อปกป้องสถาบันก็สูงขึ้นด้วย การมีอยู่ของคอมมิวนิสต์จึงทำให้กองทัพทรงอิทธิพลตลอดเวลา

คุณอภิรัชต์เป็นผู้บัญชาการทหารบกในเวลาที่ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อกองทัพอย่างรุนแรง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในองค์กรที่เผชิญปัญหานี้ย่อมต้องทบทวนว่าต้นเหตุของเรื่องนี้คืออะไร แต่ผู้นำที่ไม่ฉลาดอาจใช้วิธีด่าคนอื่นว่าโง่, ถูกหลอก, โดนปั่นหัว ฯลฯ

จนมองไม่เห็นว่าตัวเองมีอะไรที่ต้องปรับตัว

มีสาเหตุมากมายที่ทำให้คนไทยเสื่อมศรัทธากองทัพอย่างที่รู้กัน การรัฐประหารและใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจการเมืองของเผด็จการนายพลนั้นเป็นสาเหตุสำคัญแน่ๆ เพราะเท่ากับกองทัพขัดขวางอำนาจประชาชนไปด้วย เช่นเดียวกับเรื่องงบฯ ทหาร, อภิสิทธิ์ของนายพล, การเกณฑ์ทหาร ฯลฯ

แทนที่คุณอภิรัชต์จะเผชิญหน้ากับปัญหาซึ่งทำให้คนไทยรู้สึกต่อกองทัพเลวร้ายลง คุณอภิรัชต์กลับปลุกผีคอมมิวนิสต์เพื่อให้กองทัพสำคัญขึ้น ปัญหาคือยุทธวิธีนี้ไม่มีทางสร้างความยอมรับได้ เพราะประชาชนรู้ว่าผู้นำกองทัพพูดเท็จ

และความเท็จคือหลักฐานว่ากองทัพไม่จำเป็นต่อสังคมเท่าที่เคยเป็น

คุณอภิรัชต์โจมตีคนรุ่นใหม่ว่าปฏิเสธกองทัพเพราะถูกอาจารย์และคอมมิวนิสต์ปลุกระดม

แต่คำถามคือกองทัพวันนี้มีอะไรให้คนรุ่นใหม่ชื่นชมบ้าง

ผู้นำกองทัพที่ตั้งตัวเองเป็นผู้มีอำนาจการเมืองทำให้ตัวเองเป็นตัวตลกจนไม่มีอะไรให้นับถืออีกแล้ว

คนรุ่นใหม่หันหลังให้กองทัพเพราะการกระทำของกองทัพเอง

ด้วยความไม่สามารถยอมรับความจริงว่าคนรุ่นใหม่เสื่อมศรัทธากองทัพเพราะอะไร การโจมตีที่คุณอภิรัชต์มีต่อคนรุ่นใหม่ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปอีก

เพราะขณะที่ “ไอดอล” ของคนรุ่นใหม่อย่างอนาคตใหม่เป็นตัวแทนความทันสมัย, ความรู้ และความเท่าทันโลก

คุณอภิรัชต์กลับไม่มีภาพแบบนี้แม้แต่นิดเดียว

ด้วยการนำเสนอตัวเองในเครื่องแบบพร้อมเหรียญตราที่คนไม่รู้ว่าคืออะไร

คุณอภิรัชต์สื่อกับคนรุ่นใหม่ว่าต้องฟังคุณอภิรัชต์เพราะมีตำแหน่งใหญ่กว่าเท่านั้น

ปัญหาคือตำแหน่งคุณอภิรัชต์ไม่มีความหมายกับคนจำนวนมากในสังคม

วิธีนำเสนอนี้จึงไม่มีความหมายมากกว่าการโหวกเหวกของลุงที่พูดอะไรก็ไม่มีคนฟัง

คุณอภิรัชต์เป็นตัวแทนคนรุ่นเก่าที่กังวลว่าอิทธิพลของตัวเองกำลังถดถอยลงไป แต่ที่จริงความถดถอยนี้มาจากความไม่สามารถแสดงให้สังคมเห็นถึงคุณค่ามากกว่าอะไรอื่น หนทางที่จะฟื้นฟูกองทัพได้ดีที่สุดจึงได้แก่การทำให้สังคมเห็นว่ากองทัพมีค่าสำหรับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ด่าทอและยัดเยียดให้ทุกคนกลัว

ตรงกันข้ามกับความเพ้อเจ้อของคนแบบคุณอภิรัชต์ว่าคนรุ่นใหม่กำลังทำ “สงครามระหว่างรุ่น” ในสังคมไทย

คนรุ่นใหม่ในประเทศนี้คือสุจริตชนที่ไม่ได้คิดร้ายกับประเทศทั้งสิ้น เขาอาจมีความเชื่อทางการเมืองต่างจากผู้มีอำนาจ เลือกพรรคที่ต่างกัน แต่นั่นไม่ใช่สงครามระหว่างรุ่นบ้าๆ บอๆ ที่ผู้มีอำนาจพูดเลย

พูดอย่างตรงไปตรงมา ต้นตอของปัญหาในสังคมไทยได้แก่เครือข่ายอุปถัมภ์ที่บริหารประเทศตามระบบพวกพ้องและเครือญาติอย่างถึงที่สุด

คนเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าไม่มีทางสร้างประเทศจากคนรุ่นใหม่ได้ คนรุ่นเก่ายึดครองประเทศไม่รู้จบ และวี่แววของการอยู่ร่วมกันแบบรับฟังกันยังไม่มีให้เห็นเลย

ถึงที่สุดแล้ว “สงครามระหว่างรุ่น” คือวาทกรรมที่คุณอภิรัชต์และคนที่คิดแบบนี้สร้างเพื่อกำราบคนรุ่นใหม่ ไม่มีใครคิดทำอะไรกับคนรุ่นเก่า มีแต่คนรุ่นเก่าที่โกรธแค้นเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ทำตามที่กำหนด

ปัญหาของประเทศคือคนรุ่นเก่าต้องการยึดประเทศ ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศสืบไป