1 สัปดาห์ “โดนัลด์ ทรัมป์” เขย่าวอชิงตัน สะเทือนทั่วทั้งโลก!

AFP PHOTO / NICHOLAS KAMM

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ใช้ช่วงเวลาสัปดาห์แรกในการครองอำนาจ โจมตีบรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์ ขุด “ความจริงทางเลือก” ขึ้นมานำเสนอ สร้างความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในเรื่องความคิดเห็นของสาธารณชน และทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ว่าจะสั่นสะเทือนวอชิงตัน

1 สัปดาห์ในยุคของทรัมป์ เกิดกรณีสะท้อนกลับทางการเมืองอย่างรุนแรงในวอชิงตัน

เพียงแค่ราว 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ คนนอกที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งมาก่อนเดินทางมาที่เมืองนี้ 7 วันต่อมา ค่านิยมและหลักการที่กำหนดทิศทางของสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาหลายทศวรรษกำลังถูกทบทวนใหม่

การรื้อทุกสิ่งทุกอย่างของทรัมป์เริ่มต้นด้วยสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่กระตือรือร้น นั่นคือการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความแตกต่างในรูปแบบเก่าระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา

“วันนี้เราไม่ได้แค่เพียงถ่ายโอนอำนาจจากฝ่ายบริหารชุดหนึ่งไปยังอีกชุดหนึ่ง หรือจากพรรคหนึ่งไปสู่อีกพรรคหนึ่ง” นายทรัมป์กล่าว

“แต่เรากำลังถ่ายโอนอำนาจจากวอชิงตัน ดี.ซี. และส่งต่อกลับให้พวกคุณ ประชาชนทุกคน”

AFP PHOTO / DON EMMERT

กลุ่มชนชั้นสูงผู้ทรงอิทธิพลในเมืองใหญ่ๆ ในการเมือง และในสื่อ ไม่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ รอบรู้ที่มีส่วนในการบริหารประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้อีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขาคือศัตรู

ประธานาธิบดีคนใหม่ยังส่งสัญญาณเตือนไปทั่วโลกอีกด้วย

ในช่วงเวลา 75 ปีที่ผ่านมา อเมริกาเป็นสิ่งที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา อธิบายว่า “เป็นประเทศที่ขาดไม่ได้” ในการเป็นกาวที่ติดยึดระเบียบโลกเข้าด้วยกัน

ยุคของทรัมป์จะเป็นยุคที่ “อเมริกาต้องมาก่อน” โดยแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไม่ปกปิด และการทูตที่มีแพ้-ชนะ พันธมิตรเก่าจะถูกประเมินค่าใหม่ และจะมีการเสาะหาชาติพันธมิตรใหม่ๆ

ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเดินทางเข้ามายังห้องทำงานรูปไข่ ทีมยุทธศาสตร์ของทรัมป์ตัดสินใจว่าจะใช้ช่วงสัปดาห์แรกๆ ออกคำสั่งผู้บริหารอย่างต่อเนื่องเป็นรายวัน

เป้าหมายคือเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียสมดุล สร้างภาพลักษณ์ว่าทรัมป์เป็นคนลงมือทำจริง และตอบสนองความกระหายต่อความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้สนับสนุน

สำหรับคนส่วนใหญ่ทางตอนกลางของสหรัฐแล้ว โลกาภิวัตน์ การนำเครื่องจักรมาใช้ทำงานแทนคน และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ถือเป็นหายนะ

พวกเขาถูกการเมืองเมินเฉย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังรู้สึกว่าถูกบดขยี้จาก “กลุ่มชนชั้นนำที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง” ใน “สงครามวัฒนธรรม” ของอเมริกาในประเด็นเรื่องการทำแท้ง สิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศ ผู้อพยพ ภาวะโลกร้อน และศาสนา

ทรัมป์เอาชนะการเลือกตั้งโดยให้สัญญากับคนกลุ่มนี้ว่า จะเป็นปากเป็นเสียงให้พวกเขา และเขากำลังทำเช่นนั้น

AFP PHOTO / Bryan R. Smith

ในเรื่องส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริหารสูงสุดรายนี้ผลักดันมาตรการที่ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนไหนๆ ในประเทศนี้ก็คงจะทำ ทั้งการยกเลิกเงินสนับสนุนกองทุนสำหรับการทำแท้ง ส่งเสริมสนับสนุนกองทัพ และอนุมัติโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน

แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เคลือบฉาบไปด้วยวาทกรรมชาตินิยมและประชานิยมที่หนาเตอะ และเสริมเข้ามาด้วยนโยบายของ สตีฟ แบนนอน หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของทรัมป์

ทรัมป์ฉีกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ออกแบบมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคทิ้งไป สั่งห้ามรับผู้อพยพจากซีเรียอย่างไม่มีกำหนด และระงับการออกวีซ่าให้พลเมืองจากประเทศมุสลิม 7 ชาติ

เขาสั่งให้เริ่มต้นสร้างกำแพงกั้นชายแดนทางตอนใต้ของประเทศด้านที่ติดกับเม็กซิโก และเลือกที่จะเผชิญหน้ากับประธานาธิบดี เอ็นริเก เปนญา นีเอโต ของเม็กซิโกอย่างเปิดเผย จนฝ่ายหลังประกาศยกเลิกการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อหารือกับทรัมป์ เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้อพยพ ตอนนี้ตั้งใจที่จะปิดประตูบ้านของตนเองแล้ว

นับตั้งแต่การได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีของ บารัค โอบามา หรือบางทีอาจตั้งแต่สงครามอิรัก ไม่มีครั้งไหนที่ภาพลักษณ์ของอเมริกาในสายตาชาวโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงเช่นนี้

แต่กลุ่มผู้สนับสนุนมองว่าทรัมป์เปลี่ยนแปลงเพื่อพวกเขาและสร้างปัญหาให้ชนชั้นนำ

“คุณควรจะต้องทำความคุ้นเคยกับเรื่องนี้” เคลลีแอนน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษาของทรัมป์กล่าว และว่า ทรัมป์กำลัง “สร้างความสั่นสะเทือนให้ระบบ”

และนี่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

AFP PHOTO / Brendan SMIALOWSKI

ทว่า ไม่ได้มีแต่แง่มุมในทางบวกสำหรับทรัมป์ ทำเนียบขาวยังห่างไกลจากคำว่าเข้าที่เข้าทาง โดยยังหาตัวผู้มาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ได้ไม่ครบ และกระบวนการตัดสินใจดูเหมือนจะเป็นไปตามอำเภอใจ

ผู้ช่วยของทรัมป์ถูกบีบให้ต้องพับเก็บข้อเสนอให้เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก 20 เปอร์เซ็นต์เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพง

และตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์เอาแต่แสดงความเดือดพล่านอย่างไม่ยับยั้งชั่งใจในเรื่องจำนวนคนที่มาเข้าร่วมพิธีสาบานตน การกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง และอ้างว่าถูกข่มเหง กลั่นแกล้ง รังแกโดยสื่อ

ในการสนทนาทางโทรศัพท์ส่วนตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ทรัมป์ตำหนิติติงเรื่องการรายงานข่าวของสื่อกับผู้ช่วยของตนเอง เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงผู้ชายคนหนึ่งที่สนใจภาพลักษณ์ของตนมากกว่าการบริหารประเทศ

ทรัมป์ยังดูเหมือนเป็นคนที่ก้าวขึ้นสู่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้โดยไม่มีเสียงชื่นชมมากเท่าไหร่นัก

อ้างอิงจากผลสำรวจของควินนิแพ็ก คะแนนความนิยมของทรัมป์หลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาครบ 1 สัปดาห์อยู่ที่ 36 เปอร์เซ็นต์

มินดี้ ฟินน์ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในนามผู้สมัครอิสระ สรุปยุทธศาสตร์ของทรัมป์ไว้ว่าเป็นการ “หว่านเมล็ดแห่งความโกลาหล ตอกย้ำความแตกต่างให้ร้าวลึก และยึดกุมอำนาจ”

สำหรับฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ ถึงตอนนี้คำถามคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำลายความเป็นประธานาธิบดี หรือตำแหน่งประธานาธิบดีทำลายตัวของ โดนัลด์ ทรัมป์ กันแน่?

เชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบเรื่องนี้อยู่ในใจแล้ว