คุยกับทูต ‘อาซิม อิฟติการ์ อาหมัด’ หยุดการปิดกั้น ขอให้ชาวแคชเมียร์เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง

คุยกับทูต อาซิม อิฟติการ์ อาหมัด หยุดการปิดกั้น ขอให้ชาวแคชเมียร์เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง (1)

เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวถึงแคชเมียร์ว่าเป็น “สถานที่ที่อันตรายที่สุดในโลก”

ด้วยความคิดที่ว่า อินเดียและปากีสถานต่างเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง

และความสุ่มเสี่ยงในข้อพิพาทระหว่างประเทศในแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ (Jammu & Kashmir: J&K) อาจนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบร้ายแรง

วันนี้มาตรการเข้มงวดของอินเดียในแคชเมียร์กำลังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ

เพราะเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียประกาศยกเลิกสถานะการปกครองตนเองของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35A และมาตรา 370

ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อสถานะความเป็นรัฐรูปแบบพิเศษของดินแดนแห่งนี้

ผู้คนในแคชเมียร์กว่า 8 ล้านคนได้อยู่ภายใต้การปิดกั้นการเดินทางเข้า-ออกดินแดนนี้ทั้งหมด โดยอินเดียได้ส่งทหารเข้ามาหลายหมื่นคน กลายเป็นพื้นที่ที่มีทหารหนาแน่นที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับประชากร

มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทหารและกลุ่มติดอาวุธ

การปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมถึงการระงับสัญญาณโทรศัพท์และบริการอินเตอร์เน็ต การขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค

คนหลายพันคนถูกจับกุมและควบคุมตัว

สิ่งที่ตามมาทำให้นึกถึงโลกของความคลั่งไคล้ ความเกลียดและกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) ที่นับวันมีแต่จะยิ่งเลวร้ายลง

กระตุ้นให้สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตลอดจนนักกฎหมายในโลกตะวันตกจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเลิกปิดบังความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในแคชเมียร์

สัปดาห์นี้ นายอาซิม อิฟติการ์ อาหมัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทยได้มาเปิดใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

“แคชเมียร์เป็นดินแดนที่มีข้อพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถานมาตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1947 และปัญหาแคชเมียร์ไม่ได้รับการแก้ไข คือความไม่ชัดเจนของพื้นที่ ในขณะนั้นไม่สามารถระบุได้ว่าแคชเมียร์ควรเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียหรือปากีสถาน เราได้ต่อสู้ในสงครามเพื่อแคชเมียร์ ปัญหาถูกนำไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council : UNSC) อินเดียเองก็นำเรื่องดังกล่าวไปสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเช่นกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 เป็นต้นมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติหลายประการในแคชเมียร์ (UNSC Resolutions)”

เมื่อปี ค.ศ.1947 อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่ทั้งสองชาติ ซึ่งนำมาสู่การแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองประเทศ คือ ประเทศอินเดียและประเทศปากีสถานตะวันตก-ปากีสถานตะวันออก โดยใช้เกณฑ์ของศาสนาเป็นตัวตั้ง

ประชาชนที่เป็นชาวฮินดูจะอยู่ที่ประเทศอินเดีย

ส่วนประชาชนชาวมุสลิมจะอยู่ประเทศปากีสถานตะวันตก หรือตะวันออกก็ได้

แต่แคว้นที่มีปัญหาคือแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งอังกฤษไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นของอินเดียหรือปากีสถานภายใต้การปกครองของ “มหาราชาฮารี ซิงห์”

ประชากรส่วนใหญ่ในดินแดนแคชเมียร์นับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่ต้องการให้อินเดียปกครอง แต่อยากจะเป็นเอกราชหรือไม่ก็เข้าร่วมกับปากีสถาน

มหาราชาเป็นชาวฮินดู ตัวมหาราชาจึงตัดสินใจที่จะไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ต้องเลือกอินเดีย

แม้มหาราชา ฮารี ซิงห์ ได้ลงนามในความตกลงเพื่อรวมตัวเข้ากับอินเดียแล้ว แต่ต่างฝ่ายต่างส่งกำลังทหารเข้าไปยังพื้นที่ของแคว้นแคชเมียร์อย่างต่อเนื่อง

จึงทำให้เกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งแรกขึ้นในปี 1947 ทำให้ 1 ใน 3 ของแคว้นแคชเมียร์ตกอยู่ในความควบคุมของกองทัพปากีสถาน

และอีก 2 ใน 3 อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอินเดีย เป็นการตกลงเขตยึดครองกันโดยพฤตินัยหลังจากเกิดสงครามยืดเยื้อกันมานานถึง 2 ปี

นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปากีสถานตะวันออก ซึ่งเป็นชาวมุสลิมคนละกลุ่มกัน

ต่อมานางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้นเข้าช่วยเหลือปากีสถานตะวันออก จนในที่สุดก็ได้ไปก่อตั้งรัฐใหม่ คือบังกลาเทศในปัจจุบัน

ในปี 1972 อินเดียและปากีสถานทำข้อตกลงโดยขีดเส้นเขตแดนชั่วคราวที่เรียกกันว่าเส้นควบคุม (Line of Control) ในพื้นที่แคชเมียร์

แต่ความขัดแย้งเรื่องแคชเมียร์ไม่ได้ยุติลง ทั้งสองชาติยังคงทหารเอาไว้ต่อไป และมีการปะทะในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างปากีสถานกับอินเดียในแคชเมียร์นับครั้งไม่ถ้วน

“เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติในเรื่องแคชเมียร์ (UNSC Resolutions) หลักการทั่วไปเป็นกรอบทางการเมืองของเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า ชัมมูและแคชเมียร์เป็นรัฐที่ขัดแย้งกันระหว่างอินเดียและปากีสถาน ข้อเสนอที่ 2 แนะนำว่า ข้อพิพาทนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร อันเป็นการกำหนดกรอบทางการเมือง ระบุว่าสถานะในอนาคตของพวกเขาจะต้องถูกกำหนดหรือตัดสินโดยประชาชน และกระทำโดยวิถีทางประชาธิปไตยหรือการลงประชามติในสถานที่ที่เป็นอิสระและยุติธรรม ซึ่งจัดการโดยสหประชาชาติ และในรูปแบบที่ชาวแคชเมียร์จะมีตัวเลือกในการตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการเข้าร่วมอินเดียหรือปากีสถาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า นี่คือประเด็นหลักในมติของสหประชาชาติ”

“สำหรับสหประชาชาตินั้น ฝ่ายที่สำคัญที่สุดคือ อินเดียและปากีสถาน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือประชาชนของแคชเมียร์ เพราะในข้อมติระบุว่า ประชาชนชาวแคชเมียร์จะเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ว่าพวกเขาต้องการที่จะเข้าร่วมอินเดียด้วยหรือไม่ก็ตาม” ท่านทูตอาซิมชี้แจง

“ประชาชนส่วนใหญ่ของแคชเมียร์ในปี ค.ศ.1947 นั้น เป็นมุสลิม 85% แต่มหาราชาเป็นชาวฮินดู ในเบื้องต้น มหาราชาต้องการอยู่อย่างอิสระ แต่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงเกิดความขัดแย้งเพราะถูกบังคับโดยอินเดีย มหาราชาหนีไปจากแคชเมียร์”

“มีเรื่องราวที่บอกว่ามหาราชาลงนามในการส่งมอบสัตยาบัน (Instrument of Accession) มากมาย แต่ที่น่าสนใจคือ สัตยาบันซึ่งอินเดียกล่าวว่ามีการลงนาม แต่ไม่มีการส่งให้สหประชาชาติ จึงไม่มีใครได้เห็น เมื่อนำไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงไม่ใช่เอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตยาบัน”

“แต่หลังจากทุกอย่างได้เกิดขึ้น อินเดียบอกว่า สัตยาบันหรือภาคยานุวัติสารนี้ได้รับการลงนามเมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1947 นำไปยังสหประชาชาติปลายปี ค.ศ.1948 เมื่อเกิดสงคราม และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับในปี ค.ศ.1949 และ 1950”

ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 39 (UNSC Resolution 39) ออกใช้เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1948 เสนอให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในแคชเมียร์โดยสันติ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการโดยสมาชิกสามคน

หนึ่งคนเลือกโดยอินเดีย

และอีกหนึ่งคนเลือกโดยปากีสถาน

ส่วนคนที่สามจะได้รับการคัดเลือกโดยสมาชิกอีกสองคนของคณะกรรมาธิการ

“ข้อมติครั้งแรกได้รับการยอมรับในเดือนมกราคม ค.ศ.1948 ส่วนข้อมติที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ผมจะไม่กล่าวว่าเป็นของจริงหรือไม่ จุดยืนของเราคือ เป็นของปลอม ไม่มีการลงนามในสัตยาบันใดๆ และไม่ว่าในกรณีใด เพราะมหาราชาก็หนีไป ไม่ได้อยู่ในแคชเมียร์และไม่สามารถที่จะลงนามใดๆ ได้”

ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในแคชเมียร์ (UN Security Council resolutions concerning the Kashmir conflict) เริ่มในปี ค.ศ.1948 (ข้อมติ 38, 39, 47,51), ปี ค.ศ.1950 (ข้อมติ 80), ปี ค.ศ.1951(ข้อมติ 91, 96), ปี ค.ศ.1952 (ข้อมติ 98), ปี ค.ศ.1957 (ข้อมติ 122, 123, 126), ปี ค.ศ.1965 (ข้อมติ 209, 210, 211, 214, 215), ปี ค.ศ.1971 (ข้อมติ 303, 307)

“สำหรับประเทศจีน เราไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ กับจีน แต่จีนมีความขัดแย้งกับอินเดีย และปากีสถานก็มีความขัดแย้งกับอินเดีย ผมขอแนะนำให้ดูแผนที่ด้วย ถ้าดูแผนที่ที่อินเดียจัดทำ จะแสดงแคชเมียร์ในส่วนของปากีสถาน ซึ่งอินเดียเขียนว่า ปากีสถานครอบครองแคชเมียร์ (POK : Pakistan Occupied Kashmir)

“แต่ในแผนที่ส่วนของอินเดียที่ครอบครองแคชเมียร์ (IOK : India Occupied Kashmir) กลับเขียนว่า Azad Kashmir นั่นคือเหตุผลที่ผมขอให้ดูแผนที่ของสหประชาชาติ” ท่านทูตอาซิม อิฟติการ์ อาหมัด ย้ำว่า

“ในแผนที่ของสหประชาชาติ ได้แสดงให้เห็นว่า ปากีสถานและแคชเมียร์เป็นดินแดนที่มีข้อพิพาท และด้านล่างของแผนที่มีเขียนอย่างชัดเจนว่าเป็นแผนที่ของสหประชาชาติ ซึ่งสถานะสุดท้ายของชัมมูและแคชเมียร์ยังไม่ได้เป็นที่ตกลงโดยทั้งสองฝ่าย”

“สำคัญที่สุดคือ ประชาชนในแคชเมียร์ สหประชาชาติได้กล่าวว่า เป็นบุคคลเหล่านี้ที่อาศัยอยู่ในแคชเมียร์ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า พวกเขาต้องการอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน”

นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน (Imran Khan) ได้ยืนยันในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ชาวปากีสถานทุกคนจะเป็นทูตของแคชเมียร์ โดยวางแผนที่จะมุ่งเน้นความสนใจของโลกไปที่ชะตากรรมของแคชเมียร์ เรียกร้องให้โลกมีความยุติธรรมและสนับสนุนสิทธิของแคชเมียร์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง

แม้ว่าการประชุมที่เกิดขึ้นจะไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา แต่ก็นับว่าปากีสถานประสบความสำเร็จในการนำประเด็นเรื่องแคชเมียร์เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศ และเป็นการบอกอินเดียว่าแคชเมียร์อาจไม่ใช่เรื่องภายในประเทศอีกต่อไปแล้ว

ในฐานะที่เป็นประเทศที่มุ่งมั่นที่จะพูดให้กับประชาชนในแคชเมียร์เสมอ ปากีสถานจึงไม่สามารถนิ่งเงียบกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแคชเมียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สวยงามที่สุดในโลก มีประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร และเมื่อแคชเมียร์มีปัญหา โลกจะต้องปล่อยให้แคชเมียร์พูด ให้เป็นที่ได้ยินโดยทั่วกัน