นงนุช สิงหเดชะ / 7 พรรคฝ่ายค้าน กับการแก้ไข รธน.มาตรา 1

นงนุช สิงหเดชะ

7 พรรคฝ่ายค้าน

กับการแก้ไข รธน.มาตรา 1

7พรรคฝ่ายค้านกำลังเดินหน้าอย่างหนักด้วยการจัดเวทีเดินสายทั่วประเทศเพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยตรรกะที่ว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้หมดถ้าให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถเป็นยาวิเศษแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ดีขึ้นอย่างทันตา ทั้งปัญหาปากท้อง ไปจนถึงปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้
จนเกิดการตั้งคำถามว่า ในขณะที่คนอื่นๆ กำลังออกช่วยประชาชนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างน้ำท่วม และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ความสำคัญเร่งด่วนของฝ่ายค้านกลับอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้พวกเขาจะอ้างว่าการเปิดเวทีดังกล่าวเป็นการรับฟังปัญหาของชาวบ้านไปในตัว แต่ลึกๆ แล้วจุดประสงค์หลักก็จะยังเป็นการโน้มน้าวชักจูงให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
เวทีแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ยิ่งจัดไปนานๆ ก็ยิ่งเผยให้เห็น “ความคิดเบื้องลึก” ที่ซ่อนอยู่
เพราะว่าผู้ที่ขึ้นไปพูดบนเวทีมักจะ “หลุด” สิ่งที่พวกเขาคิดอยู่ในใจออกมาให้เห็น เหมือนเวลาปอกหัวหอม ที่เมื่อลอกแต่ละชั้นออกไป ก็จะเห็นชั้นในสุด
สุดท้ายแล้วพวกเขาก็จะเป็นจิ๊กซอว์แต่ละตัวมาต่อกันจนทำให้สาธารณชนเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาวาดหวังคืออะไร

ถัดจาก “รัฐธรรมนูญ 2560 เฮงซวยทุกมาตรา” จากฝีปากของช่อ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ บนเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มหาสารคาม
ล่าสุดบนเวทีรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญที่จังหวัดปัตตานีเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาของ 7 พรรคฝ่ายค้าน
นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นแขกรับเชิญ ก็พูดบนเวทีตอนหนึ่งว่า “การแก้ปัญหาของประเทศไทย อาจไม่ต้องอยู่กันเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวมศูนย์ก็ได้ การแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะแก้มาตรา 1 ด้วยก็ไม่เห็นแปลกอะไร”
สำหรับมาตรา 1 หมวดที่ 1 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”
ถัดไป มาตรา 2 เขียนไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
นางชลิตาอ้างว่า ความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ได้ รัฐธรรมนูญ 2560 ภายใต้ระบอบ คสช. ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม ประชาชนรู้สึกคับข้องใจ รู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสอง

ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (เรียกย่อๆ ว่าวันนอร์) หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยกย่องชื่นชมที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ 2560 มากที่สุด โดยปัตตานีลงมติไม่รับ 72% ยะลา 62% และนราธิวาส 65%
พร้อมกับสรุปดื้อๆ ว่า วันนี้สถานการณ์ทุกอย่างปรากฏชัดแล้วว่าต้นเหตุมาจากไหน
จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เนื่องจากเป็นคนแรกที่สร้างปัญหา พร้อมทั้งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าเหตุผลของนางชลิตาและนายวันนอร์ ที่ว่าหากมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม จะแก้ปัญหาภาคใต้ได้ เป็นตรรกะที่ถูกต้อง ก็มีคำถามว่าทำไมปัญหาภาคใต้จึงรุนแรงมากที่สุดในสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เรียกว่าฉบับประชาชน
นับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยของคุณทักษิณเข้ามาบริหารประเทศ ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ และมาถึงขีดสุดในปี 2547 เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนทหารที่จังหวัดนราธิวาส และเมื่อมาถึงเดือนเมษายนของปีเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์สะท้านโลก เมื่อคนร้ายรวมตัวกันก่อเหตุไม่สงบหลายสิบจุดและปะทะกับเจ้าหน้าที่จนมีผู้เสียชีวิต 100 กว่าคน
แต่ที่ถูกโลกประณามมากที่สุดก็คือการที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐล้อมยิงมัสยิดกรือเซะ ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตคามัสยิด 30 กว่าคน
กล่าวได้ว่านับแต่เกิดปัญหาภาคใต้มา ยังไม่มีรัฐบาลใดแม้แต่รัฐบาลเผด็จการ ถูกโลกมุสลิมประณามเท่ากับรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งและมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
สมาชิกพรรคการเมืองที่นั่งร่วมเสวนาบนเวทีวันนั้นหลายคน เคยทำงานร่วมกับคุณทักษิณหรือเครือข่ายคุณทักษิณมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายวันนอร์ เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทยมาก่อน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นต้น
การที่คนเหล่านี้สามารถ “มั่นหน้า” ออกมาสรุปแบบไม่กระดากใจว่าปัญหาภาคใต้เกิดจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะหาเหตุผลร้อยแปดมาเข้าข้างตัวเอง
แกล้งลืมประวัติศาสตร์การทำงานของพรรคตัวเองในอดีต แล้วโยนความไม่ดีทั้งหมดให้คนอื่น

กล่าวสำหรับนางชลิตา ที่บอกว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ด้วยนั้น ชวนให้ตีความได้ว่า ประเทศไทยสามารถแบ่งแยกได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาณาจักรเดียว อาจมีหลายรัฐ (สหพันธรัฐ) ซึ่งถ้าหากแก้ไขมาตรา 1 แล้ว ก็คงไม่พ้นจะต้องแก้มาตรา 2 เพราะเมื่อไทยไม่ได้เป็นราชอาณาจักร แต่กลายเป็นสหพันธรัฐแล้ว ประมุขของประเทศก็อาจจะไม่ใช่พระมหากษัตริย์
นางชลิตานั้นไม่แปลกที่จะมีแนวคิดแบบนี้ เพราะเธอคือหนึ่งในกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.มาโดยตลอด เป็นแนวร่วมเดียวกับพรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นซีกประชาธิปไตย
การเปิดเวทีแก้รัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ฉายให้เห็นว่า “เชื้อความคิด” ในการแบ่งแยกประเทศยังมีอยู่ และคล้ายกับเป็นการสานต่อแนวคิดของคนเสื้อแดงก่อนหน้านี้ที่อยากแยกภาคเหนือและอีสานไปเป็นอีกประเทศหนึ่งต่างหาก เช่น เสื้อแดงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ อยากให้มีประเทศล้านนา หรือก่อนหน้านั้นก็อยากมีรัฐไทยใหม่
ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเพื่อไทยและอนาคตใหม่ มักจะโอดครวญว่าถูกใส่ร้ายเรื่องไม่จงรักภักดี เรื่องอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ แต่แทนที่พวกเขาจะหาทางลดข้อครหานี้ ก็กลับทำให้หนักกว่าเดิม ชัดกว่าเดิม ด้วยการเชิญคนที่มีแนวคิดอย่างนางชลิตาไปร่วมเวที
แม้พรรคฝ่ายค้านจะยืนยันว่าไม่เคยคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 แต่การเชิญคนอย่างนางชลิตาขึ้นไปพูดนี่หมายความว่าอะไร

อันที่จริงอยากเชียร์ให้ฝ่ายค้านเชิญคนที่มีแนวคิดเดียวกับนางชลิตา ไปพูดบนเวทีเยอะๆ บ่อยๆ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อให้ประชาชนเห็นจุดยืนของพรรคฝ่ายค้านแบบชัดๆ จะได้ตัดสินใจว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ดีกว่ามาทำคลุมเครือ ปากบอกว่าจะไม่แก้หมวด 1 แต่พฤติกรรมกลับเป็นอีกแบบ
รอบต่อไปขอเสนอให้ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วานิช และชลิตา ขึ้นเวทีพร้อมกันเลยก็จะลงตัวมาก เพราะว่าคนแรกเคยเสนอห้ามไม่ให้กษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อประชาชน คนที่ 2 โพสต์ภาพและข้อความจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ยุครัชกาลที่ 9 ส่วนคนสุดท้าย อยากแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ให้ไทยมีหลายรัฐ หรือพูดให้ชัดประเทศไทยสามารถแบ่งแยกได้เป็นหลายรัฐ
ส่วนคนปัตตานีที่ไปร่วมเวทีในวันนั้น เมื่อฟังแล้ว เห็นหน้าคนเหล่านี้แล้ว ก็อย่าลืมผลงานของพวกเขาในอดีตด้วย เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อพวกเขาดี โดยเฉพาะนายวันนอร์ คนปัตตานีควรตั้งคำถามว่าจะมีส่วนรับผิดชอบเหตุการณ์ล้อมยิงมัสยิดกรือเซะอย่างไร ในฐานะที่ในปีนั้นนายวันนอร์ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ถ้าจะให้แฟร์ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคของนายวันนอร์ ตอบคำถามได้ชัดๆ หรือไม่ว่า ปัญหาภาคใต้ทั้งในยุคทักษิณ ยุคยิ่งลักษณ์ ดีกว่ายุคนี้หรือไม่