วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์รายวัน ‘วันนั้นถึงวันนี้’

วางบิล
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์รายวัน

‘วันนั้นถึงวันนี้’

แม้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วก็ตาม กระนั้นความเป็นหนังสือพิมพ์ฝั่งตะวันตกเกิดมาก่อนคริสต์ศักราชนานถึง 60 ปี ขณะฝั่งตะวันออก ประเทศจีนให้กำเนิดหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ พ.ศ.1043 มีลักษณะเป็นจดหมายข่าว
เมื่อ พ.ศ.1997 โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ชาวเยอรมันประดิษฐ์เครื่องพิมพ์กับตัวพิมพ์ และวิลเลียมส์ แซกส์ตัน นำเครื่องพิมพ์ไปใช้ในอังกฤษ การพัฒนาเครื่องพิมพ์ ซึ่งคนไทยนิยมเรียกว่า “แท่นพิมพ์” พัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ ที่สุดมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกเกิดขึ้นคือ Avisa Relation Order Zeitung พิมพ์ในเยอรมนี ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์
ต่อมามีผู้ริเริ่มออกเป็นรายวันคนแรกของโลก คือ เอ็ดเวิร์ด มอลเลต ชื่อ The Daily Courant ฉบับแรกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2245 เปิดโลกใหม่ของหนังสือพิมพ์เสนอบทความ บทวิจารณ์สังคม มีคอลัมนิสต์ชื่อดัง คือ ดาเนียล เดอโฟ
บทวิจารณ์เป็นการโจมตีรัฐบาล และวิธีปฏิบัติศาสนกิจของชาวคริสต์ ถูกใจประชาชน แต่ขัดใจของกษัตริย์และพระสันตะปาปา จึงถูกจับตัวคุมขัง แต่เพื่อนจัดหาอุปกรณ์เครื่องขียนให้ เดอโฟจึงคิดออกหนังสือพิมพ์ด้วยการเป็นผู้เขียนข่าวหรือบทความจากข้อเท็จจริงที่เพื่อนส่งจากภายนอกมาให้ เสร็จแล้วส่งออกไปพิมพ์
คือจุดกำเนิดของหลักการ “เขียนข่าวใหม่” หรือเรียบเรียงข่าว (Rewriting)
ในสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกออกในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ พ.ศ.2326 ชื่อเพนซิลเวเนีย อีฟนิ่งโพสต์ แอนด์ เดลีแอดเวอร์ไทเซอร์

ส่วนในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีมิชชั่นนารีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ หมอบรัดเลย์ (นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์) ออกหนังสือพิมพ์ข่าวรายปักษ์ (15 วัน) ชื่อหนังสือจดหมายเหตุ (บางกอก รีคอเดอ – The Bangkok Recorder) พิมพ์ด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2387 แต่มีอายุเพียง 2 ปีต้องปิดกิจการ
หนังสือจดหมายเหตุมีเรื่องจริงบ้าง ข่าวลือบ้าง ทั้งมีการแกล้งกันโดยเขียนมาฟ้องให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์ จึงมีประกาศทางราชการมิให้เชื่อถือข้อความที่เป็นบัตรสนเท่ห์ซึ่งมีผู้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์
ประกาศนั้นอาจเป็นครั้งแรกที่อำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์
หลังจากนั้นมีหนังสือพิมพ์ออกมาอีกหลายฉบับ ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายปี อาทิ บางกอกคาแลนดาร์ ต่อมาพัฒนาเป็นรายวัน เช่น บางกอก เดรี่ แอดเวอไทเซอร์ และสยาม เดรี่ แอดเวอไทเซอร์
สมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเป็นผู้จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยชื่อราชกิจจานุเบกษา เพื่อชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ และเพื่อแจ้งข่าวการบริหารพระราชภารกิจทางการเมือง

สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่เผยแพร่สู่ประชาชนชื่อดรุโณวาท และหนังสือพิมพ์ที่ยอดจำหน่ายสูงมากจนต้องมีระบบจัดส่ง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์ไทย คือข่าวราชการ (Court) เป็นยุคที่หนังสือพิมพ์ตื่นตัวมาก มีหนังสือพิมพ์ออกถึง 59 ฉบับ
สมัยรัชกาลที่ 6 กิจการหนังสือพิมพ์ก้าวหน้ามาก หนังสือพิมพ์สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเสนอข่าวความคิดเห็นได้อย่างเสรีเรื่องการบริหารประเทศในหลายด้าน มีทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทย เช่น จีนสยามวารศัพท์ กรุงเทพเดลิเมล์ พิมพ์ไทย หรือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ The Bangkok Times ต่อเนื่อง มีหนังสือพิมพ์ 55 ฉบับ
สมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 หนังสือพิมพ์ถูกควบคุมโดยรัฐบาล กระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีความพยายามออกพระราชบัญญัติการพิมพ์ กระทั่ง พ.ศ.2484 จึงมีพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 สมัยรัชกาลที่ 8 โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตราไว้ ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2484
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หนังสือพิมพ์ออกก่อนหน้าพระราชบัญญัติการพิมพ์ฯ มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อผู้อ่านปัญญาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คือประชาชาติรายวัน

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลออกกฎหมายมาควบคุมการพิมพ์ กฎหมายที่ตราขึ้นเป็นกิจจะลักษณะ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พระพุทธศักราช 2465 มุ่งเน้นไปที่โรงพิมพ์ด้วยการควบคุมเครื่องพิมพ์ต้องขออนุญาตต่อสมุหเทศาภิบาล ซึ่งมีอำนาจถอนใบอนุญาตทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
การบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2465 เป็นเหตุให้รัฐบาลเข้าไปจัดการกับหนังสือพิมพ์วายาโม กลางปี 2466 ทำให้นายสถิตย์ เสมานิล บรรณาธิการ และเจ้าของ (ในนาม) เอวี ซูฟวารี คนในบังคับของอังกฤษต้องถูกจำคุกประเดิมพระราชบัญญัติฉบับนี้
อีกห้าปีต่อมา รัฐบาลออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470 แทนกฎหมายเดิม เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น แต่หนังสือพิมพ์กลับมีเนื้อหาที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้น มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย
พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ผู้จะเป็นบรรณาธิการหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตจากสมุหพระนครบาล หรือสมุหเทศาภิบาล มีอำนาจในการถอนใบอนุญาตชั่วคราวหรือถาวร ในกรณีที่กระทบความสงบเรียบร้อยในประเทศหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ความเข้มข้นในการจะควบคุมหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับส่งต้นแบบตัวเรื่องไปให้ “กองตรวจข่าว” ของสภาแห่งชาติตรวจ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสมุดเอกสารฯ พ.ศ.2475 การลงข่าวทหารและต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลเท่านั้น ทั้งมีบทลงโทษในการถอนใบอนุญาตและตรวจข่าวก่อนลงพิมพ์หรือเซ็นเซอร์
ต่อมามีพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2476 แทนกฎหมายเดิม มีการกำหนดวุฒิของบรรณาธิการ และมีการปิดหนังสือพิมพ์ตามแต่ข้อหาที่ตั้งขึ้น
ทั้งยังมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 ห้ามพิมพ์เอกสารซึ่งแสดงไปในทางการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล หรือเหลื่อมไปในทางคอมมิวนิสต์ หากเอกสารใดสงสัยว่าจะเป็นเช่นที่กล่าว ให้นำเสนอพิจารณาเสียก่อนพิมพ์ “มิฉะนั้นจะสั่งปิดโรงพิมพ์ทันที”
หนังสือพิมพ์หลักเมืองลงบทความแสดงความชื่นชมหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ ถูกสั่งปิด 7 วัน