เรือ กับความตาย ในศาสนาผีสุวรรณภูมิ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

การแห่เรือในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีใช้ในหลายโอกาส แต่ที่น่าสนใจ และสูญหายไปแล้วคือการแห่เรือพระราชพิธีในงานพระบรมศพ ที่ปัจจุบันกลายเป็นงานพระเมรุมาศ เพราะหลักฐานเก่าแก่ในศาสนาผีสุวรรณภูมินั้น แสดงให้เห็นว่า การแห่เรือเกี่ยวข้องกับความตาย

หลักฐานเกี่ยวกับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์อยุธยาที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ พบอยู่ใน “The Travels, Voyages and Adventures of Ferdinand Mendaz Pinto” หรือที่มีแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “การท่องเที่ยว การเดินทาง การผจญภัย ของเฟอร์ดินานด์ เมนเดซ ปินโต” (หรือที่ในสำเนียงโปรตุเกสออกเสียงว่า ปินตู)

ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2080-2101 และรวมถึงได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาด้วยนั้น ได้บันทึกถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2077-2089) เอาไว้ดังนี้

“บรรดาพิธีซึ่งต้องทำในการนั้น อันเป็นขนบธรรมเนียมของประเทศนี้คือ ตั้งฟืนกองใหญ่อันมีไม้จันทน์ ไม้กฤษณา ไม้กลำพักและกำยาน แล้วนำพระศพของพระเจ้าแผ่นดินองค์ซึ่งสวรรคตนั้นขึ้นวางเหนือกองฟืนดังกล่าว จุดไฟเผาด้วยวิธีการอันแปลกประหลาด

ระหว่างเวลาที่พระศพกำลังไหม้ไฟอยู่ บรรดาประชาชนไม่ทำอะไร เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญเหนือการแสดงออกทั้งหมด”

จะเห็นได้ว่า ปินโตระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การถวายพระเพลิงสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ผู้ทรงมีสนมเอกที่โด่งดังอย่างท้าวศรีสุดาจันทร์) เมื่อ พ.ศ.2089 นั้น กระทำขึ้นบน “กองฟืน” ที่ทำขึ้นจากไม้หอมราคาแพงนานาชนิด ไม่ใช่การถวายพระเพลิงบน “พระเมรุมาศ” อย่างที่มักจะเข้าใจกันว่า มีมาตั้งแต่แรกเริ่มของยุคกรุงศรีอยุธยา

 

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ สิ่งที่ปินโตระบุเอาไว้อย่างละเอียดลออเกี่ยวกับงานพระบรมศพในครั้งนั้น กลับเป็นเรื่องของการเคลื่อนขบวน “พระโกศ” ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระไชยราชาธิราชต่อจากนั้น โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างยิ่งใหญ่ ดังที่เขาได้พรรณนาเอาไว้ว่า

“แต่ในที่สุดพระศพก็กลายเป็นเถ้าถ่าน พวกเขาเก็บไว้ในพระโกฐเงิน ซึ่งพวกเขาได้จัดลงเรือซึ่งตกแต่งสวยงามมาก ติดตามไปด้วยเรือ 40 ลำ มีพระสงฆ์นั่งเต็ม ซึ่งเป็นพระมีสมณศักดิ์สูงที่สุด…

ต่อจากนั้นก็เป็นขบวนเรือเล็กๆ 100 ลำ บรรทุกรูปปั้นสัตว์ต่างๆ เป็นรูปงู สัตว์เลื้อยคลาน เสือ สิงโต คางคก งูใหญ่ ค้างคาว ห่าน เป็ด สุนัข ช้าง แมว แร้ง ว่าว กา และสัตว์อื่นๆ ซึ่งทำขึ้นมาคล้ายๆ กันนั้น รูปสัตว์เหล่านั้นดูมีชีวิตชีวาเหมือนกับว่ามีชีวิต

ในเรือใหญ่อีกลำหนึ่งมีรูปเจ้าแห่งรูปปั้นทั้งหลาย ซึ่งพวกเขาเรียกว่า งูถ้ำแห่งหลุมลึกแห่งถ้ำงู รูปปั้นนี้มีรูปเป็นงูประหลาดตัวใหญ่เท่าถัง…และบิดเบี้ยวไป 9 หยัก เมื่อเหยียดลำตัวออกแล้วจะยาวกว่า 100 คืบ หัวตั้งตรงขึ้นพ่นไฟซึ่งทำขึ้นออกมาทางตา ทางลำคอและอก ซึ่งทำให้สัตว์ประหลาดนี้ดูน่ากลัวและดูโกรธเกรี้ยว…

ในขบวนนี้ เรือทุกๆ ลำไปขึ้นบกที่วัด ชื่อวัด…พระอัฐิและพระอังคารของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งบรรจุอยู่ในโกฐเงิน ได้ประดิษฐานไว้ที่นั่น

และพร้อมกันนั้นก็ยังมีเสียงน่ากลัวไม่หยุดหย่อน มีเสียงปืนใหญ่ ปืนครก กลอง ระฆัง แตร และเสียงหนวกหูประเภทอื่นๆ อีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่ได้ยินแล้วจะไม่สั่น

พิธีนี้สิ้นสุดลงในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เพราะว่าพวกรูปเหล่านี้ทำด้วยวัตถุที่ไหม้ไฟได้ และเรือก็เต็มไปด้วยน้ำมันดินและยางสนหรือชัน น่ากลัวมาก เปลวไฟปรากฏขึ้นมาตอนนั้น ดังที่คนอาจกล่าวได้ดีว่ามันเป็นเปลวไฟที่พลุ่งมาจากนรก

ดังนั้น ในชั่วครู่นั้น บรรดาเรือนั้นๆ และสิ่งทั้งหมดที่อยู่ในเรือเหล่านั้นก็ค่อยๆ หมดไป

เมื่อถึงตอนนี้ และบรรดาสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งดูมีชีวิตชีวาซึ่งมีราคาจำนวนมากไหม้หมดไปแล้ว บรรดาประชาชนทุกคนซึ่งมาชุมนุมออกันอยู่ที่นี่ และดูเหมือนมีจำนวนนับไม่ถ้วน ก็ได้กลับคืนสู่บ้านเรือนของตน”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ-ผู้เขียน)

 

ข้อความในบันทึกของปินโตข้างต้น แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันง่ายๆ ได้ความว่า หลังจากบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระไชยราชาธิราชลงในพระโกศเงินเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญขึ้นสู่กระบวนเรือ ที่แวดล้อมไปด้วยประติมากรรมรูปสัตว์นานาชนิด โดยมีรูป “งูถ้ำ” (ซึ่งคงจะหมายถึง “พญานาค”) เป็นประธาน แล้วแห่แหนไปประดิษฐาน ณ วัดแห่งหนึ่ง จากนั้นก็กระทำการ “เผา” ทั้งเรือและประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆ จนหมด เป็นอันจบพิธี

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่ชวนให้คิดอยู่อย่างน้อยอีกสองประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก ตามคติพื้นเมืองของศาสนาผีในอุษาคเนย์ มีความเชื่อทำนองว่า “ความตาย” ไปทาง “น้ำ” ซึ่งต้องใช้ “เรือ” เป็นพาหนะนำส่งให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

บางวัฒนธรรมสลักรูปเรือไว้บนภาชนะสำริดสำหรับใส่ศพ หรือสลักรูปเรือไว้บนเครื่องประโคมอย่างมโหระทึกกลองทอง ที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพ

บางพวกก็เอาศพ หรือกระดูก (และอาจมีที่เป็นเถ้ากระดูก) ไปใส่ไว้ใน “โลงศพ” รูปร่างคล้ายเรือ แถมยังมีบางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีธรรมเนียมการทำรูปเรือเล็กๆ ใส่ไว้ในกำมือของศพอีกด้วย

(น่าสังเกตด้วยว่า ประเพณีอย่างนี้ยังตกทอดสืบมาจนทำให้ราชรถต่างๆ ในงานออกพระเมรุ ยังประดับด้วยรูป “พญานาค” แทนที่จะเป็นรูป “ครุฑ” ทั้งที่เป็นการเคลื่อนขบวนทาง “สถลมารค” คือทางบก ไม่ใช่ทาง “ชลมารค” คือทางน้ำ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตอีกด้วย)

 

ส่วนประเด็นที่สองก็คือ การสร้างประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆ เอาไว้ในขบวนเรือ เป็นสิ่งที่มีหลักฐานมาก่อนบนลวดลายสลักของมโหระทึกกลองทอง ตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย

ตัวอย่างที่สำคัญคือ รูปตะกวดที่ถูกแห่แหนอยู่บนเรือ ซึ่งปรากฏอยู่หน้าของ (กลอง) มโหระทึกที่พบในเขตประเทศเวียดนามปัจจุบัน ซึ่งชวนให้คิดถึงประติมากรรมรูป “สัตว์เลื้อยคลาน” ที่ปินโตอ้างถึงว่ามีอยู่บนเรือเหล่านั้นด้วย

การใช้รูปสัตว์ต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรม ไม่ได้พบหลักฐานอยู่ในเฉพาะงานพระบรมศพเท่านั้น แต่ยังพบในงานพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ในพระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งจะกระทำกันในช่วงเดือนเก้า ก็มีการตั้งรูปสัตว์ต่างๆ (ซึ่งมักจะเป็นสัตว์น้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน เพราะเป็นพระราชพิธีขอฝน) ในบ่อซึ่งขุดขึ้นในการเฉพาะในพระราชพิธี

และก็เป็นด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้หลักฐานของประติมากรรมรูปสัตว์นานาชนิด ในขบวนเรือแห่พระโกศเงินของสมเด็จพระไชยราชาธิราช จึงสะท้อนให้เห็นถึง “พิธีศพ” ในฐานะของ “พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์” (Fertility rite) ของอุษาคเนย์อย่างมีนัยยะสำคัญ

หลักฐานเกี่ยวกับงานพระเมรุในอยุธยา เพิ่งจะปรากฏในช่วงสมัยของพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2172-2199) หรืออีกประมาณ 100 ปีถัดจากสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราชเลยทีเดียว ดังปรากฏหลักฐานว่า พระองค์โปรดให้ก่อพระเมรุมาศสำหรับเผาพระศพของเจ้านาย ในบริเวณที่ว่างทางทิศใต้ของวิหารพระมงคลบพิตร แล้วมีพระราชพิธีที่บริเวณสนามหน้าจักรวรรดิ

งานพระบรมศพในสมัยอยุธยาแต่ดั้งเดิม จึงให้ความสำคัญกับการแห่พระโกศทางชลมารค คือทางน้ำ ซึ่งสืบเนื่องมาจากศาสนาผีดั้งเดิมสุวรรณภูมิ แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นงานพระเมรุมาศ (ที่เกี่ยวข้องกับโลกสัณฐาณจากอินเดีย) ในภายหลัง