นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : Pokemon GO จับโปเกมอนในโลกเสมือน สะเทือนมาถึงโลกจริง

AFP PHOTO / KAZUHIRO NOGI / TO GO WITH Japan-US-IT-Nintendo-Pokemon-lifestyle,FOCUS by Harumi OZAWA

ครั้งแรกที่ผมได้เห็นคนเล่นเกม Pokemon GO ผมรู้สึกว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเกม

แต่เมื่อได้เห็นข่าวต่างๆ ที่เกิดจากเกมนี้ไปป่วนโลกแห่งความจริง ผมรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แค่การสร้างผลกระทบในวงการเกมอย่างเดียว แต่ยังเป็นการก้าวไปอีกขั้นของเทคโนโลยี Augmented Reality ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

ใครที่เป็นคอเกมคงจะรู้จักกันดีอยู่แล้วว่า Pokemon คือเกมชื่อดังของค่ายนินเทนโด บริษัทเกมสัญชาติญี่ปุ่น ที่เริ่มมีให้เล่นตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และฮิตระเบิดไปทั่วโลก โดยเฉพาะโปเกมอนสีเหลืองหน้าตาน่ารักน่าชังอย่าง “ปิกาจู”

คอนเซ็ปต์ของเกม Pokemon คือการให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็น “เทรนเนอร์” เดินทางไปในโลกสมมติ โดยมีเป้าหมาย 2 อย่างคือ สะสมโปเกมอนทุกชนิดในภูมิภาคที่เกมกำหนด และฝึกฝนโปเกมอนที่จับได้แล้วเอาไปแข่งกับเทรนเนอร์คนอื่น

A Singaporean plays Pokemon Go outside the zoological garden in Singapore on August 7, 2016. Pokemon Go was available in nine countries on August 6, including Singapore. The Singapore zoo has even come up with a map for users on where to find Pokenmon on its ground. / AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN
 AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN

สําหรับคนที่ไม่เคยเล่น ต้องเท้าความนิดนึงครับว่า โปเกมอนก็คือสัตว์ประหลาดต่างๆ ที่อยู่ในโลกของโปเกมอน มีมากมายหลากหลายชนิด ทั้งนก ปลา เต่า หมี เสือ ไปจนถึงสัตว์ในจินตนาการต่างๆ รวมแล้วกว่า 700 ชนิด

ความสนุกของเกม Pokemon คือการที่ผู้เล่นต้องเดินตามหาสัตว์ประหลาดให้ครบ ซึ่งโปเกมอนแต่ละตัวก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ผู้เล่นยังสามารถเอาสัตว์เหล่านี้มาฝึกฝนจนวิชาแก่กล้าแล้วเอาไปสู้กับเพื่อนๆ ได้

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แฟรนไชส์เกม Pokemon ถือเป็นเกมที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลอันดับที่สองของค่ายนินเทนโดรองจาก “มาริโอ” โดยถ้านับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงเดือนกันยายนปี 2015 เจ้า Pokemon ทำรายได้ไปแล้วทั้งหมด 40.5 พันล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่ามีแฟนคลับอยู่ทั่วทุกมุมโลก

ในวาระที่ครบรอบ 2 ทศวรรษ ทางนินเทนโดเฉลิมฉลองด้วยการออกเกมภาคใหม่ Pokemon GO ซึ่งกำลังเป็นกระแส ฮิตถล่มทลายจนเซิร์ฟเวอร์พังไปทั่วโลก

และลุกลามมาถึงโลกแห่งความจริง

AFP PHOTO / dpa / Sophia Kembowski / Germany OUT
AFP PHOTO / dpa / Sophia Kembowski / Germany OUT

Pokemon Go เป็นเกมที่เล่นบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยี Augmented Reality

คนที่ตามข่าวเทคโนโลยีคงจะพอทราบว่า Augmented Reality หรือ AR คือเทคโนโลยีที่ผสมผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือน ผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆ อย่างกล้องถ่ายภาพ เข็มทิศ และ GPS

คุณภาสกร ใหลสกุล จากเว็บไซต์ sipaedumarket.wordpress.com/ ให้ความหมายของ AR ไว้อย่างเข้าใจง่ายว่า

“ถ้าแปลให้ตรงตัวแบบสไตล์ผู้เขียน ก็คือ “ความจริงส่วนขยาย” หมายถึงเทคโนโลยีในการเพิ่มข้อมูลที่มีความหมายให้กับสิ่งของ หรือสถานที่จริงๆ โดยเริ่มด้วยการเปิดรับข้อมูลอ้างอิงทางด้านภาพ เสียง หรือการบอกตำแหน่งด้วยระบบ GPS และอื่นๆ จากที่นั้น แล้วระบบก็จะทำการสร้างข้อมูลเพิ่มเติมให้วัตถุจริงที่มีอยู่เดิม ทั้งในรูปแบบภาพ เสียง และข้อมูลอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ใช้มีข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้น หรือสามารถตอบโต้ได้ ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์และมีการรับรู้เพิ่มเติมจากสิ่งของหรือสภาพแวดล้อมจริงๆ ที่อยู่ตรงหน้านั่นเอง”

AR ทำให้ข้อมูลที่ไม่สามารถอธิบายได้บนรูปภาพเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

ฉะนั้น ความน่าสนใจของ Pokemon GO ก็คือ นี่จะเป็นครั้งแรกที่เราสามารถจับโปเกมอนได้ในโลกแห่งความเป็นจริง!

วิธีการเล่นคือ เราใช้สมาร์ตโฟนของเราเดินสำรวจไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อตามหาโปเกมอน โดยเจ้าโปเกมอนก็จะกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ให้เราตามจับ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเดินไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหน้าปากซอย แล้วหยิบมือถือขึ้นมา หากมีโปเกมอนเกิดในรัศมีของผู้เล่น ตัวเกมจะสั่นแจ้งเตือนว่ามีโปเกมอนอยู่ใกล้ๆ

จากนั้นเราก็ทำการจับโปเกมอน เพียงแค่เราโยนโปเกบอลไปให้โดนโปเกมอนด้วยการสไลด์บนมือถือ

AFP PHOTO/ YASSER AL-ZAYYAT
AFP PHOTO/ YASSER AL-ZAYYAT

ความเจ๋งคือโปเกมอนในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไป โดยจะอิงตามพื้นที่ในโลกแห่งความจริง เช่น หากอยู่ใกล้น้ำก็จะเจอโปเกมอนที่เป็นสัตว์น้ำ หรือหากอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวก็จะเจอโปเกมอนที่เป็นสัตว์บก

บางคนถึงกับบอกว่าหากเดินไปยังแหล่งเสื่อมโทรม ขยะเหม็นๆ สกปรกก็จะเจอโปเกมอนที่เป็นหนู

ผมคิดว่านี่คืออีกหนึ่งจุดเปลี่ยนวงการเกมที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง

แต่ก่อนการเล่นเกมคือการที่ผู้เล่นเกมจะถูกดูดเข้าไปในโลกเสมือนในเกม แล้วบังคับตัวละครในเกมด้วยการใช้จอยสติ๊ก จอยแพด คีย์บอร์ด การสไลด์บนมือถือ หรือการเต้นแร้งเต้นกาอยู่หน้าจอของเครื่อง Wii

น้อยเกมบนโลกที่จะสามารถพาผู้เล่นออกมาในโลกแห่งความจริง

Pokemon GO จึงเป็นเกมแรกๆ ที่ผู้เล่นไม่สามารถนั่งเล่นอยู่กับที่หรือก้มหน้าก้มตาจิ้มโทรศัพท์มือถือได้ เพราะกติกาของเกมคือ คุณต้องวิ่งพล่านไปทั่วเมืองเพื่อตามหาโปเกมอนในสถานที่ต่างๆ (น่าจะช่วยแก้ปัญหาเด็กติดเกมไม่ยอมออกจากบ้านได้ดี)

จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเกมปล่อยออกมา เหล่าบรรดาเซียนโปเกมอนได้ทำการวิ่งพล่านไปทั่วเมือง ตามล่าโปเกมอนในสถานที่ประหลาดๆ สร้างความสนุกสนานปนความวุ่นวายไปทั่ว

มีข่าวแปลกๆ จากเกม Pokemon GO ให้เราได้อ่านรายวัน เช่น

– สถานีตำรวจ Darwin ในประเทศออสเตรเลียต้องประกาศเตือนให้เทรนเนอร์ไม่ต้องเข้ามาในสถานีตำรวจ เพราะข้างนอกก็มีโปเกมอนอยู่ แถมยังแนะว่าอย่าเพิ่งจับโปเกมอนตอนข้ามถนน

– โรงพยาบาล Nationwide Children”s Hospital ในรัฐโฮไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งอี-เมลประกาศให้บุคลากรภายในโรงพยาบาลสอดส่องไม่ให้เซียนโปเกมอนเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม เช่น ห้องพักผู้ป่วย ห้องตรวจโรคเฉพาะทาง ห้องผ่าตัด เพราะช่วงเวลาไม่กี่วันมีคนแปลกหน้าเดินตะลุยเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้นเพื่อตามหาโปเกมอน

– นาย Lamar Hickson ชาวแมสซาซูเซตส์ เป็นต้นเหตุทำให้รถชนสนั่นบนทางด่วน เพราะจอดรถกลางถนนซะงั้น เพราะเจอปิกาจู!

– ร้านค้าต่างๆ ออกมาเรียกลูกค้า ด้วยการแปะป้ายหน้าร้านว่าในร้านเรามีโปเกมอนให้จับ ขอเชิญเข้ามาได้เลย

– Boon Sheridan เจ้าของบ้านที่เคยเป็นโบสถ์เก่าทวีตบอกว่า มีคนแปลกหน้าถือมือถือหันมาทางบ้านของเขาบ่อยมาก เพราะบ้านของเขาถูกตั้งให้เป็นสถานที่ฝึกโปเกมอน

– สถานีตำรวจ O”Fallon รัฐ Misssouri เตือนผู้เล่นว่าให้ระวังผู้ไม่หวังดี ที่อาจใช้การลงตำแหน่งในแผนที่ของเกมว่ามีโปเกมอนตัวสำคัญหลอกให้เราเดินไปตามหา แล้วตัวอาชญากรก็ซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ พร้อมอาวุธ คอยดักปล้น

– Shayla Wiggins สาววัย 19 ปี ตามจับโปเกมอนธาตุน้ำ ใกล้แม่น้ำ ในรัฐไวโอมิงของสหรัฐ แต่แทนที่จะพบโปเกมอนกลับเจอศพชายขึ้นอืด

นอกจากข่าวแปลกๆ แล้ว ยังมีข่าวดีสำหรับค่ายนินเทนโดอีกด้วยว่า ทันทีที่เกมเปิดให้บริการแบบเป็นทางการเฉพาะในอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ประเทศไทยยังต้องรออีกหน่อย) ยอดอินสตอลล์ของเกมก็พุ่งทะยานสูงกว่าเว็บหาคู่ระดับโลกอย่าง Tinder และมียอดผู้ใช้รายวันสูงเกือบเท่า Twitter

ที่สำคัญ ยังพาให้หุ้นนินเทนโดพุ่งขึ้นสูง บวกไปถึง 23 เปอร์เซ็นต์ในวันเดียว และก้าวไปแตะ 33 เปอร์เซ็นต์ในเวลาถัดมา ถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 1983

เรียกได้ว่าปรากฏการณ์ Pokemon GO fever นี้กำลังเขย่าโลกแห่งความจริงก็ไม่ผิดนัก

สําหรับผม นอกเหนือจากเจ้าโปเกมอนจะสั่นสะเทือนวงการเกมแล้ว มันยังเป็นผู้พลิกโฉมหน้าของวงการเทคโนโลยี AR

แม้ว่าผมจะได้ยินเทคโนโลยี AR นี้มาสักพักแล้วว่า มันจะช่วยให้เรามีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ ในทุกวงการตั้งแต่ธุรกิจท่องเที่ยวจนมาถึงธุรกิจค้าปลีก เช่น เอามือถือส่องไปที่วัดพระแก้วแล้วก็มีข้อมูลประวัติศาสตร์ขึ้นมา เอามือถือส่องห้างสรรพสินค้าเพื่อตามหาส่วนลดพิเศษ หรือเอามือถือส่องหน้านิตยสารแล้วมีวิดีโอแฟชั่นโชว์ให้ดูจริงๆ

แต่ผมไม่เคยเห็นว่าจะมีใครทำให้ AR เข้าถึงคนในวงกว้างได้สักที

Pokemon GO คือผู้ที่ทำให้คนในระดับแมสรู้จัก เข้าถึง ทดลองใช้ และได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AR

Pokemon GO คือผู้พาเทคโนโลยี AR ให้เป็นปรากฏการณ์เชิงสังคมและวัฒนธรรมไปทั่วโลก

Pokemon GO ใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงของตัวเอง ใช้ความได้เปรียบจากแฟนคลับหลักหลายล้านคนทั่วโลก และใช้ความสนุกสนานของเกม มาผสมผสานกับเทคโนโลยี AR ได้อย่างเหมาะเจาะ

ผมคิดว่า Pokemon GO จะเป็นผู้เบิกทางให้เราเห็นว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AR ได้อีกมากมาย

ไม่ต้องไปไกล คิดแบบง่ายที่สุด เกมนี้สามารถพาผู้คนไปยังสถานที่ที่เราไม่เคยเห็นประโยชน์จากมันเลย เช่น หากคุณอยากโปรโมตโกดังเก็บสินค้าเพื่อเป็นสถานที่ให้เช่าจัดงาน ก็แค่เรียกให้คนมาตามล่าโปเกมอนกันเยอะๆ ในสถานที่แห่งนี้

อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้ได้จับมือกับ Pokemon GO แล้วด้วยการเปิดให้ที่นั่งที่ขายไม่ค่อยออกมีโปเกมอนเกิด เพื่อดึงคนให้มาซื้อตั๋วมากขึ้น

หรือถ้าคิดไปไกลกว่านั้น เทคโนโลยี AR อาจช่วยในการโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว ช่วยในการกระตุ้นยอดขายในร้านขายเสื้อผ้า ไปจนถึงดึงคนมาในงานอีเวนต์ของคุณ สุดแท้แต่จินตนาการของคุณจะไปถึง

ถึงที่สุด Pokemon GO จึงไม่ได้แค่สร้างเม็ดเงินให้กับแบรนด์นินเทนโด แต่ยังนำเสนอวิธีการทำมาร์เก็ตติ้งแบบใหม่ กรุยทางเป็นตัวอย่างให้กับแบรนด์อื่นๆ ได้ดำเนินรอยตาม

แม้ว่าเรายังไม่อาจฟังธงได้ว่า Pokemon GO จะฮิตไปอีกนานไหมหรือมันอาจจะสร้างผลเสียมากมายจนต้องถูกระงับ แต่อย่างน้อย หากมองด้วยมุมที่ว่ามันสร้างอิมแพ็กได้มากเหลือเกินในช่วงเวลาสั้นๆ ผมก็ยังแอบคิดอยู่ดีว่า Pokemon GO จะไม่ใช่แค่เกมเนิร์ดๆ ให้คอเกมมาวิ่งตามจับโปเกมอนแต่เพียงอย่างเดียว

ทว่า คือ “ผู้พลิกเกม” ของวงการเทคโนโลยี AR และการทำมาร์เก็ตติ้งยุคใหม่ที่เราต้องจับตามองแบบห้ามกะพริบตา