จัตวา กลิ่นสุนทร : ชีวิตไม่มีหยุดของ “กมล ทัศนาญชลี”

ทุ่มเททั้งชีวิตยึดอาชีพ “ศิลปิน” สร้างงาน “ศิลปะ” อยู่ในสหรัฐ หลังศึกษาจบสถาบันศิลปะชั้นนำของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีพื้นฐานจากการเรียนในประเทศไทยมาเป็นอย่างดี

กมล ทัศนาญชลี สร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงสะสมเงินทองจนสามารถกลับมาซื้อที่ดินผืนติดต่อกับบ้านเกิดเพิ่มเติมลงมือทำการก่อสร้าง “หอศิลป์ บ้านศิลปินแห่งชาติ” กระทั่งเสร็จสมบูรณ์

และเร็วๆ นี้ (วันที่ 29 มกราคม 2563) จะเปิดอย่างเต็มรูปแบบเป็นทางการเพื่อให้ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่อง “ศิลปะร่วมสมัย”

ระหว่างดำรงชีวิตเป็นศิลปินร่วมสมัยในสหรัฐ ระยะแรกๆ เขาไม่ขาดการติดต่อกับวงการศึกษาศิลปะในประเทศไทย ได้เดินทางไป-กลับประเทศไทยเสมอๆ มีโอกาสมาเปิดนิทรรศการที่บ้านเราแทบทุกปี โดยนำผลงานที่ทำขึ้นในสหรัฐ รวมกับมาสร้างขึ้นในเมืองไทย ที่บ้านสวนฝั่งธนบุรีบ้านเกิด

เมื่อผลงานเพิ่มจำนวนมากขึ้นจึงต้องสร้างหอศิลป์ส่วนตัวเป็นที่เก็บผลงานเป็นอาคาร 2 ชั้นเมื่อหลายปีก่อน

 

ย้อนกลับไปยังการแสดงผลงานในประเทศไทยอีกสักครั้ง เท่าที่เก็บรว[รวมมาดูเหมือนครั้งแรกจะเป็นเมื่อ 24 ปีที่ผ่าน (วันที่ 2-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538) “กมลและศิลปินรับเชิญ (Kamol & His Artist Friends) สภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐ” (Thai Art Council, USA.) โดย ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน เปิดนิทรรศการศิลปะ “ผลงานย้อนหลัง 39 ปี / กมล ทัศนาญชลี” (Kamol Tassananchalee/ 39 Years Retrospective) (วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2542) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพมหานคร

ห่างจากครั้งแรก 4 ปี และถัดไปอีกกว่า 10 ปีจึงมีนิทรรศการในเมืองไทยขึ้นอีกครั้ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด “นิทรรศการผลงานศิลปะ 67 ปี กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก” (67 Years Kamol Tassananchalee 2 The Artist of Two Worlds) (วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554)

 

ปีพ.ศ.2557 หลังเดินทางกลับมาสร้างผลงานศิลปะในประเทศไทย แทบทุกภาค หลายจังหวัด โดยเฉพาะ “ประติมากรรม” ขนาดใหญ่ในหลายแห่งแหล่งที่ โดยใช้วัสดุหลากหลาย เช่น ไม้ คอนกรีต เหล็ก Stainless steel

ตั้งแต่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี (2553) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ จังหวัดนครนายก (2551) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา จังหวัดนครปฐม (2551) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2553) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (2556), จังหวัดกระบี่ เป็น Stainless Steel – ขนาดใหญ่ 190 x 180 นิ้ว (2554), The Great King ที่ มหาวิทยาลัยสงขลา จังหวัดสงขลา เป็น Stainless Steel ขนาด 236 x 236 x 906 นิ้ว และ ฯลฯ

เดินทางไปเปิดนิทรรศการแบบแสดงเดี่ยว “70 ปี กมล ทัศนาญชลี” (Kamol Tassananchalee) ในโอกาสมีอายุครบ 70 ปี ณ LA Artcore Gallery Brewery Annex 650 A South Avenue 21, Los Angeless,California, USA. วันที่ 2-30 มกราคม พ.ศ.2557

ศิลปินสองซีกโลกเขียนจากความรู้สึกของตัวเองในวันที่ตัวเลขอายุเดินทางมาถึง 70 ปี บนหน้าสูจิบัตรเล่มหนา รวบรวมผลงานหลากหลายของนิทรรศการศิลปะในนครลอสแองเจลิส (Los Angeless) ครั้งนั้นว่า–

 

“ข้าพเจ้าได้เกิดในดินแดนทางซีกโลกตะวันออก คือประเทศไทย และเติบโตอาศัยบนดินแดนแห่งซีกโลกตะวันตกในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างสองซีกโลก ในฐานะศิลปินที่มุ่งมั่นในการสร้างงานศิลปะการดำเนินชีวิตไปมาระหว่างสองซีกโลก

ในบางครั้งชีวิตเหมือนการว่ายน้ำในกลางมหาสมุทรที่ต้องเผชิญกับความแตกต่างของทั้งกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น บางขณะต้องการว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อให้อยู่รอดและถึงฝั่งอย่างปลอดภัย ในวัยก้าวขึ้น 70 ปี ข้าพเจ้ารู้สึกเสมือนวงรอบที่สองแห่งชีวิตได้ผ่านพ้นไป

ข้าพเจ้ายังคงเป็นศิลปินที่มีความสนุกสนานกับการสร้างงานศิลปะ มีความปรารถนาที่เปรียบเสมือนทั้งนกอินทรีย์ผู้ผลัดเปลี่ยนขนใหม่และบินร่อนอยู่กลางท้องฟ้า และเปรียบเสมือนปลาแซลมอนผู้ว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรรอวันกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิด ข้าพเจ้ารู้สึกปีติอย่างเปี่ยมล้นเมื่อได้สร้างงานศิลปะ อย่างคล่องตัวไม่มีข้อแม้ใดๆ เพราะวัสดุอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการสร้างสรรค์อยู่ในจิตใจของข้าพเจ้าเสมอ”

 

เมื่อได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) ปี พ.ศ.2540 ทั้งๆ ที่ไม่ได้พำนักในประเทศไทย แต่มีนิทรรศการผลงานและอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในประเทศบ้านเกิด รวมผลงานเมื่อหลายสิบปีก่อนจะเดินทางไปศึกษายังสหรัฐ พร้อมสร้างผลงานไว้มากมายได้รับรางวัลต่างๆ จัดนิทรรศการสำคัญๆ ได้รับเชิญให้เป็นผู้สอนผู้บรรยายเรื่องศิลปะร่วมสมัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ เช่น

จัดแสดงผลงานแบบแสดงเดี่ยว (One Man Show) ในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์กว่า 60 ครั้ง, จัดแสดงผลงาoนานาชาติกว่า 300 ครั้งในสหรัฐ ยุโรป และประเทศในแถบเอเชีย, ได้รับรางวัลเป็น 1 ใน 10 ศิลปินแห่งแคลิฟอร์เนีย (California) ในปี 1978 (2521) (โดยได้รับเงินทุน 1 ปี), ได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งปี 1980” (2523) แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) และจัดนิทรรศการศิลปะ One Man Show ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Oakland Museum California USA.

ได้รับรางวัล Grand Purehase Prize ศิลปะภาพพิมพ์ ปี 2001-2003 (2544-2546) Asia Art Now พิพิธภัณฑ์ Las Vegas Nevada USA. มีผลงานสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสำคัญๆ ในสหรัฐ และผลงานได้รับการบันทึกในศิลปะโลก (ทำเนียบศิลปินโลก) 200 Gardner”s Art ThroughThe Age 11th Edition World Art History Books, ได้รับปริญญาตรีและปริญญาโทจากสถาบันศิลปะโอทิส สหรัฐ (Otis Art Institute, California USA.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520

ปี 1975 (2518) เป็นอาจารย์พิเศษ California State University USA,1977 (2520) อาจารย์พิเศษ Lama University Beaumont Texas USA.ปี 1979 (2522), 1981 (2524) อาจารย์สอนศิลปะร่วมสมัยปริญญาตรี-โท University of California of Berkeley USA. เป็นคณะกรรมการพิจารณาวิทยานิพนธ์ ปริญญาโท Rensselaer Polytechnic Institute New York USA.

เป็นอาจารย์บรรยายที่ U.C.L.A. และ California Art Institute

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 หลังได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” จนถึงปัจจุบันรวมเวลาได้กว่า 20 ปี

ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้โหมทำงานหนักชนิดไม่มีวันหยุด

เดินทางไปกลับสหรัฐ-ไทยอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปีเขาจะอยู่ทำงานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนศิลปะในบ้านเราพร้อมคิดโครงการต่างๆ โดยอาศัยอยู่เมืองไทยครั้งละ 1-2-3 เดือน หรือมากกว่านั้นเพื่อทำงานโครงการต่างๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม และเดินทางไปเกือบทุกภาคของประเทศเพื่อเผยแพร่ สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย

เป็นผู้คิดริเริ่มโครงการนำเสนอกระทรวงวัฒนธรรม และทุ่มเทดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ Art Workshop นานาชาติในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเริ่มที่วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี กระทั่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนศิลปะเกือบทั่วประเทศได้สืบสานโครงการนี้กับศิลปินนานาชาติทั่วโลก

ปี พ.ศ.2548 ริเริ่มโครงการ “ศิลปินแห่งชาติ สัญจร” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ปี พ.ศ.2558 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงงาน The 56th Venice Biennale ประเทศอิตาลี (Italy), ริเริ่มโครงการยุวศิลปิน และโครงการครูศิลป์ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

เป็นผู้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนศิลปะนานาชาติทั่วโลกกับ “ศิลปินแห่งชาติ” และศิลปินชั้นนำของประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัย โดยการจัดแสดงผลงานศิลปะ การบรรยายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศแคนาดา เม็กซิโก และในประเทศภาคพื้นเอเชีย

มีเรื่องอื่นๆ “ผลงาน” และ “รางวัล” ที่ได้รับอีกจำนวนมาก จะนำเสนอต่อไป