วิรัตน์ แสงทองคำ : บีทีเอส แห่งกรุงเทพฯ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สองทศวรรษของระบบขนส่งมวลชนได้พลิกโฉมหน้ากรุงเทพฯ และพลิกโอกาสทางธุรกิจ

แผนการและโครงการแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ เริ่มต้นราวๆ 4 ทศวรรษมาแล้ว
ตั้งแต่การสร้างโครงข่ายทางด่วนยกระดับครั้งแรก (2524-2530)

ตามมาด้วยต่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้น ตามแผนระบบทางด่วนขั้นที่ 2 หรือที่เรียกว่าทางพิเศษศรีรัช สามารถเปิดใช้บริการได้ในช่วงปี 2536-2539

การเดินทางโดยรถยนต์ของผู้คน จากชุมชนชานเมืองที่เติบโตขึ้นมาก เข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ จึงสะดวกขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างแท้จริงคือการเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนระบบรางครั้งแรกในกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า บีทีเอส ดำเนินการโดย บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือชื่อเดิม-ธนายง กิจการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ดำเนินธุรกิจเชิงรุกในช่วงตลาดหุ้นบูมตั้งแต่ปี 2531 และในปี 2533 ได้ก้าวข้ามสู่ธุรกิจใหม่ สร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า โดยลงนามในสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสกับกรุงเทพมหานคร

นอกจากเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรางเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคกรุงเทพฯ สมัยใหม่ หากเป็นระบบสัมปทานใหม่ที่แตกต่าง ท่ามกลางยุคสัมปทานอันครึกโครม โดยเฉพาะในภาคสื่อสาร

 

ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจกรุงเทพฯ ใหม่

ผมเองเคยเปิดประเด็นไว้ว่า การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของบีทีเอส

“เป็นแรงผลักดันสำคัญ สร้างภูมิศาสตร์เศรษฐกิจกรุงเทพฯ ใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว จากย่านสำนักงานธุรกิจถนนสีลมมายังศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอยอาณาบริเวณหัวถนนพระราม 1 ตัดกับสี่แยกปทุมวัน”

หลังจากบีทีเอสเปิดบริการครั้งแรกในปี 2542 ภาพได้โฟกัสมายังย่านศูนย์กลางใหม่ซึ่งเชื่อมโยงเป็นใจกลาง มองผ่านโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mix used ) โดยเฉพาะ สยามเซ็นเตอร์ ซึ่งเปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2516 ได้ปรับโฉมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ เมื่อปี 2540 พร้อมกับการเกิดขึ้นของสยามดิสคัฟเวอรี่ ในปีเดียวกัน

จุดเปลี่ยนสร้างพลังดึงดูดอย่างแท้จริง เกิดขึ้นเมื่อสยามพารากอนเปิดบริการปี 2548

รวมทั้งโรงแรมสยามเคมปินสกี้ (เปิดปี 2553) สุดท้ายเป็นภาพที่คลี่คลาย กลายเป็นกลุ่มธุรกิจโฉมหน้าใหม่อันน่าเกรงขาม-กลุ่มสยามพิวรรธน์

ภาพนั้นชัดมากขึ้น เมื่อรถไฟฟ้ามหานครหรือ MRT ระบบขนส่งมวลขนแบบใหม่-รถใต้ดิน เปิดบริการเป็นครั้งแรก (ปี 2547) เป็นพลังเสริม ตามมาด้วยการขยายเครือข่ายบีทีเอสอีกครั้ง (ปี 2552) และการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ Airport Rail Link (ปี 2553)

“โมเดลสยาม” กลายเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ ยิ่งมีแผนการขยายเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ไม่เพียงอาณาบริเวณ “ดาวบริวาร” จะขยายตัวมากขึ้น จุดหมายปลายทางทางเลือกอันโดดเด่นได้ผุด หรือพยายามผุดขึ้นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนโดยกลุ่มธุรกิจใหญ่

 

บีทีเอส จากวิกฤต ฟื้นฟู และฟื้นตัว

อีกด้านหนึ่งแห่งพัฒนาการกรุงเทพฯ กับโอกาสทางธุรกิจ เมื่อมองผ่านบีทีเอส ในฐานะกลไก อันเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ย่อมมีภาพที่สีสันและรายละเอียดมากขึ้น ภาพนั้นสะท้อนทั้งโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย และความเชื่อมั่นที่เชื่อมโยงกว้างออกไป

เรื่องราว บีทีเอส มีสองช่วงที่แตกต่างกันอย่างเหลือเชื่อ ทั้งนี้ มีรากฐานธุรกิจสัมพันธ์กับสังคมไทยมาค่อนข้างยาวนาน จากยุคเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวางในระดับภูมิภาค ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะรากเหง้าชาวจีนโพ้นทะเล ในบางช่วงสำคัญในยุคหลังสงครามเวียดนาม ให้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นฮ่องกง

คีรี กาญจนพาสน์ ผู้ก่อตั้งบีทีเอส คือคนรุ่นที่สอง รุ่นที่ถือว่าเป็นผู้มาใหม่ ผู้มีความพยายามอย่างไม่ลดละ เขามีประสบการณ์ ผ่านมรสุมวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยจนแทบเอาตัวไม่รอด

ผ่านช่วงเวลาโลดโผนและวูบไหวในช่วงถึง 2 ทศวรรษ (2531-2551) กับธุรกิจซึ่งสุ่มเสี่ยงและอ่อนไหวต่อสถานการณ์-พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ด้วยสัมปทานระบบขนส่งมวลชนระบบรางแห่งกรุงเทพฯ สมัยใหม่ ทำให้เขาได้กลับมาสู่เส้นทางที่ควรเป็นอีกครั้ง แม้ว่าต้องใช้เวลายาวนานไม่น้อย

ตั้งแต่ได้สัมปทาน ผ่านช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ จนสามารถเดินรถครั้งแรก ใช้เวลานานถึง 7 ปีเต็ม (2535-2542) และจากนั้นอีกราวทศวรรษ จึงดูจะตั้งหลักได้

ภาพพัฒนาการบีทีเอสในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลับมาสู่เส้นทางที่มีสีสันอีกครั้ง ที่สำคัญมีความสัมพันธ์กับความเป็นไปของกรุงเทพฯ ด้วย เส้นทางที่เชื่อว่า คีรี กาญจนพาสน์ มองไว้แต่แรกว่าเป็นจุดเชื่อมต่อกับธุรกิจต่างๆ ที่สำคัญคือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ช่วงปี 2552-2554 เป็นจุดตั้งหลักที่สำคัญ บีทีเอสเคลียร์หนี้สิน ปรับโครงสร้างธุรกิจ ผลประกอบการดีขึ้น เริ่มขยายธุรกิจออกสู่ข้างเคียงอย่างระมัดระวัง

ซื้อบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือวีจีไอในปี 2552 เข้าสู่ธุรกิจสื่อโฆษณา จากสื่อในระบบขนส่งซึ่งเชื่อมโยงกับธุรกิจหลัก

จากนั้นพัฒนาผสมผสานที่เรียกกันตามยุคสมัย Offline-to-Online (O2O) Solutions เป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ

เชื่อมโยงเป็นอีโคซิสเต็ม (ecosystem) ด้วย แพลตฟอร์มต่างๆ จากธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน ธุรกิจให้บริการชำระเงินและธุรกิจโลจิสติกส์ได้ครบวงจร

“วีจีไอเข้าซื้อหุ้นบริษัท Kerry Express Thailand ในสัดส่วน 23% โดย Kerry Express Thailand เป็นผู้นำในการให้บริการจัดส่งพัสดุทั่วประเทศไทยซึ่งมีการรับชำระทั้งในรูปแบบของเงินสดและผ่าน Rabbit LinePay เมื่อส่งมอบพัสดุถึงมือผู้รับ” คำอรรถาธิบายในรายงานประจำปีบีทีเอสปี 2561 ให้ภาพเชื่อมโยงไว้

ขณะบีทีเอสดำเนินธุรกิจหลักระบบขนส่งมวลชนอย่างมุ่งมั่น มีความพยายามเป็น “ผู้เล่น” สำคัญ ในช่วงเวลากรุงเทพฯ กำลังพัฒนาระบบขนส่งมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ดูจะสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจเป็นกอบเป็นกำมากขึ้นๆ

จากการบริหารรถไฟฟ้าสายหลักและรถโดยสารต่อด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ภายใต้สัมปทานจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหาร เดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงในส่วนต่อขยายสายสีเขียวในปัจจุบัน และสายสีทองในอนาคต

“เป็นหนึ่งในผู้รับสัมปทานและเป็นผู้บริหารเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงในโครงการรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล (รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) สายสีชมพูและสายสีเหลืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต” (รายงานประจปี 2561-อ้างแล้ว) เป็นจุดก้าวกระโดดอีกครั้งในธุรกิจหลัก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560

ธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจซึ่งกำเนิดธนายง เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้วกลับมาอีกครั้ง

“บีทีเอส และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) เข้าทำสัญญาข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางธุรกิจในการเป็น Exclusive Partner เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย ซึ่งตั้งอยู่ภายในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า”

เหตุการณ์ในปี 2557 เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสอันคึกคัก การเกิดขึ้นของที่พักอาศัยตึกสูงเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ

และแล้วบีทีเอสก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่ง เดินหน้าตามกระแสบรรดาเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ท่ามกลางช่วงเวลาที่เชื่อมั่นร่วมกันในช่วง 3-4 ปีมานี้

จาก “พัฒนาโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย ซึ่งตั้งอยู่ภายในรัศมี 500 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้า” สู่การเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในปี 2558 และจากนั้นแผนการดูค่อนข้างโลดโผนตามมา โดยเฉพาะในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา

หนึ่ง-ยู ซิตี้จะเป็นผู้ดำเนินงานและพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบีทีเอส โดยได้รับโอนกิจการที่มีอยู่เดิมของบีทีเอส

สอง-การเริ่มต้นแผนการใหม่ โครงการใหม่ๆ เช่น “ได้เข้าไปซื้อกิจการโรงแรมเวียนนา เฮาส์ ในยุโรป ซึ่งเราไม่ได้มาแค่เพียงโรงแรม แต่เรายังได้แบรนด์หรือธุรกิจบริหารจัดการโรงแรม (Hotel Management Platform) ที่นำมาผสานกับแบรนด์หรือธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมที่เรามีอยู่ในเอเชีย” คีรี กาญจนพาสน์ ผู้เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยูซิตี้ กล่าวไว้ (รายงานประจำปี 2561)

ทั้งนี้ทั้งนั้น บีทีเอสกับบทบาทที่กว้างใหญ่มากขึ้น เชื่อว่ามาจากเชื่อมั่นรากฐานธุรกิจในกรุงเทพฯ เชื่อมั่นพัฒนาการแห่งกรุงเทพฯ