จากโฆษกเงา สู่รองโฆษกทำเนียบบิ๊กตู่ รัชดา ธนาดิเรก ฉีกกฎ พีอาร์รัฐบาลมวลมหามิตร พูดความจริง เป็นกลาง ไม่อวย-ไม่เลี่ยน

“รัชดา ธนาดิเรก” กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จาก “รองโฆษกรัฐบาลเงา” สู่รองโฆษกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จากฝ่ายพูด-จับผิด ต้องมาเป็นฝ่ายลงมือทำ-ถูกจับผิด

“ยากขึ้น ณ วันที่เป็นฝ่ายค้าน ถ้าจะบอกว่ารัฐบาลทำยังดีไม่พอ ต้องปรับปรุง ต้องบอกได้ด้วยว่า สิ่งที่ดีกว่าคืออะไร วันนี้เป็นรองโฆษกรัฐบาล ก็ต้องบอกได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำดีอย่างไร หากประชาชนมี Comment เข้าใจผิด โฆษกต้องชี้แจง”

เธอยอมรับว่า ความยากของการเป็น (รอง) โฆษกรัฐบาล ณ ยุคข้อมูลข่าวสาร คือสังคมที่ล้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะช่วงเวลานี้สังคมมีความคิดเห็นที่หลากหลาย-รสนิยมแตกต่าง

“ต้องเสนอสิ่งที่เป็นความจริง เชิง Action ไม่ใช่ความชื่นชอบส่วนตัว อวยจนเกินไป พูดชื่นชมแต่ฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว ทำให้ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาลมีความรู้สึกไม่อยากฟัง”

“เน้นความเป็นกลางและการกระทำที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยไม่ต้องใส่สี ไม่เลี่ยนจนเกินไป น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนพร้อมจะรับฟังมากที่สุด”

ย้อนกลับไปในช่วงแรกของการคัดสรร “แคนดิเดต” โฆษกรัฐบาลของแต่ละพรรค ปรากฏชื่อ “ทีมโฆษกชายล้วน” ทว่า กลับมาพลิกในช่วง “โค้งสุดท้าย” กลายเป็น “ทีมโฆษกรัฐบาล 3 สาว”

“รัชดา” สะท้อนบทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทยว่า ในทางการเมือง ประชาชนไม่รู้สึกว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงไม่อยากเข้ามาเป็นนักการเมือง เพราะไม่อยากเข้ามาเปลืองตัว

“เป็นนักการเมืองเหนื่อยมาก หนักหนาสาหัส เวลาไม่มี ภาษีสังคมสูง ค่าใช้จ่ายเยอะ คนที่เราคิดว่าต้องมาเป็นนักการเมือง ส่วนมากไม่มา แม้แต่ผู้ชาย ถ้ามาก็ไปอยู่บัญชีรายชื่อกันหมด ไม่มีใครอยากมาลง ส.ส.เขต”

บทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทยแนวโน้มดีขึ้น เชิงปริมาณมีนักการเมืองผู้หญิงเข้ามามากขึ้น มีคนรุ่นใหม่เข้ามา แต่ต้องเข้าใจโจทย์ก่อนว่า ความต้องการให้มีนักการเมืองผู้หญิงมากขึ้นเพื่ออะไร

หนึ่ง ต้องการให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาสังคม จากความเหลื่อมล้ำ ความยากจน โอกาส เพราะผู้หญิงและเด็กได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย สอง ต้องการให้ผู้หญิงเข้ามาอยู่ในการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ

“ถ้ามีผู้หญิงเข้าใจหัวอก เข้าใจปัญหาและรู้วิธีแก้ไข อยู่ในตำแหน่งกำหนดนโยบายทางการเมือง ทำให้ปัญหาได้รับการคลี่คลาย แต่กลับกัน ถ้าผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งสำคัญแต่ไม่เข้าใจปัญหาเชิงมิติหญิง-ชายเป็นเรื่องน่าเสียดาย”

“รัชดา” จากอดีต ส.ส.กทม. 2 สมัย กลายมาเป็น “ส.ส.สอบตก” อ่านปรากฏการณ์ Disruption ทางการเมืองจนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพมหานคร “สูญพันธุ์” แพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว

ด้วยสภาพแวดล้อมเมืองใหญ่แตกต่างกับต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องของกระแส ความผูกพันและใกล้ชิดกับ ส.ส.มีน้อยกว่าต่างจังหวัดมาก

เธอเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่า การเป็น ส.ส.กทม. โอกาสแพ้เป็นไปได้ทั้งนั้น แม้จะเคยชนะมาด้วยคะแนนที่มากกว่าก็ตาม

“ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ตอกย้ำว่า กระแสมีส่วนสำคัญ การทำงานในพื้นที่เต็มที่ ทำการบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี งานสภาไม่ขาดตกบกพร่อง ช่วงว่างงาน 5 ปี ทุกคนทำงานในพื้นที่ตลอด แต่ก็แพ้”

แสดงให้เห็นว่า บริบททางการเมือง ความสัมพันธ์คะแนนส่วนตัวลดน้อยลงมาก การบริหารกระแสมีความยาก เพราะขึ้นอยู่กับประเด็นทางการในช่วงเวลาหนึ่ง การเมืองเป็นเรื่องของความรู้สึก

“กระแสในวันนั้นทำให้คนลืมเรื่องผลงานของคนที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่ว่าทำอะไร แล้วไปเลือกในสิ่งที่เขามั่นใจมากกว่า และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเปิดพื้นที่ แต่การจะเอาคนใหม่เข้ามาแทนคนเก่าเลยก็ไม่ง่าย”

“จะเอา ส.ส.เก่าที่ไม่เคยทิ้งพื้นที่ ทุ่มเทมาตลอดชีวิตไปไว้ที่ไหน ความเป็นพรรคเก่าแก่ ไม่เหมือนพรรคการเมืองตั้งใหม่ ทุกคนใหม่หมด สามารถจัดคนให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย (Vote) ได้”

ระบบวัฒนธรรมที่ดีงามต้องรักษาไว้ แต่จะปรับและเสริมอย่างไรให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ต้องช่วยกันคิด ทำให้เห็นภาพของความเปลี่ยนแปลง ความทันสมัย

แม้ในช่วง 1 ทศวรรษหลัง พรรคประชาธิปัตย์จะชนะ-ผูกขาดสนามเลือกตั้งเมืองหลวงมาโดยตลอด ในวันที่รัชดา-ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางพลัด-บางกอกน้อย สอบตก-แพ้เลือกตั้ง ทำให้เธอรู้สึก fail

(เป่าปาก) มันก็ไม่สมหวัง แต่ก็เตรียมใจ เพราะรู้ว่ากรุงเทพฯ มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วง 2 อาทิตย์สุดท้าย ไม่รู้อารมณ์ประชาชนว่าคิดอย่างไรกับเรา ก็เผื่อใจไว้

“ไม่ได้คิดจะเลิกเล่นการเมือง ไม่ได้ท้อกับผลการเลือกตั้ง เพราะรู้ว่าไม่ใช่ความบกพร่องในเชิงนโยบาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สมัครไม่ดี แต่เป็นเรื่องของปัจจัยนอกเหนือการคาดการณ์ที่จะเอาชนะได้ เพราะทำดีที่สุดแล้ว”

เธอย้ำว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่า 30 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เหลือใครเลย เปรียบเสมือนเป็น “สึนามิ” ทางการเมือง

“รู้สึกว่าคนไม่รู้แล้วไปสรุปว่าเราไม่ได้ทำงานในพื้นที่อย่างไร เขาอาจจะไม่รู้ แต่พอทำก็ถูกมองว่าทำเอาหน้า เพราะภาพของนักการเมือง คือมาตอนหาเสียง คนที่ไม่ชอบเรา ไม่ชอบพรรคเรา ทำดีอย่างไรก็ถูกวิจารณ์ เป็นเรื่องปกติ”

“ดร.รัชดา” อดีต “อาจารย์สอนหนังสือ” พื้นฐานครอบครัวจากการทำ “ธุรกิจครอบครัว” ไม่ได้มาจาก “ตระกูลการเมือง” ถ้าไม่ได้เป็นนักการเมือง วางอนาคตไว้เป็น “นักสังคม”

จากคนดู-กองเชียร์ วิพากษ์นักการเมืองไม่เข้าท่า-ไม่ได้ดั่งใจ กลายมาเป็น “ผู้เล่น” จาก “ภาพเบลอ” เริ่มชัดขึ้น เข้าใจ รู้ซึ้ง ทำให้เธออยู่อย่างไม่คาดหวังมาก ไม่เครียดมากได้ดีขึ้น เป็นผู้เล่นเองแล้วเข้าใจ จึงไม่ได้เซอร์ไพรส์

“มันหนักนะ เวลาที่ทำดีแล้วคนเข้าใจผิด แต่ต้องมีมุมที่พลิกจากเรื่องที่น่าเซ็ง เป็นเรื่องบวก เป็นเรื่องที่มีกำลังใจ อยู่ด้วยความภูมิใจที่เป็นนักการเมือง”

ไม่เสียใจที่มาเป็นนักการเมือง ยิ่งตกงานไป 5 ปี ทำให้รู้ตัวว่าชอบอาชีพนี้ เป็นช่วงเวลาที่ต้องคิดหาทางเลือกใหม่ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องมีความเสี่ยงหรือตกอยู่ในสภาพนี้ได้นานแค่ไหน

“จากที่คิดว่า 2 ปีจะมีการเลือกตั้ง แต่เราก็ไม่เลือกทางอื่น แสดงว่าตกตะกอนชัดแล้วว่าเราชอบการเป็นนักการเมือง” เธอทิ้งท้าย