เกษียร เตชะพีระ | ฮ่องกง vs. ปักกิ่ง : ขบวนการหลังหน้ากากกันก๊าซพิษ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่าน ตอนแรก

นับแต่เดือนมิถุนายนศกนี้ เกาะฮ่องกงประสบระลอกคลื่นการประท้วงของประชาชนเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลนางแคร์รี่ หล่ำ และเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทุกสุดสัปดาห์ไม่ขาดสาย โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับล้านคน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ซัมซุง ยุน แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเลงนาน ได้ร่วมกับนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์หลากสาขาต่างมหาวิทยาลัยในฮ่องกงนำทีมวิจัยเข้าทำการสำรวจและสอบถามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ประท้วงทั้งสิ้นราว 8,000 คนในการชุมนุมที่ผ่านมา 12 ครั้ง

เขาได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อค้นพบในงานวิจัยแก่ลุยซ่า ลิม (Louisa Lim) สังกัด Centre for Advanced Journalism ณ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเผยแพร่ออกอากาศทางรายการ The Little Red Podcast เมื่อ 21 สิงหาคมศกนี้ ซึ่งช่วยให้เข้าใจการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงรอบนี้ได้ดี

ผมใคร่นำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

ลุยซ่า ลิม : ดิฉันรู้มาว่าคุณได้ทำวิจัยเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น การที่ผู้มีอำนาจตีกินตีกลืนฝ่ายค้านเข้าไปเป็นพวก และเรื่องประชาสังคมด้วย และดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเรากำลังเห็นในฮ่องกงนี่มันประมาณว่าเป็นฉากตอนต่างๆ ในงานวิจัยเรื่องอื่นๆ ของคุณที่ถูกยกออกมาสำแดงในชีวิตจริงยังไงยังงั้นใช่ไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : ใช่ครับ มันมีสิ่งที่เราเรียกว่าการประท้วงโต้กลับ (counter-protests) หลายครั้งตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มันเกิดขึ้นกลางเดือนกรกฎาคม เมื่อทางการปักกิ่งเริ่มนำเสนอการตอบกลับอย่างเป็นทางการมากขึ้นต่อการประท้วง แล้วฝ่ายนิยมปักกิ่งก็เริ่มระดมกำลังเคลื่อนไหว

การประท้วงโต้กลับครั้งแรกสุดมีขนาดเล็กกว่า ด้านหลักแล้วเพื่อสนับสนุนตำรวจ ในบริเวณรอบๆ สำนักงานที่ทำการรัฐบาลกลาง ส่วนครั้งที่สองมีขนาดใหญ่กว่ามาก เรียกว่าการประท้วงเพื่อ “พิทักษ์ฮ่องกง” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เราก็ได้ไปสำรวจผู้เข้าร่วมการประท้วงโต้กลับด้วยเหมือนกันนะครับ น่าสนใจตรงที่มันเป็นการประท้วงซึ่งใหญ่โตยิ่งจริงๆ

อย่างไรก็ตาม อัตราการสนองตอบต่อการสำรวจของเราในหมู่ผู้ประท้วงโต้กลับที่นิยมปักกิ่งไม่เป็นที่น่าพอใจนักเพราะอัตราการปฏิเสธไม่ตอบแบบสอบถามสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประท้วงอีกฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตย

ลุยซ่า ลิม : แล้วคุณพบอะไรบ้างคะจากการสำรวจของคุณ?

ซัมซุง ยุน : ผมคิดว่ากล่าวโดยทั่วไปแล้ว ผู้คนที่เข้าร่วมการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลไม่คุ้นเคยกับการสำรวจความเห็นนัก พวกเขาจะตอบแบบกำกวมมาก อย่างเช่น พวกเขาบอกว่าไม่ได้ “เห็นด้วย” กับบางสิ่งบางอย่าง แต่ก็ไม่เชิงจะ “ไม่เห็นด้วย” กับมันไปเสียทีเดียว คำตอบที่ให้มาจะไม่คงเส้นคงวาอยู่บ้าง ถึงแม้กลุ่มตัวอย่างจะมีขนาดเล็ก แต่ผลการสำรวจก็ชี้ว่านี่เป็นกลุ่มคนที่สลับซับซ้อน ผมไม่คิดว่าพวกเขาต่อต้านประชาธิปไตยแบบเหมารวมเบ็ดเสร็จ แต่แน่ล่ะว่าพวกเขาแคลงใจประชาธิปไตย ผมคิดว่าโดยทั่วไปแล้วพวกเขามีหัวอนุรักษนิยมในทางสังคม แต่ผมจะไม่สรุปว่าคนเหล่านี้ต่อต้านประชาธิปไตย

ลุยซ่า ลิม : แต่พวกเขาไม่มีความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นภายในเหมือนขบวนการประท้วงรัฐบาลใช่ไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : ไม่มีแน่ๆ ครับ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สลับซับซ้อนและแตกเป็นเสี่ยงๆ กว่ามาก เพราะตอนที่เราสำรวจ เราก็เริ่มจับจุดคำตอบต่างประเภทกันได้แล้ว บางคนติดตามกลุ่มที่ตนสังกัดมา เช่น สมาคมบ้านเกิด หรือองค์การจัดตั้งในชุมชนของตัว และคนเหล่านี้โดยทั่วไปแล้วลังเลยิ่งที่จะตอบคำถามในการสำรวจของเรา และแน่ล่ะว่าก็มีคนอื่นๆ ที่ระดมตัวเองมา คือมาประท้วงด้วยตัวเอง และเวลาตอบคำถามสำรวจ พวกเขาก็จะเน้นย้ำเสมอว่าพวกเขาเป็นอิสระ ไม่ได้รับจ้างมาร่วมประท้วง แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังสงสัยคำถามของเราอยู่มาก พวกเขาคิดว่าเราวางกับดักล่อพวกเขา

ดังนั้น ผมคิดว่าในแง่ข้อค้นพบจากการสำรวจ เราจับอะไรได้บางจุด แต่ผมไม่คิดว่าเราไปถึงขั้นที่จะสรุปได้ว่าคนเหล่านี้เป็นใครหรอกครับ ผมคงต้องบอกได้แค่ว่าพวกเขาสลับซับซ้อนยิ่ง

ลุยซ่า ลิม : กรณีการสำรวจฝ่ายประท้วงรัฐบาลที่คุณทำ ดูเหมือนคุณจะเสนอแนะว่านี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวระยะสั้นๆ หากแต่มีความทุกข์ร้อนที่หยั่งลึก และเอาเข้าจริงก็ไม่มีสิ่งใดที่รัฐบาลเสนอซึ่งจะทำให้ผู้ประท้วงพอใจได้?

ซัมซุง ยุน : มีอะไรตั้งมากมายที่รัฐบาลเสนอได้เพื่อทำให้ผู้ประท้วงพอใจ ผมหมายถึงอย่างข้อเรียกร้อง 5 ข้อของผู้ประท้วงนั้น ได้แก่ 1) ต้องเพิกถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเสีย 2) นางแคร์รี่ หล่ำ หัวหน้าผู้บริหารฮ่องกงต้องลาออก 3) รัฐบาลต้องถอนคำบรรยายลักษณะของการปะทะกันอย่างรุนแรงว่าเป็น “การจลาจล” 4) ต้องดำเนินการสอบสวนปฏิบัติการของตำรวจอย่างเต็มที่และอิสระ 5) ผู้ถูกจับกุมที่เกี่ยวเนื่องกับการปะทะกันทุกคนต้องได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระอย่างปราศจากเงื่อนไข – ผู้แปล) ผมคิดว่าถ้าคุณเสนอที่จะตอบรับสักข้อสองข้อ อย่างน้อยบางคนอาจยอมกลับบ้านหรือพอใจได้

ผมคิดว่าธาตุแท้ของการเคลื่อนไหวนี้ก่อนอื่นคือมันเป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้ผู้นำ ทว่า มิใช่ไร้การจัดตั้ง เอาเข้าจริงมันเป็นการเคลื่อนไหวที่จัดตั้งกันดีมาก ถึงแม้จะไม่มีผู้นำหรือไม่มีผู้นำที่เป็นที่รู้จักกันก็ตาม

ประการที่สอง มีความรู้สึกสมานฉันท์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างมากในหมู่ผู้ประท้วง ทั้งพวกหัวรุนแรงและพวกเดินสายกลาง

เมื่อดูจากคำตอบต่อแบบสอบถามสำรวจของเรา ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นพวกเดินสายกลาง ไม่ใช่คนที่พร้อมลุยแหลก และเราพอคุยกับพวกเขาได้ แต่ขณะเดียวกันคนเหล่านี้ก็อดทนอดกลั้นมากต่อยุทธวิธีแบบหัวรุนแรงด้วย เราถามพวกเขาสองสามข้อว่ามองความสัมพันธ์ของตัวเองกับพวกหัวรุนแรงอย่างไร และพวกเขาตอบว่าพวกเขาคิดว่าตนลงเรือลำเดียวกับพวกหัวรุนแรง แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของพวกหัวรุนแรง แต่ก็ถือว่าลงเรือลำเดียวกัน ดังนั้น พวกเขามองตัวเองเป็นกลุ่มก้อนหมู่คณะ

ดังนั้น ผมหมายความว่าถ้ารัฐบาลกำลังจัดการกับกลุ่มอย่างนี้ คุณไม่สามารถทำได้เพียงด้วยการแยกพวกสุดโต่งออกจากพวกเดินสายกลาง เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มเดียวกัน

ลุยซ่า ลิม : แต่สภาพที่ยิ่งพวกเขามองเห็นทางออกน้อยลงเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งจะยกระดับการต่อสู้แรงกล้าขึ้นเท่านั้น ดูจะบ่งชี้ว่าเราอยู่ในเกลียวสว่านของการไต่ระดับรุนแรงขึ้นซึ่งไม่มีทางจะถอยหลังออกมาได้?

ซัมซุง ยุน : ใช่ครับ ผมเห็นด้วย และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมผมคิดว่าตอนนี้คนทั่วไปไม่รู้ว่าการเคลื่อนไหวนี้จะมุ่งไปในทิศทางใด ต่อให้มันไม่ปรากฏออกมาตอนนี้ ในที่สุดเรื่องราวมันก็จะเกิดขึ้นแบบนี้แหละ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไม่ได้เสนอการปฏิรูประบบที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไร และความทุกข์ร้อนมันก็ยิ่งสั่งสมพอกพูนขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แน่ล่ะว่าสภาพการณ์ค่อนข้างสงบ และนี่เป็นมายาคติที่ทุกคนมี แม้แต่รัฐบาลก็ดันคิดว่าผู้คนพอใจสภาพการณ์อย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้น ต่อให้มันไม่ปะทุออกมาตอนนี้ มันก็จะปะทุขึ้นมาจนได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ลุยซ่า ลิม : แต่ยุทธศาสตร์ที่ดูจะปรากฏออกมาให้เราเห็นจากทางรัฐบาลคือการตัดสินใจแจกขนมหวานทางเศรษฐกิจ ลดหย่อนค่าไฟฟ้าลง ขณะเดียวกันก็หันไปเล่นงานบริษัททั้งหลาย ในฐานะที่คุณพอรู้จักการเคลื่อนไหวประท้วงอยู่ คุณคิดว่าการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ เหล่านี้จะได้ผลไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : จะเปรียบไปก็เหมือนกับเวลาคุณรู้สึกคันขาขวาแล้วคุณดันไปเกาขาข้างซ้ายนั่นแหละครับ มันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย และเห็นได้ชัดว่า เมื่อคุณมองดูพวกผู้ประท้วง ไม่มีใครใส่ใจผลประโยชน์เหล่านั้นเลย ผู้คนกระทั่งพูดกันว่าจะใช้ผลประโยชน์ที่ได้มาไปซื้ออุปกรณ์การประท้วงเพิ่มขึ้น ดังนั้นผมสงสัยจริงๆ ว่ามันจะเป็นประโยชน์ตรงไหน ผมคิดว่าบางทีรัฐบาลก็อาจรู้อยู่แก่ใจนั่นแหละว่ามันไม่ค่อยเป็นประโยชน์มากเท่าไหร่ แต่พวกเขาต้องทำอะไรบางอย่าง

และนี่คือสิ่งที่พวกเขาพอจะนึกออกมาได้

ลุยซ่า ลิม : ด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างที่คุณมี คุณรู้สึกอย่างไรกับอนาคต คุณหวาดหวั่นใจบ้างไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : พูดกันอย่างจริงจังผมไม่มีคำตอบต่อคำถามนี้หรอกครับ อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป อย่างตอนที่ผู้ประท้วงจัดการแสดงเลเซอร์แถวพิพิธภัณฑ์อวกาศ ผมรู้สึกว่าเอาเข้าจริงผู้คนมีความสุขด้วยซ้ำไป มันเป็นคืนเดียวที่ผมรู้สึกว่าผู้คนกำลังสนุกเพลิดเพลินกันเลยทีเดียว แต่อีกนั่นแหละพอมาสัปดาห์นี้หลังการลุกฮือ สภาพการณ์ดูจะย่ำแย่ลงหน่อยพร้อมกับข่าวที่ว่ากองกำลังตำรวจติดอาวุธประชาชน (ของจีน) อยู่ที่ชายแดน ดังนั้น ตอนนี้สภาพการณ์ย่ำแย่ลง ผมคิดว่ารัฐบาลต่างชาติพากันวิตกกังวลยิ่ง แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าพวกผู้ประท้วงเขาไม่ได้วิตกกังวลขนาดนั้น พวกเขาปักใจเด็ดเดี่ยวมาก

ลุยซ่า ลิม : คุณศึกษาประชาสังคมมานานหลายปี นี่เป็นจังหวะในฮ่องกงที่ประชาสังคมเข้มแข็งยิ่ง แต่มันก็ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามขนานใหญ่ด้วยใช่ไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : ใช่ครับ ในฐานะผู้ที่ได้ศึกษาประชาสังคมฮ่องกงมา ผมมาถึงจุดที่เห็นว่านี่อาจจะเป็นหนแรกที่ผมไม่รู้จริงๆ ว่าประชาสังคมจะเดินไปทางไหน

ผมยังจำได้ว่าสักห้าปีก่อนในกรณีขบวนการร่ม ผมยังรู้สึกว่าแม้สภาพการณ์จะสงบลงชั่วคราว แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะปะทุขึ้นอีก ณ จุดใดจุดหนึ่ง เพราะความทุกข์ร้อนเชิงโครงสร้างก็ยังดำรงอยู่ ทว่าสำหรับตอนนี้ ผมไม่รู้เอาจริงๆ เพราะนี่มีลักษณะเป็นการระดมกำลังขับเคลื่อนแบบทุ่มสุดตัวมากกว่า เรารู้สึกจริงๆ ว่ามันเป็นการเสี่ยงพนันอย่างหนึ่ง ผู้คนไม่ได้กำลังนึกถึงอนาคตจริงๆ หรอก อนาคตอาจเป็นพรุ่งนี้ก็ได้

ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันก็แค่รู้สึกเหมือนว่าคุณอยู่ไปแบบวันต่อวัน