เกษียร เตชะพีระ | ฮ่องกง vs. ปักกิ่ง : ขบวนการหลังหน้ากากกันก๊าซพิษ (1)

เกษียร เตชะพีระ

นับแต่เดือนมิถุนายนศกนี้เป็นต้นมา เกาะฮ่องกงอันเป็นเขตบริหารพิเศษของจีนได้ประสบระลอกคลื่นการประท้วงของประชามหาชนชาวฮ่องกงเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (รวมถึงส่งตัวไปจีน) ของรัฐบาลนางแคร์รี่ หล่ำ และเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทุกสุดสัปดาห์ไม่ขาดสาย โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมสูงสุดถึง 2 ล้านคน (เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน) และรองลงมา 1.7 ล้านคน (เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม) จากจำนวนประชากรฮ่องกงทั้งสิ้น 7.2 ล้านคน

ขบวนการประท้วงนี้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวและพร้อมใช้ยุทธวิธีการประท้วงแบบท้าทายซึ่งหน้า (direct action)

ทั้งด้วยปฏิบัติการโดยตรง (เช่น ยึดสภานิติบัญญัติและปิดสนามบิน)

และเชิงสัญลักษณ์ (เช่น ปลดธงชาติจีนทิ้งลงทะเล ชูธงชาติอังกฤษและอเมริกันโบกสะบัด เป็นต้น)

จนนำไปสู่การปะทะกับตำรวจฮ่องกงอย่างดุเดือดต่อเนื่องเป็นประจำ

และทางการปักกิ่งถึงแก่ประณามผู้ประท้วงเหล่านี้ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่กำลังก่อ “การปฏิวัติสี” ซึ่งตะวันตกหนุนหลังเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง

พร้อมทั้งยกกำลังตำรวจจีนติดอาวุธมาซ้อมปราบจลาจลบริเวณชายแดนฮ่องกงเพื่อแสดงพลังกดขวัญคุกคาม

ท่ามกลางข่าวปลอมและการโฆษณาชวนเชื่อของทางการปักกิ่งและฝ่ายต่างๆ แพร่สะพัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ซัมซุง ยุน แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเลงนาน (Assistant Professor Samson Yuen, Department of Political Science, Lingnan University, Hong Kong ดู https://sites.google.com/view/samsonyuen/home) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบ

ซึ่งจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกในอเมริกา และปริญญาโทรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ

ได้ร่วมกับนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์หลากสาขาต่างมหาวิทยาลัยในฮ่องกงนำทีมวิจัยเข้าทำการสำรวจและสอบถามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ประท้วงทั้งสิ้นราว 8,000 คนในการชุมนุมที่ผ่านมา 12 ครั้ง

พวกเขาได้เผยแพร่ข้อค้นพบจากการวิจัยทางออนไลน์และสื่อต่างๆ (https://sites.google.com/view/antielabsurvey-eng/intro)

และอาจารย์ซัมซุง ยุน ยังได้ให้สัมภาษณ์ลุยซ่า ลิม (Louisa Lim) อดีตผู้สื่อข่าว BBC & NPR ประจำประเทศจีน ซึ่งขณะนี้สังกัด Centre for Advanced Journalism ณ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ออกอากาศทางรายการ The Little Red Podcast เมื่อ 21 สิงหาคมศกนี้ (https://omny.fm/shows/the-little-red-podcast/playlists/podcast) ด้วย

ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงรอบนี้ได้ดีขึ้น ผมจึงใคร่นำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

ลุยซ่า ลิม : จนถึงตอนนี้การสำรวจของคุณได้ค้นพบอะไรเกี่ยวกับขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนบ้างคะ?

ซัมซุง ยุน : ผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่ที่สุดได้แก่คนอายุระหว่าง 20-30 ปี และจำนวนคนมากที่สุดในกลุ่มนี้คือพวกที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย

ลุยซ่า ลิม : นี่คือพวกคนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงยิ่งใช่ไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : ใช่ครับ กว่า 70% ของผู้เข้าร่วมประท้วงถ้าไม่ใช่เรียนจบแล้วก็กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันขั้นอุดมศึกษาอื่นๆ และผมคิดว่าครึ่งหนึ่งของพวกเขาเป็นคนชั้นกลาง ส่วนอีกครึ่งเป็นคนชั้นล่างหรือรากหญ้าด้วย และมันน่าสนใจตรงที่นักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากอ้างว่าตนเป็นคนชั้นล่างหรือรากหญ้า ซึ่งมันน่าแปลกใจเพราะปกติแล้วพวกนักศึกษามหาวิทยาลัยมีแนวโน้มจะตระหนักรับว่าตัวเองเป็นคนชั้นกลาง

ลุยซ่า ลิม : และผู้ชุมนุมก็แบ่งออกเป็นเพศชายกับหญิงพอๆ กันด้วยใช่ไหมคะตามที่ฉันสังเกตเห็น?

ซัมซุง ยุน : ครับ ผมคิดว่าผู้ชายจะเยอะกว่านิดหน่อยราว 54% ขณะที่ผู้หญิงราว 46%

ลุยซ่า ลิม : และอีกเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจพอๆ กันคือ ข้อที่ว่ากลุ่มดังกล่าวนี้มีความคิดเห็นรวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียวขนาดไหน กล่าวคือ มีแค่ 2% เท่านั้นที่คิดว่าการประท้วงควรจะหยุดได้แล้วตอนนี้ใช่ไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : ใช่ครับ พวกเขาบอกว่า ถ้าหากรัฐบาลฮ่องกงเพียงแค่ยอมระงับร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่ไม่ยอมอ่อนข้อเรื่องอื่นๆ แล้วละก็ 80% ของผู้ชุมนุมเห็นว่าควรประท้วงต่อไป และในจำนวน 80% นี้ กว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อยเชื่อว่าควรจะยกระดับการประท้วงให้แรงกล้าขึ้นไปอีก ขณะที่อีก 30% เชื่อว่าควรคงขอบเขตและความเข้มข้นของการประท้วงดังที่เป็นอยู่ตอนนี้ไว้ต่อไป

ลุยซ่า ลิม : แล้วคุณได้เห็นตัวเลขเหล่านี้ปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างไหมคะ พร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป?

ซัมซุง ยุน : ผมคิดว่าสัดส่วนของพวกที่เถียงเข้าข้างการยกระดับการประท้วงให้แรงขึ้นนั้น เอาเข้าจริงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป และนั่นมันน่าแปลกใจมากสำหรับเราครับ และอันที่จริงเราก็ถามด้วยว่า พวกเขาคิดว่ารัฐบาลจะยอมอ่อนข้อให้ไหม? ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็คือ ยิ่งพวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ยอมอ่อนข้อมากเพียงใด พวกเขาก็ยิ่งมีแนวโน้มจะเรียกร้องให้ยกระดับการประท้วงแรงขึ้นมากเพียงนั้น ดังนั้น การที่พวกเขามาเข้าร่วมประท้วงนั้นหาใช่เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันจะก่อประโยชน์โภชผลอันใดไม่ แต่ตรงกันข้ามต่างหาก กล่าวคือ ถึงแม้พวกเขารู้ว่ารัฐบาลจะไม่ยอมตามข้อเรียกร้อง พวกเขาก็ยังจะกดดันหนักขึ้นอยู่ดี

ลุยซ่า ลิม : งั้นคุณก็กำลังบอกว่า ถึงแม้ผู้ประท้วงจะคิดว่าความพยายามของตนรังแต่จะเหลวเปล่า พวกเขาก็ยังจะเดินหน้าประท้วงต่ออยู่ดีงั้นหรือคะ?

ซัมซุง ยุน : ใช่ครับ มันเป็นงั้นจริงๆ ผู้คนไม่ได้ไปร่วมการประท้วงเหล่านี้ด้วยความเชื่อว่าตัวจะเปลี่ยนใจรัฐบาลได้ เอาเข้าจริงพวกเขาไปก็เพียงเพื่อจะแสดงเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาเท่านั้น เพื่อแสดงความไม่เห็นชอบกับรัฐบาลอย่างแรงกล้าออกมา

ลุยซ่า ลิม : แล้วคุณได้ถามคำถามประเด็นเอกลักษณ์ที่ว่านั้นบ้างไหมคะ อย่างเรื่องเอกลักษณ์ฮ่องกง?

ซัมซุง ยุน : ผมไม่คิดว่ามันเป็นแค่เรื่องเอกลักษณ์ฮ่องกงเท่านั้นนะครับ ผมอยากเถียงว่ามันเป็นเรื่องเอกลักษณ์ภายในที่เข้มแข็งยิ่งของขบวนการประท้วงนี้ ซึ่งก่อนอื่นสร้างขึ้นบนพื้นฐานการคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วค่อยคลี่คลายขยายตัวช้าๆ ไปเป็นเอกลักษณ์ที่ต่อต้านความรุนแรงของตำรวจด้วย อีกทั้งผมว่ามันก็เกี่ยวกับประชาธิปไตยเช่นกัน

ลุยซ่า ลิม : คุณได้แกะรอยการคลี่คลายขยายตัวของการประท้วงไหมคะว่าเป้าหมายภารกิจต่างๆ ถูกเพิ่มเติมเข้าไปอย่างไรบ้าง?

ซัมซุง ยุน : เราสืบสาวราวเรื่องแรงจูงใจของข้อเรียกร้องต่างๆ ครับ พร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไปในการประท้วง 12 ครั้งนั้น แรงจูงใจเหล่านี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป เราปรับมันให้ทันกาล เพิ่มเติมแรงจูงใจที่พบใหม่เข้าไป และแน่นอนว่าแรงจูงใจที่เรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกไปอย่างสิ้นเชิงนั้นยังคงอยู่ ผู้ประท้วงที่คิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมีจำนวนสูงยิ่ง กว่า 85% เห็นว่ามันสำคัญอย่างที่สุด แต่ตัวเลขร้อยละนี้ก็ค่อยลดลงพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไปเพราะรัฐบาลได้ยอมอ่อนข้อให้บางส่วน โดยระงับร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเอาไว้แม้จะไม่ได้ถอนมันออกไปเลยก็ตาม

นอกจากนี้ พร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป เราก็ได้เห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้นกับประเด็นความไม่พอใจวิธีการที่ตำรวจจัดการกับการประท้วงและความไม่เห็นชอบกับความรุนแรงของตำรวจ ข้อเรียกร้องใหม่ก็คือรัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมาธิการอิสระเพื่อสอบสวนเรื่องพวกนี้

นี่เป็นข้อเรียกร้องที่ผู้ประท้วงให้ความสำคัญสูงมากอีกข้อหนึ่งด้วยถึงกว่า 90%

ลุยซ่า ลิม : แล้วประเด็นข้อเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยล่ะคะ มันได้เสียงสนับสนุนมากแค่ไหน?

ซัมซุง ยุน : เราเติมข้อเรียกร้องนั้นเข้าไปตอนปลายเดือนมิถุนายน มันไม่ได้เสียงสนับสนุนสูงที่สุดหรอกครับ แต่เราก็แปลกใจยิ่งที่มีผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยถึงกว่า 80% ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามันเป็นแรงจูงใจที่สำคัญยิ่งให้ออกมาประท้วง แน่ล่ะครับว่ามันต่ำกว่าเสียงสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน และต่ำกว่าเรื่องความรุนแรงของตำรวจ หรือการให้ตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนฯ แต่กระนั้นมันก็ยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ประท้วงโดยทั่วไปไม่เห็นว่าการลาออกของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เป็นอะไรที่พวกเขาเรียกร้องต้องการ แม้ว่านั่นจะเป็นข้อเรียกร้องในขบวนการเคลื่อนไหวด้วยเหมือนกัน อันที่จริงเมื่อเราสำรวจความเห็นผู้ประท้วง พวกเขาไม่เชื่อด้วยซ้ำว่านี่เป็นสิ่งที่พวกเขากำลังเรียกร้อง แน่ล่ะว่าพวกเขาก็อยากเห็นพวกเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ลงจากตำแหน่งเหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุที่พวกเขามาประท้วงอยู่ที่นี่ พวกเขามาที่นี่เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนและให้ตั้งคณะกรรมาธิการอิสระเพื่อสอบสวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ผมอยากจะบอกว่าความเห็นชอบกับประชาธิปไตยอย่างสูงในหมู่ผู้ประท้วงแสดงว่าผู้คนเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ใช่นักการเมืองไม่กี่คนที่ผลักดันมัน แต่เป็นปัญหาเชิงสถาบัน นั่นคือการขาดระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกง

ลุยซ่า ลิม : ถ้างั้นข้อกล่าวหาที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ว่าผู้คนเอาแต่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลแค่นั้นท่าเดียว คุณคิดว่านั่นเป็นรายงานที่ถูกต้องเที่ยงตรงไหมคะ?

ซัมซุง ยุน : ผมคิดว่านั่นเป็นการระบุบุคลิกลักษณะของการประท้วงอย่างผิดเพี้ยนไป บางทีอาจจะบอกได้ว่าการประท้วงมีลักษณะต่อต้านอำนาจนิยม ผมคิดว่าแบบนี้จะเป็นการระบุบุคลิกลักษณะของการประท้วงที่ดีกว่า ที่นี่น่ะเราไม่ได้ต้องการลัทธิอนาธิปไตย เราไม่ได้กำลังพูดว่าไม่มีรัฐบาลเสียเลยดีกว่ามีรัฐบาล ผมคิดว่าผู้ประท้วงเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ และนี่เป็นรากเหง้าเชิงสถาบันของปัญหา มันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องที่ว่าต้องไล่รัฐบาลนี้ออกไป ไม่ใช่แค่นั้นครับ มันเป็นเรื่องของการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ…

(ต่อสัปดาห์หน้า)