มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส /มรดกโลก ทุ่งไหหิน

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

มรดกโลก ทุ่งไหหิน

 

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ ไม่แค่ร่วมกระแส หากนำกระแสชาวบ้านในเรื่องมรดกโลก เพราะจะพาไปมองทุ่งไหหิน ในประเทศลาว ที่ยูเนสโกเพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อเร็วๆ นี้

ทุ่งไหหิน ซึ่งที่จริงนอกจากมีไหหินกลางทุ่งแล้ว ยังมีบนเขาและในป่า แต่คนทั่วไปเรียกขานตามฝรั่ง plain of jars หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่มีซากของไหหินโบราณกระจายอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่ง ในแขวงเชียงขวาง ที่อยู่ห่างออกไปจากนครหลวงเวียงจันทน์ทางทิศเหนือประมาณสามร้อยกว่ากิโลเมตร

ว่ากันว่า ไหหินที่มีขนาดและรูปแบบต่างๆ นั้น เป็นผลงานของมนุษย์โบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณสามพันปีที่แล้ว ช่วงเวลาใกล้เคียงกับเสาหิน stonehenge ในอังกฤษ ที่รู้จักกันดี แม้ว่าขนาดไหหินที่ปรากฏจะมีขนาดเล็กกว่าเสาหิน แต่ทว่ามีจำนวนมากกว่าถึงสองพันใบ

มีหลายคำอธิบายเกี่ยวกับไหหิน ว่าเป็นถ้วยสุรายักษ์บ้าง เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างคล้ายสโตนเฮนจ์บ้าง

แต่ที่น่าจะเป็นไปได้มากคือ เป็นไหสำหรับบรรจุศพ เพื่อไม่ให้สัตว์หรือสิ่งใดมาทำอันตราย ระหว่างที่กำลังย่อยสลาย

 

เช่นเดียวกับตัววัสดุ ก็มีคำอธิบายว่า คนโบราณค่อยๆ สกัดจากหินก้อนใหญ่บ้าง หรือเป็นดินเผาหนาที่แปรสภาพตามกาลเวลาจนเป็นหินบ้าง แต่ที่น่าจะเป็นไปได้มากคือ เป็นดินชนิดพิเศษคล้ายศิลาแลง ที่ขุดขึ้นมาปั้นเป็นรูปร่าง เมื่อทิ้งไว้ให้แห้งแข็งตัว และกลายเป็นหินในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ มีหลักฐานแหล่งวัสดุที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง คือร่องรอยการขุดเจาะเนินเขา จนเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่ อีกทั้งมีช่องเปิดเหนือถ้ำ ที่คล้ายเป็นปล่องระบายควันเวลาเผา

แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร ใช้ทำอะไร และมีความเป็นมาอย่างไร จากสภาพไหหินที่เป็นอยู่และจำนวนที่มีอยู่ ล้วนน่าสนใจ น่าทึ่ง น่าไปเยี่ยมชมสักครั้ง ส่วนความจริง ปล่อยให้นักโบราณคดีศึกษาค้นคว้าต่อไป

นับตั้งแต่นักโบราณคดีค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2470 ก็มีข้อสันนิษฐานว่า ไหหินเหล่านี้เป็นฝีมือของมนุษย์ยุคหิน Palaeolithic, Megalithic หรือ Neolithic อยู่ระหว่าง 500 ปีก่อนและหลังคริสต์ศตวรรษ

 

แต่ถ้าเป็นแบบชาวบ้าน เชื่อว่าไหหรือจอกสุรานั้น อยู่ในนิทานปรัมปราท้าวขุนเจือง ต้นทางของผู้คนในสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ 10 รวมทั้งเป็นถิ่นฐานของชาวพวน ในพุทธศตวรรษที่ 19 ที่นิยมฝังหรือวางไหบนเขา ก่อนที่จะผนวกรวมกับอาณาจักรล้านช้าง และต่อมาอยู่ใต้อิทธิพลของเวียดนามอีกช่วงเวลาหนึ่ง

ก่อนที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม อันเป็นที่มาของกลุ่มลาวพวน ที่อพยพโยกย้ายมาอยู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วไทย จนไปอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส ผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเวียดนาม และมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน

มีการกล่าวโทษกองโจรจีนที่บุกปล้น ราวปี พ.ศ.2400 ว่าทุบทำลายไหไปกว่าร้อยใบ

แต่ที่แน่ชัดว่าไหจำนวนมากถูกทำลายระหว่างสงครามเวียดนาม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของกองทัพคอมมิวนิสต์ และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อไปถึงเวียดนามและจีน

ว่ากันว่า เครื่องบินไอพ่นจากฐานทัพต่างๆ ของไทย ขนระเบิดไปถล่มทั่วทั้งบริเวณ ทุกแปดนาที ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ในช่วงเวลา 9 ปี ดังหลักฐานที่ยังปรากฏคือ หลุมระเบิดขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไป ไม่นับชิ้นส่วนระเบิดที่ชาวบ้านนำมาดัดแปลงใช้เป็นสิ่งต่างๆ ตั้งแต่เสา รั้ว กระถางปลูกต้นไม้ ฯลฯ หรือแปรรูปเป็นช้อน เครื่องประดับ เครื่องตกแต่ง ฯลฯ

ด้วยเหตุที่ยังมีระเบิดอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในพื้นที่ และยังไม่ระเบิด ทำให้ทุ่งไหหิน หรือป่าไหหินยังอยู่ดี เพราะเป็นพื้นที่อันตราย ไม่มีใครกล้าเข้าไป แม้ในทุกวันนี้ ที่กลายเป็นพื้นที่มรดกโลกแล้ว ผู้เที่ยวชมยังต้องเดินเฉพาะทางชมในเฉพาะพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กู้ระเบิดแล้วเท่านั้น

ทุ่งไหหินจึงมีภูมิทัศน์น่าสนใจ คล้ายสนามกอล์ฟ ที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปตามจุดต่างๆ เหมือนนักกอล์ฟ และมีหลุมระเบิดให้ระวังเหมือนบ่อทราย

 

นับเป็นความมหัศจรรย์ของมนุษย์ นับเป็นเรื่องราวความรู้ความสามารถของมนุษยชาติ ไม่เฉพาะคนในพื้นที่ หากเป็นของคนทั้งโลก จึงสมควรแล้วที่จะได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อสงวนรักษาไว้ให้ศึกษาหาความจริงต่อไป เพื่อเป็นประจักษ์พยานพัฒนาการของสังคมมนุษย์ ทั้งความเป็นและความตาย ทั้งจิตใจด้านสว่างและด้านมืด ทั้งสภาพธรรมชาติและวิทยาการ และทั้งสงครามและสันติภาพ

ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ยังรู้สึกหวั่นใจ แม้ไหหินจะเผชิญการทำลายด้วยฝีมือมนุษย์อย่างรุนแรงมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง คือ ตอนกองโจรจีนบุก และกองทัพสหรัฐทิ้งระเบิด แต่สิ่งมหัศจรรย์ก็ยังคงอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน

แม้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้อาจเป็นวัคซีนป้องกันโรคร้ายได้ในระดับหนึ่ง แต่ทันทีที่กองทัพนักท่องเที่ยวที่จะตามกระแสมรดกโลกมาเยี่ยมชม ก็จะเป็นผู้ทำลายไหที่เหลือจนย่อยยับ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับสิ่งมหัศจรรย์ทั่วโลก โดยเฉพาะหากปล่อยให้ปีนป่าย ถ่ายรูป ตามอิสระ

และสร้างเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานบริการทุกรูปแบบ ที่จะตามมาในไม่ช้า