คำ ผกา | อนิจจาน่าเสียดาย

คำ ผกา

ในสังคมไทยเราเถียงกันเรื่องอะไรบ้าง

มีโทษประหาร หรือไม่มีโทษประหาร

ควรทำให้อาชีพผู้ให้บริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายหรือไม่

ทำแท้งถูกกฎหมาย หรือเป็นเรื่องต้องห้าม

ขายถุงยางในโรงเรียน

ยกเลิกการรับน้อง

ยกเลิกการบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา

ฯลฯ

อันที่จริงก็ไม่ได้มีแต่สังคมไทยที่ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่สังคมจะมีทั้ง Pro และ Con

ในบางประเทศมีประเด็นที่มี Pro และ Con กันแรงๆ แบบไม่มีใครยอมใคร

เช่น ประเด็นการพกปืนในสหรัฐอเมริกา ที่มองกันไปสองแบบเลยระหว่างคนที่มองว่า ปืนเป็นเหตุของอาชญากรรม กับคนที่มองว่าปืนคือเหตุการณ์การป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม

ถ้าจำไม่ผิดเว็บไซต์ The Matter เคยรวบรวมประเด็นดราม่าคลาสสิคในสังคมไทยไว้ 100 ประเด็น

และเราจะเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทั้งร้อยเรื่องวนกลับมาให้เราได้อ่านกันอยู่เสมอ

และหนึ่งในร้อยดราม่านั้นก็คือดราม่าเรื่อง “ศาสนา”

ตั้งแต่คนไม่นับถือศาสนาเท่ากับเป็นคนเลวใช่หรือไม่?

หรือความโกรธแค้นของชาวพุทธที่หากไปพบว่ามีร้านอาหาร โรงแรมในต่างประเทศ นำพระพุทธรูปไปใช้เพื่อการประดับตกแต่ง ไม่ใช่เพื่อสักการบูชา

ดราม่าเรื่องการพบพระ-เณรมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือกรณีที่ศิลปินทำงานศิลปะสะท้อนแนวคิด มุมมองของพุทธศาสนาก็ต้องเผชิญกับความไม่พอใจของพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งอยู่เสมอ

และบางครั้งความไม่พอใจนั้นนำไปสู่การแจ้งความ ดำเนินคดี และลงโทษ หรือขู่ว่าจะลงโทษ

มิพักจะพยายามอธิบายว่า ประเทศไทยอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ เราเป็นรัฐฆราวาส เป็นรัฐโลกวิสัย มิใช่รัฐศาสนา

ศิลปินที่ใหญ่มากและดังมากอย่างถวัลย์ ดัชนี ครั้งหนึ่งก็เคยเผชิญภัยว่าด้วยการหมิ่นพุทธศาสนามาแล้ว ดังที่ไทยรัฐบันทึกเอาไว้ว่า

“8. ผลงานของอาจารย์ส่วนใหญ่ได้นำแรงบันดาลใจมาจากแนวปรัชญาทางพุทธศาสนาทั้งสิ้น!

9. เมื่ออาจารย์กลับมาถึงเมืองไทย รูปเขียนขนาดใหญ่ของอาจารย์หลายรูปถูกนักเรียนกรีดทำลาย ด้วยเหตุผลที่ว่างานของอาจารย์นั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำให้อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี

10. อาจารย์ถวัลย์ต้องเดินตากแดดตากฝนอยู่นานถึง 30 กว่าปี กว่าคนไทยจะยอมรับศิลปะด้านนี้ได้ ปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย”

https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/447641

หรือไม่กี่ปีมานี้กรณีงานศิลปะชุด “ภิกษุสันดานกา” ของอนุพงษ์ จันทร ที่ชนะการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างหนัก

ทั้งๆ ที่หากเราติดตามงานของอนุพงษ์ จันทร จะเห็นว่าเขาเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะโดยอิงอยู่กับหลักคำสอนของพุทธศาสนามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานชุด “เศษบุญ เศษกรรม”, “พุทธบริษัทหมายเลข 4”, ภูมิลวง เป็นต้น

หรือหากยังจำกันได้ หนังไทยเรื่อง “อาบัติ” ก็ถูกโจมตีด้วยประเด็นเดียวกันคือหมิ่นพุทธศาสนา (ทั้งหมดนี้ เมื่อคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ขึ้นป้ายหาเสียงว่า “น้อมนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า…” จึงมีคนตั้งคำถามแกมขบขันว่า เอ๊ะ ทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ? นำพระพุทธองค์มายุ่งกับเรื่องการเมือง การเกลือกกลั้วกับการหาเสียงแบบโลกย์ๆ ได้ด้วยหรือ?)

ล่าสุด

กรณีนักศึกษาราชภัฏโคราชวาดพระพุทธรูปปางอุลตร้าแมนที่โดนโจมตีด้วยประเด็นดูถูกดูหมิ่นพุทธศาสนา โดยที่นักศึกษาเจ้าของภาพอธิบายว่า เหตุที่วาดออกมาแบบนี้เพราะเธอเห็นว่าพระพุทธเจ้าคือฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้า และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกสงบสุขได้

(มองในแง่นี้ก็เห็นประเด็นอยู่คือ น้องก็ไม่ได้วาดพระพุทธรูปในปางทรัมป์ หรือคิม จอง อึน หรือใครสักคนที่ดูเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาชาวโลก ตรงกันข้ามกำลังมองเห็นพระพุทธเจ้าในฐานะวีรบุรุษด้วยซ้ำไป)

ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ฉันอยากชวนมาดูว่าในสังคมไทยมีคนมองและสัมพันธ์ตัวเองเข้ากับศาสนาอย่างไรบ้าง

1. กลุ่มคนที่เชื่อว่าศาสนาคือความเชื่อและความศรัทธาส่วนบุคคล ไม่พึงก้าวก่าย ล่วงล้ำก้ำเกินกัน และไม่ว่าจะมีความเชื่อหรือไม่มีความเชื่อ ทุกคนล้วนได้รับการคุ้มครองและประกันไว้ซึ่งเสรีภาพที่เชื่อ ไม่เชื่อ นับถือ หรือไม่นับถือศาสนา

2. กลุ่มคนที่เชื่อว่าศาสนาคือเครื่องมือที่ทำให้คนเป็นคนดี และมันเป็นไปไม่ได้ที่คนจะไม่มีศาสนา ไม่ว่าจะคิดในเรื่องชีวิตหลังความตาย คิดดู ถ้าเราไม่มีศาสนา ศพเราจะเอาไปโยนให้อีแร้งกินหรือ? ใครจะดูแลวิญญาณของเรา เราจะกลายเป็นเปรต เป็นวิญญาณเร่ร่อน ทนทุกข์ทรมาน ไม่ได้ไปผุดไปเกิด เพราะความตายของเราไม่ได้รับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนา

หรือมองในมิติของโลก ณ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คิดดูคนที่ไม่มีศาสนาเนี่ย มันต้องชั่วมาก เลวมาก เพราะมันสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องกลัวต่อบาปกรรมอะไรเลย ไม่มีอะไรมายึดเหนี่ยวจิตใจ

โอ๊ย น่ากลัวสุดๆ

เพราะถ้าไม่มีศาสนาจะรู้ผิดชอบชั่วดีได้ไง ในชีวิตจะน้อมนำคำสอนของใครไปใช้ล่ะ? ชีวิตมันต้องนำไปด้วยความโลภ กิเลส และตัณหาชัวร์ๆ

ในกลุ่มข้อ 2 นั้น ฉันขอแยกศาสนาอื่นออกไปแล้วโฟกัสที่พุทธศาสนา

เพราะในทางวัฒนธรรมแล้วมีสถานะเป็นศาสนาประจำชาติ

ในกลุ่มชาวพุทธนั้นยังแบ่งออกเป็น

1. ชาวพุทธประเพณี-ชาวพุทธบ้านๆ มีวัดเป็นศูนย์รวมกิจกรรมงานบุญ งานบวช งานศพ วัดและพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดการพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดไปจนตาย เป็นทั้งที่พึ่งทางกาย เช่น เป็นที่จัดงานประชุม สมาคมของชุมชน งานที่ติดต่อกับหน่วยงานราชการ ถึงเวลาวันพระก็ไปวัด หมายเหตุให้อีกนิด ในวัฒนธรรมคน “บ้าน บ้าน” ที่ฉันเติบโตขึ้นมา เรารู้สึกว่า พระพึ่งเรา เราพึ่งพระ ภาวะพึ่งพาอาศัยกันนี้เลยเถิดไปถึงการหยอกเอิน

เช่น มีภาษิตชาวเหนือล้อกันขำๆ ว่าปีไหนที่ “หนูบ่เข้า ตุ๊เจ้าบ่ควี” นั้นจะถือเป็นปีที่ดี

พุทธประเพณีแบบนี้ ไม่ค่อยมีอะไรตึงเคร่ง อะไรที่หยวนได้ก็หยวน อะไรที่หลับตากันได้ข้างหนึ่งก็หลับ เผื่อเหลือเผื่อขาดกัน ไม่ได้คาดหวังให้พระสงฆ์ต้องเป๊ะวินัยไปทุกข้อ หลุดบ้าง พร่องบ้าง ถ้าไม่ถึงกับสร้างความเสียหาย เสียเงิน เสียทอง หรือประเจิดประเจ้อเกินไป โดยมากก็พยายามอะลุ้มอล่วยให้อยู่ร่วมกันได้

2. ชาวพุทธสายไสยฯ กลุ่มนี้เน้นปล่อยนกปล่อยปลาปล่อยเต่า สะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์ ถวายสังฆทาน เรียกโชคลาภ ขอหวย มีพิธีกรรมแปลกๆ ใหม่ๆ ชื่อใหม่ๆ ตัวเลขใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเสมอ

ไปจนถึงการโอบรับเอาเทพในศาสนาอื่น ความเชื่ออื่นเข้ามาในวัดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาปล่อยเคราะห์ รับโชค เช่น การบูชาพระราหู บางวัดก็มีกล่องเขียนสรรพคุณไว้เลย เช่น อยากมีโชคทางการพนันให้หยอดกล่องนี้ อยากมีโชคเรื่องความรักหยอดกล่องนี้ แม้แต่การแพร่หลายของพระพุทธรูป “ทันใจ” ก็โยงกับความหมายของคำว่าทันใจ

3. ชาวพุทธสายปฏิรูป ชาวพุทธสายนี้มักมีความเหน็ดเหนื่อยกับพุทธสายประเพณี กับสายไสยฯๆ ว่างมงาย หรือไม่สนใจคำสอน “แท้” ของพระพุทธเจ้า หลงในวัตถุ งมงาย ยึดติดกับพิธีกรรม พระก็ไม่สำรวม พระเล่นเน็ต พระซื้อไอโฟน พระไปชนะการแข่งเกม

โอ๊ย กุมขมับ อยากเห็นชาวพุทธกลับไปหา “ตัวบท” แท้ของพุทธศาสนา อยากให้ชาวพุทธกลับไปค้นหาคำสอนออริจินอลของพระพุทธองค์

บ้างก็ว่า คำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ เป็นทั้งปรัชญาชนิดที่ฟูโกต์ชิดซ้าย เพราะท่านสอนไม่ให้ “เชื่อ” – ไม่ใช่ให้ไปอ่านหลักกาลามสูตร – ท่านไม่ให้ยึดติดที่รูปเคารพ ท่านให้ใช้เหตุผล พุทธศาสนาควรได้รับการปฏิรูปชำระให้ใสสะอาด สงบ สมถะ วิเวก ไม่อยากเห็นพระจับเงิน ไม่อยากเห็นพระต้องมาจัดการอะไรเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ไม่อยากเห็นวัดมีสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตหรูหรา

พระและวัดในอุดมคติคือ พระป่า วัดป่า หรืออีกทีก็ต้องเป็นพระแบบพระไพศาล ที่มีความเป็นปัญญาชน ยกระดับพระในพระพุทธศาสนาให้ดูดีมีความเป็นวิชาการ ดีลกับประเด็นปัญหาของคนในสังคมสมัยใหม่ เช่น การเตรียมตัวตาย

ในระดับปฏิบัติของพุทธสายปฏิรูปไม่เน้นการปล่อยนกปล่อยปลา สะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์ เท่ากับการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ วิปัสสนา ปลีกวิเวก กินอาหารมังสวิรัติ เพราะเห็นว่านี่คือแก่น ส่วนการสะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์ หรือทำบุญเพื่อขอหวยอะไรนั้นเป็น “เปลือก”

หรือเป็นอวิชชาด้วยซ้ำไป

ทีนี้เรื่องที่มัน absurd ที่สุดคือทั้งงานของถวัลย์ ดัชนี ที่ถูกกรีด จนมาถึงงานของอนุพงษ์ จันทร มาจนถึงงานของนักศึกษาราชภัฏล่าสุดคือ ศิลปินเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพุทธศาสนิกชนสายปฏิรูป คือสายที่อยาก putified พุทธศาสนาไม่ให้แปดเปื้อนด้วยไสยศาสตร์ อวิชชา ความงมงาย การขอหวย การทำบุญห้าบาท หวังผลห้าพันบาท อะไรทำนองนั้น

เพราะเนื้อหาในงานศิลปะของพวกเขาที่ถูกกล่าวหาว่า “สร้างความเสื่อมเสีย” นั้น ล้วนมาจากการมองพุทธแบบอุดมคติ นั่นคือต้อง pure ต้องแท้

absurd ไปอีกขั้นก็คือ บรรดาปัญญาชนที่เรียกตัวเองว่า liberal ต้องการ defend หรือปกป้องเสรีภาพในการสร้างงานศิลปะ แทนที่จะพูดเรื่อง “เสรีภาพ” กลับพากันไปอ้าง “ตัวบท” ว่า เนี่ยๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ยึดติด หรือถ้า “พุทธแท้” ต้องรับเรื่องนี้ได้ คนที่ออกมาด่าคือพวกไม่ถ่องแท้ในคำสอน เป็นพวกพุทธเปลือกๆ พุทธรู้ไม่จริง พุทธไม่อ่าน text ฯลฯ

ความ absurd ในที่นี้คือ แทนที่เราจะปกป้องเสรีภาพด้วยหลักการเสรีภาพที่เป็นสากล เรากลับปกป้องงานศิลปะนั้นๆ ด้วยการเอาความเป็นพุทธ “ขั้นกว่า” มาข่มคนอื่น

เรียกว่าใคร orthodox กว่า คนนั้นชนะ และท้ายที่สุด เราไม่ได้ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เรากำลังปกป้องพุทธศาสนา

พูดง่ายๆ คือ เราเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ไปแจ้งจับน้องนักศึกษานั่นแหละ เพียงแต่เป็นพุทธคนละ approach เท่านั้น

ความเชื่อ ความศรัทธา และเสรีภาพในการเลือกว่าจะปฏิบัติอย่างไรในทางศาสนานั้นเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลจริงๆ ดังนั้น เราควรกลับไปที่หลักสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานคือ พลเมืองไทยทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หรือไม่นับถือศาสนาใด ย่อมได้รับการเคารพและมีหลักประกันในเสรีภาพนั้นของเขา

แน่นอนว่า ศิลปินและประชาชนมีสิทธิที่จะเขียน พูด ร้องเพลง ทำงานศิลปะ เพื่อสะท้อนสิ่งที่ตนเองคิดและเชื่อ ขณะเดียวกันประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิที่จะแสดงความเห็น มีสิทธิจะชอบ มีสิทธิจะเกลียด มีสิทธิวิจารณ์ในขอบเขตของกฎหมาย ไม่ล้ำเส้นเป็นการขู่ทำร้าย หรือไปทำร้าย ไปทำลายงาน

สำคัญที่สุด รัฐและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการ “ปกป้อง” และรักษาพื้นที่แห่งการถกเถียง แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์นั้น โดยไม่ใช้อำนาจรัฐไปแทรกแซง หรือเข้าข้างฝ่ายใดๆ เลย เว้นแต่จะมีการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น เช่น หากมีการขู่ฆ่า ขู่ทำร้ายในทางใดทางหนึ่ง อันนั้นจึงจะเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาทำงาน

สังคมไทยไม่ไปไหนเพราะในที่สุดแทนที่เราจะได้วิจารณ์งานของศิลปินที่ทำงานแนวพุทธปฏิรูปว่า เอ๊ มันโอเคเหรอ กับความคาดหวังหรือความเชื่อว่าพุทธที่ดีคือพุทธที่ pure พุทธที่แข่งกันเคลมว่าของใครแท้กว่ากัน และไปดูถูกพุทธอื่นว่าเป็นพุทธพาณิชย์บ้าง พุทธไม่ละกิเลสบ้าง พุทธงมงายอะไรบ้าง

หรือแทนที่เราจะได้สร้างบทสนทนาที่จะทำให้เราเห็นศาสนาในมิติที่เป็นผลผลิตทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง แทนการเห็นศาสนาในมิติของอภิปรัชญาเพียงอย่างเดียว

แทนที่จะได้พูดกันไปไกลๆ สุดท้ายมาจบตรงที่มาของการใส่กันว่าใครเป็นพุทธแท้พุทธเทียมซะงั้น