สุจิตต์ วงษ์เทศ /บิดาสุนทรภู่ บวชการเมือง สืบเนื่องกรณีพระเจ้าตาก

สังฆราชชื่น รูปหล่อที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร (อดีตสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงธนบุรี) ประดิษฐานภายในศาลาข้างพระอุโบสถ ที่ฐานรูปหล่อมีจารึกปรากฏข้อความที่อ่านได้ว่า "รูปสมเด็จพระสังฆราชวัดหงส์ฯ หม่อมเจ้าหญิงกระจ่าง หม่อมเจ้าหญิงชม หม่อมเจ้าหญิงสฤษดิ ได้พร้อมใจกันหล่อพระรูปเจ้าของสระ" (ภาพและอ่านข้อความจารึกจาก พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

บิดาสุนทรภู่ บวชการเมือง

สืบเนื่องกรณีพระเจ้าตาก

“ประวัติสุนทรภู่” ในหนังสือเรียนเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน ได้แก่

บิดาสุนทรภู่บวชอยู่เมืองแกลง (จ.ระยอง) เพราะเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง แล้วมีเหตุต้องหย่ากันกับมารดาสุนทรภู่ ซึ่งเป็นความเข้าใจแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปตามตำราของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้จากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อความโดยย่อ ดังนี้

“บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ในเขตอำเภอเมืองแกลง แขวงจังหวัดระยอง ฝ่ายมารดาเป็นชาวเมืองอื่น มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เกิดสุนทรภู่เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วได้ 4 ปี แล้วบิดามารดาหย่ากัน บิดากลับออกไปบวชอยู่เมืองแกลง…”

[สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ประวัติสุนทรภู่” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2465]

 

ข้อมูลใหม่ ไม่เหมือนเดิม

 

ประวัติสุนทรภู่ไม่เหมือนเดิม เพราะพบหลักฐานใหม่ต่างไปจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ ดังนี้

  1. บิดาและมารดาของสุนทรภู่มีถิ่นกำเนิดอยู่อยุธยา แต่เป็นเชื้อสายพราหมณ์ เมืองเพชรบุรี สุนทรภู่เขียนบอกไว้ด้วยตนเองในนิราศเมืองเพชร (ฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อย) ที่เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ (มีในงานวิจัยของ อ.ล้อม เพ็งแก้ว นักปราชญ์เมืองเพชรบุรี)
  2. หลังกรุงแตก พ.ศ.2310 บิดามารดาของสุนทรภู่โยกย้ายจากอยุธยาไปอยู่บางกอก ต่อมาได้รับราชการใกล้ชิดเจ้านายในวังหลังสมัย ร.1 ดังนั้น สุนทรภู่เกิดในวังหลัง กรุงเทพฯ (ปากคลองบางกอกน้อย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราช) สุนทรภู่เขียนบอกไว้ด้วยตนเองในนิราศหลายเรื่อง เช่น นิราศสุพรรณ เป็นต้น
  3. บิดาสุนทรภู่บวชอยู่เมืองแกลง ด้วยเหตุผลทางการเมือง สมัย ร.1 และไม่เคยพบหลักฐานการหย่าร้างของบิดากับมารดาสุนทรภู่

 

การเมืองที่เมืองแกลง

 

เมืองแกลง (อ.แกลง จ.ระยอง) ก่อนสมัยกรุงธนบุรี เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร “ของป่า” และแร่ธาตุ จึงคับคั่งด้วยบ้านเรือนของผู้คนไพร่บ้านพลเมือง (ส่วนมากเป็นพวกชอง พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร)

สมัยกรุงธนบุรี มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งจากเมืองแกลงได้รับยกย่องเป็นสมเด็จพระสังฆราช ต่อมารู้จักทั่วไปในนาม “สังฆราชชื่น” มีส่วนสำคัญสร้างสมให้ทั้งภิกษุและไพร่บ้านพลเมืองของเมืองแกลงร่วมกันภักดีเลื่อมใสอย่างยิ่งต่อพระเจ้าตาก

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป พระเจ้าตากถูกกำจัด ส่วนสังฆราชชื่นถูกปลดลดชั้นลงเป็นรองสังฆราช ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนสภาพจิตใจของบรรดาภิกษุสงฆ์กับไพร่บ้านพลเมืองที่เมืองแกลงตอนนั้น (บางทีจะมีลักษณะกระด้างกระเดื่อง แต่ไม่พบหลักฐาน)

ราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ที่เพิ่งสถาปนา ต้องสนใจเป็นพิเศษต่ออารมณ์และความรู้สึกนึกคิดทั่วไปในเมืองแกลง จึงชวนสงสัยว่าจะเป็นเหตุสำคัญที่บิดาสุนทรภู่ออกบวช แล้วได้รับแต่งตั้งจากทางการครั้งนั้นให้มีสมณศักดิ์สูงเพื่อทำหน้าที่พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากทางการ (เช่น เกลี้ยกล่อม, ไกล่เกลี่ย, ปรองดอง เป็นต้น)

โดยดูจากสุนทรภู่เมื่อแต่งนิราศเมืองแกลง คราวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหาบิดา ว่า “ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา” เป็นพยานว่างานทั้งหมดได้รับมอบหมายจากราชการ ตั้งแต่บิดาสุนทรภู่ออกบวช จนถึงสุนทรภู่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลง ล้วนเป็นงานการเมือง “ราชการลับ” ของราชสำนักตอนนั้น

บิดาสุนทรภู่ สำเร็จหรือล้มเหลวในการทำ “ราชการลับ”? ไม่พบหลักฐาน

 

สังฆราชสมัยพระเจ้าตาก จากเมืองแกลง เมืองระยอง

 

สังฆราชชื่น จากเมืองแกลง เป็นสังฆราชองค์ที่ 3 ปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก

  1. เดิมเป็นพระครูอยู่เมืองแกลง (จ.ระยอง) น่าเชื่อว่าอยู่วัดราชบัลลังก์ฯ ต่อมาพระเจ้าตากอาราธนาเข้าไปเป็นพระราชาคณะที่พระโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม คลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)
  2. เมื่อยึดได้เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) อุตรดิตถ์ โปรดให้อาราธนาพระโพธิวงศ์ขึ้นไปจัด “สังฆมณฑลข้างฝ่ายเหนือ” อยู่ที่เมืองศรีพนมมาศ (เมืองทุ่งยั้ง) และเมืองพิษณุโลก
  3. เมื่อพระเจ้าตากมีสัญญาวิปลาส เป็นผู้ยอมถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้เป็น “สมเด็จพระสังฆราช” กรมดำรงฯ เล่าว่า “เห็นจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์” เมื่อพระเจ้าตากทรงผนวช ตามที่เจรจากับพระยาสรรค์เป็นขบถล้อมพระราชวัง
  4. ร.1 หลังปราบดาภิเษก ไม่โปรดสังฆราชชื่น แต่เนื่องเพราะมีความรู้ความสามารถ ให้ลดลงชั้นหนึ่งเป็นรองสังฆราช ว่าที่ “พระพนรัตน” เจ้าอาวาสวัดหงส์ฯ การที่ไม่ “จับสึก” สังฆราชชื่น ชวนสงสัยว่า ร.1 จะทรงรู้เบื้องลึกและทรง “เข้าใจ” สถานการณ์ทะลุปรุโปร่ง
  5. ต่อมาถูกลดชั้นลงอีกเป็น “พระธรรมไตรโลก” ผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราช ชำระพระไตรปิฎก เมื่อทำสังคายนา
  6. ปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก เกิดความแตกร้าวในองค์การปกครองคณะสงฆ์ ต้นแผ่นดิน ร.1 จำเป็นต้องรับสังฆมณฑลที่แตกร้าว (สมัยพระเจ้าตาก) มาไว้จัดการด้วย

พระพนรัตน (ชื่น)

 

พระธรรมธิราราชมหามุนี ว่าที่พระพนรัตน วัดหงส์ฯ นามเดิมว่า ชื่น เกิดในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เมื่อ ณ วันอังคาร เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1091 พ.ศ.2272

เข้าใจว่าเดิมเป็นที่พระสังฆราชอยู่เมืองแกลง ด้วยนามธรรมธิราราชมหามุนีนี้ในทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงเก่า เป็นตำแหน่งพระสังฆราชเมืองแกลง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระโพธิวงศ์อยู่วัดหงส์ฯ

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองสวางคบุรีโปรดให้อาราธนาขึ้นไปจัดสังฆมณฑลข้างฝ่ายเหนืออยู่ที่เมืองศรีพนมมาศคราวหนึ่ง

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีมีสัญญาวิปลาส เป็นผู้ยอมถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช

ต่อมาเมื่อพระยาสรรค์เป็นขบถเข้าล้อมพระราชวัง พระเจ้ากรุงธนบุรีให้หัวหน้าออกไปเจรจากับพระยาสรรค์ พระยาสรรค์ให้พระเจ้ากรุงธนบุรีออกทรงผนวช สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) เห็นจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์

ถึงรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชดำริว่า พวกพระสงฆ์ที่ยอมถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นแต่ด้วยลุแก่อำนาจภยาคติเป็นประมาณ แลสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) นี้ รู้พระไตรปิฎกมากอยู่จึงโปรดแต่ให้ลดลงชั้นหนึ่ง เป็นพระธรรมธิราราชมหามุนีว่าที่พระพนรัตน รองสมเด็จพระสังฆราชลงมา

ต่อมาถวายพระพรว่าไม่ควรพระราชทานปัจจัยมูลเป็นนิตยภัตแก่พระสงฆ์ ด้วยพระสงฆ์รับเงินต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทรงเชื่อฟังให้เลิกจ่ายเงินนิตยภัตเสีย พระราชทานกัปปิยจังหันแทน

ครั้นต่อมาปรากฏว่า พระธรรมธิราราชมหามุนีเอาผ้าส่านของพระราชทานเป็นเครื่องยศไปขายเอาเงิน ทรงขัดเคืองจึงให้ลดลงเป็นธรรมไตยโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นพระธรรมไตรโลกได้เป็นผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราชชำระพระไตรปิฎกเมื่อทำสังคายนาด้วย

[จากหนังสือ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 พระนิพนธ์กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 หน้า 52]