สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย ของร้อนสำหรับผู้นำ / ฉบับประจำวันที่ 6-12 กันยายน 2562

รัฐสภาใหม่ ถูกออกแบบและก่อสร้างโดยอิงกับแนวคิด “สัปปายะสภาสถาน”
อันเป็นการรวมคำระหว่าง “สัปปายะ” และ “สภาสถาน”
โดย “สัปปายะ” หรือ “สัปปายะ 7” แปลว่า สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เหมาะสมกัน
เมื่อรวมกับ “สภาสถาน” จึงมีความหมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย
แม้จะมีความหมายที่ดี
แต่หากไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเห็นตามความหมายหรือไม่
เราอาจได้คำตอบอีกอย่าง
เป็นคำตอบที่แตกต่างอย่างมากกับคำว่า ที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย
เพราะที่ผ่านมา “รัฐสภา” เป็นของร้อนสำหรับผู้นำผู้นี้มากกว่า
พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปประชุมสภา โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับญัตติ หรือกระทู้ที่พุ่งเป้ามาที่ตนเองโดยตรง

อย่างไรก็ตาม แม้จะเลี่ยงหรืออ้างเหตุต่างๆ นานา
แต่ในฐานะผู้นำประเทศ ก็มีไฟต์บังคับที่ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถูกตั้งข้อกล่าวหา กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถวายคำสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่สมบูรณ์
พรรคฝ่ายค้านขอตั้งกระทู้สด เพื่อสอบถามเรื่องนี้จาก พล.อ.ประยุทธ์
ปรากฏว่ามีการยกเอาภารกิจต่างๆ มาเป็นข้ออ้าง ไม่ยอมเข้ามาตอบกระทู้หลายครั้ง
ทำให้ฝ่ายค้านต้องยกระดับเป็นการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติแทน
ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้รับญัตติดังกล่าวไว้พิจารณา

นอกจากเป็นการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ คือ มีผู้เข้าชื่อครบตามข้อกำหนดแล้ว
ยังเป็นที่ทราบกันทั่วไป นายชวนเป็นผู้ที่ภาคภูมิใจกับการเป็นผู้แทนราษฎรมาตลอดชีวิตการทำงานของตนเอง
สภาถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย
นายชวนจึงยึดมั่นและให้ความสำคัญอย่างสูงกับการประชุมสภาในทุกระดับ
แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล
แต่กระนั้นก็มิใช่ข้อผูกพันว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาที่นายชวนจะต้องปกป้องผู้นำรัฐบาล
ตรงกันข้าม นายชวนเลือกที่จะยึดหลักการ นั้นคือ บทบาทการตรวจสอบของสถาบันนิติบัญญัติ
เมื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านมีข้อสงสัย และดำเนินการถูกต้องตามข้อบังคับ
เราจึงได้ยินวาทะอันเฉียบคมจากนายชวน ที่มีไปถึง พล.อ.ประยุทธ์
นั่นคือ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจงด้วยตนเอง
ด้วยวาทะอันคมกริบ
“นายกฯ จะต้องมา เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย ทุกคนต้องมาทำหน้าที่ของตนเอง”

วาทะดังกล่าว สะท้อนชัดเจนการให้ความหมายสัปปายะสภาสถานของนายชวน แตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมาก
แน่นอน ของนายชวนออกไปทางที่ว่า “สิ่งที่เหมาะสมกัน” คือการมาชี้แจงต่อสภาด้วยตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตย
แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงเอียงไปในทางที่แม้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชี้แจงต่อสภาได้
แต่ก็จะพยายามวางกรอบ วางแท็กติกมิให้ฝ่ายค้านเข้ามากระทบกระทั่งตนเองได้อย่างง่ายๆ ต้องมีเกราะกำบัง หรือเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ตน
เช่นยอมให้ฝ่ายค้านอภิปรายเพียง 1 วัน
หรือขู่ให้ระมัดระวังในการพูด
เพราะ เรื่องอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว”
หรืออย่าละเมิด”สถาบัน” ที่อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสนอให้ “ประชุมลับ”

เหล่านี้คือเกราะกำบังที่ พล.อ.ประยุทธ์ และฟากรัฐบาลสร้างขึ้น
แม้ปากจะบอกว่าไม่กลัว พร้อมจะมาชี้แจง
แต่พฤติกรรม ก็ส่อนัยที่มอง”สัปปายะสภาสถาน”เป็นกะทะร้อน
แตกต่างจากนายชวน หลีกภัย
ที่ส่งเสียงนุ่มๆ”ชวน” ให้พล.อ.ประยุทธ์ มาสู่ความสงบร่มเย็นสบาย ตามระบอบประชาธิปไตย เถิด!!
————————–