คำ ผกา | คนดี พี่เหนื่อย

คำ ผกา

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) แม้ว่าประเทศจะเผชิญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาช้านาน และนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยสะท้อนจากอาการป่วยขั้นรุนแรงจากเชื้อโรคทุจริตที่ไปเบียดบังเงินภาษีที่ตั้งใจจะนำมาพัฒนาคนและพัฒนาประเทศไม่เต็มเม็ดไม่เต็มหน่วย โดยในปีหน้า เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นจะรุนแรงขึ้นหรือลดน้อยลง เราไม่สามารถทราบได้ แต่คนไทยทุกภาคส่วนและทุกสาขาอาชีพ รวมถึงเยาวชนจะเป็นผู้มีบทบาทกำหนดทิศทาง และมีส่วนร่วมช่วยประสานพลังต่อต้านการทุจริต นำพาประเทศปลอดเชื้อโรคทุจริต ทำประเทศให้ใสสะอาด

ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้ผลิตวิทยากรเพื่อบรรยายเรื่องการปราบปรามการทุจริตไม่ต่ำกว่า 4,000 คน เพื่อขยายผลการฝึกอบรม โดยมีโค้ชจังหวัดละ 10 คนให้คำปรึกษาในชมรม “strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต” ที่มีอยู่ทุกจังหวัด มีคนมากกว่า 7,700 คน เพื่อเป็นเสียง และขยายผลไปยังชุมชนจังหวัดละ 500 คน รวมทั้งหมด 38,500 คน อีกทั้งยังมีสมาชิกชมรมและเครือข่ายประชาชนรวมประมาณ 50,000 คน ทำหน้าที่เป็นกล้องวงจรปิด บันทึกภาพและส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หากพบการทุจริต เปรียบเสมือนเป็นการฝังชิพให้คนในทุกภาคส่วนและทุกวัยแยกแยะประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวมได้โดยอัตโนมัติ มีจิตที่พอเพียงในการต่อต้านการทุจริต มีความละอายและไม่ทนต่อการทุจริตหรือเพื่อให้สังคมไม่ทนต่อการทุจริต รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม เฝ้าระวังสอดส่องดูแล ชี้ช่องแจ้งเบาะแสการทุจริตในจังหวัดของตนเอง

(ป.ป.ช.รับไทยป่วยหนัก เชื้อโรคทุจริตทวีความรุนแรง https://www.thaipost.net/main/detail/43743)

นายชวน ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรนิด้า MAX รุ่น 1 ปาฐกถาตอนหนึ่ง ระบุว่า…ทุกสถาบันการศึกษารวมทั้งนิด้า จำเป็นจะต้องเสริมและบรรจุหลักสูตร “การสร้างคนดี” เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาด้วย โดยในฐานะประธานรัฐสภา ได้ผลักดันให้มีการบรรจุหลักสูตรนี้ในสถาบันพระปกเกล้าและสถาบันการศึกษาหลายแห่งแล้ว (รวมพลศิษย์เก่านิด้า “ชวน” เสนอบรรจุหลักสูตรสร้างคนดี https://voicetv.co.th/read/DshlJ_-w6)

บรรดาอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) หากพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเดิมไม่ถึง 1 เดือน หรือไม่ได้พ้นตำแหน่ง และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) ที่ลาออก แล้วได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว.บทเฉพาะกาลด้วย

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในบรรดารายชื่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 มีรัฐมนตรีอย่างน้อย 7 ราย จากจำนวน 36 ราย ที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. รอบใหม่ เนื่องจากเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) และไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 1 เดือน ได้แก่

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 4.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 6.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ 7.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม

ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายอุตตม สาวนายน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) ที่ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 นั้น จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินรอบใหม่ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปเกิน 1 เดือนแล้ว

กาง กม.ป.ป.ช.-ตามไปดูสมบัติ “บิ๊กตู่-3 รองนายกฯ-3 รมต.” ไม่ต้องยื่นทรัพย์สินรอบใหม่?

https://www.isranews.org/isranews-scoop/78761-isranews-78761.html

ฉันชั่งใจอยู่นานมากว่า เมื่อนำบางส่วนของข่าว 3 ข่าวมาเรียงกันให้ได้อ่านกันแล้วยังจะต้องเขียนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

มิหนำซ้ำ ในข่าว “รวมพลศิษย์เก่านิด้าฯ” ยังมีรายละเอียดให้ด้วยว่า มีศิษย์เก่านิด้าเข้าไปเป็น ส.ว.ถึง 46 คน (มี ส.ส.แบ่งเขต 42 คน, ปาร์ตี้ลิสต์ 17 คน)

ซึ่งเราต้องหมายเหตุให้ทราบกันไหมว่า การที่มหาวิทยาลัยใดๆ จะมีศิษย์เก่าไปเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรีนั้น มันเกิดจากการที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีคุณภาพปั๊วะปัง เก่ง แกร่ง สร้างบุคลากรชั้นนำให้ประเทศ

หรือเป็นเพราะมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีหลักสูตรพิเศษสำหรับผู้นำ ผู้บริหาร นักการเมืองให้เข้ามาเรียนเพื่อเสริมคอนเน็กชั่นให้แก่กันและกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนเหล่านั้นเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรีกันอยู่แล้ว จากนั้นจึงไปลงเรียนหลักสูตร “พิเศษ” ต่างๆ ที่ทุกมหาวิทยาลัยเปิดกันพึ่บพั่บ สมประโยชน์กันทางด้านคอนเน็กชั่นกันทั่วหน้า ทั้งมหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้สอน ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้มาเรียน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกเลเวลหนึ่งคือ คงไม่ใช่เพราะจบจากมหาวิทยาลัย ก, ข, ค เลยเก่งได้เป็น รมต. หรืออะไร แต่พวก รมต.เข้าไปช่วยสร้างโปรไฟล์ให้มหาวิทยาลัยมากกว่ามั้งว่า “วุ้ย ตัว มหา’ลัยเรามีศิษย์เก่าเริ่ดๆ ทั้งนั้นเรยอ่า”

แต่เอ๊ะ เดี๋ยวนะ ศิษย์เก่าประเภทรับไปเป็น ส.ว. “แต่งตั้ง” หรือเข้าไปเป็น สนช. ในรัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการยึดอำนาจนี่ถือเป็นโปรไฟล์ที่น่าภาคภูมิ หรือเป็นโปรไฟล์ที่น่าอายของสถาบันการศึกษากันหนอ?

เฮ้อ บ่นไปก็เท่านั้น กลับมาที่เรื่อง “คนดี” กันดีกว่า ป.ป.ช.ก็บอกว่า สังคมไทยติดเชื้อทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรง ป่วยหนักมาก ต้องเร่งสร้างจิตสำนึกความดี คุณธรรมกันด่วนๆ โดยที่สังคมก็ยังคลางแคลงใจกับ ป.ป.ช. ทั้งเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน ทั้งเอกสารประกันราคาข้าวที่หายไปกับน้ำท่วม ทั้งเรื่องรองเลขาฯ ป.ป.ช.ถูกชี้มูลความผิดกรณีปกปิดทรัพย์สินสองร้อยกว่าล้าน ฯลฯ

มิพักต้องพูดถึงโครงการ “strong-จิตพอเพียงต่อต้านการทุจริต” โดยให้มี “จิตที่พอเพียงในการต่อต้านการทุจริต”

โอยยย อ่านแล้วก็เหนื่อยมาก

เพราะฉันก็ตั้งคำถามง่ายๆ ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นสามารถปราบปราม ป้องกันได้ แบบมีอาสาสมัครคอยสอดส่องดูว่ามีทุจริตที่ไหนอย่างไร

จากนั้น ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ส่งให้ ป.ป.ช.งี้? มันง่ายแบบนี้เลยเหรอ

ถามต่อว่า การทุจริตแบบลึกๆ แบบใหญ่ๆ พันล้าน หมื่นล้าน จะมีประชาชนตาดำๆ ที่ไหนได้เข้าไปรู้ไปเห็น ไปถ่ายรูปฟะ? ยังไม่นับการทุจริตเชิงโครงสร้าง การฉ้อฉลปล้นอำนาจ ก็ถือเป็นการทุจริต

ไอ้เรื่องแบบนี้ จะมีใครสามารถเข้าไปรู้ไปเห็น ไปถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ส่งให้ ป.ป.ช.ดูได้บ้างเหรอ?

การทุจริตคอร์รัปชั่นที่ใหญ่ที่สุด คือการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายระบบรัฐสภา ทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่พึงมี

เช่น การแทนที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในระบอบประชาธิปไตยด้วยการมี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

การบั่นทอนพลังอำนาจของประชาชนด้วยการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของพวกเขา

พรากโอกาสที่จะได้มีคุณภาพชีวิตดีๆ จากรัฐบาลที่เขาตรวจสอบได้ ไปเป็นประชาอนาถารอรับการสงเคราะห์จากรัฐ

สิ่งนี้แหละที่เรียกว่าการทุจริตคอร์รัปชั่น

เป็นที่พิสูจน์กันแล้วว่า ประเทศที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานมั่นคง สื่อมวลชนเข้มแข็ง ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง คือปัจจัยที่ทำให้การคอร์รัปชั่นลดลง

ไม่ใช่ทำลายประชาธิปไตยแล้วไปสร้างโครงการตาวิเศษเห็นนะ อุ๊ยๆ เธอทุจริต เดี๋ยวชั้นถ่ายรูปฟ้องครู

อนึ่ง การลงหลักปักฐานของประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วเดือนชั่วปี

มันอาจใช้เวลาหลายสิบปีไปจนถึงร้อยปี

แต่เราต้องอนุญาตให้มันได้พัฒนา ได้เรียนรู้ ต้องปล่อยอำนาจจากส่วนกลาง ขยายอำนาจของการปกครองท้องถิ่น ต้องไม่ลิดรอนเสรีภาพของพลเมืองในการพูด คิด เถียง วิพากษ์วิจารณ์

นี่คือความแตกต่าง ในระบอบประชาธิปไตยอาจมีการคอร์รัปชั่น การทุริต การโกง

แต่ความเป็น “คน” ของพลเมืองจะไม่สูญหาย

ตรงกันข้ามการบริหารประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะเต็มไปด้วยกระบวนการที่ฉันเรียกว่า disempowering นั่นคือ ทำยังก็ได้ให้ประชาชนทุกเข็ญ อ่อนทั้งทางกาย ทางใจ หมดสิ้นความภูมิใจในความเป็นคนของตนเอง สุดท้ายอยากเป็นนกในกรง

อยากเป็นหมาที่มีปลอกคอ เพราะมันอุ่นใจกว่า และอย่างน้อยก็มีคนเทข้าวเทน้ำให้กิน แม้จะเลือกไม่ได้นักอย่างอยากกินอะไร

กลับมาที่การสร้างหลักสูตร “คนดี”

ฉันก็อยากรู้ว่า “คนดี” ที่จะเอาไปไว้ในหลักสูตรนี่เป็นแบบไหน?

นาย ก. เป็นคนดีมาก รักลูก รักเมีย เสียสละ กตัญญู สวดมนต์ นั่งสมาธิ ไม่กินเนื้อสัตว์ ยุงตัวหนึ่งก็ไม่ฆ่า ชอบช่วยชีวิตสัตว์ ตั้งแต่มดยันช้าง ใจดีมาก

แต่นาย ก. ทำธุรกิจด้านพลังงานที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมหาศาล คนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ สูญเสียที่ทำกิน ครอบครัวล่มสลาย

เราจะถือว่า นาย ก. เป็นคนดีหรือไม่?

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ตนเสียสละมายึดอำนาจ รัฐประหาร เสียสละมาเป็นนายกฯ อยู่ 5 ปี เสียสละต่อมาเป็นนายกฯ ต่ออีกในยุคของรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และนายกฯ ประยุทธ์ก็ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ทั้งหมดนี้ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง – นายกฯ ประยุทธ์ เป็นคนดีเลยใช่ไหม?

คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เขียนรัฐธรรมนูญปี 2562 มาให้เราอย่างแยบคายนี้จะเป็นหนึ่งในโมเดลคนดี ในหลักสูตรต่างๆ ที่พวกท่านอยากจะให้บรรจุไว้ในการเรียนการสอน ใช่หรือไม่?

ฉันจะไม่เขียนซ้ำๆ ว่า คนดีมันไม่มีความหมายในสังคมการเมืองเพราะมันเป็นอัตวิสัย

คนบางคนดีกับเรา แต่อาจชั่วกับคนอื่น

แม่เราอาจเป็นคนดี รักเรามาก ดูแลเราอย่างดี แต่อาจไปโกงเงินคนอื่น อะไรแบบนี้

ที่แน่ๆ ในนามของมนุษย์ขี้เหม็น เราไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีใครดีพร้อม ไร้ที่ติ นึกออกป่าว?

เสน่ห์ของความเป็นมนุษย์ คือความกะพร่องกะแพร่งไปตามประสา และทั้งหมดนี้ มนุษย์ผู้กะพร่องกะแพร่งก็ต้องพยายามอยู่ด้วยกันโดยสันติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ประชาธิปไตยตอบโจทย์ตรงนี้ มันไม่ได้เรียกร้องคนดี แต่มันเรียกร้องกระบวนการที่เปิดเผย นอกจากนี้ มันไม่ยินยอมให้ใครอยู่ในอำนาจได้ตลอดกาลนาน ตรงกันข้ามมันมีเทอม มีวาระ ครบเทอมก็เลือกกันใหม่ ผลัดใบ ถ่ายเลือด หมุนเวียน เรียนรู้กันไปเช่นนั้น

ในสังคมการเมืองเราจึงต้องการคนที่ “มีความรับผิดชอบ” มากกว่าต้องการ “คนดี” ที่โดยมากแล้วดีได้ด้วยการเที่ยวไปป่าวประกาศเองทั้งนั้นว่า กูดีๆๆๆ พวกกูดี เพื่อนกูดี

แถมยังเป็นความ “คนดี” แบบไม่แคร์สื่อ ไม่แคร์หลักสิทธิมนุษยชน ไม่แคร์หลักการประชาธิปไตยสากล หรือความถูกต้อง ความยุติธรรมอะไรใดๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย

เหนื่อยกับคนดีจริงๆ