คำ ผกา | โหนอันดับ

คำ ผกา

ฉันเป็นคนที่ไม่เข้าใจเรื่อง ranking หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยอะไรนัก

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่สำคัญเช่นเดียวกับการวัดผล วัดความสำเร็จ

ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ที่จำเป็นต้องมีค่ากลางๆ พอให้เรารู้ว่าเราอยู่ ณ จุดไหนบนโลกใบนี้เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ บนโลกใบนี้

และหากเราอยากพัฒนาขีดความสามารถและการแข่งขันของเรา เราจะเลือกพัฒนาหรือปรับปรุงอะไรก่อน

จะไปสร้างแต้มเก็บคะแนนเพิ่มได้ที่ไหนบ้างจากตัวชี้วัดของแต่ละสำนักที่กระทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัย

แล้วเราก็ปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละว่าในโลกใบนี้ก็มีมหาวิทยาลัยระดับเวิร์ลด์คลาส ระดับไอวี่ลีก มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีอายุเป็นร้อยเป็นพันปี สะสมชื่อเสียง สร้างศิษย์เก่าผู้มากความสามารถ มีคุณูปการต่อโลกใบนี้มานับคนไม่ถ้วน ผลิตนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลคนแล้วคนเล่า

มหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีกของสหรัฐอเมริกาทั้งหมดก็ได้ชื่อว่า ทั้งค่าเทอมแพง ทั้งเข้ายาก ใครจบจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็พกสถานะชนชั้นนำติดตัวไปโดยปริยาย

ชื่อชั้นของมหาวิทยาลัยที่จบมาจึงบอกไปได้ถึงกำพืดของครอบครัวว่า ยากดีมีจนแค่ไหนอย่างไร

ส่วนในสังคมไทยย้อนไปสักร้อยปีก่อนที่มีคนได้เรียนหนังสือไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ไม่ต้องพูดว่ามีกี่คนได้ไปเรียนถึงมหาวิทยาลัย และไม่ต้องพูดว่ามีกี่คนได้ไปเรียนถึงต่างประเทศ

การศึกษา ใบปริญญา และการไปเรียน “เมืองนอก” จึงกลายเป็นสถานะทางชนชั้นที่สำคัญยิ่ง

พระเอก นางเอกในนิยายพาฝันของไทยเกือบทั้งหมดจึงต้องเป็น “นักเรียนนอก”

และเป็นนักเรียนนอกแบบไม่ต้องระบุหรอกว่า ไปประเทศไหน เรียนมหาวิทยาลัยอะไร ขอแค่ให้ผ่านเมืองนอกเท่านั้นแหละ จบข่าว แปลว่าดี แปลว่ารวย (ในการรับรู้ของคนอ่านนิยาย)

ชนชั้นนำในยุคแรกที่ไปเรียน “เมืองนอก” จบกลับมาส่วนหนึ่งก็เข้าไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง พูดให้หยาบๆ ก็คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยในยุคตั้งต้นก็ล้วนเป็นลูกหลานคนร่ำรวย และอีลิตไทย ที่มีปัญญาส่งเสียให้เรียนหนังสือและหรือสามารถเข้าถึงโอกาสในการได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่างประเทศ

การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐจึงไม่ใช่แค่ “อาชีพ” เพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่หมายถึงเกียรติยศของครอบครัว และหมายถึงการมีชีวิตทางสังคมอันผูกพันอยู่กับชนชั้นระดับบนของสังคมไทย

ในกาลต่อมาที่คนเหล่านี้มี “ลูกศิษย์” ถามว่า ลูกหลานของคนกลุ่มไหนที่จะได้เข้าโรงเรียนที่ดีพอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ ก็ย่อมเป็นลูกหลานของคนชั้น “บนบน” หรือแม้กระทั่งชนชั้นสูง

ดังนี้ มหาวิทยาลัยระดับนำของประเทศไทยจึงเป็นสถานที่อันถักทอเครือข่ายของชนชั้นนำแผ่ขยายไปทั้งแนวราบและแนวดิ่งออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

มันจึงเป็นทั้งสถานการศึกษาที่รวมคนเป็นเลิศทั้งในด้านสถานะทางสังคม, เศรษฐกิจ, สติปัญญา, องค์ความรู้สมัยใหม่ และมีพื้นที่เล็กๆ สำหรับให้ลูกหลานคนจน คนชั้นล่าง คนจากชนบทอันมีสถานะ “ช้างเผือก” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้

ผ่านการมอบทุนการศึกษา (อันพ่วงมากับสำนึกกตัญญูรู้คุณ) มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยจึงทำหน้าที่เสมือนว่าได้ accommodate คนข้ามชนชั้น ทำให้ลูกหลานคนจนจำนวนหนึ่งได้กลายมาเป็นคนชั้นกลาง สะสมต้นทุนทางวัฒนธรรม สังคม วิสาสะกับชนชั้นนำในฐานะเพื่อน ในฐานะอาจารย์ ลูกศิษย์

จนวันหนึ่งคนเหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในชนชั้นนำ และหลายต่อหลายคนในจำนวนนี้ก็จะกลายเป็นพีอาร์ของชนชั้นนำเก่าที่จะบอกว่า

“การกีดกันทางชนชั้นไม่มีอยู่จริงในสังคมไทย ดูชั้นสิ ลูกชาวนาแท้ๆ แต่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ กตัญญู ฉันยังกลายมาเป็นหนึ่งในชนชั้นนำกับเขาได้เลย”

จะบอกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเท่านั้นก็เห็นจะไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะทุกมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก (มหาวิทยาลัยท็อปไฟว์ หรือท็อปทรีของแต่ละประเทศ) ก็ล้วนมีฟังก์ชั่นนี้อยู่ทั้งสิ้น นั่นคือฟังก์ชั่นว่าด้วยการสร้างเครือข่ายแห่งความเป็นชนชั้นนำให้สืบเนื่องต่อไปอย่างไม่ขาดสาย

แต่สิ่งที่อาจจะแตกต่างออกไปคือ มหาวิทยาลัยท็อปไฟว์ หรือท็อปทรีของประเทศอย่างอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ (ยกตัวอย่างประเทศเหล่านี้เพราะสะท้อนความเป็นอีลิตได้ชัดเจนดี) นั้น นอกจากจะเป็นแหล่งรวมหัวกะทิแท้ๆ แหล่งสร้างชนชั้นนำ มีพลังแห่งการถักทอเครือข่ายทางสังคมที่มีพลังในทางการเมือง เศรษฐกิจ ทรงอิทธิพลในระบบราชการ

มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีพลังทาง “วิชาการ” อยู่จริง และจับต้องได้

เมื่อจัดอันดับ ranking มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็จะอยู่ในอันดับต้นๆ แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการในแขนงใดแขนงหนึ่งอยู่เสมอ

อันสวนทางกับความเป็นไปของมหาวิทยาลัยไทยที่ต่ำว่าสองร้อยลงมาทั้งสิ้น

ความน่าขันเกี่ยวกับการทำ ranking ทั้งหลายทั้งปวงก็คือ มหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศจริงๆ เงินหนาจริงๆ เป็นแหล่งดึงดูดนักวิชาการเก่งๆ จากทั้งโลกเข้าไปทำงานได้จริง เป็นสถานการศึกษาอันคนหัวกะทิทั้งหลายอยากไปเรียนจริงๆ ต่างไม่มีความจำเป็นต้องแคร์กับ ranking เหล่านี้

เพราะเขาตั้งใจสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการจาก passion ที่มีต่อ “วิชาการ” ไม่ได้ตั้งใจสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการเพราะต้องการเก็บแต้มเพื่อไต่อันดับใน ranking

ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรืออยากไต่อันดับเอามากๆ แทนที่จะลืมเรื่อง ranking แล้วหันมาจริงจังกับคำว่า “โลกวิชาการ” หรือ “งานวิชาการ” กลับต้องมาลงเอยด้วยการหมกมุ่นกับการสร้าง “ผลงาน” เพื่อเก็บแต้มทำ ranking

ฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหลาย แทนที่จะดูว่าทำงานวิชาการอย่างไรให้โลกวิชาการในสถาบันการศึกษาของตัวเองมันเจ๋ง มันแกร่ง

กลับต้องมานั่งไล่ดูว่า งานวิจัยแบบไหนที่องค์กรทำ ranking จะให้คะแนนสูงสุด แล้วก็ไปวิ่งไล่ทำคะแนนเก็บตามนั้น

สุดท้าย ranking ก็ไม่ขึ้น งานวิชาการเจ๋งๆ ก็ไม่เกิด แถมยังไม่เคยมานั่งตั้งคำถามกันจริงๆ จังๆ ว่า ความเจ๋งทางวิชาการ ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยมีอิสระทางวิชาการ และเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐ พูดง่ายๆ มหาวิทยาลัยจะเจ๋งไม่ได้ถ้าไม่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นขบถอยู่เลย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยไทยและยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาคือนอกจากจะไม่มีจิตวิญาณแห่งการขบถยังสมาทานแนวคิดสังคมจารีตซึ่งโดยแก่นสารของมันเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหา ความรู้อันจะก่อให้เกิดปัญญา เช่น การสอนให้เชื่อ สอนให้เชื่องมากกว่าจะสอนให้ตั้งคำถาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยไทยจึงมีความสามารถแค่สอนให้คนมีความรู้และทักษะพอที่จะทำงานได้

และเก่งมากในการผลิตคนให้เป็นพลเมืองที่ว่านอนสอนง่ายของรัฐ สืบทอดค่านิยมแบบไทยๆ ทั้งเรื่องระบบอาวุโส, ระบอบอุปถัมภ์, ความเจ้ายศเจ้าอย่าง, ชอบงานพิธีการ, บ้าเครื่องแบบ ยูนิฟอร์ม

ผูกคุณค่าและอัตลักษณ์ของตัวเองไปกับสถาบันการศึกษา

จบมหาวิทยาลัยไปกี่ปีๆ ก็ยังนิยามตัวเองจากการเป็นศิษย์เก่าที่นั่นที่นี่ รุ่นนั้นรุ่นนี้ ได้ทุนนี้ทุนนั้น ราวกับว่าไม่มีความสำเร็จอะไรในชีวิตอีกแล้วหลังจากจบจากมหาวิทยาลัย

อาการหนักขึ้นไปอีก เมื่อได้มีโอกาสไปเรียนในมหาวิทยัยที่พอจะติดอันดับโลกกับเขาบ้างก็ยิ่งบ้ายศบ้าศักดิ์ บ้าสถาบันมหาวิทยาลัย จะจบมาแล้วอีกกี่ปีๆ ก็ยังเที่ยวพร่ำแนะนำว่า ผม/ดิฉันจบมาจากที่นี่ที่นั่น

บ้าหนักขึ้นอีกต้องใส่ตัวนำหน้าชื่อเป็นยศ เป็นตำแหน่ง เป็น ดร. แบบไม่ให้ตกหล่น เรียกชื่อเฉยๆ ก็ไม่ได้ ต้องเรียกด๊อกเตอร์นำทุกครั้ง ต้องเรียกท่านโปรเฟสเซอร์นำอยู่ตลอดเวลา

ฉันพยายามบอกน้องๆ บอกเพื่อนๆ หลายๆ คนที่เป็นบุคคลสาธารณะ อย่าเที่ยวไปพูด ไปเขียน ไปอวดว่าตัวเองจบอะไร จากมหาวิทยาลัยอันดับไหนของโลกให้มันมากนัก เพราะถ้าคนเขาเห็นว่าเราเก่ง เขาไปสืบหาเองว่าเราจบอะไรมา หรือบอกอย่างเป็นกลางๆ เท่าที่จำเป็น อย่าได้เที่ยวไปเขียนบอกสื่อว่า จบนั่น จบนี่ จากมหาวิทยาลัยอันดับนั้นอันดับนี้ของโลก มันตลก มันสะเหล่อ

เพราะการที่คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานขนาดเป็นที่รู้จัก หรือได้ลงหมุดหมายแห่งการขับเคลื่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสังคม สิ่งนี้ยิ่งใหญ่กว่า ranking มหาวิทยาลัยที่คุณจบมาเสียอีก

และมหาวิทยาลัยเขาต้องเป็นฝ่ายโหนความสำเร็จของคุณ ไม่ใช่ตัวคุณต้องไปโหนชื่อเสียงหรือ ranking มหาวิทยาลัยมาโปรโมตตัวเอง

ดังนั้น ใครก็ตามที่เที่ยวไปหยิบเรื่องอันดับมหาวิทยาลัยมาข่ม มาบลั๊ฟฟ์ มาดิสเครดิตคนอื่น จึงสันนิษฐานว่าเขาคนนั้นคงเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จอะไรในชีวิตนักจึงมีปมด้อย ต้องไปกลับไปโหน ranking มหาวิทยาลัยอันเกิดจากผลงานใครบ้างก็ไม่รู้

อ้อ ฝากบอกคนที่หมกมุ่นเรื่อง ranking มหาวิทยาลัยแล้วเอาเรื่องนี้มาดิสเครดิตนักการเมือง ฉันก็คงต้องบอกว่า คนที่เขารู้ความเขาไม่ได้ชื่นชมนักการเมืองที่วุฒิการศึกษา เขาชื่นชมนักการเมืองที่ทำงานเป็นปากเป็นเสียง และรักษาผลประโยชน์ของประชาชน เคารพประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจทางการเมือง

เรียบๆ ง่ายๆ แค่นั้นเอง – นะจ๊ะ